เทศมองไทย : สามทศวรรษ ในค่ายผู้ลี้ภัย

ที่มาภาพ : unhcr.or.th

ค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราวตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่าที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ที่บ้านแม่ลา อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก อยู่ที่นั่นมานานมาก ค่ายที่เก่าแก่ที่สุดตั้งขึ้นในปี 1984 หรือปี พ.ศ.2527 นับจนถึงปีนี้ก็อายุปาเข้าไป 35 ปีแล้ว ค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้อยู่ที่นั่นมานาน คนในค่ายก็อยู่กันมานาน นานจนใครที่พบเห็น หรืออาจเคยแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนเข้าใจเอาว่า สิ่งนี้บังเกิดขึ้นแล้วและจะคงอยู่ตรงนั้นตลอดไป

ถึงแม้ว่าสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) จะสมัครใจเรียกมันว่า “แหล่งพักพิงชั่วคราว” ก็ตามที

แต่ค่ายผู้ลี้ภัยก็คือค่ายผู้ลี้ภัย ไม่ว่าจะอยู่มานานขนาดไหน ก็ยังคงเป็นค่ายที่มีความจำกัดดำรงอยู่ควบคู่กันไปอยู่ดี

ดังนั้น จึงน่าสนใจไม่น้อยเมื่อเจนนิเฟอร์ แฮร์ริสัน แห่งยูเอ็นเอชซีอาร์ รายงานผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานในสังกัดสหประชาชาติแห่งนี้เมื่อ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า กลุ่มที่สองของผู้ลี้ภัยเหล่านี้กำลังจะเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง

“โดยสมัครใจ”

 

ส่วนหนึ่งของผู้ลี้ภัยราว 300 คนที่สมัครใจเดินทางกลับครั้งนี้ มีปู่ดี วัย 96 ปี และย่าปรี อายุ 82 ปี กับครอบครัวรวมอยู่ด้วย

นายดี โน หอบหิ้วนางปรีหลบหนีเข้ามาพึ่งพาแผ่นดินไทยเมื่อ 30 ปีก่อน

“ตอนที่เราออกมาจากเมียนมา สถานการณ์ไม่ค่อยดีนัก” ผู้เฒ่าชาวกะเหรี่ยงบอก “มีรบกันเต็มไปหมด พวกเราต้องหลบเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในป่า แล้วก็ต้องย้ายที่ไปเรื่อยๆ บ่อยๆ”

ข้อมูลของยูเอ็นเอชซีอาร์ไม่ได้บอกว่า ปู่ดีกับย่าปรีคือระลอกแรกของผู้ลี้ภัยเหล่านี้หรือไม่ แต่ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า หลังจากเปิดค่ายผู้ลี้ภัยแห่งแรกแล้วก็ต้องขยายเปิดติดต่อกันต่อเนื่องออกไป จนถึงเวลานี้มีค่ายผู้ลี้ภัยหรือที่พักพิงชั่วคราวอยู่ 9 ค่ายโดยประมาณ แต่ละค่ายอายุร่วมสามทศวรรษทั้งสิ้น รวมจำนวนผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมด 96,000 คน

การเดินทางกลับบ้านเกิดในครั้งนี้ เป็นไปตามโครงการอำนวยความสะดวกเพื่อการส่งกลับโดยสมัครใจ ซึ่งรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเมียนมาทำความตกลงกันขึ้นเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา

 

กลุ่มแรกของผู้ลี้ภัยที่เดินทางกลับตามโครงการนี้นั้นมีจำนวน 700 คน กลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมียูเอ็นเอชซีอาร์, สำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กับองค์กรที่เกี่ยวข้องของยูเอ็นเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก เช่นเดียวกันกับอีก 300 คนที่จะเดินทางกลับระลอกหลังสุดนี้

คนเหล่านี้เคยใช้ชีวิตอยู่ใน “หมู่บ้านอย่างไม่เป็นทางการ” ที่ก่อกำเนิดขึ้นในราวกลางทศวรรษ 1980 เมื่อมีชาวกะเหรี่ยง, กะเหรี่ยงแดง (หรือชาวบ้านจากรัฐคะยา), แล้วก็ชนชาติพันธุ์พม่า หลบหนีการสู้รบเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นชุมชนย่อมๆ แล้วก็ขยายเป็น 9 ชุมชนใหญ่อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ทางการไทยรับผิดชอบในการบริหารจัดการ ในขณะที่ยูเอ็นเอชซีอาร์เข้ามาให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย รวมทั้งการขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัย ให้ความคุ้มครองต่อเด็กและเยาวชนในค่ายต่างๆ เหล่านี้

อัตสึโกะ ฟูรุกาวะ ผู้ประสานงานภาคสนามอาวุโสประจำจังหวัดตากของยูเอ็นเอชซีอาร์บอกว่า คนเหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่แต่ในค่ายต่อเนื่องกันนานหลายทศวรรษ ซึ่งไม่เป็นผลดี เพราะชีวิตในค่าย ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปสู่โลกภายนอก

กลายเป็นเครื่องจำกัดผู้คนในรุ่นต่อๆ ไปไม่สามารถเติมเต็มศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มภาคภูมิ

 

ค่ายแม่ลาเป็นค่ายใหญ่ที่สุด มี “ชาวค่าย” อยู่ด้วยกัน 35,000 คน ย่าปรีกับครอบครัวก็เป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ นอกจากปู่ดีแล้ว ยังมีมู ฮะทเว ลูกสาวที่ติดสอยห้อยตามมาตั้งแต่อายุราว 10 ขวบ ตอนนี้อายุ 41 มี ปาทะบา ลูกชายวัย 22 ปีที่ลืมตาดูโลกที่ค่ายแห่งนี้ ซึ่งแต่งงานและมีลูกสาวเล็กๆ เป็นของตัวเองแล้ว

ปู่ดีอยากกลับเมียนมา เพราะต้องการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่น้อยเต็มทีของตนบนแผ่นดินเกิด ย่าปรีไม่ต้องพูดถึง เธอเป็นคนเริ่มต้นความคิดนี้หลังจากได้รับรู้จากน้องสาวที่อยู่ในรัฐคะหยิ่นว่า สถานการณ์ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว

มู ฮะทเว ยอมรับว่าเป็นสุขที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยนานหลายปีมาก “แต่เราทำอะไรไม่ได้มากมายในฐานะของผู้ลี้ภัย ที่ความเคลื่อนไหวถูกจำกัด” โอกาสแห่งชีวิตจึงไม่มีมาให้

ปาทะบาเชื่อเช่นกันว่า การกลับไปใช้ชีวิตอย่างเช่นพลเรือนปกติทั่วไปในรัฐคะหยิ่นกับน้องของแม่ต้องดีกว่าการเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ในที่นี้ไม่มีที่สิ้นสุด

“ผมคงคิดถึงแม่ลา เพราะผมอยู่ที่นี่มานานมากจนผูกติดอยู่กับที่นี่ ผมเกิดที่นี่ โตที่สถานที่นี้ และที่นี่คือทั้งหมดที่ผมรู้จัก”

กว่าสามทศวรรษที่ถูกจำกัดอยู่ภายในค่ายผู้ลี้ภัย ในที่สุดพวกเขาก็สามารถเป็นอิสระแล้ว