เกษียร เตชะพีระ | จินตนาการปลายอุโมงค์ : บทเรียนจากอดีต

เกษียร เตชะพีระ

จินตนาการปลายอุโมงค์ (3)

(เรียบเรียงจากการนำเสนอของผู้เขียนในงานเสวนา “มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจการเมืองไทย : กับดักหรือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ณ คณะรัฐศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ วันที่ 15 มิถุนายน ศกนี้)

2)ความเป็นไปได้และปัญหาในปัจจุบัน (ต่อ)

อาจสรุปได้ว่า ปมปัญหาของวิกฤตการเมืองไทยในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาเกิดจากการไม่ยอมให้เสียงข้างมากใหม่ทางชนชั้น รุ่นคนและอุดมการณ์/วัฒนธรรมเหล่านี้ ได้มีส่วนแบ่งทางอำนาจผ่านระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง (electoral democracy) ด้วยการบิดเบือนฉวยใช้เหล่าสถาบันสำคัญทางการเมืองการปกครองต่างๆ ไปผิดงานเพื่อการดังกล่าว

แล้วอะไรบ้างเล่าคือต้นทุนความเสียหายของสังคมการเมืองไทยในการขัดฝืนทวนกระแสการเปลี่ยนย้ายอำนาจแบบประชาธิปไตย?

นอกจากชีวิตผู้คนที่สูญเสียบาดเจ็บทุพพลภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจท่ามกลางเพลิงความขัดแย้งดังกล่าวนับร้อยนับพันคนแล้ว

ต้นทุนสำคัญที่เสียไปคือเหล่าสถาบันทางการเมืองการปกครองที่ถูกระดมฉวยใช้มาทำงานอย่างผิดปกติวิสัย ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องสมควรที่มันพึงทำให้สังคม

แต่กลับใช้ไปเพื่อหยุดยั้งหรือกระทั่งย้อนศรการเปลี่ยนย้ายอำนาจแบบประชาธิปไตยดังกล่าว

จากนี้ บรรดาสถาบันของระบอบเสรีประชาธิปไตย อันได้แก่ สถาบันเสรีนิยมที่ทำหน้าที่จำกัดอำนาจรัฐ (limitation of power) และสถาบันประชาธิปไตยที่ทำหน้าที่กระจายอำนาจไปให้ประชาชน (distribution of power) ก็ถูกใช้ผิดหน้าที่ วัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ไปหมด

แทนที่จะจำกัดอำนาจรัฐ สถาบันเสรีนิยม เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ฯลฯ กลับถูกฉวยใช้ไปต่อต้าน (ไม่ใช่เพียงแค่คัดง้าง) อำนาจเสียงข้างมาก (anti-majoritarian instead of counter-majoritarian institutions)

และแทนที่จะกระจายอำนาจให้ประชาชน สถาบันประชาธิปไตย เช่น การลงประชามติ สภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมือง ฯลฯ กลับถูกฉวยใช้ไปในทางอำนาจนิยมเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของเสียงข้างน้อยและปัจเจกบุคคล หรือแม้กระทั่งอ้างให้ความชอบธรรมกับระเบียบอำนาจที่ไม่ประชาธิปไตย (authoritarian majoritarianism & referendums)

เราจึงมีระบอบเสรีประชาธิปไตยที่พิกลพิการ เหล่าสถาบันสำคัญทางการเมืองการปกครองของระบอบค่อยๆ เสื่อมถอยเปื่อยยุ่ยลงตามลำดับ ผ่านปฏิบัติการผิดหน้าที่ วัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ซึ่งบ่อนทำลายความชอบธรรมน่าเชื่อถือของตัวมันเองลงประหนึ่งอัตวินิบาตกรรม

แทนที่ระบอบประชาธิปไตย เราจึงเห็นประเทศไทยเลื่อนไถลไปสู่ระบอบอำนาจนิยมเสียงข้างมากกับระบอบคณาธิปไตย (authoritarian majoritarianism vs. oligarchy) สลับกันไปมา

โดยจุดหนักอยู่ที่กระบวนการคณาธิปัตยาภิวัตน์ (Oligarchisation) เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็คือเพื่อริบรวบอำนาจผูกขาดไว้กับคณะบุคคลเสียงข้างน้อย (minority rule) ไม่ให้ตกไปถึงเสียงข้างมากของกลุ่มชนใหม่ทางชนชั้น รุ่นคนและอุดมการณ์/วัฒนธรรมที่ผงาดขึ้นมา (the emerging class, generational, and cultural-ideological majorities) ขอแบ่งปันอำนาจตามกระบวนการเปลี่ยนย้ายอำนาจของระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมาก

ต้นทุนที่สังคมเศรษฐกิจไทยต้องจ่ายให้แก่กระบวนการขัดขวางการเปลี่ยนย้ายอำนาจร่วมทศวรรษนี้ก็คือสภาพเสื่อมถอยเปื่อยยุ่ยของเหล่าสถาบันการเมืองการปกครองของส่วนรวม (institutional decay) นั่นเอง

3)บทเรียนจากอดีต

ก็แลจากกระบวนการเปลี่ยนย้ายอำนาจในอดีตที่ผ่านมา จะมีบทเรียนอะไรให้เราพอเก็บรับสำหรับคาดการณ์อนาคตได้บ้าง? ผมคิดว่าพอมีอยู่ดังนี้คือ :

– การปฏิรูปยากกว่าการปฏิวัติ เพราะต้องอาศัยการร่วมมือข้ามชนชั้นและข้ามอุดมการณ์มากกว่า ต้องอดทนรอนานกว่า ต้องให้ความคิดของสังคมสุกงอมยอมรับมากกว่า ต้องพึ่งพิงเงื่อนไขดุลอำนาจระหว่างประเทศที่เอื้อเฟื้อเป็นคุณกว่า สรุปคือต้องอาศัยการมาประชุมกันของเหตุประจวบเหมาะที่เฉพาะเจาะจงจำนวนมากกว่าเพื่อสร้างอำนาจนำแห่งการปฏิรูป

– แต่การปฏิรูปก็สิ้นเปลืองชีวิตผู้คนน้อยกว่า ทิ้งรอยแผลและความบาดเจ็บบอบช้ำทางวัตถุและจิตใจแก่สังคมน้อยกว่าในระยะยาว ทำให้ระเบียบการเมืองสังคมที่ได้มามีสันติสุขและมั่นคง

– กระบวนการเปลี่ยนย้ายอำนาจกินเวลาเป็นทศวรรษ ไม่ใช่เกิดขึ้นและจบลงด้วยเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงใหญ่ครั้งเดียว

– กลุ่มพลังใหม่ย่อมเลือกใช้วิธีการเปลี่ยนย้ายอำนาจที่สอดคล้องกับโครงสร้างโอกาสทางการเมืองที่เป็นจริงและทรัพยากรเฉพาะตัวของตน ในรอบปัจจุบัน ทรัพยากรที่พลังเสียงข้างมากใหม่มีได้แก่ [ทุน+ฐานเสียงข้างมาก] ในสถานการณ์ระบอบการเมืองที่มีการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนย้ายอำนาจรอบนี้ผ่านการเลือกตั้งประชาธิปไตย

– ชะตากรรมของสถาบันอำนาจทั้งหลายในสังคมการเมืองย่อมผันแปรไปตามทิศทางของกระบวนการเปลี่ยนย้ายอำนาจที่ใหญ่กว่า บรรดาสถาบันที่เอื้อเฟื้อต่อกระบวนการเปลี่ยนย้ายอำนาจจะมีอำนาจอิทธิพลเพิ่มสูงขึ้น

ในทางตรงข้าม บรรดาสถาบันที่ฝืนขืนขัดขวางทวนกระแสกระบวนการเปลี่ยนย้ายอำนาจจะอ่อนเปลี้ยถอยด้อยอำนาจอิทธิพลลงไปในที่สุด

4)จินตนาการในอนาคต

ดังนั้น หากสรุปรวบรัดแล้ว จินตนาการปลายอุโมงค์ที่ผมพอมองเห็นได้และอยากเห็นก็ได้แก่ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เข้มแข็งกว่าเดิม เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคงสถาพรยิ่งยืนนานควบคู่กับระบอบเสรีประชาธิปไตย

หากแจกแจงให้ละเอียดยิ่งขึ้นก็คือ :

– มีการบรรจบประสานกันของเจตนารมณ์และพลังปฏิรูปจากเบื้องบนกับเจตนารมณ์และพลังปฏิรูปจากเบื้องล่าง ข้ามชนชั้นและข้ามอุดมการณ์

– สภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง กลายเป็นศูนย์อำนาจใจกลางและเวทีหลักในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างสันติในกรอบกฎหมายและระบอบเสรีประชาธิปไตย เหนือสถาบันต่อต้านเสียงข้างมากนอกระบบการเมืองอื่นๆ

– ประชาชนผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจปฐมสถาปนา (le pouvoir constituant originaire) เป็นที่สถิตของอำนาจอธิปไตยที่เป็นจริงในทางปฏิบัติ กฎกติกาของสังคมการเมืองซึ่งมาจากตัวแทนประชาชนทรงความศักดิ์สิทธิ์อันล่วงละเมิดมิได้เหนือสิ่งอื่นทั้งปวง

– หลักสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลพลเมืองถูกยกฐานะขึ้นเป็นสถาบันสำคัญ เป็นเสาหลักและยุทธศาสตร์ของชาติ ที่มีประสิทธิผลจริงในทางปฏิบัติ

– ประกันการจำกัดอำนาจรัฐด้วยการที่ประชาชนเข้าร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติ ประกันการกระจายอำนาจให้ประชาชนด้วยการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

– ไม่มีรัฐประหาร ไม่มีตุลาการธิปไตย/การปกครองโดยเสียงข้างน้อย ไม่มีการฉวยใช้สถาบันหลักของบ้านเมืองมาเป็นเครื่องมือทำร้ายเล่นงานเพื่อนร่วมชาติเพื่อเป้าหมายทางการเมืองของตัวเอง ผลักดันให้ประเด็นเกี่ยวกับสถาบันหลักของบ้านเมืองกลายเป็นประเด็นสานเสวนาทางสังคม เพื่อแสวงหาฉันทามติทางสังคมมาเป็นฐานของการเมืองต่อไป

– เกิดดุลยภาพทางอำนาจระหว่าง [ระบบราชการ-สถาบันการเมือง-การเมืองมวลชน] ในกระบวนการเปิดด้านข่าวสารข้อมูลและตรวจสอบถ่วงดุลกันและกัน

– พรรคฝ่ายก้าวหน้าที่เกื้อหนุนการเปลี่ยนย้ายอำนาจขึ้นกุมอำนาจนำเชิงปฏิรูปในสภาและประชาสังคม ต่อกรกับพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมที่คัดค้านการเปลี่ยนย้ายอำนาจ ซึ่งไม่สันทัดการเมืองมวลชนและเวทีสภาผู้แทนฯ และใช้เวลานานกว่าในการสร้างอำนาจนำทางเลือกขึ้นมาท้าประชัน