ผุดไอเดียแยกใบขับขี่! หลังอุทาหรณ์ “โน้ต บิ๊กไบค์” กระตุกต่อมสำนึก “นักบิด”

อุบัติเหตุสะเทือนขวัญที่คร่าชีวิต “โน้ต” ภัทร์นฤณ พงษ์ธนานิกร วัย 37 ปี ผู้บริหารค่ายเพลงในเครือรถไฟดนตรี ลูกชายของนายประเสริฐ พงษ์ธนานิกร หรือ “แดง ระย้า” อดีตดีเจชื่อดัง หลังควบจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ BMW รุ่น S1000RR สีเหลือง-ดำ ทะเบียน ฬบท 9 กรุงเทพมหานคร มาตามถนนเพชรบุรีตัดใหม่ มุ่งหน้าถนนพัฒนาการด้วยความเร็วก่อนเสียหลักชนราวกั้นบนสะพานข้ามสี่แยกคลองตัน

ตามไล่เลี่ยมาอีกคดีที่มีชายยโสธรวัย 31 ปี ขี่ซีบีอาร์พุ่งชนขอบทางจนร่างตัวเองตกลงไปในน้ำเสียชีวิต บริเวณท่าน้ำใกล้ทางกลับรถใต้สะพานข้ามคลองพระโขนง ถนนศรีนครินทร์ฝั่งขาเข้า

หรือแม้แต่เหตุที่หนุ่มวัย 20 ปี ควบรถซิ่งเบเนลลี่ชนป้ายบอกทางดับในย่านลาดกระบัง

สะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่อวินัยและการคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของตัวผู้ใช้รถใช้ถนนเอง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.ต.ท.ธนเมศฐ์ วิจิตรจริยา รอง ผกก.จราจร สน.คลองตัน เจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ เล่าว่า ปกติแล้วผู้ที่จะขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ต้องมีทักษะประสบการณ์สูงมากกว่าผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทั่วไป ที่จะสามารถควบคุมรถที่มีกำลังเครื่องหลายร้อยแรงม้า จะนำมาขี่ในเมืองคงไม่เหมาะ

ประกอบกับผู้ที่ออกจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ก็ใช้ใบขับขี่จักรยานยนต์ธรรมดา ไม่จำเป็นต้องเข้ารับอบรมทดสอบสมรรถนะของผู้ขับ ต่างจากสากลที่ต้องแบ่งชั้นแบ่งเกรด และไม่ได้ออกใบขับขี่กันง่ายๆ

ส่วนปัจจัยของอุบัติเหตุ ล้วนเกิดจากตัวบุคคลเป็นหลัก โดยเฉพาะการฝ่าฝืนขี่รถจักรยานยนต์ขึ้นไปบนสะพานข้ามแยกหรือลงอุโมงค์เพื่อความสะดวกโดยไม่ต้องติดสัญญาณไฟแดง เรื่องนี้ทางตำรวจ กทม. หรือหน่วยงานภาครัฐ จะไม่อนุญาตให้ใช้เส้นทางดังกล่าว เนื่องจากหากเกิดอุบัติเหตุ อัตราการตายของผู้ขับขี่จะสูงกว่าทางปกติ

พ.ต.ท.ธนเมศฐ์บอกว่า ประเด็นค่าปรับเหมือนเป็นการล้อมคอกปัญหา ซึ่งตำรวจก็ให้ความสำคัญกับการป้องกันเหตุกับการให้ความเคารพต่อกฎหมายมากกว่า แต่ผู้ใช้รถกลับยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องสั่งห้าม มุ่งเอาแต่ความสะดวกเป็นหลัก

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าจิตสำนึกของผู้คนยังน้อย และการบังคับใช้กฎหมายยังไม่น่าเกรงขาม ก็จะคิดกันเพียงว่าหากถูกใบสั่งก็ไปเสียค่าปรับได้

ส่วนเรื่องความคืบหน้าของคดีนั้น ยอมรับว่า ที่ผ่านมาบริเวณสะพานข้ามแยกคลองตันเคยมีกล้องวงจรปิด ซึ่งหากเกิดเหตุจะสามารถเปิดตรวจสอบภาพได้ทันที แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กล้องเกิดเสียและยังไม่มีงบประมาณอนุมัติลงมาจัดซ่อมหรือเปลี่ยนกล้องใหม่

ระหว่างนี้จึงขอภาพจากบริเวณใกล้เคียงมาตรวจดู

ทั้งนี้ เพื่อให้ตระหนักถึงภัยอันตรายบนท้องถนน ทางสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ยังสรุปรายงานสถิติอุบัติเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์เมื่อปี 2560 ไว้คร่าวๆ ด้วยว่า ตลอดทั้งปีเกิดอุบัติเหตุมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 11,573 ราย

และสำหรับสะพานข้ามแยกคลองตันแห่งนี้มีรายงานอุบัติเหตุตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2561 ถึงเดือนกรกฎาคมในปีนี้ เกิดอุบัติเหตุมาแล้ว 5 ครั้ง เสียชีวิต 2 ราย และหนึ่งในนั้นคือ “โน้ต”

ด้าน ร.ต.อ.ธนงศักดิ์ มาแพง รอง สว.(สอบสวน) สน.คลองตัน เจ้าของคดี เปิดเผยว่า ตำรวจประสานขอภาพวงจรปิดขณะเกิดเหตุกับกรุงเทพมหานครแล้ว แต่ยังไม่ได้ภาพ และยังต้องประสานผู้เชี่ยวชาญที่ชำนาญด้านไมล์ดิจิตอลมาตรวจสอบความเร็วรถขณะเกิดเหตุ

หากพบว่ารถขับมาด้วยความเร็วสูงน่าจะเกิดจากความประมาทของผู้ตายทำให้เกิดเหตุดังกล่าว

แต่หากพบว่ารถมีความเร็วต่ำ มีความเป็นไปได้ว่ารถอาจจะถูกเฉี่ยวชนจนทำให้เสียหลัก

สําหรับมุมมองระดับมหภาค นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวรับลูกภายหลังเกิดอุบัติเหตุบิ๊กไบค์คว่ำมีผู้เสียชีวิตติดต่อกันรายวันว่า เรื่องนี้จะมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกไปพิจารณาศึกษาเรื่องการแยกประเภทใบขับขี่ของรถจักรยานยนต์แต่ละขนาดโดยละเอียด พร้อมหาแนวทางบังคับใช้กฎหมายที่เข้มมากขึ้นเป็นอันดับแรก ส่วนการเพิ่มบทลงโทษนั้น คงเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะดำเนินการ อย่างไรก็ตาม เรื่องการใช้ความเร็วในการขับขี่ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละบุคคล จะใช้แต่มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้

“การแก้ปัญหารถซิ่งหรือเด็กแว้นมีหลายทางเลือก โดยที่ จ.บุรีรัมย์ มีวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาและเห็นผลคือ เปิดสนามแข่งรถให้ผู้ที่ชื่นชอบการขับขี่รถด้วยความเร็วไปใช้ โดยวิธีนี้ต้องอาศัยความอดทน และมีวิธีจูงใจให้เด็กวัยรุ่นเข้าไปใช้ เช่น ให้ดาราไอดอลของวัยรุ่นที่ชื่นชอบการขี่จักรยานยนต์เหมือนกันมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ที่ผ่านมาปัญหาอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ใน จ.บุรีรัมย์ ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด คิดว่าอาจจะนำแนวทางของ จ.บุรีรัมย์ ไปปรับใช้กับแต่ละพื้นที่ได้ โดยจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดำเนินการโดยเร็วที่สุด”

รมว.คมนาคมระบุ

ขณะที่คุณสมบัติผู้เข้ารับการสอบใบขับขี่รถจักรยานยนต์นั้น กรมการขนส่งฯ ประกาศไว้ว่าผู้เข้ารับการสอบต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ แบ่งตามประเภทเครื่องยนต์ ไม่เกิน 110 ซีซีตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป และมากกว่า 110 ซีซี ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป

ขณะที่บิ๊กไบค์ หรือรถจักรยานยนต์ขนาดเครื่องยนต์มากกว่า 400 ซีซี ผู้เข้าสอบต้องมีอายุ 20 ขึ้นไป ซึ่งกำลังรอการประกาศใช้ในอนาคต โดยจำนวนรถจักรยานยนต์ที่ได้รับจดทะเบียนและนำมาใช้บนท้องถนนทั่วประเทศมีสูงถึง 28 ล้านคัน เป็นรถบิ๊กไบค์อีกไม่ต่ำกว่า 200,000 คัน ซึ่งยังคงมีการสั่งซื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น นอกจากผู้ขับขี่จะระมัดระวังและไม่ประมาทแล้ว การขับเคลื่อนมาตรการทางกฎหมายสามารถแก้ปัญหาได้ส่วนหนึ่ง

แต่ถ้าล่าช้า ชีวิตนักบิดผู้ชื่นชอบความเร็วต้องสังเวยไปเรื่อยๆ