คำ ผกา : เก็บประชาธิปไตยใส่ตุ่มก่อน

คำ ผกา
หญิงผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายหนึ่ง กำลังถือบัตรประจำตัวประชาชนของเธอและตะโกนใส่เจ้าหน้าที่ที่ปิดทางเข้าคูหาเลือกตั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ( AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT)

อ่านข่าวไปแบบไม่คิดอะไรมาก เพราะยุคนี้คิดมากไปก็ปวดหัว พยายามหาผัวไปอยู่เมืองนอกดีกว่า

แต่ขนาดไม่คิดอะไรมากก็ยังสะดุดกับคำว่า “กระสันอยากเลือกตั้ง” โอ๊ยยย ต๊กกะใจ คำว่า กระสัน ฟังดูไม่น่ารัก ฟังดูหื่นกระหาย ฟังดูมีความตะกละตะกลาม ฟังดูเป็นความปรารถนาในสิ่งที่ต้องห้าม มีนัยทางเพศรุนแรงมาก

แล้วเรื่องเพศน่ะ หากกระสันขึ้นมามันต้องเก็บอาการใช่ไหม ต้องสำรวมใช่ไหม ห้ามกระสันให้ใครเห็น คำว่ากระสัน ฟังดูอ่านไปตามประสาคนการศึกษาน้อย อ่านหนังสือน้อย จึงระคายหูยิ่ง

อย่ากระนั้นเลย นั่นอาจเป็นเพียงอวิชชาของคนไร้การศึกษาอย่างเรา ไปดูกันดีกว่ากระสันแปลว่าอะไรกันแน่

กระสัน ก. คะนึง คิดผูกพันอยู่ มีใจจดจ่ออยู่ เช่น ปู่กระสันถึงไก่ในไพรพฤกษ์. (ลอ)

กระวนกระวายในกาม เช่น เดี๋ยวนี้นะพระองค์ทรงธรรม์ แสนกระสันจันทร์สุดาดวงสมร. (คาวี)

ผูกให้แน่น เช่น กระสันเข้าไว้กับหลัก ผูกพันพระพี่น้องสองกระสันเข้าให้มั่นกับมือ. (ม. คำหลวง กุมาร) รัด เช่น สายกระสัน

ต่อเนื่อง เช่น มุขกระสัน

(ปาก) อยากมาก เช่น กระสันจะเป็นรัฐมนตรี. ว. แน่น เช่น พระขรรค์เหน็บกระสันอยู่เป็นนิจ.

http://dictionary.sanook.com/search/dict-th-th-royal-institute/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%99

 

เฮ้อออ ถอนหายใจยาวมาก เพราะเมื่ออ่านความหมายจากพจนานุกรมแล้ว มันไม่ได้แย่อย่างที่เราคิดไปเอง เพราะกระสันแปลว่า คะนึง คิดผูกพันอยู่ มีใจจดจ่ออยู่ ไม่ได้แปลว่า “กระวนกระวายในกาม” เสมอไป

เพราะฉะนั้น คำว่า กระสันอยากเลือกตั้ง ก็แปลว่า มีความคะนึงอยู่ในการเลือกตั้ง หรือคิดผูกพันอยู่กับการเลือกตั้ง หรือมีใจจดจ่ออยู่กับการเลือกตั้ง

ดังนั้น การกระสันในการเลือกตั้งจึงมีความหมายที่ดีมากๆ และเป็นนิมิตหมายอันดีด้วยที่ในสังคมไทยยังมีคนที่คะนึงหาและมีใจจดจ่ออยู่กับการเลือกตั้ง แต่สิทธิในการเลือกตั้งจะถูกขโมยไปครั้งแล้วครั้งเล่า แต่คนไทยที่มีสติปัญญาก็ยังคงถวิลหา คะนึงหาการเลือกตั้งอยู่มิวาย

กระสันในการเลือกตั้งจึงเป็นคำชม ไม่ใช่คำด่า

ทำไมการกระสันในการเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องที่ดี?

คําตอบง่ายมาก เพราะการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย

เพราะหลักการของประชาธิปไตยคืออำนาจในการปริหารบ้านเมืองของประชาชน

ประชาชนเลือกผู้แทนฯ ของตนไปทำหน้าที่แทนตัวเองในสภา ตัวแทนของเสียงข้างมากได้เป็นนายกฯ ได้ตั้งรัฐบาลเป็นฝ่ายบริหาร

สภาทั้งหมดทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริหารกำกับการทำงานของข้าราชการ ประชาชนเสียภาษีไปเป็นงบประมาณเพื่อบริหารประเทศ ดังนั้น ทั้งสภา ทั้งฝ่ายบริหาร ทั้งข้าราชการ คือลูกจ้างของประชาชนทั้งนั้น กินเงินเดือนจากประชาชนผู้เสียภาษี

ระบบนี้ การเป็นตัวแทนของประชาชนก็มีวาระ เพราะขืนทำงานไม่ถูกใจ ปชช. ต่อไปก็สอบตก-เท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น ไม่มีกลไกไหนจะสำคัญเท่ากับการเลือกตั้ง หรือพูดง่ายๆ ว่า การเลือกตั้งคือหัวใจของประชาธิปไตย ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีประชาธิปไตย ยกเว้นเกาหลีเหนือ ที่มีการเลือกตั้ง แต่มีการออกกฎว่าห้ามเลือกคนอื่นนอกจากท่านผู้นำ ไม่งั้นโดนจับ

ดังนั้น คนรักประชาธิปไตยทุกคนย่อมกระสันในการเลือกตั้ง

แต่ฝ่ายที่เย็นชากับการเลือกตั้งมักบอกว่า

“เอ่อ รู้น่ะ ว่ารัก รู้ว่ากระสัน แต่จะรีบไปไหน? ถึงเวลาก็ได้เลือก”

เดี๋ยวนะ เราไม่ได้รีบ โรดแม็ปนั้นเราก็ไม่ได้กำหนด ก็พวกท่านเองมิใช่หรือที่กำหนดกันมาเอง ทีนี้พอใกล้ถึงคนเขาก็ถามว่า “ใกล้แล้วเนอะ?” แค่นั้นเอง-เอ๊า-โมโห?

แล้วถ้าทุกอย่างเป็นไปตามกรอบเวลาของโรดแม็ปก็ไม่มีใครโวยวายนี่นา หรือหากจำเป็นต้องเลื่อนโรดแม็ป ทางรัฐบาลก็แค่แจ้งกรอบเวลาของโรดแม็ปอันใหม่ ก็เท่านั้นเอง

จะเลื่อนจากปี 61 เป็น 65 เป็น 70 เป็น 80 ก็ไม่มีใครว่า เพราะโรดแม็ปก็คือโรดแม็ป

กรอบเวลาของโรดแม็ปนั้นไม่ได้ไปทำสัญญาประชาคมกับใครเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่แรก

ท่านเข้ามาล้มรัฐบาลที่ ปชช. เลือกมา

ท่านเข้ามาตั้งสภาของท่านเอง ตั้งฝ่ายปริหารเอง ตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเอง ตั้งกติกาประชามติเอง

ทำประชามติ ประชาชนก็ไปลงตามที่ท่านบอก ท่านไม่ให้ถกเถียง ไม่ให้อภิปราย ก็ไม่มีใครอภิปราย ยกเว้นพวกเด็กเปรต ดื้อๆ ไม่กี่คน แล้วท่านก็จับมันไปสั่งสอนแล้ว

จากนั้นท่านก็กำหนดกรอบการเลือกตั้ง กำหนดกติกา เดี๋ยวก็เขียนกฎหมายลูกต่างๆ ออกมา ว่าพรรคการเมืองต้องเป็นอย่างไร มีสมาชิกกี่คน ทำผิดอะไร ถูกลงโทษอย่างไร และอีกสารพัดที่ท่าน เป็นฝ่ายกำหนดเองทั้งสิ้น

และไม่ได้มาทำสัญญาอะไรกับประชาชนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงขั้นที่จะผูกมัfตัวท่านเอาไว้

ดังนั้น ท่านจะเลื่อนโรดแม็ปนี้ไปอีกสักเท่าไหร่ก็ได้ ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดมารยาทใดๆ ทั้งสิ้น

 

ส่วนประชาชนก็คงได้แต่ทำตาปริบๆ แล้วนั่งกระสันกันต่อไป ถ้ากระสันออกนอกหน้า ก็อาจมีโดนด่าแบบนี้-จะกระสันไปไหน-จนคนถูกด่าก็ต้องเกาหัวแกรกๆ ว่าด่าตรูทำไม เพราะเราก็อยู่ของเราดีๆ มีนักการเมืองชั่วบ้างดีบ้าง แต่ก็มีการเลือกตั้ง มีการด่ารัฐบาล มีกลไกการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร อะไรที่เข้าใจได้ แม้มันจะทำงานได้เรื่องบ้าง ไม่ได้เรื่องบ้าง ทว่า ทุกอย่างก็อยู่ในระบบ เหมือนคนอยู่บ้านที่กระเบื้องรั่วสอง-สามแผ่น แต่อยู่ๆ มีใครไม่รู้มาบอกว่า “รื้อๆๆ เดี๋ยวมุงให้ใหม่ทั้งหลังเลย ขอเวลาอีกไม่นาน รับรองสวยแจ่ม”

เราก็บอกว่า ไม่ต้องรื้อหมด เอาออกเฉพาะกระเบื้องที่รั่ว ก็หามีใครฟังไม่ ก็รื้อกระเบื้องมุงหลังคาบ้านเราออกหมด จากนั้นก็ไม่มุงหลังคาใหม่ให้เราเสียที ปล่อยเราตากแดดตากฝนจนเริ่มป่วยกระเสาะกระแสะ

พอเราถามว่าเมื่อไหร่จะให้เราหาช่างเลือกกระเบื้องมามุงหลังคาใหม่ ก็ด่าเราอีกว่าจะรีบไปไหน จะกระสันหลังคาบ้านไปไหน

เฮ้ยยยย ก็ตัวเองนั่นแหละมารื้อของเราออก แล้วบอกจะมุงให้ใหม่ พอเราทวงมาด่าเรา

แต่ก็ว่ามากไม่ได้ ตอนก่อนรื้อ คนในบ้านกว่าครึ่งเชียร์ให้เขามารื้อ ตอนนี้ก็นอนดูหลังคาบ้านโล่งโจ้งตากแดดตากฝนก็ทนเอา-เขียนถึงตรงนี้ก็คิดถึงนกหวีดกับธงชาติมากๆ

แต่ก็นั่นแหละ เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีคนไทยอีกเยอะมากกกกกกกกกกกก ที่เห็นจะอยากเลือกตั้งและอยากจับนักการเมืองไปประหารชีวิตเพราะมันขี้โกง (ดังนั้น รัฐบาลอย่าได้กังวลเลย) และคนเหล่านั้นก็พร่ำพูดสามเวลาหลังอาหารว่า

“ดูสิ บ้านเมืองดี๊ดี ไม่มีใครทะเลาะกัน บ้านเมืองสงบสุขอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นี่ถ้าทหารไม่เข้ามา เราจะได้อยู่สงบๆ กันแบบนี้หรือเปล่า” หรือ

“ดูสิ ทหารไปช่วยน้ำท่วม พวกนักการเมืองไม่เห็นทำอะไร ตั้งแต่ทหารปกครองบ้านเมืองนี่อะไรก็ดี มีความเดือดร้อนที่ไหน ทหารเข้าถึงก่อนเสมอ” – พอฟังแบบนี้ ฉันคิดว่าเราน่าจะยุบทุกกระทรวง ทบวง กรม แล้ว ทั้งประเทศมีแค่กลาโหมก็พอ ให้ทหารบริหารทุกเรื่องเลยดีกว่า เพราะเข้มแข็ง เด็ดขาด มีประสิทธิภาพ เสียสละ อดทน

สมใจประชาชนที่รักทหารและรักในความ “สงบสุข” เอามากๆ

 

มันน่าประหลาดใจไหมเล่า ปี 2535 และยังมีใครจำได้ไหมว่า ในปีนั้นมีคนเอาชีวิตไปแลกเพื่อจะได้ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งกลับมา ในห้วงทศวรรษนั้น สังคมไทย ชนชั้นกลางไทยมีความกระสันในการเลือกตั้งและกระสันในประชาธิปไตยสูงมากจนได้ผลผลิตออกมาเป็นรัฐธรรมนูญปี 2540

ในอีกเกือบทศวรรษถัดมาหลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 2540 คนไทยและประเทศไทยคือต้นแบบของประเทศโลกที่สามที่มีพัฒนาการด้านประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมที่น่าชื่นชมยกย่อง

ฉันยังไม่อยากเชื่อเลยว่าเพียงอีกแค่หนึ่งทศวรรษหลังจากนั้น พัฒนาการของการเมืองจะถอยหลังไปหาคล้ายกับสภาพของประเทศเมียนมาในยุคที่ทหารปกครองเมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้ว

ในเวลาเพียงสี่ทศวรรษ ที่ประเทศไทยเปลี่ยนให้คนที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยและอำนาจในการปกครองตนเองของประชาชนให้กลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

ในปี 2535 คนสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นพระเอก เป็นฮีโร่

ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา คนสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทยคือภัยคุกคามของชาติ คือคนที่ทรยศต่อชาติ คือพวกบ่อนทำลาย กัดกร่อนบ้านเมือง คือพวกก่อกวนความสงบ คือพวกสมุนของอเมริกา คือพวกรับเงิน

จอร์จ โซรอส และการยึดมั่นในแนวทางการเลือกตั้งกลายเป็น “มลทิน” คนที่ออกมาพูดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรมหลายคนมีจุดจบอยู่ในคุก

และในทางตรงข้าม คนที่ทำในทางตรงข้ามกับย่อหน้าข้างต้นนั้น – ฉันหมายถึงคนที่ระดมเอาความเป็นธรรม ริบอำนาจไปจากประชาชนกลับได้รับบำเหน็จรางวัล เป็นคนรักชาติ เป็นคนเสียสละ เป็นคนที่อุทิศตนเพื่อความผ่องใสของบ้านเมือง เป็นที่เชิดชู ยกย่อง เป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม

คำว่า กระสันในการเลือกตั้ง ซึ่งควรเป็นคำชม ก็เลยกลายเป็นคำด่า

 

พิโธ่ พิถัง คำ ผกา เอ๋ย เชื่อมาโดยตลอดว่าเกิดเป็นคนต้องกระสันในการเลือกตั้งจึงมีศักดิ์ศรี รู้ตัวอีกที ก็ถูกด่าระงม แถมผู้คนโดยรอบ เขาก็บอกว่า ชอบจัง ไม่ต้องมีเลือกตั้ง ดีจังไม่มีนักการเมือง มีแต่นักการเมืองตกงาน อดอยากปากแห้งกับสมุนนักการเมืองที่อยากเลือกตั้ง คนดีๆ เขาไม่มีใครเดือดร้อน

เอาล่ะ ไม่กระสันก็ไม่กระสัน ไม่รีบก็ไม่รีบ

และหากจะเกิดอะไรขึ้นในภายภาคหน้า ข้าวจะยากหมากจะแพงก็ไม่ใช่ความรับผิดชอบของพวกกระสันเลือกตั้งแล้ว เพราะทั้งหมดนี้ไม่ใช่สิ่งเราเลือก (แต่อาจต้องทนลำบากและอดอยากกันนิดนึง)

เก็บอุดมการณ์ใส่ตุ่มแล้วทำตัวเป็นผู้ชม

ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นเรื่องของประชาชนกลุ่มที่เฝ้า “คิดผูกพันอยู่” กับเผด็จการเป็นฝ่ายรับผิดชอบช้อยส์ของพวกเขาบ้าง