แย้ง ว่าด้วย “อนุสัย” แย้งจาก บุญมี เมธางกูร ต่อ พุทธทาสภิกขุ

อย่าคิดว่าเมื่อเป็น พุทธทาสภิกขุ เมื่อมีการอ้างคำสดุดีในเรื่อง “จิตประภัสสร” อันโยงยาวไปยังประเด็นว่าด้วย “จิตเดิมแท้” แล้ว

จะไม่มีเสียงโต้แย้ง

ตรงกันข้าม เรื่องราวอันเกี่ยวกับ “จิต” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเจาะลึกลงไปยัง “จิตว่าง” ยิ่งมากด้วยข้อถกเถียง โต้แย้ง

ไม่ว่าจะมองในเชิง “โลกย์” ในแบบของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

ไม่ว่าจะมองในเชิง “ว่าง” ในแบบภาษาคน โดยไม่พยายามทำความเข้าใจไปยังความลึกซึ้งของ “ภาษาธรรม”

เพราะว่าเรื่องของ “จิตว่าง” เป็น “เรื่องใหญ่”

ที่ว่าใหญ่เพราะว่า “จิตว่าง” สัมพันธ์กับการหลุดพ้นหรือ “วิมุตติ” และเหยียบบาทก้าวเข้าไปสู่พรมแดนแห่ง “นิพพาน”

ในความเป็นจริง คำ “โต้แย้ง” เป็นเรื่องดี

เพราะภายในคำ “โต้แย้ง” เท่ากับได้ลับคมทางความรอบรู้ ลับคมในทางความคิดว่าดำเนินไปอย่างมีพื้นฐานรองรับ หนักแน่นเป็นจริงมากน้อยเพียงใด

การนำเสนอของ ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน จึงทรงความหมาย

เพราะว่า ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน มิได้เปิด “ไฟเขียว” ผ่านตลอด ตรงกันข้าม ได้นำข้อโต้แย้งจากอีกหลายฝ่ายมานำเสนอ

ต้องอ่าน

 

การให้ความหมายของ “จิตว่าง” ในลักษณะนี้ได้ทำให้ท่านพุทธทาสถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ยกตัวอย่างว่า บุญมี เมธางกูร มีข้อโต้แย้งในเชิงทฤษฎีที่คัดค้านคำกล่าวของท่านพุทธทาสที่ว่า “จิตว่าง” อันเป็นจิตที่ปลอดจากกิเลสทั้งหมดนั้นเป็นภาวะพื้นฐานปกติของจิต

บุญมีตั้งข้อสังเกตว่า

“คนเรายังมี “อนุสยกิเลส” คือ กิเลสอย่างละเอียดที่ซ่อนอยู่ในจิตใจ โดยที่ไม่มีใครเห็นและไม่มีใครที่ไหนจะสามารถเข้าใจได้”

ในหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้นถือกันว่า “อนุสัย” เป็นภาวะของจิตใต้สำนึกที่โน้มเอียงไปในทางชั่วช้า (อกุศล) ซึ่งเป็นต้นเหตุของกิเลสที่คนเราแสดงออกมาให้เห็น

ข้อความต่อไปนี้ซึ่งนำมาจากคัมภีร์ “วิสุทธิมรรค” แสดงให้เห็นถึงลักษณะแฝงที่คนเราไม่อาจรับรู้ได้ของ “อนุสัย” และบทบาทพื้นฐานของ “อนุสัย” ในการทำให้คนเรามีความยึดถืออยู่เรื่อยไป อันเป็นสาเหตุของการทำกรรมและการเกิดใหม่

นั่นก็คือ

“บรรดาสิ่งเศร้าหมองของจิต (อนุสยกิเลส) ที่เป็นรากเหง้าของวัฏสงสาร (วงรอบของการเกิดใหม่) นั้น มีอยู่เป็นประจำในเรือนกายและจิต (ขันธ์ 5) ของคนเรา และไม่อาจเข้าใจได้อย่างทะลุปรุโปร่ง นับตั้งแต่ตอนที่กายและจิตปรากฏขึ้นเป็นต้นมา”

ข้อความในอีกส่วนหนึ่งของคัมภีร์ “วิสุทธิมรรค” กล่าวไว้ว่า

“ภาวะเช่นนั้นได้ชื่อว่า ความโน้มเอียงไปในทางชั่วต่ำ (อนุสัย) เพราะมันไม่เคยจางคลายไป และมีแนวโน้มเสมอที่จะกลายเป็นภาวะอันเอื้อให้เกิดความใคร่ในกามคุณ (กามราคะ) เป็นต้น ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง”

 

ข้อความเหล่านี้ขัดแย้งกับคำกล่าวของท่านพุทธทาสที่ว่า “จิตเดิมแท้” มีภาวะบริสุทธิ์อยู่โดยพื้นฐาน เพราะได้แสดงให้เห็นว่า ภาวะเศร้าหมองมีอยู่เป็นนิจในปัจจัยหรือขันธ์ต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นจิต

บุญมีอ้างว่า

“จิตว่าง” ไม่สามารถเป็นบาทฐานของนิพพานได้ เพราะถึงแม้จิตจะว่างจากกิเลสที่สังเกตเห็นได้ (ตามความหมายของ “จิตว่าง” ที่ท่านพุทธทาสให้ไว้) ก็ตาม กิเลสแฝงหรือกิเลสที่สังเกตไม่เห็น (อนุสยกิเลส) ก็ยังคงมีอยู่ และมีศักยภาพที่จะแสดงผลออกมา

อีกทั้งอาจทำลายภาวะสงบที่เรียกว่า “จิตว่าง” นั้นเสียได้

ท่านพุทธทาสไม่ได้ปฏิเสธเรื่อง “อนุสัย” เพราะท่านถือว่า “จิตว่าง” เป็นภาวะพื้นฐานของจิตสำนึกที่รู้ ไม่ใช่ภาวะของจิตใต้สำนึก

ท่านไม่ได้ปฏิเสธเรื่องที่ว่าผลของอกุศลกรรมสามารถเหลือค้างอยู่ในจิตใต้สำนึกหรือจิตแฝงได้

 

เมื่อนำเสนอว่าด้วย “เรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม” ท่านพุทธทาสภิกขุ บรรยายถึงคำว่า “อนุสัย” ไว้

“อนุสัย” เป็นกิเลสชนิดละเอียดนอนประจำในสันดานดุจตะกอน เป็นรากเหง้าของกิเลสชั้นกลางและชั้นหยาบซึ่งมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน

เป็นกิเลสชนิดที่ละด้วยเจตนาไม่ได้

ต้องใช้วิธีสร้างอริยมรรคให้เกิดขึ้นเพื่อทำลายกันไปในตัวเองเท่านั้น เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “สัญโญชน์” แปลว่ากิเลสที่ผูกใช้สัตว์ให้ติดอยู่กับวัฏสงสาร หรือความทุกข์

และเมื่อนำเสอนว่าด้วย “ตุลาการิกธรรม”

“อนุสัย” แปลว่าตามนอน หรือนอนตาม คือตามนอนอยู่ในสันดานไม่ให้ขาดจากสันดานได้ ก็แปลว่าการรักษาเชื้อ ถนอมเชื้อของกิเลสไว้ในสันดานอยู่เป็นประจำ พร้อมที่จะแสดงอาการเป็นพิษสงขึ้นมาอยู่เสมอ