คนมองหนัง | “ขวานฟ้าหน้าดำ” ตอนอวสาน : ความผิดพลาดของ “ผู้มีอำนาจ”

คนมองหนัง

ละครจักรๆ วงศ์ๆ “ขวานฟ้าหน้าดำ 2562” ปิดฉากอวสานไปแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม

ถ้าให้สรุปภาพรวมในฐานะคนที่ตามดูละครเรื่องนี้มาครบทั้ง 37 ตอน ก็ต้องบอกว่า “ขวานฟ้าหน้าดำ” เวอร์ชั่นล่าสุด นั้นดำเนินเรื่องสนุก-ฉับไว ฉากบู๊-เทคนิคพิเศษด้านภาพอยู่ในเกณฑ์ดี

ขาดไปแค่เพียงอารมณ์ขันในลักษณะ “หัวร่อต่ออำนาจ” ซึ่งเป็นคุณลักษณ์โดดเด่น ที่ละครจักรๆ วงศ์ๆ ยอดฮิต “ต้อง” มี

ยิ่งกว่านั้น เพราะเป็นละครที่สร้างมาจาก “นิทานจักรๆ วงศ์ๆ ยุคใหม่” (บทประพันธ์ของ “เสรี เปรมฤทัย” หรือ “เปรมเสรี”) ผนวกกับถูกดัดแปลงแก้ไขให้มีความทันสมัยขึ้น (ละครเวอร์ชั่นล่าสุด เขียนบทโดย “อัศศิริ ธรรมโชติ” ภายใต้นามปากกา “บางแวก”)

“ขวานฟ้าหน้าดำ” จึงมีบางองค์ประกอบที่หลุดกรอบของ “ละครจักรๆ วงศ์ๆ” ทั่วไป

ทั้งการขับเน้นประเด็น “คุณธรรมน้ำมิตร” และการสร้างบุคลิกลักษณะเฉพาะหรือความสามารถพิเศษเหนือธรรมชาติ ตลอดจนโครงข่ายความสัมพันธ์อันกว้างขวางซับซ้อน ให้แก่บรรดาตัวละครมากหน้าหลายตา คล้าย “นิยายกำลังภายใน” (ประเด็นหลังนี้ยังพ้องกับพวก “คอมิกส์” ด้วย)

ส่วนโครงเรื่องก็คล้ายคลึงกับการฝ่าฟันด่านต่างๆ ใน “เกมคอมพิวเตอร์” มากกว่าจะเป็นการชักนำตัวละครหลักทุกรายไปกองรวม ณ “วันพิพากษาสุดท้าย” ในตอนจบของละคร เหมือนละครจักรๆ วงศ์ๆ ส่วนใหญ่

จะเห็นว่า “ขวาน” วัยเยาว์ ต้องเผชิญหน้าและฆ่าสองผัวเมียมนุษย์กาเป็นด่านแรก, ปราบนางยักษ์กาขาวเป็นด่านที่สอง, ฟื้นคืนชีพจากการถูกอำมาตย์แสงเพชรสังหารในด่านที่สาม, พิชิตพระเจ้าแสงเพชรและพวกพ้องในด่านที่สี่

แล้วจึงพิฆาตแสงเดช ณ ด่านสุดท้าย

แม้จะออกอากาศด้วยจำนวนตอนน้อยกว่าละครจักรๆ วงศ์ๆ ร่วมสมัยในระยะหลังๆ

ทว่า “ขวานฟ้าหน้าดำ” กลับมีฉากรุนแรงในเปอร์เซ็นต์สูงกว่าอย่างชัดเจน เห็นได้จากตัวละครหลัก ทั้ง “ฝ่ายดี” และ “ฝ่ายไม่ดี” ที่ถูกฆ่าตายตลอดทั้งเรื่อง

ไล่ตั้งแต่สองมนุษย์กา, เมียอำมาตย์โสฬส, นางยักษ์กาขาว, บุรีรมย์ราชา, เศรษฐีปัญจะ, แม่ขวาน, กานต์กาสร, ศรีสมิง, แม่มดนาถสุดา, หมื่นสุรไกร, หมื่นสีหนาท, อำมาตย์ทินกร, อำมาตย์/พระเจ้าแสงเพชร และแสงเดช (ไม่รวมทหารเลว-สามัญชนคนเล็กคนน้อยอีกจำนวนหนึ่ง)

ถ้าพิจารณาเฉพาะประเด็น “การใช้ความรุนแรง” มิอาจปฏิเสธได้ว่า “ขวานฟ้าหน้าดำ 2562” นั้น “ไม่คลีน” เท่าละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องอื่นๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เช่น “เทพสามฤดู 2560” ที่แทบจะไม่มีตัวละครหลัก (ไม่ว่าฝ่ายไหน) ต้องเสียชีวิตลงเลย และ “สังข์ทอง 2561” ซึ่งผู้ที่ต้องดับสูญ คือ บรรดาเหล่าร้าย ไม่ใช่ตัวละครสมทบฝ่ายธรรมะ อาทิ พี่หอยทากและหกพระพี่เลี้ยง (ผู้ต้องพลีชีพใน “สังข์ทอง 2550”)

มิหนำซ้ำ “ขวานฟ้าหน้าดำ 2562” ตอนอวสาน ยังมีการเข่นฆ่า “คนดี” อีกล็อตใหญ่ ก่อนที่ทั้งหมดจะได้รับการชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ (สอดคล้องกับประเด็นสำคัญในเนื้อหาส่วนถัดไป)

“ขวานฟ้าหน้าดำ” ตอนอวสาน คล้ายจะมีหลักใหญ่ใจความอยู่ตรงการฟื้นคืนชีพของ “ตัวร้ายเบอร์สอง” อย่าง “แสงเดช”

ในละครตอนก่อนหน้านั้น “แสงเดช” ถูก “ขวาน/สุธาเทพ” ฆ่าตาย แต่แล้ว สายฝน สายฟ้า และแสงแดด ก็ตกกระทบมายังร่างไร้วิญญาณของเขาพร้อมเพรียงกัน

หลังมีชีวิตใหม่ “แสงเดช” ได้รับการอัพสกิลขึ้น จนมีฤทธิ์สูงกว่า “แสงเพชร” ผู้พ่อเสียอีก

กระทั่งผู้วิเศษ เช่น “เจ้าพ่อเขาเขียว” และ “ฤๅษีอุปคุปต์” ก็ต้านทานไม่ได้ ส่วน “ขวาน/สุธาเทพ” ที่กลายสถานะเป็น “พระเจ้าขวานฟ้าสุธาเทพ” เหนือหัวองค์ใหม่แห่งบุรีรมย์นคร ก็ต้านทานไม่ไหว

ท่ามกลางปริศนาค้างคาใจว่าทำไม “แสงเดช” จึงไม่ตาย แถมยังเก่งขึ้นผิดหูผิดตา?

แล้ว “สุริยะเทพ” ก็ปรากฏกายขึ้น เพื่อแจ้งข่าวร้ายกับ “พระเจ้าขวานฟ้าสุธาเทพ” ว่าเป็นเพราะพระองค์เผลอไปส่องแสงอาทิตย์ระหว่างฝนตก-ฟ้าผ่าพอดี

“แสงเดช” เลยกลับมาสร้างความปั่นป่วนระลอกใหม่

เท่ากับว่าการฟื้นคืนชีพของ “แสงเดช” และความผิดพลาดของ “สุริยะเทพ” ถือเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน

แม้เทพแห่งแสงสว่างจะตระหนักว่าพระองค์ทำพลาดไปแล้ว แต่ก็ไม่กล้าจะช่วยเหลือ “พระเจ้าขวานฟ้าสุธาเทพ” อย่างตรงไปตรงมาหรือออกนอกหน้า ด้วยเกรงว่าพระองค์เองจะ “เสียศูนย์”

“สุริยะเทพ” จึงทำได้เพียงบอกใบ้วิธีปราบ “แสงเดช” ให้แก่ “พระเจ้าขวานฟ้าสุธาเทพ” ก่อนพระองค์จะไปร่วมด้วยช่วยกันในช่วงเผด็จศึก

เทพเจ้าพระองค์นี้ยอม “เสียศูนย์” อีกรอบ โดยชุบชีวิต “ขุนพลจ้อย” “อำมาตย์โสฬส” และ “หมื่นวิษณุ” ซึ่งเป็นบรรดาตัวละครฝ่ายธรรมะที่ถูก “แสงเดช” (เวอร์ชั่นอัพสกิล) ฆ่าตาย ให้ฟื้นคืนชีวิตขึ้น

การ “เสียศูนย์” ของ “สุริยะเทพ” จึงอาจหมายถึงการลงไปแทรกแซงชะตากรรมของมนุษยชาติก็ได้ หรือจะหมายถึงการแก้ไข “ข้อผิดพลาด” ของพระองค์เอง ก็ได้เช่นเดียวกัน

ท้ายสุด เมื่อเรื่องราวทั้งหมดจบลงแบบ “แฮปปี้เอ็นดิ้ง” “สุริยะเทพ” ก็เรียก “ขวานวิเศษ” คืนจาก “พระเจ้าขวานฟ้าสุธาเทพ”

เหตุผลข้อแรก อาจเป็นเพราะพระองค์ต้องนำเอาอาวุธวิเศษชนิดนี้ไปปราบอธรรมในแหล่งอื่นๆ ตามที่ให้เหตุผลไว้ในละคร

ทว่า เหตุผลอีกข้อ ก็อาจเป็นเพราะพระองค์หวั่นเกรงว่า “พระเจ้าขวานฟ้าสุธาเทพ” จะใช้อำนาจ (อันมี “ขวาน” เป็นสัญลักษณ์) ไปในทางที่ผิด หรืออย่างต่ำที่สุด ก็ใช้มันอย่างบกพร่องโดยไม่รู้ตัว

ดังที่องค์ “สุริยะเทพ” เอง ก็เคยกระทำผิดพลาดมาแล้ว ในกรณี “แสงเดช”