วรศักดิ์ มหัทธโนบล : นานาวิสาสะสมัยในสุย-ถัง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ความนำ

การเกิดขึ้นของราชวงศ์สุยใน ค.ศ.581 หรือราชวงศ์ถังใน ค.ศ.618 แม้จะเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่าเอกภาพได้กลับคืนสู่จีนอีกครั้งหนึ่งก็ตาม

แต่กระนั้นการเกิดขึ้นของราชวงศ์นี้ก็ยังคงมีประเด็นคำถามให้ได้ศึกษากันไม่ต่างกับยุคก่อนหน้านี้

ประเด็นคำถามเหล่านี้มีทั้งที่เหมือน ที่คล้าย และที่ต่างไปจากที่ได้ศึกษาไปก่อนหน้านี้ตั้งแต่ราชวงศ์ฉินจนฮั่น หรือในยุคที่จีนแตกแยกอย่างยุคสามรัฐ (สามก๊ก) หรือหลังจากนั้น สิ่งที่เห็นได้เป็นเรื่องแรกก็คือ อายุของราชวงศ์สุยที่ไม่ยืนยาวที่ไม่ต่างกับราชวงศ์ฉิน จากนั้นก็ถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์ถังที่มีอายุยืนยาวดังราชวงศ์ฮั่น

เรื่องต่อมา ทั้งสุยและถังต่างสืบทอดหลักคิดในการปกครองที่ฮั่นได้เริ่มเอาไว้ แต่ก็มีการปรับรายละเอียดเท่าที่ตนจะเห็นว่าเหมาะสม

เรื่องที่สาม ทั้งสุยและถังยังคงมีศัตรูที่เป็นชนชาติที่มิใช่ฮั่น แต่ที่พิสดารออกไปจากยุคก่อนหน้านี้ก็คือ ผู้ก่อตั้งสองราชวงศ์นี้ต่างมีปฏิสัมพันธ์กับชนชาติที่มิใช่ฮั่นอย่างแนบแน่น โดยเฉพาะปฏิสัมพันธ์ทางสายเลือดที่มีกับชนชาติที่มิใช่ฮั่น

ดังนั้น การที่สุยและถังมีชนชาติที่มิใช่ฮั่นเป็นมิตรหรือศัตรูก็ตาม ภาวะนี้จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ต่างกันระหว่างวัฒนธรรมฮั่นกับวัฒนธรรมที่มิใช่ฮั่น

 

ประเด็นคำถามข้างต้นมิได้มีเพียงสามเรื่อง หากยังคงมีประเด็นอื่นๆ อยู่อีกจำนวนหนึ่งที่งานศึกษานี้ จะได้แสดงให้เห็นต่อไป แต่ในสามเรื่องนี้เรื่องที่สามนับเป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย ทั้งนี้มิใช่ประเด็นภูมิหลังของผู้ก่อตั้งราชวงศ์ทั้งสอง

แต่เป็นประเด็นที่แม้ชนชาติที่มิใช่ฮั่นจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีนมาช้านาน แต่กับสุยและถังแล้วกลับปฏิเสธไม่ได้ว่า การผงาดขึ้นของชนชาติที่มิใช่ฮั่นก่อนที่สุยกับถังจะถือกำเนิดขึ้นนั้น นับว่ามีผลสะเทือนต่อสองราชวงศ์นี้อย่างลึกซึ้ง

ผลสะเทือนนี้อาจไม่ชัดเจนในยุคสุย แต่กับถังแล้วผลสะเทือนที่ว่ากลับมีความโดดเด่นจนแตกต่างไปจากยุคก่อนหน้านี้อย่างยิ่ง

ปฏิสัมพันธ์ที่มีกับชนชาติที่มิใช่ฮั่นในยุคถังนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่ เพราะถังได้ใช้นโยบายที่เปิดกว้างไม่เพียงกับชนชาติที่มิใช่ฮั่นเท่านั้น หากยังเปิดกว้างให้กับชนชาติอื่นที่อยู่นอกจักรวรรดิออกไปทั้งใกล้และไกล

ทั้งยังเป็นการเปิดกว้างที่ใช่เพียงจะให้พื้นที่แก่ชนชาติเหล่านี้ในทางเศรษฐกิจการค้าเท่านั้น หากยังให้พื้นที่แก่ชนชาติเหล่านี้ได้นำเอาหลักคิดที่ตนสมาทานมาตั้งในจักรวรรดิได้ด้วย

 

ยุคถังจึงเป็นที่กล่าวขานกันถึงความสำเร็จอันน่าตื่นตาตื่นใจมาอย่างยาวนาน ด้วยถือเป็นยุคที่จีนก้าวผงาดขึ้นเป็นจักรวรรดิที่รุ่งเรืองอย่างยิ่ง ความรุ่งเรืองนี้ทำให้นักวิชาการในชั้นหลังเรียกขานจีนในยุคถังนี้ว่าจักรวรรดินานาวิสาสะ (Cosmopolitan Empire)

คือเป็นจักรวรรดิที่รุ่งเรืองขึ้นได้ด้วยการเปิดต้อนรับชนชาติต่างๆ โดยละความแตกต่างทางวัฒนธรรมเอาไว้ และพร้อมที่จะเสวนาวิสาสะกับชนชาติเหล่านี้1 เช่นนี้แล้วความสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมจึงเกิดการแลกเปลี่ยนกันไปมาด้วยดี

นอกจากนี้ การเปิดกว้างของถังยังรวมไปถึงการเปิดกว้างทางด้านจิตใจอีกด้วย เมื่อมีจักรพรรดิบางองค์ของราชวงศ์น้อมใจที่จะรับฟังคำวิจารณ์จากเหล่าขุนนาง ทั้งที่คำวิจารณ์บางเรื่องหมิ่นเหม่ต่อฐานะโอรสแห่งสวรรค์ หรือหมิ่นเหม่ต่อชีวิตของขุนนางผู้วิจารณ์

การเปิดกว้างทางด้านจิตใจเช่นนี้จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จีนในยุคถังเจริญรุ่งเรือง และเป็นที่กล่าวขานในแง่ที่เป็นเยี่ยงอย่างของการเป็นจักรพรรดิที่ดี

 

แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้นก็ตาม การเปิดกว้างจากที่กล่าวมาข้างต้นกลับมิได้ถูกนำมาปฏิบัติในยุคหลังต่อมา หรือหากนำมาปฏิบัติก็มิได้ปฏิบัติดังที่ถังได้ทำเอาไว้

จากเหตุนี้ ความรุ่งเรืองในยุคถังจึงมีความโดดเด่นเฉพาะตัว คือเป็นความรุ่งเรืองอย่างชนิดที่ยุคก่อนหน้าหรือหลังจากนี้เทียบได้ยาก

อย่างไรก็ตาม แม้ถังจะเปิดกว้างจนรุ่งเรืองขึ้นมาก็ตาม แต่ผลสะเทือนอันลึกซึ้งที่เกิดจากปฏิกิริยาของชนชาติที่มิใช่ฮั่นก่อนหน้านั้นก็ได้นำพาจีนเข้าสู่วัฏจักรเดิมอีกครั้งหนึ่งเมื่อชนชั้นปกครองถังอ่อนแอลง และเมื่อถังล่มสลายลง วัฏจักรนั้นก็นำจีนไปสู่ยุคที่ชนชาติที่มิใช่ฮั่นเรืองอำนาจอีกครั้งหนึ่ง

เหตุฉะนั้น เงื่อนปัจจัยต่างๆ ที่นำจีนในยุคสุยและถังให้รุ่งเรืองหรือเสื่อมถอยจึงเป็นประเด็นที่จะศึกษาในที่นี้

และเนื่องจากทั้งสองราชวงศ์มีความต่อเนื่องกัน อีกทั้งถังยังได้รับเอามรดกบางด้านในทางการเมืองการปกครองของสุยมาใช้หรือต่อยอด

ประเด็นนี้จะนำไปกล่าวรวมไว้เป็นสุย-ถังเป็นประเด็นในท้ายบทนี้ต่อไป

 

สุยที่รุ่งเรือง

การเกิดขึ้นของราชวงศ์สุยมีความสัมพันธ์กับราชวงศ์เป่ยโจวในยุคราชวงศ์เหนืออย่างมาก อันเป็นยุคที่จีนถูกแบ่งเขตอิทธิพลออกเป็นสองส่วน คือส่วนที่อยู่ทางเหนือคือราชวงศ์เหนือ กับส่วนที่อยู่ทางใต้เป็นราชวงศ์ใต้

ที่ว่าสุยเป็นราชวงศ์ที่มีความสัมพันธ์กับเป่ยโจวก็เพราะว่า ผู้สถาปนาราชวงศ์สุยนั้นเคยเป็นขุนนางของเป่ยโจวมาก่อน และเป็นผู้ที่โค่นล้มเป่ยโจวแล้วตั้งตนเป็นใหญ่พร้อมกับตั้งสุยขึ้นเป็นราชวงศ์ขึ้นมา

จากเหตุนี้ การศึกษาเรื่องราวของสุยในด้านหนึ่งจึงตัดขาดภูมิหลังที่เคยมีกับเป่ยโจวไปไม่ได้ จนเมื่อสุยถูกสถาปนาเป็นราชวงศ์แล้ว การสร้างจักรวรรดิขึ้นมาใหม่จึงหวนกลับมาอีกครั้ง จะด้วยภูมิหลังก็ดี หรือประสบการณ์จากที่เคยเป็นขุนนางของเป่ยโจวก็ดี ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จักรพรรดิองค์แรกของสุยสามารถสร้างจักรวรรดิได้ด้วยดี

และเป็นการสร้างที่มีแนวทางที่ชัดเจนเฉพาะเป็นของตนเอง แต่แนวทางที่ดีนี้กลับมิได้รับการใส่ใจจากจักรพรรดิองค์ต่อมา จนเป็นเหตุให้สุยล่มสลายลงอย่างรวดเร็วด้วยอายุของราชวงศ์ 37 ปี

เหตุดังนั้น การสร้างจักรวรรดิโดยมีแนวทางเฉพาะดังกล่าวจึงเป็นประเด็นที่จะศึกษาเป็นหลัก และผู้ที่สร้างจักรวรรดิด้วยแนวทางนี้ก็คือจักรพรรดิองค์แรก

 

ภูมิหลังของสุย

ราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-618) ถูกสถาปนาขึ้นโดยบุคคลที่ชื่อ หยังเจียน (ค.ศ.541-604) ที่ใช้โอกาสในขณะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิอายุเจ็ดขวบของราชวงศ์เป่ยโจว เข้าแย่งยึดอำนาจแล้วสถาปนาราชวงศ์สุยขึ้น การสถาปนาสุยขึ้นเป็นราชวงศ์ได้ทำให้ยุคของราชวงศ์เหนือสิ้นสุดลง ในแง่นี้ภูมิหลังของหยังเจียนผู้ซึ่งจะเป็นจักรพรรดิองค์แรกของสุย จึงเป็นประเด็นที่พึงกล่าวถึงโดยสังเขป

ครอบครัวของหยังเจียนเป็นตระกูลขุนนางในยุคที่ชนชาติที่มิใช่ฮั่นตั้งตนเป็นใหญ่ โดยมีบรรพชนเข้ารับใช้ราชวงศ์ที่ชนชาติเหล่านั้นตั้งขึ้น กล่าวเฉพาะบิดาของเขาแล้วเคยเป็นขุนศึกของเป่ยเว่ย (เป่ยเหนือ) ครั้นเกิดความขัดแย้งภายในเว่ยเหนือขึ้นก็หันไปสนับสนุนซีเว่ย (เว่ยตะวันตก)

ดังนั้น ช่วงชีวิตในวัยเด็กของหยังเจียนจึงอยู่ในแวดล้อมของสถานการณ์ที่ว่า

แต่กระนั้น ตอนที่เกิดเขากลับเกิดในวัดของศาสนาพุทธเมื่อ ค.ศ.541 จนเมื่อมีอายุได้ 12 ปีก็ได้รับการดูแลจากแม่ชีคนหนึ่งที่ซึ่งเขานับถือเป็น อาเสอหลี อันเป็นคำทับศัพท์ในภาษาสันสกฤตของคำว่าอาจารย์ (acarya) คำคำนี้โดยทั่วไปจะหมายถึงภิกษุสงฆ์ (หรือแม่ชีในกรณีนี้) ในศาสนาพุทธ

แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ได้รับการศึกษาในสถานศึกษาชั้นสูงของราชสำนัก ที่มีแต่กุลบุตรของชนชั้นผู้ดีและขุนนางชั้นสูงเท่านั้นที่ได้เข้าเรียน

นอกจากนี้ การที่เกิดและเติบโตในตระกูลผู้สูงศักดิ์ยังทำให้เขาได้รับการฝึกให้เป็นนักขี่ม้า และการเป็นนักรบที่มากความสามารถ ตราบจนอายุ 14 ปีเขาจึงได้เป็นทหารที่ขึ้นตรงต่ออี่ว์เหวินไท่ขุนศึกแห่งเว่ยตะวันตก

และพอถึง ค.ศ.566 เขาก็แต่งงานกับบุตรสาวของผู้ทรงอิทธิพลในภาคเหนือสกุลตู๋กู และหลังจากนั้นก็เติบโตในชีวิตทางการเมืองเรื่อยมา จะเห็นได้ว่าชีวิตในช่วงแรกของหยังเจียนนั้นมีความราบรื่น แต่ที่ดูจะมีผลต่อชีวิตและบทบาทของเขาหลังจากที่แต่งงานแล้วก็คือ…

หญิงที่เขาแต่งงานด้วย

———————————————————————————————————————-
(1) ศัพท์บัญญัติคำว่า นานาวิสาสะ (cosmopolitan) ผู้ให้คำบัญญัติแก่บทความนี้ได้ความคิดจากคำในศาสนาพุทธที่ว่า วิสฺสาสปรมา ญาติ (อ่านว่า วิด-สา-สะ-ปร-มา ยาติ) หมายถึง ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง คำว่านานาวิสาสะ ในที่นี้จึงหมายถึง การปฏิสัมพันธ์สนทนาวิสาสะกับชนนานาชาติได้ด้วยดีประดุจญาติ