คุยกับทูต ‘ปีเตอร์ เฮย์มอนด์’ ไทย-สหรัฐฯ เพื่อนและหุ้นส่วนทวิภาคีกว่า 200ปี -พันธมิตรคู่สนธิสัญญามาเกือบ 70ปี

คุยกับทูต ปีเตอร์ เฮย์มอนด์ สิ้นสุดวาระ 3 ปี กับภารกิจครั้งที่ 5 ในประเทศไทย (2)

ไทยและสหรัฐอเมริกาได้ติดต่อกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1818 และลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์เมื่อปี ค.ศ.1833

สนธิสัญญาฉบับนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพที่พัฒนาแน่นแฟ้นขึ้นตามกาลเวลา

ปัจจุบัน ไทยและสหรัฐอเมริการ่วมมือกันในโครงการต่างๆ หลายเรื่อง

“สหรัฐอเมริกาและไทยมีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องกับหน่วยงานด้านความมั่นคงและการทหาร หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานด้านสาธารณสุข การศึกษาและวัฒนธรรม ภาคธุรกิจการค้า และในระหว่างที่ผมมาประจำที่นี่ครั้งนี้ ก็มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย”

นายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ (Peter Haymond) ซึ่งดำรงตำแหน่งอุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต (Chargè d”affaires ad interim) สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยในปัจจุบัน เล่าถึงประเด็นสำคัญและนโยบายที่มีต่อประเทศไทยในช่วงที่มาประจำประเทศไทยครั้งที่ 5 (ค.ศ.2016-2019)

“ปีค.ศ.2016 เป็นปีแห่งความวิปโยคครั้งใหญ่ของชาวไทยทั้งแผ่นดิน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช และรัฐบาลได้ประกาศไว้ทุกข์ถวายความอาลัยเป็นเวลา 1 ปี”

“หลังจากนั้น มีการจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 200 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและราชอาณาจักรไทย รัฐบาลสหรัฐ โดยสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้จัดนิทรรศการความสัมพันธ์ 200 ปี ไทย-สหรัฐอเมริกา Great and Good Friends ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นลึกซึ้งและเป็นมิตรที่ดีต่อกันมายาวนาน ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกา ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมมหาราชวัง ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม – 30 มิถุนายน ค.ศ.2018”

คำว่า “Great and Good Friend” เป็นคำที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามักใช้ขึ้นต้นจดหมายที่เขียนกราบบังคมทูลพระกรุณาพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสยาม

นิทรรศการนี้เป็นการแสดงของขวัญที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานแก่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

โดยแบ่งโซนการจัดแสดงตามช่วงเวลาความสัมพันธ์ร้อยปีแรก และร้อยปีหลัง

เมื่อพูดถึงการฉลองความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา มักเกิดคำถามที่ว่า ทำไมการฉลองจึงมีทั้ง 185 ปี และ 200 ปี ทั้งสองตัวเลขนี้มีที่มาจากการนับการเริ่มต้นมิตรภาพที่ต่างวาระกัน สหรัฐฉลอง 200 ปีแห่งการติดต่อครั้งแรก ส่วนไทยฉลอง 185 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูต

ไทยและสหรัฐติดต่อกันครั้งแรกสุดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) เมื่อสตีเฟน วิลเลียมส์ กัปตันเรือชาวอเมริกันเทียบเรือที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ.1818 และนำจดหมายจากพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ไปส่งให้ประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร (ประธานาธิบดีคนที่ 5 ของสหรัฐ) การส่งจดหมายครั้งนี้ถือเป็นการติดต่อกันครั้งแรกระหว่างรัฐบาลสยามและรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งครบรอบ 200 ปี ใน ค.ศ.2018

ในจดหมาย ดิศ บุนนาค ได้เสนอว่า พ่อค้าที่ประสงค์จะทำการค้ากับสยามให้นำปืนคาบศิลามาด้วย จึงเกิดการแลกเปลี่ยนอาวุธดังกล่าวของสหรัฐ กับน้ำตาลของสยาม เพราะเหตุนี้ ในช่วง ค.ศ.1820-1829 เรืออเมริกันหลายลำจึงเดินทางมากรุงเทพมหานครเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า

การค้าระหว่างทั้งสองประเทศเจริญขึ้น จนนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ ในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ.1833 อันเป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) และประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ๊กสัน (ประธานาธิบดีคนที่ 7 ของสหรัฐ) จุดประสงค์หลักของสนธิ สัญญาฉบับนี้คือ กำหนดระบบอากรที่ใช้กำกับการนำเข้าและส่งออกสินค้าโดยพ่อค้าชาวอเมริกัน

สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวเป็นฉบับแรกที่สหรัฐลงนามเป็นคู่สัญญากับประเทศในเอเชีย ไทยจึงเฉลิมฉลองวาระการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งครบรอบ 185 ปี ใน ค.ศ.2018

ต่อมาคือเหตุการณ์ ปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิต เด็กนักเรียน นักฟุตบอลเยาวชนทีม “หมูป่าอะคาเดมี แม่สาย” 12 คน และโค้ชวัย 25 ปี 1 คน ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน ค.ศ.2018

อุปทูตเฮย์มอนด์เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า

“สหรัฐอเมริกามีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อกรณีนักฟุตบอลเยาวชนและผู้ฝึกสอน 13 ชีวิตสูญหายเข้าไปภายในถ้ำหลวง ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย ตลอดจนครอบครัวและทีมช่วยเหลือผู้สูญหาย เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2018 เรามีความภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนชาวไทยที่ถ้ำหลวง โดยกองกำลังสหรัฐอเมริกาภาคพื้นแปซิฟิก (USPACOM) ได้ส่งทีมค้นหาและกู้ภัยเพื่อช่วยตามหาผู้สูญหาย ตามคำขอของรัฐบาลไทย แสดงถึงส่วนหนึ่งของการเป็นหุ้นส่วนที่ยาวนานของเรา”

“และปีนี้ ค.ศ.2019 มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม และการกลับมาของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นช่วงที่ผมประจำประเทศไทย”

“สําหรับการเดินทางไปดูงานยังจังหวัดต่างๆ ผมได้ไปหลายจังหวัด มีประสบการณ์มากมาย เพราะแต่ละจังหวัดมีลักษณะพิเศษของตัวเอง อันรวมถึงความงามตามธรรมชาติและวัฒนธรรมที่น่าประทับใจ แล้วผมก็ยังได้สนุกกับการพูดคุยกับนักเรียนทั่วประเทศด้วย”

“สำหรับจังหวัดทางภาคใต้ ผมมีโอกาสไปเยือนจังหวัดปัตตานีและยะลาช่วงสั้นๆ เพลิดเพลินกับการพบปะนักเรียนและเจ้าหน้าที่ที่นั่น แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกเศร้าใจ ด้วยเหตุที่ท้องถิ่นอันงดงามของประเทศไทยดังกล่าว ยังคงเผชิญกับความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลชุดใหม่จะประสบความสำเร็จในการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น เพื่อนำสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่พิ้นที่นั้น”

และเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา อุปทูตปีเตอร์ เฮย์มอนด์ และคุณดุษฎี เฮย์มอนด์ ภริยา ได้ไปเยี่ยมชมโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดเลย

ซึ่ง ณ ที่แห่งนี้ อุปทูตเฮย์มอนด์ได้เล่าประสบการณ์การเป็นนักการทูตกว่า 30 ปีที่ผ่านมาให้นักเรียนมัธยมปลาย 431 คนฟัง

วันต่อมา 6 กรกฎาคม ได้เข้าร่วมพิธีเปิดงานเทศกาลผีตาโขน เดินขบวนแห่ และชมมหกรรมหน้ากากนานาชาติของจังหวัดเลย

“ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ไปร่วมพิธีเปิดงานเทศกาลผีตาโขน ประจำปี 2019 ได้สัมผัสกับมรดกทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของไทยด้วยตนเอง และนอกเหนือจากนักแสดงผีตาโขนของไทยแล้ว ยังมีนักแสดงสวมหน้ากากอีกหลายคนจากประเทศลาว จีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ผมได้พบปะกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเลยได้กรุณาอย่างมากในการแสดงให้เราเห็นถึงวิธีการสวมชุดผีตาโขนและการเต้นที่ถูกต้องในขบวนพาเหรด ความประทับใจมีมากมายจนไม่อาจกล่าวได้หมด และผมหวังอย่างยิ่งว่าจะได้กลับมาเยี่ยมชมอีก”

อุปทูตเฮย์มอนด์ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า

“ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาเป็นเพื่อนและหุ้นส่วนในระดับทวิภาคีมานานกว่า 200 ปี และเป็นพันธมิตรคู่สนธิสัญญามาเกือบ 70 ปี เราแบ่งปันความปรารถนาในการเป็นอิสระ เพื่อรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยอันมีประสิทธิภาพ เพื่อความเจริญรุ่งเรือง ด้วยการนำชุมชนทั้งหมดในประเทศของเรารวมเป็นหนึ่งเดียวกันแล้วเดินก้าวไปข้างหน้า”

“ผมรู้สึกยินดี และเป็นเกียรติ อันเป็นจุดสูงสุดในอาชีพการงานของผมที่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย เพื่อรักษาและเสริมสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิด ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา”