พลวัต ทาง “เนื้อหา” เด่นชัด ใน “ความรักของวัลยา” และ เสนีย์ เสาวพงศ์

จากปี พ.ศ.2486 จนกระทั่งจบสิ้นสงคราม เส้นทางการเขียนหนังสือของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ได้ผ่านพบสิ่งใหม่ ความคิดใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสาย

การเดินทางไปทำงานในต่างประเทศช่วยให้ได้เปิดตามากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะการเป็นนักการทูตชุดแรกที่ไปประจำ ณ กรุงมอสโก ภายหลังไทยสถาปนาความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต

ทำให้ได้สัมผัสลึกมากกว่าที่ปรากฏใน “ชัยชนะของผู้แพ้” และ “ไม่มีข่าวจากโตเกียว”

ที่สำคัญก็คือได้รับรู้งานของนักเขียนในกลุ่มที่มีความคิดก้าวหน้า ประสานเข้ากับบรรยากาศบนถนนหนังสือช่วงหลังสงคราม เป็นช่วงที่ดอกไม้แห่งความคิดใหม่ๆ ได้แตกช่ออรชร การเขียนในแนวเอาจริงเอาจังและงานนวนิยายที่มีเป้าหมายเริ่มมีปรากฏตามนิตยสารต่างๆ อย่างคึกคัก

เสนีย์ เสาวพงศ์ ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางศิลปะวรรณคดี ทั้งในด้านการวิพากษ์วิจารณ์และลงมือทำงานสร้างสรรค์

บทความ “จินตนิยมและอัตถนิยม” บอกทิศทางว่าเขาได้หลุดพ้นจากพื้นฐานเดิมอันเคยแสดงออกใน “ชัยชนะของผู้แพ้” มาเป็นการทำงานอย่างมีเป้าหมายและมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่างานศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสารทางความรู้สึกและความคิดที่มีพลัง

ถึงแม้ทางด้านเนื้อหาเขาจะก้าวรุดไปค่อนข้างไกล แต่ทางด้านรูปแบบที่ปรากฏใน “ความรักของวัลยา” ก็จัดอยู่ในขั้นงานแบบ “จินตนิยม” เพียงแต่เป็นจินตนิยมที่ “ก้าวหน้า”

เป็น “จินตนิยมใหม่” ที่เหยียบบาทก้าวเข้าไปยัง “อัตถนิยมใหม่”

 

นวนิยายขนาดสั้นเรื่อง “ความรักของวัลยา” มีฉากส่วนใหญ่อยู่ในกรุงปารีสช่วงหลังสงคราม นวนิยายเรื่องนี้ไม่มีไคลแมกซ์ในแบบใช้เหตุการณ์สร้างความตื่นเต้น บทบาทเด่นของตัวละครเป็นการถกเถียงกันในทางความคิดมากกว่าเป็นกิจกรรมที่ลงมือทำ

แต่กระบวนการเปลี่ยนแปลงในทางความคิดนั่นแหละที่ “สำคัญ”

เขาใช้ วัลยา, ยง อยู่บางยาง, เรอเน่, เตือนตา และไพจิตร เป็นสะพานในการนำเสนอทัศนะเกี่ยวกับ ชีวิต ความรัก ความเสอมภาคทางเพศ การทำงานศิลปะ ฯลฯ

เนื่องจาก “ความรักของวัลยา” เป็นนวนิยายที่สะท้อนภาพชีวิตของปัญญาชนชั้นกลางอย่างเป็นด้านหลัก ทั้งเล่มจึงเต็มไปด้วยการอภิปราย การโต้แย้งกันด้วยเหตุผลนานา ผู้อ่านจะพบกับคำคมจากปากของตัวละครแทบจะทุกหน้า

บางครั้งก็สมเหตุสมผล และบางครั้งก็ออกจะเป็นการจงใจ

อย่างเช่น ตอนหนึ่งของจดหมายที่เตือนตาเขียนถึงวัลยาว่า “เงื่อนไขทางวัตถุของชีวิตนั่นเองเป็นเครื่องกำหนดจิตใจส่วนใหญ่”

หลังจากลงมือทำงานเป็นครูและย้ายโรงเรียน 3 โรง

 

หนังสือเล่มนี้ให้ทัศนะทางความคิดใหม่ๆ หลายอย่าง เช่น “โลกของเราเป็นโลกแห่งการเคลื่อนไหว สิ่งที่ยืนยงจีรังกาล ไม่มี ศีลธรรมจารีตประเพณีแบบหนึ่งที่ล้าสมัยก็ถูกลบเลือนละทิ้งสาบสูญไป

“สิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ การดับสูญและการเกิดใหม่เท่านั้นเป็นสิ่งแน่นอน”

และ “ความรักที่เป็นเพียงความสุข หรือไม่ก็ก่อความใคร่ของคนคนหนึ่งหรืออย่างมากที่สุด 2 คนเท่านั้น เป็นความรักอย่างแคบ ความรักของคนเราควรจะขยายกว้างออกไปถึงชีวิตอื่นถึงประชาชนทั้งหลายด้วย ชีวิตของคนเราจึงจะมีคุณค่ามีความหมาย”

และจากทัศนะเหล่านี้เอง เสนีย์ เสาวพงศ์ จึงได้สรุป “ความรักของวัลยา” ว่า

ความรักนั้นได้แก่ความรักในสันติสุข ความรักในศิลปะและชีวิต ชีวิตก่อให้เกิดความรัก และความรักนั้นในตัวของมันเองมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิตด้วย”

นี่คือเอกภาพระหว่าง “ชีวิต” กับ “ความรัก” ด้านหนึ่ง ชีวิตคือต้นธารและแหล่งกำเนิดแห่งความรัก ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง ความรักก็ทำให้ชีวิตได้เติบใหญ่ พัฒนาไป จากชีวิต 1 ไปยังอีกชีวิต 1

มีบางคนตีความว่า การเปรียบเทียบของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ในเรื่องชีวิตและความรักนี้เหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับจิต

วัตถุกำหนดจิต ขณะเดียวกัน จิตก็ก่อผลสะเทือนให้กับวัตถุ

 

จากนี้จึงเห็นได้ว่าประโยคที่เตือนตาสรุปให้วัลยารับรู้ที่ว่า “เงื่อนไขทางวัตถุของชีวิตนั่นเองเป็นเครื่องกำหนดจิตใจส่วนใหญ่”

นั่นก็คือ “วัตถุ” กำหนด “จิต”

อันเป็นหลักการโดยพื้นฐานของความคิดอย่างที่เรียกว่า “วัตถุนิยม” หรือ “สสารธรรม” ตามบัญญัติของ ปรีดี พนมยงค์ ในหนังสือ “ความเป็นอนิจจังของสังคม”

นั่นคือสิ่งที่ซึมซ่านอยู่ใน “ความรักของวัลยา”