วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์ /รีลีฟแม็ป : จากทหารสู่เด็ก (1)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

รีลีฟแม็ป : จากทหารสู่เด็ก (1)

 

ถ้าสิ่งที่เราต้องการจากแผนที่คือความตรงต่อความจริง กูเกิลแม็ปในโทรศัพท์และแผนที่บนกระดาษแบนๆ ยังห่างไกลความจริง เพราะการจะอ่านให้ออกต้องรู้จักการแปลสัญลักษณ์ของแผนที่เหล่านั้นให้ได้เสียก่อน

ในแง่นี้ รีลีฟแม็ป (Raised relief model map) หรือแผนที่นูนสูง น่าจะใกล้เคียงกับอุดมคติหรือเป็นแผนที่ในอุดมคติ ซึ่งแปลว่าอ่านได้โดยไม่ต้องถอดรหัสมากนัก

ในบ้านของผมมีแผนที่รีลีฟแม็ปอยู่ชุดหนึ่ง ซึ่งเอาไว้ดูเพื่อการเดินทาง การสอนเด็ก รวมทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน

ต้องบอกก่อนว่า แผนที่กลายเป็นอุปกรณ์เพื่อการศึกษาที่ใช้กับเด็กทั่วไป หลักสูตรและแบบเรียนภูมิศาสตร์จำนวนมากให้ความสำคัญกับแผนที่ เพราะทำให้เด็กมีทักษะเรื่องพื้นที่ (spatial skills) หรือเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่มากขึ้น

ทักษะนี้สำคัญต่อวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และช่วยพัฒนาความเข้าใจคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในโลกวันนี้ นอกจากนั้น การบอกที่ตั้ง ระยะทาง ทิศ และสัดส่วน ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ในห้องนอนตัวเอง รวมทั้งเมือง ภูเขา หรือทะเลที่ไม่เคยเห็น ยังช่วยพัฒนาภาษาและการคิดของเด็ก

เช่น การรู้จักใช้คำว่า บนหรือล่าง ใกล้หรือไกล หน้าหรือหลัง เหนือหรือใต้ ล้วนต้องมาจากทักษะเรื่องพื้นที่ทั้งสิ้น

รีลีฟแม็ปเป็นแผนที่สามมิติ ซึ่งนอกจากจะบอกสถานที่และระยะทางแล้ว ยังบอกความสูง-ต่ำของภูมิประเทศด้วยความนูน เปรียบเทียบกับแผนที่สองมิติ รีลีฟแม็ปคล้ายกับบ้านตุ๊กตาคือสัมผัสแตะต้องได้ จึงให้ความเข้าใจรวมทั้งความสนุกในการทำและใช้ด้วย

และไม่ต้องห่วงว่าเด็กจะอ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ไม่ออก ยังมีรหัสอีกมากมาย เช่น เครื่องหมาย สี และมาตราส่วนให้เรียนรู้ แต่การบอกว่าที่ใดเป็นภูเขาหรือที่ราบนั้นจะง่ายขึ้นมากเพราะอ่านโดยไม่ต้องถอดรหัสความสูง-ต่ำ

 

รีลีฟแม็ปมีชื่อทางการว่า Raised relief model map และแบ่งเป็นชุดต่างๆ ตามมาตราส่วน เช่น 1:250,000 ชุดที่ผมเอามาดูบ่อยๆ คือ 1301 มาตราส่วน 1:1,000,000 แสดงภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วยประเทศต่างๆ ราวเจ็ดประเทศ แบ่งเป็นหลายระวางหรือแผ่น มีสิบสองแผ่น แต่ละแผ่นมีขนาดยาวไม่เกินครึ่งเมตรคูณหนึ่งเมตรและเอามาเรียงต่อกันได้

ผลิตโดยแผนกแผนที่ของกองทัพสหรัฐ (Army Map Service) ราว พ.ศ.2500-2510 หรือช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งถูกใช้เป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำการรบ

นอกจากนั้น แผนที่ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีบทบาทในการวิจัยของสหรัฐ และประเทศอื่นๆ แต่ละชุดจะใช้สัญลักษณ์และสีที่เหมือนกัน ตัวอักษรมีหลายภาษา โดยมีของชาติที่อยู่ในแผนที่นั้นและของอังกฤษ

คล้ายกับแผนที่กระดาษชุด L708 ซึ่งพิมพ์ออกมาก่อนหน้า คือมีอัตราส่วน, พิกัด, ความสูง-ต่ำของพื้นที่ และแสดงถนน ทางรถไฟ เส้นพรมแดนและไร่นาของสมัยนั้น รีลีฟแม็ปจะใช้เดต้าหรือข้อมูลชุดเดียวกัน (ซึ่งมาจากภาพถ่ายทางอากาศ) กับแผนที่กระดาษ แต่ใช้การพิมพ์แบบ Thermoplastic

ในบทความของกรมแผนที่ทหารแห่งกองทัพบกไทย ชื่อ “แบบจำลองภูมิประเทศ” โดย พ.อ.จาตุรนต์ แสงศร บอกไว้ว่าแต่เดิม การทำรีลีฟแม็ปเป็นเทคนิคของเยอรมนีชื่อคาร์ล เวงชอว์ และมีชื่อว่า Wenschow Method ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐ ได้นำเทคนิคนี้และการพิมพ์ซึ่งเรียกว่า Thermoplastic ไปพัฒนาต่อ

การพิมพ์แบบนี้จะเริ่มจากการแกะหุ่นจำลองของภูมิประเทศด้วยปูนปลาสเตอร์ โดยใช้เดต้าของแผนที่กระดาษและเครื่องแกะอัตโนมัติ (pantograph) ถ่ายทอดเส้นชั้นความสูงออกมา พูดง่ายๆ คือทำให้แผนที่สองมิติกลายเป็นสามมิติ จากนั้น จึงวางแผ่นพลาสติกทาบลงไปบนหุ่นแล้วให้ความร้อน เมื่อปล่อยให้เย็น พลาสติกก็จะแข็งตัวกลายเป็นแม่พิมพ์ต้นแบบ

 

ไตเติลของ Game of Throne แสดงให้เห็นเมืองต่างๆ ด้วยแผนที่และโมเดล การใช้แผนที่อาจจะทำให้ไตเติลดูเหมือนเกม แต่ก็ส่อถึงธีมที่ซีเรียสกว่าหรือสงครามด้วย เพราะแต่ไหนแต่ไรมาถูกใช้สำหรับทำสงครามหลายครั้ง การแสดงที่ตั้ง ระยะทางและความสูงต่ำด้วยแผนที่แบบนี้ไม่ได้เป็นของเล่นสำหรับเด็ก แต่เป็นเครื่องมือทหารและทำขึ้นเพื่อวางแผนการบุก

ในบทความเรื่อง “แบบจำลองภูมิประเทศ” ผู้เขียนเรียกโดยรวมว่า Topograpic Map ถ้าวางบนโต๊ะเพื่อวางแผนจะใช้ศัพท์ทหารเรียกว่า “โต๊ะทราย” ถ้านำไปใช้โดยนักธุรกิจ พ่อค้า นักปกครอง และภัณฑารักษ์ จะเรียกว่า “โต๊ะหุ่นจำลอง”

ทุกวันนี้ เรามักจะเห็นโต๊ะหุ่นจำลองแสดงภูมิประเทศและสิ่งก่อสร้างวางอยู่บนโต๊ะในพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ

ประวัติของการทำโต๊ะหุ่นจำลองย้อนหลังไปหลายพันปี จีนทำมาตั้งแต่ก่อนคริสตกาล ในยุคกลาง อิตาลีและเยอรมนีก็ชอบทำ สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส การวางผังเมืองและหุ่นจำลองเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง แต่ก็ยังทำด้วยมือ

ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง แผนที่แบบโต๊ะทรายมีขนาดใหญ่และมีบทบาทเป็นเครื่องช่วยในการวางแผนสงครามมากขึ้น การรบครั้งสำคัญๆ เช่น การยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ต้องใช้โต๊ะทรายกว่าร้อยตัว

หลังสงครามโลก เมื่อสหรัฐกลายเป็นผู้นำโลกเสรีและทำการปฏิรูปแผนที่ของทั้งโลก โดยเปลี่ยนจากเทคนิคเดิมให้กลายเป็นการถ่ายภาพทางอากาศ แผนที่แบบนี้ก็ยิ่งขยายตัว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเทคนิคการพิมพ์จะทำง่ายขึ้น แต่กระบวนการทั้งหมดก็ยังยากและแพงมาก เช่น ต้องใช้เครื่องบินและกล้องถ่ายรูปทางอากาศ รวมทั้งแท่นพิมพ์แบบพิเศษ

แผนที่แบบนี้จึงถูกสงวนไว้สำหรับทหารหรือรัฐบาลเท่านั้น