หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘พระเอก’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เก้ง - สัตว์ป่ามักเชื่อจมูกมากกว่าสายตา มันอาจเดินเข้ามาดูใกล้ๆ อย่างสงสัย อย่างไม่ได้กลิ่น จึงไม่ตื่นหนี

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘พระเอก’

 

ผมพบกับความหมายอย่างแท้จริงของประโยคที่ว่า “ภาพที่เห็น ไม่ใช่สิ่งที่เป็น” เมื่อพบและได้ร่วมงานกับผู้ชายที่มีชื่อว่าอุไร

อุไร ชายหนุ่มวัย 30 ต้นๆ เป็นหัวหน้าชุดลาดตระเวน ซึ่งได้ชื่อว่า “แกร่ง” ที่สุดของป่าทุ่งใหญ่ฝั่งตะวันออก

ช่วงที่เราพบกันนั้น เขาประจำอยู่หน่วยพิทักษ์ป่ากะแง่สอด อันเป็นหน่วยด้านในที่อยู่ไกลจากสำนักงานเขตที่สุด

ในฤดูแล้ง ระยะทางราว 60 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางสัก 4 ชั่วโมง

ส่วนในฤดูฝน ไม่มีใครบอกได้ว่าจะใช้เวลาเท่าใด

โครงสร้างดินซึ่งเป็นดินเหนียว เมื่อรับน้ำฝนเต็มที่ ร่องลึกๆ จึงเป็นคล้ายกับดักโคลน เมื่อรถลงไปก็จม ดิ้นไม่ขึ้น

“ช่วงฝน เราใช้รถแทร็กเตอร์ขนเสบียงครับ” หัวหน้าบอก

นโยบายหัวหน้า คือ หน่วยที่อยู่ไกล เข้า-ออกลำบาก ต้องอยู่สบาย งบประมาณเรื่องพลังงาน หรือปรับปรุงหน่วย เขาจัดสรรให้ไปดูแลหน่วยไกลๆ ก่อน

หน่วยพิทักษ์ป่ากะแง่สอด จึงเรียกได้ว่า “เจริญ” น้ำไหล ไฟสว่าง และมีโทรศัพท์ชนิดใช้บัตร

“อยู่นั่น เขาจะได้ถามข่าวคราวทางบ้านได้บ้าง” หัวหน้าบอกเหตุผลที่มีโทรศัพท์

รถแทร็กเตอร์ขับโดยอุไร ผู้ซึ่งมีรูปร่างคล้ายๆ ผู้ชายแถบนี้ ผอมบาง และแกร่ง

 

อุไรค่อนข้างเงียบ ไม่ช่างพูด มีความเป็นผู้นำสูง ลูกชุดเขาอยู่ในวัยใกล้ๆ กัน

เป็นชุดที่เดินลาดตระเวนถึง 1,500 กิโลเมตรในปีที่แล้ว

ทุกคนได้รับการฝึกฝนเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ

ในระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ อันเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับการดูแลสัตว์ป่า และแหล่งอาศัยของพวกมัน ในยุคปัจจุบัน

การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ใช้วิทยาศาสตร์มาร่วมกับความรู้ด้านสัตว์ป่า รวมทั้งทักษะการเข้าปะทะ จับกุม และหาข่าว ช่วยให้พบกับสิ่งที่เรียกว่าปัจจัยคุกคาม ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่เดินบันทึกมาอย่างละเอียด

ในที่ประชุม พวกเขามีข้อมูลสำหรับการจัดการพื้นที่

หัวหน้าสามารถประเมินสถานการณ์ และดำเนินการให้ชุดลาดตระเวนเข้าไปตรวจสอบ หรือเฝ้าระวังตามจุดเสี่ยงต่างๆ ที่คาดว่าพวกลักลอบล่าสัตว์ป่าจะเข้ามาอย่างถูกต้อง

“ตรงไหนค่อนข้างอ่อนไหว เราจะส่งชุดม้าศึกเข้าไปครับ” ชุดม้าศึกที่หัวหน้าหมายถึง คือ ชุดของอุไร

 

เมื่ออยู่ในหน่วย และขณะลาดตระเวน ชายหนุ่มเหล่านี้เป็นราวกับคนละคน

ไม่มีการเล่น หรือเสียงหัวเราะ

กลางคืน พวกเขาก่อไฟกองเล็กๆ เพื่อหุงข้าว และดับก่อนแยกย้าย นอนเปล ในมุมมืด เฝ้าฟังเสียง

เวลาเดิน อุไรใช้ภาษามือสั่งการลูกชุด

ทุกคนเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นมาโดยมีทักษะการใช้ชีวิตในป่า เหมือนกับคนสัญชาติไทย เชื้อชาติกะเหรี่ยงทั่วๆ ไป

เมื่อนำทักษะนั้นมาใช้ร่วมกับเครื่องมืออย่างจีพีเอส, แผนที่การทำงานในป่า สำหรับพวกเขา จึงไม่ใช่เรื่องยากลำบาก

 

ต้นฤดูฝนหนึ่ง

ผมร่วมไปกับชุดม้าศึก ในการลาดตระเวนทางน้ำ ใช้แพยางล่องตามลำน้ำแม่กลอง

เราใช้เวลาอยู่ในป่าร่วมครึ่งเดือน

หลายครั้งมีคนพูดถึงไอศกรีม

“กลับออกไปนี่ เราไปกินที่แม่สอดเลย ห้างเปิดใหม่” ผมชวน

วันกลับ เราไปจอดรถหน้าห้างใหญ่ คนเดินขวักไขว่

อุไรนั่งบนกระบะนิ่ง ไม่ขยับตัว

คนอื่นๆ ก็ไม่ยอมลงจากรถ

ผมมองอุไรอย่างเข้าใจ ที่นี่ไม่ใช่ที่ทางของพวกเขา

 

เราขึ้นรถมุ่งหน้ากลับเข้าป่า ห่างเมืองออกมา เริ่มมีเสียงหัวเราะ พูดคุย

อุไรและลูกชุดลาดตระเวนของเขาสอนผมอย่างหนึ่ง

ชีวิตอยู่ได้ทุกที่ แต่ทุกที่ก็ไม่ใช่ที่อันเหมาะสม

และชีวิตควรรู้ตัวเองว่า เหมาะสมกับที่ใด

รวมทั้งควรรู้อีกด้วยว่า ภาพ “ข้างนอก” นั้น อาจไม่ได้เป็นอย่างที่เห็น

 

สักวันหนึ่ง ผมวางแผนไว้ว่าจะเขียนนิยาย

ที่มีพระเอกชื่อว่า อุไร

จะนำบุคลิกของอุไรนี่แหละมาเขียน

ในนิยายที่จะเขียน ผมไม่ต้องสร้าง หรือเขียนให้อุไรมีบทบาทเด่นจนเหมือน “พระเอก”

เพราะในชีวิตจริงๆ

เขาเป็นอยู่แล้ว…