E-DUANG : บทสรุป ถวายสัตย์ ปฏิญาณ บทสรุป แถลงนโยบาย รัฐบาล

ไม่ว่ากรณี”ถวายสัตย์ปฏิญาณ” ไม่ว่ากรณี”แถลงนโยบายรัฐบาล”ในที่สุดก็รวมศูนย์ไปที่บทสรุปร่วมกัน

นั่นก็คือ เรื่องของ “บรรทัดฐาน”

มีความพยายามจากทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทางด้านของรัฐบาลในทำนองว่า เมื่อผ่านมาแล้วก็ขอให้จบๆกันไป ไม่ควรตั้งข้อสังเกตและทำให้วุ่นวาย

ไม่ว่าจะเป็นการแถลงจากทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการ ส่งเสียงมาจากเขาชะโงก นครนายก

ขณะที่สังคมมีความเห็นร่วมว่า ไม่ว่ากรณี”ถวายสัตย์ปฏิ

ญาณ” ไม่ว่ากรณี”แถลงนโยบาย รัฐบาล”ไม่ควรปล่อยให้ผ่านเลยโดยไม่คำนึงถึง”บรรทัดฐาน”

เพราะ “บรรทัดฐาน”นี้อยู่ในบทบัญญัติ”รัฐธรรมนูญ

 

น่าแปลกอย่างยิ่งที่ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าคนในรัฐบาลมักอ้างถึงกฎหมาย มักอ้างถึงหลักนิติธรรมและความเป็นนิติรัฐ

แต่เมื่อถึงกรณี”ถวายสัตย์ปฏิญาณ” และกรณี”แถลงนโยบาย รัฐบาล”กลับพยายามจะปล่อยให้ผ่านเลย

ทั้งๆที่ในความเป็นจริงคือการละเลยต่อ”รัฐธรรมนูญ”

ทั้งๆที่ในความเป็นจริงเมื่อการกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณไม่เป็นไปตามที่ตราเอาไว้ในรัฐธรรมนูญก็ถือว่าไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน

ทั้งๆที่ในความเป็นจริงเมื่อการแถลงนโยบายรัฐบาลมิได้มี การระบุแหล่งที่มาของเงินงบประมาณที่จะนำไปปฏิบัติก็ถือว่าไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน

คำถามก็คือ แล้วจะบัญญัติเอาไว้ทำไม ปฏิญาณอย่างไหนก็ย่อมได้

คำถามก็คือ แล้วจะบัญญัติเอาไว้ทำไม แถลงนโยบายรัฐบาลอย่างไหนก็ย่อมได้

 

ไม่ว่ารัฐบาลจะมีองค์ประกอบมาอย่างไร เคยเป็นข้าราชการมาก่อน เคยเป็นนักธุรกิจมาก่อน เคยเป็นนักการเมืองมาก่อน เคยเป็นนักวิชาการมาก่อน

แวดวงราชการย่อมมีกฎระเบียบ แวดวงธุรกิจย่อมมีกฎระเบียบ แวดวงการเมืองย่อมมีกฎระเบียบ

ยิ่งแวดวงวิชาการก็ย่อมมีกฎระเบียบ

ในที่สุด หลักการอันเป็น”บรรทัดฐาน”ต่างหากที่สำคัญ