ฉัตรสุมาลย์ : กานเจ็นจุงก้า

เทือกเขาหิมาลัยส่วนที่เห็นชัดในเนปาลโดยเฉพาะจากกาฐมาณฑุ เขาเรียกส่วนของเทือกเขานี้ว่า กานเจ็นจุงก้า ตั้งแต่สมัยที่เป็นนักศึกษา ไปนั่งเฝ้า ยืนเฝ้า ก็ไม่เห็น ฟ้าไม่เปิดค่ะ คราวนี้ (มิถุนายน 2562) ไป 7 วัน ไม่ได้เห็นเลย ฟ้าหน้าฝนจะปิดเสียเป็นส่วนใหญ่

เรื่องฟ้าปิด ฟ้าเปิดเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนที่อยู่ใกล้ภูเขา ตอนที่ไปลาดัค ก็ไปติดอยู่หลายวัน ก็ด้วยเรื่องฟ้าไม่เปิดนี่แหละค่ะ เครื่องลงไม่ได้ มารับเราก็ไม่ได้ ไปไหนก็ไม่ได้ จึงเห็นความสำคัญของน่านฟ้าที่จะเปิดหรือไม่เปิด

กานเจ็นจุงก้าไม่เหมือนยอดเขาเอเวอเรสต์ ที่เป็นยอดเดี่ยว ความหลงใหลในยอดเขาที่สูงที่สุดในเทือกเขาหิมาลัยนี้ พาคนไปตายกันมากต่อมาก

กานเจ็นจุงก้าเป็นแนวเขา 5 ยอดเรียงกัน ถือเป็นเทพเจ้าผู้หญิงในความเชื่อของชาวเนปาลและทิเบต เป็นตัวแทนของธาตุทั้ง 5 ตามความเชื่อพื้นบ้าน คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศธาตุนั่นเอง

ถ้าฟ้าเปิด จากห้องพักที่อยู่บนไหล่เขา จะเห็นกานเจ็นจุงก้าชัดเจนค่ะ แต่เราก็อดไม่ได้ที่จะทำแบบอัตโนมัติเลย ว่า เมื่อตื่นขึ้น พอสว่างก็ชำเลืองมองเสียทีว่า ฟ้าเปิดพอที่จะเห็นกานเจ็นจุงก้าไหม

เที่ยวนี้อด ไม่เห็นเลย แม้แต่แวบเดียว

 

ห้องที่พักอันแสนบรมสุขนี้ คือห้องพักที่มหาวิหารอักเษศวร เมืองลลิตปุร์ค่ะ

เรามาประชุมที่นี่ติดต่อกันเป็นปีที่สาม คราวนี้วัตรทรงธรรมกัลยาณีเป็นเจ้าภาพร่วมจัดด้วย

งานประชุมชาวพุทธที่นี่เป็นความคิดริเริ่มของท่านธัมมนันทา ที่จะใส่พลังให้มหาวิหารมีกิจกรรมที่แตกต่างไปจากมหาวิหารที่อื่นๆ ในหุบเขากาฐมาณฑุ มีทั้งหมดตั้ง 500 แห่ง วัดเล็กวัดน้อย แออัดมาก บางแห่งต้องมีคนนำทางเพราะอยู่ในซอกเล็กซอกน้อยทั่วเมืองกาฏมาณฑุ

ภิกษุณีธัมมนันทาเล่าว่าเมื่อหลายปีก่อน เคยรับนิมนต์มาแสดงธรรมที่นี่ มหาวิหารเก่า ทรุดโทรม

ไม่มีกิจกรรมใดๆ ที่น่าสนใจเลย

 

คราวนี้ท่านได้รู้จักกับผู้อำนวยการคนใหม่ชื่อ ราเชศ ศากยะ เป็นชายหนุ่มที่มีธุรกิจของตนเอง และสามารถสละเวลามาดูแลกิจการของมหาวิหารได้อย่างเต็มที่

ท่านเห็นศักยภาพในบุคคล จึงเสนอแนะการจัดงานประชุมทางวิชาการขึ้น

ครั้งแรก ราเชศเชิญท่านทูตของอินเดียมาเป็นผู้เปิดงาน เป็นการเปิดตัวที่งดงาม สร้างความตื่นตัวให้กับชุมชนชาวพุทธเนปาลในกาฐมาณฑุได้ระดับหนึ่งทีเดียว

และในปีถัดมา นิมนต์ท่านริมโปเช่ที่เป็นที่รู้จักของชาวเนปาลมาร่วมทำพิธีทางศาสนาเป็นการเปิดงาน

ขณะเดียวกันก็มีงานนิทรรศการแสตมป์ของพุทธโดยคุณเศรษฐะ ที่น่าสนใจมาก ทำให้มหาวิหารอบอุ่น คับคั่ง บรรยากาศต่างไปจากที่เคยสัมผัสเมื่อหลายปีก่อนชัดเจน

คราวนี้เป็นปีที่สาม ภิกษุณีธัมมนันทาร่วมงานในฐานะผู้ร่วมจัด และมีแผนอยู่ในใจว่าจะเป็นการเตรียมการสำหรับงานประชุม ABC ครั้งที่ 4 ที่จะจัดที่เนปาลใน พ.ศ.2563 ด้วย

ครั้งนี้จัดงานประชุมเมื่อ 8-9 มิถุนายน 2562 หัวข้องานประชุม เป็นเรื่องพุทธศาสนาในบริบททางประวัติศาสตร์ รวมทั้งขบวนการอุปสมบทภิกษุณีด้วย

มีผู้ร่วมเสนองานจากประเทศไทย ศรีลังกา อเมริกา และเนปาล ท่านธัมมนันทาเองเสนองานเรื่อง การค้นพบกบิลพัสดุ์ในอินเดีย ที่เรียกว่า กบิลพัสดุ์ 2 ในขณะที่กบิลพัสดุ์ในเนปาลเป็นกบิลพัสดุ์ 1

บทความจากประเทศไทยส่วนหนึ่ง เสนอผลงานของท่านธัมมนันทาในแง่มุมต่างๆ เช่น การประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาท การเป็นอาจารย์ การเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นต้น

ทั้งนี้ อาจารย์ศังกร ฐาปะ ตั้งใจจะรวบรวมให้เป็นผลงานเพื่อฉลองที่ภิกษุณีธัมมนันทาจะมีอายุครบ 75 ในปลายปีนี้ เรียกว่า diamond Jubilee

 

งานที่ทางฝ่ายเนปาลเองเสนอ ก็น่าสนใจ เช่น อาจารย์มิลาน ศากยะ คนนี้ เป็นบุตรชายของ ดร.มิน บหาดูร ศากยะ เพื่อนเก่าของท่านธัมมนันทาที่พยายามหาทางให้อนาคาริกาหรือแม่ชีของเนปาลได้อุปสมบทภิกษุณีสายเถรวาทอย่างถูกต้อง น่าเสียดายว่า ดร.มิน บหาดูร ศากยะ เสียชีวิตลงเสียก่อนด้วยโรคมะเร็ง

ท่านธัมมนันทาดูจะดีใจเป็นพิเศษที่เห็นบุตรชายของท่านมาทำงานด้านพระศาสนาสืบต่อจากบิดา

มิลานเสนอผลงานที่เป็นวิชาการมาก เป็นการสืบค้นทางวิชาการเรื่องโพธิสัตตว์ (สะกดอย่างนี้ถูกแล้ว) จากคัมภีร์สันสกฤต

เมื่อพูดถึงสันสกฤตแล้ว ก็ขอแวะออกไปนอกเรื่องเล็กน้อย

 

เนปาลเป็นเมืองหนึ่งที่มีความรุ่มรวยด้วยทรัพยากรทางพุทธศาสตร์และภาษาศาสตร์ ก็คือการที่เป็นศูนย์กลางของบรรดาคัมภีร์ต่างๆ ที่เป็นภาษาสันสกฤต

ศาสตราจารย์ ดร.ศังกร ธาปะ ก็เป็นอาจารย์คนหนึ่งที่รวบรวมคัมภีร์ภาษาสันสกฤตไว้มาก อีกทั้งท่านยังเป็นคนอ่านและแปลคัมภีร์เหล่านั้นด้วย ปัจจุบันท่านเป็นคณบดีประวัติศาสตร์ ที่ ม.ตรีภูวัน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของเนปาล

อีกคนหนึ่งชื่อ เมาศัม ศากยะ ตกลงไปประชุมครั้งนี้ เราอยู่ท่ามกลางพวกศากยะจริงๆ

อยากเล่าถึงวันเปิดงานเล็กน้อย ดังเช่นที่ได้เกริ่นมาข้างต้นว่า มหาวิหารในหุบเขากาฐมาณฑุทั้ง 500 แห่ง เน้นพิธีกรรม ดังนั้น อาจจะกล่าวได้ว่า อักเษศวรมหาวิหารเป็นแห่งแรกโดยการสนับสนุนของท่านธัมมนันทาที่เริ่มฉีกตัวออกไป มีงานระดับนานาชาติ

เป็นงานทางวิชาการที่โดดเด่นกว่ามหาวิหารแห่งอื่น

 

ที่มหาวิหารนี้ มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ ค.ศ.1400 มีพระพุทธรูปของเก่าที่เหลือเพียงครึ่งองค์ แต่เป็นที่สักการบูชาของชาวพุทธในหุบเขากาฐมาณฑุ

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม อาคารล้อมรอบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตรงกลางเปิดเป็นลานกว้าง เวลาชาวบ้านเข้ามาสามารถเข้ามาได้สองทาง ประตูด้านหน้าอยู่ทางทิศตะวันออก ด้านที่ไว้พระประธานอยู่ทางทิศตะวันตก พระประธานหันหน้ารับทิศตะวันออก คนที่เข้ามาสักการะ สามารถเดินตัดลานกว้างมาสู่อาคารฝั่งที่ประดิษฐานพระประธานได้

เมื่อปีก่อน ยังเห็นการบูชาด้วยข้าวตอกดอกไม้ เป็นที่มาของนกพิราบที่มาอาศัยหาอาหารเช้าเป็นฝูงทีเดียว แต่ด้วยการบริหารจัดการที่ดี ทำให้นกพิราบบางตาลงไปมาก ราเชศ ผู้อำนวยการมหาวิหาร ใช้วิธีขอร้องผู้ที่เข้ามาไหว้พระให้ลดทอนจำนวนข้าวตอกและข้าวโพดที่ชาวบ้านนำมาโปรยลง เรียกว่าแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้ดีจริงๆ

พุทธศาสนาที่ปฏิบัติกันในเนปาลนั้น ผสมผสานปนเปกันระหว่างฮินดูกับพุทธมหายาน ค่อนข้างหนักไปทางวัชรยาน

มีกลุ่มคนไทยที่ตื่นเต้นจะไปบวชสามเณรีที่เนปาล พอไปถึงเข้าจริง ลามะท่านก็บอกว่า ท่านบวชให้ไม่ได้ ท่านเองก็เป็นลามะที่ไม่ได้บวช แต่ท่านใส่สีแดงเข้ม และปลงผม ทำให้คนไทยเข้าใจว่าท่านเป็นพระภิกษุ

ตกลงคนไทยกลุ่มนั้น ก็ปลงผม ใส่สีแดงเข้ม แต่รับเพียงศีล 5 ไม่ได้บรรพชา แต่ก็ได้ศึกษาพระธรรมในแนวของพุทธวัชรยานที่ปฏิบัติกันในเนปาล

เรียกว่ารู้เรา แต่ไม่รู้เขา

 

ปีหน้า 2563 หรือ ค.ศ.2020 ABC คือการประชุมชาวพุทธเอเชีย เราเริ่มต้นที่ประเทศไทยมาสองครั้งแล้ว พ.ศ.2561 ไปจัดที่อินโดนีเซีย และ 2563 จะไปจัดที่เนปาลค่ะ คราวนี้วางแผนว่าจะจัดร่วมกับมหาวิทยาลัยพุทธลุมพินี ร่วมกับไทย โดยทางฝ่ายไทยเป็นผู้ขับเคลื่อนทางด้านโปรแกรมและการเชิญชาวพุทธนานาชาติเข้าร่วม

น่าจะตื่นเต้น เพราะเมื่อประชุมที่มหาวิหารแล้วก็จะย้ายทัพไปที่ลุมพินี

สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมที่ยังไม่เคยไปลุมพินี ก็จะเป็นโอกาสที่สำคัญยิ่งอีกครั้งหนึ่งที่จะได้สัมผัสทั้งชาวพุทธเนปาลในหุบเขากาฐมาณฑุที่เป็นชาวพุทธที่ผสมผสานระหว่างฮินดู พุทธ และวัชรยาน

ขณะเดียวกันก็จะได้รับการรับรองจากเจ้าภาพอีกส่วนหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยพุทธที่ลุมพินี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพุทธแห่งเดียวในเนปาล

เช่นนี้ เราก็ยิ่งต้องไปช่วยงานกันให้วางรากฐานได้มั่นคงขึ้น

เป็นงานของชาวพุทธทั้งนั้น ก็เลยถือโอกาสเชิญชวนให้ได้ไปสัมผัสบรรยากาศด้วยกัน

 

ขึ้นหัวข้อไว้อย่างสวยงามว่า กานเจ็นจุงก้า

แต่ไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับกานเจ็นจุงก้าเลย

นอกจากว่า กานเจ็นจุงก้าที่อยากเห็น

เอาเป็นว่าคราวหน้าเราไปดูด้วยกันนะ