รัฐธรรมนูญที่ต้องแก้ไข | มนัส สัตยารักษ์

รัฐธรรมนูญที่ต้องแก้ไข

เมื่อครั้งยังเด็ก พ่อกับแม่สอนให้สวดมนต์ก่อนนอน เป็นบทสวดพื้นฐานรำลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ชาวพุทธรู้จักและคุ้นเคยกันดี… “นะโม ตัสสะ ภควะโต…”

โตขึ้นอีกหน่อย “คุณยาย” สอนให้สวด… “พุทธังแคล้วคลาด พระพุทธเจ้าเสด็จย่างบาท อิติปิโส ภควา…” คุณยายคือมารดาของ พ.ต.อ.นายรองพลพ่าห์ผลัญชัย หัวหน้าตรวจคนเข้าเมืองอำเภอหาดใหญ่ ผู้บังคับบัญชาของพ่อ ซึ่งครอบครัวของเราเคารพนับถือ

ครั้นเป็นวัยรุ่นจนปัจจุบันผมสวดมนต์ “หลวงพ่อทวด” อีกบทหนึ่งเพราะเลิกแขวนพระ

ทุกครั้งผมจะสวดมนต์ในใจ เมื่อจบแล้วก็กราบพร้อมรำลึกถึงพระคุณของบิดา-มารดา และครูบาอาจารย์

ต่อมาดูเหมือนจะเป็นช่วงเรียนมัธยมต้นนี่แหละ นอกจากระลึกถึงพ่อ-แม่และครูบาอาจารย์แล้ว ผมเพิ่มระลึกถึงพระคุณของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ด้วย

แล้วจะเป็นตอนไหนยังไงก็ลืมเสียแล้ว ที่ผมผนวกคำว่า “รัฐธรรมนูญ” ต่อท้ายเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เสมือนถูกครอบงำหรือถูกสะกดจิต

อาจจะด้วยมันเป็นคำขวัญในโรงเรียน หรือเป็นอุดมคติบนปกหนังสือเรียน หรืออาจจะเพราะป้ายโปสเตอร์ที่ปิดประกาศไปทั่ว

และผมเองก็คงจะคล้ายๆ กับว่าเป็นนักเรียนที่ท่องอาขยานก็ต้องท่องให้จบบทอย่างสมบูรณ์ทั้ง 4 คำ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุด เพราะเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยอำนาจรัฐ ว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองของประเทศ กฎหมายใดจะขัดหรือขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้

ใครที่เอาคำว่า “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เป็นมงคล (ต้องฉีกทิ้งและเขียนใหม่ถึง 19 ครั้ง) ไปต่อท้ายคำที่ศักดิ์สิทธิ์สูงส่งอย่าง “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ช่างเป็นคนที่น่านับถือและน่าเหยียบให้จมดินไปพร้อมกัน

น่านับถือเพราะคำว่า “รัฐธรรมนูญ” มีเสียงสัมผัสคล้องจองกับ 3 คำแรกอย่างไม่ขัดเขิน และที่น่าเหยียบให้จมดินเพราะเท่ากับนำเอาสิ่งอัปมงคลมาตีเสมอกับสิ่งสูงส่งทั้งสาม เท่ากับจูงใจหรือหลอกลวงให้ประชาชนหลงเชื่อ และครอบงำเด็กหรือเยาวชนที่ยังไม่ประสีประสา

ผมเองกว่าจะ “ปลด” คำว่า “รัฐธรรมนูญ” ออกจากใจหลังสวดมนต์ได้ ก็ดูเหมือนจะโตเข้าสู่วัยรุ่นมีหยักในสมองจนมีสติสตังแล้วนั่นแหละ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานวันรพี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2541 ความตอนหนึ่งว่า

“…กฎหมายมีไว้สำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง มิใช่มีไว้สำหรับบังคับประชาชน ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชน ก็จะกลายเป็นเผด็จการ กลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยจะต้องบังคับบุคคลหมู่มาก

ในทางตรงกันข้าม กฎหมายมีไว้สำหรับให้บุคคลส่วนมากมีเสรีและอยู่ได้ด้วยความสงบ…”

พระบรมราโชวาทศักดิ์สิทธิ์เสมอ เห็นได้ชัดเจนจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 นี้ด้วย

แม้เราจะถือกันว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ก็มีบางประเทศที่ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น อังกฤษ นิวซีแลนด์ แคนาดา อิสราเอล ฯลฯ เป็นต้น ประเทศเหล่านี้ใช้ธรรมเนียมปฏิบัติ จนเป็นจารีตประเพณีที่สืบทอดกันมา หรืออาศัยคำพิพากษาเก่าๆ ของศาล เป็นบรรทัดฐานในการกำหนดอำนาจรัฐ วางกฎระเบียบการปกครองบ้านเมืองที่สามารถยืดหยุ่นได้

ประเทศไทยหลัง พ.ศ.2475 (หรือหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง) จะไม่มีรัฐธรรมนูญคงไม่ได้ ถึงแม้เราจะมีจารีตประเพณีที่ดีและเก่าแก่ไม่แพ้ประเทศในยุโรป แต่ก็เป็นในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นจารีตประเพณีที่ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ต้องการ

ไทยถูกเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยยึดแบบอย่างจากประเทศฝรั่งเศสซึ่งมี “เงื่อนไข” ต่างกับเรา แม้เวลาจะผ่านมาหลายสิบปีแล้วก็ตาม แต่สถานะของคนที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง กับคนชั้นที่ถูกปกครอง ยังแตกต่างกันอย่างมาก

กฎหมายที่เป็นธรรมจึงยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทย

ถึงกระนั้นก็ตาม เรายังคงได้ยินผู้มีอำนาจของบ้านเมืองยังคงอ้าง… “เรื่องนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้” หรือ “เรื่องนี้กฎหมายบัญญัติไว้” ยืดหยุ่นให้สอดรับกับจุดประสงค์ของตัวเองจนกลายเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายอย่างหลายมาตรฐาน

รัฐธรรมนูญอาจจะเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงส่งจนละเมิดมิได้ หลายประเทศในโลกรวมทั้งไทยต่างเปลี่ยนแปลงแก้ไขกันอยู่เสมอ ส่วนใหญ่ประเทศที่อารยะแล้วจะไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ใช้วิธีแก้ไข โดยตัวแทนจากทุกรัฐที่ได้รับเลือกจากประชาชน ซึ่งก็เท่ากับผ่านประชามติมาแล้วนั่นเอง

ในบางประเทศใช้วิธีรอคอยอย่างอดทน บางประเทศประชาชนต้องรวมหัวกันต่อสู้

มาถึงวันนี้ เรากำลังลุ้นกันอยู่ว่าประเทศไทยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยวิธีใด!

กล่าวสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของไทย ผู้ร่างและ คสช.อวดว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงที่ดีที่สุด” ขณะที่กำลังอวดอยู่นั้น ทั้งนักการเมืองและข้าราชการต่างก็โกงให้เห็นจนอื้อฉาวไปถึงองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ TI (Transparency International)

TI ระบุว่า “แทบไม่เห็นผลงาน”

ถ้าพินิจพิเคราะห์อย่างรอบคอบ เราจะพบว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อสืบทอดอำนาจ คสช. มากกว่าปราบโกง เพราะมีบทป้องกันการแก้ไขอย่างรัดกุมเป็นพิเศษ พิเศษจนกระทั่งมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายทาง

เป็นเหตุให้ถูกรุมวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบจากประชาชน พรรคการเมืองที่ฉลาด (หรือไม่ยอมโง่) ต่างใช้หัวข้อ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” เป็นนโยบายหนึ่งของพรรคในการหาเสียงและในการดีเบต

และหลังจากเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว ก็ใช้หัวข้อ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” เดียวกันนี้ เป็นเงื่อนไขในการต่อรองเพื่อร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล และต่อมาก็เพื่อแย่งชิงเก้าอี้แห่งผลประโยชน์ ตรงจุดเหล่านี้จะสังเกตเห็นได้ว่า ผู้จัดการรัฐบาลยอมแทบทุกอย่าง

แต่พอถึงขั้นกำหนด “นโยบายรัฐบาล” ที่จะต้องแถลงต่อรัฐสภา ประเด็น “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” แกนนำของรัฐบาลกลับไม่ยอมง่ายๆ เพราะมันหมายถึง “อายุ” ที่อุตส่าห์สืบทอดมาได้ด้วยสารพัดเล่ห์กล จึงต่างก็พยายามต้านทานหรือถ่วงเวลาไว้ให้ได้นานที่สุด