กก. (ถูกริบ) สิทธิ

องค์กรอิสระที่สำคัญ

เดี้ยงไปอีกหนึ่งแล้ว

นั่นคือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม คนในทำเนียบ หรือผู้อยู่ในศูนย์กลางอำนาจ จะรู้ร้อนรู้หนาวไปด้วยหรือไม่-ไม่ทราบ

อาจจะหัวเราะหึ-หึ ชอบใจ ที่เห็นภาวะ “เดี้ยง” ขององค์กรนี้ก็ได้

ใครจะรู้

เพราะกลุ่มบุคคลที่ว่าไม่ค่อยจะศรัทธาองค์กรสิทธิมนุษยชนสักเท่าไหร่

ยิ่งเป็นภาคเอกชน หรือภาคประชาชนด้านสิทธิมนุษยชน แทบจะวางตัวเป็นอริเสียด้วยซ้ำ

ในฐานะผู้ไม่รักชาติ!!

ดังนั้น จึงอาจไม่อินังขังขอบกับการเดี้ยงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสักเท่าไหร่

ซึ่งตรงนี้ นางอังคณา นีละไพจิตร กับนางเตือนใจ ดีเทศน์

ที่ตัดสินใจยื่นใบลาออกจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็คงทราบดี

เพราะการลาออก ทำให้กรรมการสิทธิฯ จาก 7 คน

ที่ประกอบด้วย

1) นายวัส ติงสมิตร ประธาน

2) นางฉัตรสุดา จันทร์ดี กรรมการ

3) นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์

4) นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย

5) นางอังคณา นีละไพจิตร

6) นางเตือนใจ ดีเทศน์

7) นายชาติชาย สุทธิกลม

เหลือเพียง 3 คน ไม่ครบองค์ประชุม ไม่สามารถออกมติรวมได้

ต้องยุติหน้าที่ไปโดยปริยาย

จากนี้ต้องรอคณะกรรมการสรรหา แต่งตั้งกรรมการชั่วคราวมาแทน 4 คน เพื่อให้ทำงานได้ก่อน

จากนั้นค่อยรอตัวจริงเสียงจริงจากการสรรหา ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะได้เมื่อใด

เพราะอย่างที่บอก องค์กรนี้มีคนในแม่น้ำ 5 สายในยุค คสช.ไม่ปลื้มสักเท่าไหร่

ดังนั้น รัฐธรรมนูญปี 2560 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงถูกออกแบบเพื่อ “พันธนาการ” มากกว่า “พัฒนา”

งานถึงได้ติดๆ ขัดๆ

ประกอบกับกรรมการ 7 คนก็ไม่อาจรวมทีมได้

ทำให้ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย และนายชาติชาย สุทธิกลม ลาออกไปก่อน

ส่วนนางอังคณา และนางเตือนใจ ที่ถือเป็นตัวแทนภาคประชาชนก็พยายามทนเพื่อที่จะทำงานเท่าที่จะทำได้

แต่ที่สุด ก็ทนไม่ไหว

ต้องทลายห้าง ลาออก เพื่อให้สังคมได้รับรู้

“บรรยากาศการทำงานไม่ได้สนับสนุนให้เราทำงานของเราได้ จึงต้องตัดสินใจ” นางอังคณากล่าวถึงเหตุที่ตัดสินใจ

ขณะที่นายวัส ติงสมิตร ประธาน เห็นต่าง

โดยยืนยันว่ารายงานการตรวจสอบที่ออกไปก็เป็นไปอย่างมีคุณภาพ

มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ประเทศต่างๆ ชูประเทศไทยเป็นตัวอย่างของงานด้านสิทธิมนุษยชน

จะเลือกเชื่อฝ่ายไหน ก็สุดแล้วแต่

แต่บัดนี้ องค์กรนี้กลายเป็นองค์กรถูกริบสิทธิไปเรียบโร้ยย