เกษียร เตชะพีระ | ประชาธิปไตยใหม่

เกษียร เตชะพีระ

ประชาธิปไตยใหม่ (1)

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปบรรยายหัวข้อ “ประชาธิปไตยใหม่และเสรีนิยมใหม่” ในการอบรมโครงการโรงเรียนนักข่าวของศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ TCIJ

คิดว่าเนื้อหาคงเป็นประโยชน์แก่การเข้าใจหลักการ ที่มาและปรากฏการณ์เศรษฐกิจการเมืองสำคัญของไทยและนานาชาติปัจจุบันบ้างตามสมควร

จึงขอนำมาเสนอดังต่อไปนี้

ว่าด้วยที่มาของเสรีนิยมประชาธิปไตย

ระเบียบการเมืองที่เรียกว่าประชาธิปไตยอย่างที่เรารู้จักในชีวิตของเรา คือระเบียบการเมืองที่เกิดในตะวันตกและถือเป็นแม่แบบของการคิดเรื่องประชาธิปไตย คือระบอบที่เรียกว่าเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) มันมาจาก 2 แนวคิด 2 ปรัชญา 2 โจทย์การเมือง และ 2 คำตอบการเมืองที่มุ่งจะตอบโจทย์ต่างกันของกลุ่มคนที่ต่างกัน มันมาจากก้อนเสรีนิยมก้อนหนึ่งและก้อนประชาธิปไตยก้อนหนึ่ง แล้วในเงื่อนไขประวัติศาสตร์ที่แน่นอน ที่เอื้ออำนวยจำนวนหนึ่งประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 มันมาประกบประกอบเข้าด้วยกันได้

ดังนั้น การจะเข้าใจประชาธิปไตยในปัจจุบันอยู่ในสภาวะปัญหาอย่างไร จะต้องเข้าใจรากที่มาของมันก่อน

ขอบคุณภาพจาก TCIJ

จุดเน้นของเสรีนิยม (liberalism) คือสิทธิและเสรีภาพเหนือร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของบุคคลพลเมืองและหลักนิติธรรม

ซึ่งแปลให้ง่ายที่สุดคือ รัฐบาลมีอำนาจจำกัด (limited government) แปลว่าไม่ใช่รัฐบาลที่มีอำนาจสัมบูรณ์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

จำกัดด้วยอะไร?

จำกัดด้วยสิทธิและเสรีภาพเหนือร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคล แทนที่อำนาจจะปกแผ่ไปทั่วทั้งหมด กลับถูกขีดเส้น

และเส้นที่อำนาจรัฐห้ามข้ามมาคือสิทธิและเสรีภาพเหนือร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคล

ทันทีที่คุณสถาปนาการปกครองที่มีเส้นคั่นอันนี้ขึ้น ทันทีที่คุณเห็นว่ารัฐควรมีอำนาจจำกัดไม่ใช่สัมบูรณ์ คุณมีหลักนิติธรรม (the rule of law)

ฉะนั้น จึงอาจพูดได้ว่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2475 เรายังมีรัฐที่มีอำนาจไม่จำกัดคือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy)

ทันทีที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง เราจึงมีรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัด (limited government) บุคคลคนไทยทั้งหลายเริ่มมีสิทธิเหนือร่างกายและทรัพย์สินของตนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475

และเราเรียกว่าหลักนิติธรรม (the rule of law)

ทิศทางของเสรีนิยมก็คือจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง เราจะรู้ได้ทันทีว่านี่ไม่ใช่เสรีนิยมเมื่อผู้ปกครองมีอำนาจไม่จำกัด (unlimited or absolute power) แปลว่าเขาอยากจะยืดยาวหรือหดสั้นอำนาจของตนแค่ไหนก็ได้

วันนี้เขาขอแค่ตรวจอาวุธ วันต่อไปขอตรวจร่างกาย ต่อไปเขาขอตรวจเลือด ตรวจดีเอ็นเอ ตรวจอีเมล

ประเด็นมันไม่เกี่ยวกับว่าเราทำความผิดหรือไม่ผิด อย่างที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลมักพูดว่า “ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่ต้องกลัวถูกตรวจ”

แต่ประเด็นคือ มันมีที่บางที่ซึ่งรัฐไม่ควรล่วงล้ำเข้ามา ตรงนั้นเราเรียกกันว่าพื้นที่ส่วนตัว (private space)

ดังนั้น ทิศทางของเสรีนิยมคือการจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง เนื้อหาแสดงผ่านองค์ประกอบด้านรัฐธรรมนูญของระบอบประชาธิปไตย

หัวใจของรัฐธรรมนูญคือหยุดอำนาจให้นิ่ง และวิธีหยุดอำนาจให้นิ่งคือคุณเขียนระบุขอบเขตของอำนาจว่าทำอะไรได้ทำอะไรไม่ได้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งมันจะช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพลเมืองจากอำนาจรัฐ เน้นความจำเป็นที่สถาบันต่างๆ ต้องตรวจสอบถ่วงดุลกันอย่างซับซ้อนเพื่อป้องกันการสะสมรวมศูนย์รวบริบผูกขาดฉวยใช้อำนาจโดยมิชอบของผู้กุมตำแหน่งรัฐบาล มีนัยถึงการปกครองเพื่อประชาชน (government for the people)

วิญญาณเดิมของเสรีนิยมคือไม่ไว้ใจมนุษย์หน้าไหนที่เมื่อได้กุมอำนาจเด็ดขาดเข้าแล้วจะไม่ชั่วร้าย ดังนั้น เพื่อประชาชน จึงควรต้องจำกัดอำนาจเหล่านั้นไว้

ทางฝั่งประชาธิปไตย (democracy) จุดเน้นคือความเสมอภาคและอำนาจอธิปไตยของประชาชน

ไอเดียง่ายๆ คือ เมื่อคนเราเท่ากันอำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข เป็นการปกครองโดยเสียงข้างมาก ตรงนี้แหละที่ทำให้ประชาธิปไตยเป็นเรื่องรับได้ยาก เพราะการรับประชาธิปไตยคือการยอมรับว่าฉันเท่ากับคุณ และคุณและฉันเท่ากับทุกๆ คนไม่เลือกหน้า

ทิศทางของประชาธิปไตยคือกระจายอำนาจให้ประชาชน ในเมื่อคุณเชื่อว่าคนเท่ากัน อำนาจจึงควรจะกระจายออกไปให้คนทั้งหลายด้วย และแสดงออกผ่านองค์ประกอบด้านประชาชนของระบอบประชาธิปไตยซึ่งมุ่งให้ประชาชนได้เป็นเจ้าของและใช้อำนาจรัฐด้วยตัวเองอย่างเสมอภาคกัน เน้นบทบาทของพลเมืองธรรมดาและการเข้าร่วมของมวลชนผ่านการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม สม่ำเสมอ และกระบวนการเคลื่อนไหวอื่นๆ โดยรวมตัวจัดตั้งกันเป็นพรรคการเมือง มีนัยถึงการปกครองโดยประชาชน (government by the people)

ทีนี้เราต้องกลับไปที่การปกครองเพื่อประชาชน (government for the people) ก่อนหน้านี้

เมื่อวิญญาณของประชาธิปไตยไม่เข้ากับระเบียบอำนาจวัฒนธรรมไทย

วิธีเข้าใจเรื่องนี้ที่ง่ายที่สุด สมมุติท่านทั้งหลายเป็นประชาชน ถ้าบอกว่าผมจะปกครองเพื่อพวกคุณ โอเคหรือเปล่า?

การปกครองเพื่อพวกคุณไม่เหมือนกันกับปกครองโดยพวกคุณ ทั้งนี้เพราะพวกคุณโง่ พวกคุณชั่ว พวกคุณเห็นแก่ตัว ผมรักพวกคุณมากเลย อยากจะปกครองเพื่อพวกคุณ แต่ถ้าให้พวกคุณปกครองกันเองโดยพวกคุณเอง ฉิบหายนะ เพราะพวกคุณยังโง่อยู่ ยังชั่วอยู่

ดังนั้น ที่ถูกต้องจึงควรจะเป็นการปกครองเพื่อพวกคุณ แต่โดยผม เพราะผมฉลาดกว่า ดีกว่า รักชาติกว่า โอเคหรือเปล่า?

อับราฮัม ลินคอล์น เข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐในปีค.ศ. 1861 / AFP PHOTO / LIBRARY OF CONGRESS / HO

หลักประชาธิปไตยของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ที่ว่า “ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชน” (government of the people, for the people, and by the people) มันทำในเมืองไทยยากมาก เพื่อประชาชนง่ายที่สุด แม้เขาจะทำสิ่งตรงข้ามกับที่พูด แต่มันง่ายที่จะบอกว่าข้าพเจ้าปกครองเพื่อพวกคุณ

แต่ถ้าปกครองโดยพวกคุณ อันนี้ลำบาก เพราะพวกคุณ/ประชาชนบกพร่อง ขาดคุณสมบัติต่างๆ

ดังนั้น สำหรับเมืองไทย ประชาธิปไตยคือการปกครองเพื่อประชาชน แต่ต้องปกครองโดยคนดี คนฉลาด คนรักชาติจำนวนน้อย (government for the people but by the select few)

ส่วนของประชาชน (government of the people) ไม่ได้หรอกครับ เพราะรัฐบาลทุกชุดของประเทศเราคือรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยความเข้าใจพื้นฐานทางการเมืองวัฒนธรรมของสังคมไทย ทำไมหลักประชาธิปไตยถึงเข้ามาอยู่ในเมืองไทยยาก ทั้งที่หลักการมันง่ายมาก รัฐบาลเพื่อประชาชน โดยประชาชน ของประชาชน?

ปมอยู่ตรงวิญญาณของมันเข้ากันไม่ได้กับระเบียบอำนาจและวัฒนธรรมกระแสหลักของไทย ซึ่งชัดเจนว่าเพื่อพวกคุณ ได้ แต่โดยพวกคุณ ไม่ได้ และของพวกคุณ ก็ไม่ได้