เบื้องหลัง “ดร.แหม่ม” โทรโข่งรัฐบาล ตรงสเป๊ก “เศรษฐกิจ” นำ “การเมือง”

“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ให้ความสำคัญกับงานพีอาร์ของรัฐบาลอย่างมาก

หนึ่งในนั้นคือการหาผู้มาเป็น “โฆษกรัฐบาล” ที่เบื้องหลังนั้น “บิ๊กตู่” คัดเลือกเองกับมือ แม้จะมีทีมงานรวบรวมประวัติส่งมาให้ โดยชื่อที่เคาะอย่างเป็นทางการแล้วคือ “ดร.แหม่ม” ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ ครม.มีมติให้ดำรงตำแหน่ง “โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี”

สำหรับ “ดร.แหม่ม” อายุ 46 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีสถิติศาสตรบัณฑิต (คณิตศาสตร์ประยุกต์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปริญญาโท Master of Science (คณิตศาสตร์ประยุกต์) Georgia State University สหรัฐอเมริกา – Master of Business Administration (Applied Economics) University of Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาเอก Doctor of Philosophy (Finance) University of Pennsylvania สหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ “ดร.แหม่ม” เคยผ่านงานด้านวิชาการเป็นอาจารย์ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ด้านการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน, อดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง หนึ่งในทีมคิดนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและโครงการมารดาประชารัฐ

จากโปรไฟล์นี้เองทำให้นางนฤมลสามารถใช้ความเป็นนักวิชาการมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ ได้

แต่ยังคงถูกตั้งคำถามว่าจะเป็น “โฆษกรัฐบาล” ที่ครบเครื่องได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม เคยมีกระแสข่าวว่า “ดร.แหม่ม” เคยมีชื่อเป็น “รัฐมนตรีหญิง” ใน ครม.ประยุทธ์ 2/1 ในตำแหน่ง รมต.แรงงาน เพราะนางนฤมลเคยเป็นทีมงาน รมต.แรงงาน สมัย พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เป็น รมว.แรงงาน จากนั้นมาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง สมัยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็น รมว.คลัง

อีกทั้งในฐานะแกนนำพรรคที่ติดท็อป 5 ในการจัดลำดับบัญชีรายชื่อ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ โดย 4 รายชื่อก่อนหน้าเป็นผู้ชายทั้งหมด และได้เป็น “รัฐมนตรี” ทั้งสิ้น ได้แก่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลฯ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม

ทำให้มีการมองว่าการได้เป็น “โฆษกรัฐบาล” เป็นตำแหน่งปลอบใจหรือไม่

สำหรับ “ดร.แหม่ม” เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตามาตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เพราะเป็น “กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ” เป็นผู้หญิง 1 ใน 3 คนที่เป็นกรรมการบริหารพรรค ที่ได้แก่ ดร.วลัยพร รัตนเศรษฐ และ น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์

จึงได้เห็นฝีไม้ลายมือมาตั้งแต่ขึ้นเวทีปราศรัยในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือได้ร่วมคณะลงพื้นที่กับ “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และ ปธ.ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคเหนือในหลายๆ เวที

ทั้งนี้ “ดร.แหม่ม” เคยแสดงฝีมือในการอภิปรายในสภาต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภามาแล้ว ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยได้ชี้แจงรายละเอียดร่างนโยบายรัฐบาลในแต่ละด้านด้วยการเตรียมข้อมูลต่างๆ มาอย่างดี

ทำให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ต้องประท้วงให้ประธานสภาวินิจฉัยว่าการอภิปรายผิดข้อบังคับการประชุมหรือไม่ เพราะการทำหน้าที่ชี้แจงนโยบายเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรี

หลังนางนฤมลอภิปรายได้ไม่นาน โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภา ได้วินิจฉัยว่าไม่ขัดข้อบังคับการประชุม ทำให้นางนฤมลได้อภิปรายต่อ หากฟังเต็มๆ จะพบว่านางนฤมลมีความแม่นยำด้านตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างมาก พูดจาฉะฉาน

รวมทั้งเก็บรายละเอียดคำถามของฝ่ายค้านมาตอบเองด้วย

การที่ “ดร.แหม่ม” มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จึงตรงกับสเป๊กโฆษกรัฐบาลที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการ เพราะนายกฯ ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะมีผลต่อเรตติ้งรัฐบาลและเป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสำคัญ

ดังนั้น จึงมีการตั้ง “ครม.เศรษฐกิจ” ขึ้นมา โดยนายกฯ นั่งเป็นประธานเอง และตั้งนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นเลขาธิการ ครม.เศรษฐกิจ ที่อกหักหลุดเก้าอี้รัฐมนตรีไป โดยจัดให้มีการประชุมทุกวันจันทร์

ทำให้มีการมองถึงเบื้องหลังการตั้ง “ครม.เศรษฐกิจ” ว่า เพื่อหลอมรวมพรรคร่วมรัฐบาลให้เป็นเอกภาพ เพราะพรรคพลังประชารัฐเสียเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจเกรดเอให้พรรคร่วมไป

เช่น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จากพรรคภูมิใจไทย นั่ง รมว.คมนาคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ นั่งรองนายกฯ รมว.พาณิชย์ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน จากพรรคประชาธิปัตย์ นั่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งเพื่อนำนโยบายแต่ละพรรคมาขับเคลื่อนให้ได้

ซึ่งนางนฤมลก็จะต้องนำสิ่งเหล่านี้มาชี้แจงกับประชาชน เป็นกระบอกเสียงแทน พล.อ.ประยุทธ์ที่เติบโตมาจากการเป็นนายทหารจึงเชี่ยวชาญสายงานด้านความมั่นคงมากกว่าด้านเศรษฐกิจ หรือกล่าวได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์เลือกโฆษกรัฐบาลที่ต้องรับบท “การเศรษฐกิจ” นำ “การเมือง”

ด้วยบุคลิก “ดร.แหม่ม” ที่มีความประนีประนอมนี้ จึงทำให้เห็นว่ารัฐบาลพร้อมที่จะเปิดรับฟังความเห็นต่างๆ เพื่อกลับเข้าสู่สภาวะปกติของประเทศ จึงมีการมองว่าการตอบโต้ทางการเมืองจะตกไปที่ตำแหน่ง “รองโฆษกรัฐบาล” แทน ที่มีการเก็งชื่อนายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ มาเป็นรองโฆษกรัฐบาล เพื่อทำหน้าที่ตอบโต้เรื่องการเมืองโดยเฉพาะ

อีกจุดแข็งของ “ดร.แหม่ม” คือความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษ ที่เสริมความครบเครื่องในตำแหน่ง “โฆษกรัฐบาล” มากขึ้น

รวมทั้งการเป็นนักวิชาการมาก่อนย่อมสามารถจัดระบบความคิดต่างๆ ได้ดี

แต่ความท้าทายจะอยู่ที่การส่งเนื้อหาสาระนี้มายังสื่อมวลชนและสังคมเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นอย่างไร รวมทั้งตำแหน่งโฆษกรัฐบาลเปรียบเป็น “กระบอกเสียงนายกฯ” ที่จะสะท้อนสิ่งที่นายกฯ ต้องการสื่อสารออกมา และถึงภาพลักษณ์ของรัฐบาลด้วย

แต่ในยุคนี้ต้องติดตามว่า พล.อ.ประยุทธ์จะใช้โฆษกรัฐบาลในการสื่อสารมากน้อยเท่าใด หลัง พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในระหว่างพยายามปรับตัวทำงานในรัฐบาลปกติ หลังถูกรับน้องในสภาในการแถลงนโยบายรัฐบาลจนตบะแตกมาแล้ว

สําหรับ “รองโฆษกรัฐบาล” มีแคนดิเดตมาจาก 2 พรรค ได้แก่ นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ โดยเริ่มต้นนายธนกรเข้ามาในพรรคพลังประชารัฐในนามโฆษกกลุ่มสามมิตร เป็นอดีตที่ปรึกษารองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 2 (นายพีระศักดิ์ พอจิต) และเป็นบัญชีรายชื่อพรรคลำดับที่ 27 ทำให้ไม่ต้องลาออกใดๆ เพราะพรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 19 คน

ซึ่งที่ผ่านมานายธนกรได้ทำหน้าที่รองโฆษกพรรค ในการตอบโต้ทางการเมืองเป็นหลัก และเดินสายรับดีเบตช่วงเลือกตั้งด้วย ทำให้มีภาพจำเป็นโฆษกพรรคมากกว่านายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่เป็นโฆษกพรรคตัวจริงเสียอีก

ส่วนอีกพรรคคือพรรคภูมิใจไทย เตรียมเสนอชื่อ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล บุตรสาวนายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ โดย น.ส.ไตรศุลี เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 30 จึงไม่ต้องมีการลาออกใดๆ

เพราะพรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพียง 13 ที่นั่งเท่านั้น

หากย้อนไทม์ไลน์ พล.อ.ประยุทธ์เคยตั้งโฆษกรัฐบาลที่ส่วนใหญ่เป็นทหาร ได้แก่ ร้อยเอกนายแพทย์ยงยุทธ มัยลาภ ที่สุดท้ายได้ลาออกจากตำแหน่ง แม้จะระบุสาเหตุการลาออกด้วยเรื่องสุขภาพก็ตาม ท่ามกลางการถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและถูกเปิดเผยข้อมูลในกรณีเคยเป็นเจ้าของธุรกิจโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่รับงานหน่วยงานภาครัฐมาก่อน

จากนั้น ครม.ได้ตั้ง พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เป็นโฆษกรัฐบาลแทน แต่สุดท้าย พล.ท.สรรเสริญได้ลาออก ต่อจากนั้นไม่นาน ครม.มีมติโอนย้ายจากข้าราชการทหารไปเป็นข้าราชการพลเรือน และแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ “เสธ.ไก่อู” ถือว่าเป็นโฆษกรัฐบาลยุค พล.อ.ประยุทธ์ที่ยาวนานที่สุด

จากนั้น ครม.ได้มีมติตั้งนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง มาดำรงตำแหน่งโฆษกรัฐบาลแทน ที่มีการมองว่าเพื่อเตรียมรับมือหลังปลดล็อกการเมืองก่อนการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายได้ลาออกไปลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งไม่มีการแต่งตั้งใครขึ้นมาแทน ทำให้ “เสธ.โหน่ง” พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ทำหน้าที่แทนไปก่อน

โดยมีทีมงานผู้ช่วยโฆษกได้แก่ “เสธ.ก้อง” พล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ และ “ผู้พันลิซ่า” พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ซึ่งในเวลานี้ไปเป็นทีมหน้าห้องนายกฯ ที่ตึกไทยคู่ฟ้าแทน เมื่อเข้าสู่รัฐบาลใหม่ จึงได้ตั้ง “ดร.แหม่ม” โฆษกหญิงแกร่งขึ้นมาแทน

บทบาทของ “ดร.แหม่ม” นับจากนี้ต้องจับตาให้ดี โดยเฉพาะเส้นทางทางการเมืองในอนาคต ในวันที่พื้นที่ทางการเมืองไทยผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นและเท่าเทียมกับผู้ชาย ส่วนจะเป็นอีกมาตรฐานของ “โฆษกรัฐบาล” ในอนาคตหรือไม่นั้น ต้องมาดูว่า “ดร.แหม่ม” จะบันทึกประวัติตัวเองไว้อย่างไร

เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือ!