เพ็ญสุภา สุขคตะ : “หมอคอร์ท” ในชีวิตจริง

เพ็ญสุภา สุขคตะ

แฟนละคร “กลิ่นกาสะลอง” ไถ่ถามกันมามากว่า ตัวละครสำคัญนาม “หมอคอร์ท” แห่งโรงพยาบาลแมคคอร์มิคที่กำลังโลดแล่นในจอแก้วนั้น เป็นตัวละครที่สมมติขึ้นมาใหม่

หรือว่านำมาจากบุคคลในประวัติศาสตร์จริง?

คำตอบก็คือ ชาวเชียงใหม่ที่มีชีวิตในช่วง 80-120 ปีที่ผ่านมา ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาไม่เคยลืมตำนานการทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงกายของ “หมอฝรั่ง” ท่านหนึ่งผู้ช่วยจรรโลงสังคมเชียงใหม่ให้งดงาม นาม “หมอคอร์ท”

หรือ “พ่อเลี้ยงคอร์ท” นั้นได้เลย

 

หมอฝรั่งบังคับให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยฉันโอสถ

ดิฉันรู้จัก “หมอคอร์ท” ครั้งแรกจากหนังสือ “มหัศจรรย์ประวัติครูบาเจ้าศรีวิชัย” ที่เขียนโดย ครูบาอานันท์ พุทฺธธมฺโม พิมพ์ครั้งแรกปี 2537

โดยท่านได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยอาพาธอย่างหนักด้วยโรคริดสีดวงทวารและวัณโรค ในช่วงบั้นปลายชีวิต ระหว่าง พ.ศ.2480-2482

ครั้งนั้นมี “หมอฝรั่งจากเชียงใหม่” ผู้หนึ่งได้มาเยี่ยมเพื่อดูอาการอาพาธของครูบาเจ้าศรีวิชัยที่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ตามคำเชิญของพลตรี เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย

เนื่องจากครูบาเจ้าศรีวิชัยปฏิเสธที่จะย้ายไปรักษาตัวที่จังหวัดเชียงใหม่ (ตามที่ท่านได้ลั่นอมตวาจาไว้แล้วว่า ตราบน้ำแม่ปิงไม่ไหลย้อนขึ้นเหนือฉันใด ตัวท่านก็จักไม่หวนกลับไปเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่อีกฉันนั้น)

จากการตรวจสอบข้อมูลที่ครูบาอานันท์บันทึกชื่อหมอฝรั่งผู้นี้ไว้ มีการเขียนตัวสะกดคลาดเคลื่อนเล็กน้อยว่า “หมอครอส” แต่ก็พอจะเข้าใจได้ว่าหมายถึง นายแพทย์ อี.ซี.คอร์ท (Dr. Edwin Charles Cort) หรือ ดร.เอ็ดวิน ชาร์ลส์ คอร์ท หนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลแมคคอร์มิค (McCormick Hospital) และโรงพยาบาลโรคเรื้อนแมคเคน

จากประวัติที่ค้นพบในเว็บไซต์ของโรงพยาบาลแมคคอร์มิคระบุว่า หมอคอร์ท (บางครั้งเขียน คอร์ต) เป็นมิชชันนารีชาวอเมริกัน จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย John Hopkins เป็นผู้มีอุดมการณ์อย่างแรงกล้าที่จะรับใช้พระเป็นเจ้าและมวลมนุษยชาติ

หมอคอร์ทเดินทางมาทำงานในดินแดนล้านนาระหว่าง พ.ศ.2451-2492 โดยในช่วงต้นทศวรรษ 70 ได้มีโอกาสร่วมงานกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (หรือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) พระราชบิดาวงการแพทย์ของไทย เมื่อครั้งที่มาทรงฝึกงานในฐานะนักเรียนแพทย์ที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค พ.ศ.2472 จนกระทั่งเสด็จทิวงคตในช่วงปลายปีนั้นเอง

ในหนังสือ “มหัศจรรย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ครูบาอานันท์ได้บันทึกถ้อยคำโต้ตอบระหว่างครูบาเจ้าศรีวิชัยกับหมอคอร์ท (ข้อมูลเหล่านี้ครูบาอานันท์ได้มาจากการสัมภาษณ์ครูบาทองสุข เจ้าอาวาสวัดบ้านปางรูปที่ 2 ต่อจากครูบาเจ้าศรีวิชัย ผู้อยู่ในเหตุการณ์จริงช่วงต้นปี 2482)

บทสนทนานั้นมีความน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่อง “มรณานุสติ” เนื่องจากหมอคอร์ทพยายามคะยั้นคะยอให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยฉันโอสถ เพื่อช่วยบรรเทาโรคริดสีดวงทวารและวัณโรค แต่ครูบาเจ้าศรีวิชัยกลับไม่ยอมฉัน ทำให้หมอคอร์ทเริ่มหงุดหงิดจึงข่มขู่ว่า

“หากท่านไม่ฉันยา มีทางเดียวเท่านั้น คือความตาย!”

ครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้ตอบหมอคอร์ทว่า

“อย่าว่าแต่อาตมาเลย หมอเองก็ต้องตายเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นหมอดีวิเศษอย่างไร ก็หลีกหนีความตายไปไม่พ้น”

พ่ออุ๊ยสี แสนอุ่น ผู้เป็นหลานแท้ๆ ของครูบาเจ้าศรีวิชัย เล่าให้ครูบาอานันท์ฟังเพิ่มเติมว่า

“ในที่สุดหมอฝรั่งใช้ยาทาจนตัวริดสีดวงหลุดออกมาทั้งยวง รวมทั้งหูรูดทวารหนักด้วย จึงทำให้ท่านอุจจาระไหลออกมาไม่หยุด จนผอมเหลือแต่กระดูก”

ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้พูดถึงโรคภัยของท่าน ตามที่ท่านเห็นภาพในนิมิตว่า

“เราเป็นโรคกรรมแต่อดีตมาตามทัน คือเมื่ออดีตชาติเราเคยเป็นพระ ได้ถือไม้เท้าปลายแหลม 3 ง่ามไปแทงก้นกบตัวหนึ่งเข้า กบได้รับเวทนา จึงเป็นเวรแก่กัน เวทนาของเราเดี๋ยวนี้คงไม่ต่างอะไรกันกับกบตัวนั้น ถึงอย่างไรเราก็ปลงตกแล้ว จะไม่ให้กรรมเป็นเวรเป็นภัยแก่กันอีกต่อไป เราหวังให้สิ้นภพสิ้นชาติ ขอให้มาเป็นพระโปรดโลกรูปหนึ่งในวันข้างหน้า เราจะละสังขารไปในเดือนนี้แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายดูความวิปริตของท้องฟ้าไว้เป็นสัญญาณ”

คำรำพึงรำพันถึงพยาธิภัยผ่านกรรมเก่าของครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่หมอคอร์ทฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างครั้งนั้น แต่ก็อดไม่ได้ที่จะทำให้หมอคอร์ทน้ำตาซึม พลางกุมมือส่งกำลังใจให้ครูบาเจ้าศรีวิชัย… เป็นครั้งสุดท้าย เพราะหลังจากนั้นเพียงเดือนเดียว ท่านก็ดับขันธ์

 

เริ่มสร้างผลงานที่เมืองแพร่

นั่นคือข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับหมอคอร์ทเท่าที่ดิฉันเคยทราบ กระทั่งเกิดกระแสมีนักท่องเที่ยวจากภาคกลางต้องการตามรอยละคร “กลิ่นกาสะลอง” ในสถานที่ทุกๆ แห่งที่ถ่ายทำในจังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นมาอย่างฉับพลันทันด่วน และนักท่องเที่ยวจำนวนมากก็มักถามดิฉันว่า “ทำอย่างไรจึงจะได้ทราบประวัติของหมอคอร์ทให้ละเอียดกว่านี้ นอกเหนือจากการที่รู้ว่าท่านทำงานในโรงพยาบาลแมคคอร์มิคแล้ว ท่านเคยทำอะไรมาก่อนอีกบ้างไหม”

เป็นโจทย์ให้ดิฉันต้องไปสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม จึงได้คำตอบว่า ก่อนหน้าที่หมอคอร์ทจะมาอยู่ประจำที่เชียงใหม่นั้น ท่านเคยทำงานที่เมืองแพร่มาก่อน

จากข้อมูลเอกสารประวัติการก่อตั้งคณะมิชชันนารีเมืองแพร่ ระบุว่าปี พ.ศ.2455 คริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่ 1 แพร่ ได้มีการเปิด “ศูนย์มิชชั่นแพร่” แห่งใหม่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยเปิดอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2437 มีสมาชิกเบื้องต้น 12 คน

การเปิดศูนย์มิชชั่นแพร่แห่งใหม่นี้ เนื่องมาจากต้องย้ายสถานที่จากแห่งเดิมตั้งอยู่ที่บ้านเชตวัน ริมฝั่งแม่น้ำยม แต่ถูกกระแสน้ำเซาะจนตลิ่งพัง รวมถึงมีน้ำท่วมบ้างเป็นครั้งคราว จึงต้องรื้อบ้านพักไปก่อสร้างยังสถานที่แห่งใหม่ เรียกบ้านทุ่ง (คือภาพประกอบเรือนมิชชันนารีแพร่ที่นำมาลงให้ดูในบทความนี้) ห่างจากเมืองไปประมาณ 1 ไมล์

มิชชันนารีที่มาประจำศูนย์มิชชั่นแพร่แห่งใหม่ ประกอบด้วย “หมอคอร์ท” ของเรา ศาสนาจารย์โรเดอริก กิลลีส์ (Rev. Roderick Gillies) และนายอาร์เธอร์ แมคมัลลิน (Mr. Arthur B. McMullin) ในบันทึกดังกล่าวระบุว่าหมอคอร์ททำงานที่แพร่ระหว่าง 2455-2457 เพียงช่วงสั้นๆ 3 ปีเท่านั้น แต่ได้สร้างผลงานไว้มากมาย

ตั้งแต่หมอคอร์ทมาอยู่ที่แพร่ มีการเพิ่มจำนวนชาวคริสเตียนขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเมื่อก่อน เนื่องจากพันธกิจด้านการแพทย์รักษาผู้ป่วยของหมอคอร์ทที่อุทิศทุ่มเทความรู้ความสามารถ

ยิ่งช่วงนั้นได้เกิดโรคระบาดอย่างหนักในหัวเมืองทางเหนือ ทำให้มีคนหลั่งไหลเข้ารีตเป็นคริสเตียนจำนวนมาก

ทั้งนี้ เพื่อมาขอรับการรักษาพยาบาลที่ทันสมัยกว่าการใช้สมุนไพร เช่น ชุมชนคริสต์ที่บ้านป่าผึ้ง ในเดือนพฤษภาคม 2457

สถิติบันทึกว่า ผู้เป็นคริสเตียนมีจำนวนมากถึง 95 คน ทำให้ “ศูนย์มิชชั่นแพร่” ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “คริสตจักรการแพทย์”

พร้อมจัดตั้งโรงเรียนคริสตจักรที่มีการศึกษาสมัยใหม่ขึ้นที่แพร่แม้เป็นเมืองเล็กๆ อีกด้วย

ในระหว่างนั้น กิตติศัพท์ความขยันขันแข็งของหมอคอร์ทดังกระฉ่อนเข้าตากรรมการ ทำให้ถูกเรียกตัวไปทำงานที่เมืองใหญ่คือเชียงใหม่ ครั้งนั้นหมอคอร์ทได้นําเด็กหนุ่มชาวแพร่คนหนึ่งคือ “นายบุญทา นันทิยา” จากบ้านพันเชิง ตำบลป่าแดง (ต่อมาขึ้นกับตำบลช่อแฮ) อำเภอเมืองแพร่ ไปเรียนที่เชียงใหม่ด้วย

ภายหลังนายบุญทาได้เป็นแพทย์ชั้นสองที่มีชื่อเสียงอย่างมากทั้งในเมืองแพร่และเมืองน่าน 

 

โรงพยาบาลแมคคอร์มิคผลงานชิ้นโบแดง

เมื่อหมอคอร์ทย้ายจากแพร่มาอยู่เชียงใหม่ เขาต้องทำงานร่วมกับมิชชันนารีโปรเตสแตนต์ คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน ภายใต้การนำของศาสนาจารย์ ดร.ดาเนียล แมคกิลวารี ผู้มีคุณูปการต่อเมืองเชียงใหม่อีกท่านหนึ่ง

หมอคอร์ทค่อยๆ พัฒนารูปแบบการรักษาผู้ป่วย-ผู้บาดเจ็บ จากการให้มิชชันนารีเดินเคาะประตูบ้านทีละหลังเพื่อแบ่งยาสามัญประจำบ้านให้กับผู้สมัครเข้ารีตเป็นคริสเตียน เปลี่ยนมาเป็นการตั้งสถานีจ่ายยาขึ้นแบบโอสถศาลา (dispensary) โดยตัวเขาเป็นแพทย์ทำงานประจำรักษาคนไข้

จากนั้นได้พัฒนาเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของน้ำแม่ปิง (บริเวณสถานีกาชาดเชียงใหม่ในปัจจุบัน) ปี 2459 หมอคอร์ทได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดแพทย์ ปี 2466 จัดตั้งโรงเรียนพยาบาลและผดุงครรภ์ ถือเป็นโรงเรียนพยาบาลและผดุงครรภ์แห่งที่สามในประเทศไทย และแห่งแรกในภูมิภาค

พ.ศ.2463 หมอคอร์ทเห็นว่าโรงพยาบาลแห่งเดิมเริ่มแออัดคับแคบ จึงได้ย้ายมาก่อตั้งโรงพยาบาลใหม่ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงแทนแถวย่านหนองเส้ง

ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลแมคคอร์มิคในปัจจุบัน

โดยใช้ชื่อตามนามสกุลของนางไซรัส แมคคอร์มิค (Mrs.Cyrus McCormick) ผู้บริจาคเงินในการก่อสร้างโรงพยาบาล สร้างแล้วเสร็จปี 2468

ในด้านภริยาของหมอคอร์ทนั้น มีชื่อว่า “แม่ครูกิลสัน” เป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนสตรีสันป่าข่อย หรือโรงเรียนพระราชชายา ปัจจุบันคือโรงเรียนดาราวิทยาลัย ซึ่งเป็นฉากสำคัญอีกฉากหนึ่งที่ปรากฏในละครเรื่อง “กลิ่นกาสะลอง”

หมอคอร์ทเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ในวัย 70 ปี เมื่อ พ.ศ.2492 ประชาชนชาวเชียงใหม่อาลัยอาวรณ์ต่อเขา ในวันอำลาต่างพากันเข้าแถวยาวเหยียดเป็นกิโลเมตรกว่าหมื่นคนหน้าโรงพยาบาล เพื่อทำพิธีรดน้ำดำหัวให้แก่เขาและภรรยา

เป็นการแสดงออกครั้งสุดท้ายถึงความรัก ความศรัทธาที่ชาวเชียงใหม่มีต่อคุณงามความดีของสองสามีภรรยา ก่อนที่จะเดินทางกลับสู่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นการถาวรในเดือนพฤษภาคม 2492