หนุ่มเมืองจันท์ | ซากุระ-ความหนาว

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อนอ่านหนังสือ “ถอยก็ตาย วิกฤติยังไงก็ต้องสู้” ของ “คาซุโอะ อินาโมริ” ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร “เคียวเซร่า”

ผมไม่ได้รู้จัก “อินาโมริ” จากผลงานตอนทำ “เคียวเซร่า”

แต่ชื่นชมผลงานการกอบกู้ “เจแปนแอร์ไลน์” หรือ JAL จากการล้มละลายจนกลับเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งภายในเวลา 3 ปี

เคยเอาเรื่องนี้ไปเล่าในรายการ “เจาะใจ”

ชื่อว่า “สมการสู่ความสำเร็จ”

วันก่อน น้องคนหนึ่งส่งคลิปนี้ที่ “เจาะใจ” ตัดต่อใหม่มาให้ดู

ตกใจ!!

ยอดคนดูประมาณ 1 ล้านคน

ตอนนี้เข้าไปดูใหม่

2.1 ล้านแล้วครับ

คนชอบเรื่องราวของ “อินาโมริ” มาก

ในหนังสือ “ถอยก็ตาย วิกฤติยังไงก็ต้องสู้” มีเรื่องราวตอนกอบกู้ JAL ด้วย

แต่เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องประวัติ วิธีคิด และวิธีทำงานของเขา

มีตอนหนึ่ง “อินาโมริ” เล่าถึงช่วงเวลาที่ “เคียวเซร่า” เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ

ประมาณปี 2516

เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอล

ราคาน้ำมันพุ่งสูง 4 เท่า

สภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นเลวร้ายหนัก

ปีต่อมา ยอดขายของ “เคียวเซร่า” ลดเหลือแค่ 10% ของยอดขายเดิม

ช่วงนั้นหลายบริษัทให้พนักงานออกจากงานชั่วคราว

บางแห่งก็ปลดออกเลย

แค่ “อินาโมริ” ยังยืนหยัดที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพนักงาน

เขาเรียกประชุมพนักงาน ประกาศว่าจะไม่มีการปลดพนักงานออก

พนักงานส่วนหนึ่งให้ไปทำความสะอาดโรงงาน ดูแลสวน ปรับปรุงสถานเล่นกีฬา

ทำในสิ่งที่ทำไม่ได้ตอนเศรษฐกิจดี

และฝึกอบรมพัฒนาทักษะต่างๆ

ทำอย่างนี้อยู่หลายเดือน เศรษฐกิจก็ยังไม่ดีขึ้น

“อินาโมริ” เรียกประชุมอีกครั้ง

เสนอหักเงินเดือนผู้บริหารลงตามลำดับ เพื่อรักษาสภาพการจ้างงานของพนักงานส่วนอื่นๆ

และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น เขาเลือกที่จะคงค่าแรงเท่าเดิม

ในขณะที่บริษัทต่างๆ เจอปัญหาสหภาพแรงงานประท้วงขึ้นค่าแรง

แต่ “เคียวเซร่า” ไม่มี

“ใจ” ที่ “อินาโมริ” ให้ไปในวันก่อน

เขาก็ได้ “ใจ” กลับมาในวันนี้

จากนั้นพอบริษัทกลับมาสู่สภาพปกติ เขาเพิ่มโบนัสให้พนักงานเป็น 3.1 เดือน จากที่สหภาพแรงงานขอมา 1 เดือน

อีก 3 เดือนจ่ายโบนัสพิเศษเพิ่มอีก 1 เดือน

พอปรับเงินเดือนปลายปี เขาบวกเพิ่มพิเศษจากที่เคยขอตรึงอัตราค่าจ้างเมื่อครั้งก่อน

ขึ้นเงินเดือนเป็น 22%

ให้ “ใจ” กลับคืนไปอีกครั้ง

“อินาโมริ” มองว่าช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ คือ โอกาสในการเติบโต

เขาเปรียบกับ “ดอกซากุระ”

ปีไหนที่ช่วงฤดูหนาวหนาวจัด

ตอนฤดูใบไม้ผลิ “ซากุระ” ก็จะผลิดอกงามมากขึ้น

เขาใช้จังหวะที่เศรษฐกิจตกต่ำเป็นตัวผลักดันให้บริษัทเติบโต

เหมือนดอกซากุระที่ผ่านพ้นฤดูหนาวที่โหดร้าย

จะเบ่งบานสวยงามเมื่ออากาศอบอุ่น

“อินาโมริ” มอง “วิกฤต” เป็น “โอกาส”

ยามเศรษฐกิจตกต่ำ คือ “โอกาส” 4 ประการ

เรื่องแรก เป็น “โอกาส” ในการสร้างสายสัมพันธ์กับพนักงานให้แน่นแฟ้น

เขาเปรียบกับ “กระดาษลิตมัน” ที่ทดสอบความเป็นกรดและด่าง

เศรษฐกิจที่ย่ำแย่เหมือนกับ “กระดาษลิตมัน” ที่ทดสอบ “ความสัมพันธ์” ระหว่าง “นายจ้าง” กับ “ลูกจ้าง”

เป็นการบ่งบอกพลังที่แท้จริงขององค์กร

และรู้ว่าใครเป็นอย่างไร

เป็นโอกาสที่จะปรับโครงสร้างองค์กรและพิจารณาความสัมพันธ์ของคนในองค์กรใหม่

ถ้าร่วมทุกข์ร่วมสุขในช่วงวิกฤตและผ่านกันมาได้จะทำให้องค์กรแข็งแกร่งขึ้น

เรื่องที่สอง “อินาโมริ” ใช้ช่วงเวลานี้ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช้วัตถุดิบและค่าแรงงานทางตรง

ไม่มี “โอกาส” ไหนจะดีเท่านี้อีกแล้ว

เพราะทุกคนพร้อมร่วมมือกันอย่างเต็มที่

เหมือนกับการลดไขมันขององค์กร

เมื่อสภาพเศรษฐกิจฟื้นตัว องค์กรก็แข็งแรงขึ้นกว่าเดิม

เรื่องที่สาม ให้ทุกคนต้องเป็นพนักงานขาย

“อินาโมริ” ออกคำสั่งให้พนักงานทุกคนเป็น “พนักงานขาย”

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผลิตหรือฝ่ายไหน

เพราะถ้าขายไม่ได้ บริษัทก็ไม่มีรายได้ ทุกคนก็ต้องเดือดร้อน

“อินาโมริ” บอกว่าฝ่ายขายกับฝ่ายผลิตที่มีปัญหากันมาตลอด ในยามวิกฤตจะเข้าใจกันมาก

ฝ่ายผลิตต้องไปยืนในตำแหน่งของฝ่ายขาย

เขาจะเข้าใจปัญหามากขึ้น จะเปิดอกคุยกัน

กลายเป็นผลดีต่อองค์กรในอนาคต

“อินาโมริ” ไม่เห็นด้วยที่บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าให้สินค้าของบริษัทเป็นโบนัสกับพนักงานในยามเศรษฐกิจตกต่ำ

ในมุมบัญชีเป็นการระบายสต๊อกที่ดี

แต่ในมุมของนักบริหาร เขาเห็นว่าควรจะผลักดันให้พนักงานขายสินค้าเหล่านี้ดีกว่า

“ความลำบากของการขายของที่ต้องก้มหัวขอร้องจะมีความหมายยิ่งขึ้นหากทำให้พวกคนฝ่ายผลิตและพัฒนาเข้าใจสิ่งที่ลูกค้าต้องการ”

นี่คือ “โอกาส” ที่แฝงอยู่ใน “วิกฤต”

เรื่องสุดท้าย ผมชอบมาก

“อินาโมริ” มองว่าเศรษฐกิจที่ตกต่ำจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่

เพราะ “สินค้าเก่า” ขายได้น้อย

เมื่อพนักงานออกไปขายของ เขาจะต้องเงี่ยหูฟังสิ่งที่ลูกค้าพูดอย่างจริงจัง

“อินาโมริ” ยกตัวอย่าง เรื่องวงแหวนไกด์เซรามิกสำหรับคันเบ็ด

สมัยก่อนคันเบ็ดตกปลาจะใช้วงแหวนไกด์ที่ทำด้วยโลหะ

แต่พอปลาตัวใหญ่กินเบ็ด เอ็นจะโดนกระชากรุนแรง

เกิดความร้อนจากการเสียดสีกับโลหะทำให้เบ็ดขาด

พนักงานขาย “เคียวเซร่า” คนหนึ่งที่มุ่งมั่นเห็นปัญหานี้

เขาเสนอวงแหวนที่ทำจาก “เซรามิก” ของบริษัท

เพราะในโรงงานทอผ้าที่เส้นด้ายวิ่งด้วยความเร็วสูงจะใช้วงแหวนเซรามิกที่ลื่นไหลและไม่เกิดความร้อน

แต่ “เซรามิก” แพงกว่า “โลหะ”

ตอนแรกโรงงานผลิตอุปกรณ์ตกปลาปฏิเสธ

พนักงานขายไม่ยอมแพ้

“เรื่องเอ็นไม่ขาดเป็นเรื่องสำคัญมากของนักตกปลานะครับ”

เขาจี้ประเด็นที่โดนใจลูกค้ามาก

ลองนึกถึงความรู้สึก “นักตกปลา” สิครับ

ทุกคนจะดีใจมากเมื่อ “ปลาตัวใหญ่” กินเบ็ด

ดังนั้น เวลาที่เอ็นขาดเพราะความร้อนจากวงแหวนโลหะ

เขาจะเสียความรู้สึกมาก

ถ้ามีอุปกรณ์ตกปลาที่มี “จุดขาย” ว่าเอ็นไม่ขาด ไม่ว่าปลาจะตัวใหญ่แค่ไหน

แพงเท่าไรเขาก็ซื้อ

ในที่สุดโรงงานก็ยอมทดลอง

กลายเป็นสินค้าใหม่ของ “เคียวเซร่า”

ผ่านไป 40 ปี โรงงานอุปกรณ์ตกปลาสั่งซื้อวงแหวนเซรามิกจาก “เคียวเซร่า” ปีละหลายล้านชิ้นต่อเดือน

นี่คือ ผลจาก “วิกฤต”

“เศรษฐกิจไม่ดี คือ โอกาสที่ธรรมชาติมอบให้เพื่อสร้างกิจการให้แข็งแกร่ง”

เป็น “ความเชื่อ” ของ “อินาโมริ”

ครับ คนที่พูดประโยคแบบนี้ได้

ต้องเป็นคนที่รอดจากวิกฤตเท่านั้น

เพราะ “คนตาย” พูดไม่ได้