ศัลยา ประชาชาติ : แบ่งเค้ก-แบ่งงาน ทับซ้อนอำนาจ 5 รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ-มั่นคง รอยร้าวในทำเนียบรัฐบาล

เพราะหัวใจของการเคลื่อนรัฐบาลใหม่ คือการแปรนโยบายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาแถลงต่อรัฐสภานาน 34 ชั่วโมง ไปสู่การปฏิบัติ

เฉพาะอย่างยิ่งทุกหย่อมหญ้า จับตาแผนงาน-มาตรการทางเศรษฐกิจ ที่ถูกส่งผ่าน 5 รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องสั่งการไปสู่กระทรวงด้านเศรษฐกิจของพรรคร่วมรัฐบาล

ภายใต้แนวคิด-เศรษฐกิจประชารัฐ

 

ข่าวที่เคยสะพัดว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง จะสั่งการตรงและกำกับกระทรวงพลังงาน ในฐานะที่เป็นกระทรวงด้าน “ความมั่นคง”

กลับกลายเป็นมีก้างขวาง เมื่อคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ในฐานะหัวขบวน “มวลมหามิตร” มีทั้งพรรคและพวก ที่เป็นธุรกิจ-เอกชน ได้บริหารจัดการผ่าน “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการ

สลับให้ “พล.อ.ประวิตร” คุมกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีรัฐมนตรีสาย “กปปส.” พุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ นั่งว่าการ และปรับทัพจากกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ไปขึ้นตรง “ฝ่ายความมั่นคง”

เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ตัดสินโยกกระทรวงพลังงานให้กับ “สมคิด” รัฐมนตรีหลายคนจึงเห็นภาพ “พล.อ.ประวิตร” วอล์กเอาต์เดินออกจากห้องประชุม ครม.ก่อนเวลาถึง 1 ชั่วโมง

เป็นการ “ซ้ำแผลสด” ของ พล.อ.ประวิตร หลังจากก่อนหน้านี้ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้กระชับอำนาจ-คุมกระทรวงความมั่นคงเบ็ดเสร็จทั้งตำรวจ-ทหาร ได้แก่ กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ต่างจากในยุครัฐบาล-คสช. “พล.อ.ประวิตร” มีอำนาจเต็มทั้งการเสนอขออนุมัติงบประมาณจัดซื้อยุทโธปกรณ์กองทัพ-การแต่งตั้งโยกย้ายนายพลทหาร-ตำรวจ แผ่บารมีไปทั่วอาณาจักรสีเขียว-กากี รวมทั้งองค์กรอิสระ

ท่ามกลางพรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ-การเมืองถึง 3 ทีม ผ่าน 3 รองนายกรัฐมนตรี จาก 3 พรรคการเมือง ได้แก่ พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย และ 2 รองนายกรัฐมนตรี-โควต้าพิเศษ กับอีก 1 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี-ตัวแถมจากชาติไทยพัฒนา

 

ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 165/2562 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี

“สมคิด” ยังคงบทบาท “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ตัวจริง-เสียงจริง เพราะคุม-กำกับถึง 5 กระทรวง-โควต้าของพรรคพลังประชารัฐ-โควต้าพิเศษ

ได้คุมกระทรวงการคลัง ที่มี “อุตตม สาวนายน” เป็น “ขุนคลัง” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ-ศิษย์ก้นกุฏิ “สำนักคิด” กุมหัวใจสำนักงบประมาณ ได้ดูด่านถังเงิน

ภาพ “สมคิด” จึงยังเป็น “หัวหน้าขุนคลัง” ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง

เป็นการกระชับอำนาจในการกำกับดูแลทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ยังได้ปฏิบัติราชการ-สั่งการ หน่วยงานหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาทิ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน)

ควบ-กำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

แถมยังนั่งควบตำแหน่งรองประธานคนที่ 1 ใน “ครม.เศรษฐกิจ” อีกตำแหน่ง ประกบ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่นั่งหัวโต๊ะ หากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ “ติดภารกิจ” นายสมคิดก็จะนั่งหัวโต๊ะบัญชาการเศรษฐกิจทุกวันจันทร์แทน

 

ขณะที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร แม้จะอกหัก-พลาดกระทรวงความมั่นคงเกรดเอ แต่ก็กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรีถึง 4 กระทรวงความมั่นคง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน กำกับการบริหารราชการและสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

มีอำนาจ-สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้แก่ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

ควบภารกิจ-กำกับดูแลองค์การมหาชน สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) มอบหมายให้ลงนามสนองพระบรมราชโองการและลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการมีพระบรมราชโองการ

ยกเว้น-เรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย การสถาปนาพระอิสริยยศ อิสริยศักดิ์ สมณศักดิ์ การแต่งตั้งในกรณีการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ข้าราชการตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงและกรม เอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศ กงสุล และกรรมการที่มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญ

ยกเว้น-การพระราชทานยศทหาร ตำรวจ ชั้นนายพล การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พระบรมวงศานุวงศ์ และการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำปี

ยกเว้น-การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการประกาศใช้ความตกลงระหว่างประเทศ และเรื่องสำคัญที่เคยมีประเพณีปฏิบัติให้เสนอนายกรัฐมนตรีลงนาม

 

ด้าน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี-หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กำกับ 3 กระทรวงเศรษฐกิจเรียลเซ็กเตอร์ในโควต้า ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์

และ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี แห่งภูมิใจไทย กำกับ 3 กระทรวงในสังกัด ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ ยังกำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

สำหรับ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี-เนติบริกร 8 นายกฯ – 12 รัฐบาล กำกับ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงยุติธรรม ยกเว้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

รวมถึงปฏิบัติราชการแทน ได้แก่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ

และการดำเนินการคดีปกครอง รวมทั้งลงนามมอบอำนาจให้พนักงานอัยการดำเนินคดีปกครองกรณีที่มีการฟ้องนายกรัฐมนตรี

 

ปิดท้ายที่ “เทวัญ ลิปตพัลลภ” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี-ตัวตายตัวแทนพรรคชาติพัฒนา ปฏิบัติราชการแทน ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานราชบัณฑิตยสภา กำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)

นี่คือการแบ่งเค้ก-แบ่งงาน ที่เหลื่อมทับซ้อนอำนาจของทีมรองนายกรัฐมนตรี พร้อมฝากรอยร้าวเอาไว้ในทำเนียบรัฐบาลนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 1

หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างยิ่ง