เศรษฐกิจ / เจาะลึกสวัสดิการคนจน ‘บิ๊กตู่ 2’ ถอดรหัสนโยบายหาเสียง พปชร. ลุ้นแจกแล้วแจกอีกไม่แพ้ ‘บิ๊กตู่ 1

เศรษฐกิจ

 

เจาะลึกสวัสดิการคนจน ‘บิ๊กตู่ 2’

ถอดรหัสนโยบายหาเสียง พปชร.

ลุ้นแจกแล้วแจกอีกไม่แพ้ ‘บิ๊กตู่ 1

 

หลังจากที่รัฐบาล “บิ๊กตู่ 2” เริ่มทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ นโยบายเรื่องคนจนเป็นที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก ว่าจะเดินหน้าอย่างไร

ย้อนดูรัฐบาล “บิ๊กตู่ 1” ปูพรมแจกคนจน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ไปกว่า 1 แสนล้านบาทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าแจกแล้วแจกอีกตลอดทั้งปี ทำเอาคนรับ ใช้เงินแทบไม่ทัน

ดังนั้น จึงเป็นความหวังว่ารัฐบาลบิ๊กตู่ 2 จะแจกไม่แพ้รัฐบาลบิ๊กตู่ 1 เพราะเท่าที่ดูจากการหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับบัตรคนจนในทุกเวทีหาเสียง

ผู้ถือบัตรจำนวน 14.5 ล้านคน มีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น คนจนจึงเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคการเมืองทุกพรรค

บัตรคนจนถูกบรรจุให้อยู่ในนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่องที่รัฐบาลจะดำเนินการ

เมื่อนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหัวหน้าพรรค พปชร. เข้ามารับตำแหน่งที่กระทรวงการคลังอย่างเป็นทางการ สั่งการให้ข้าราชdkiกระทรวงการคลังเตรียมพร้อมในเรื่องบัตรคนจน นำเสนอพร้อมๆ กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

คาดว่าจะนำเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้

 

กระทรวงการคลังเตรียมเสนอให้ปรับเงื่อนไขการลงทะเบียนคนจนรอบใหม่ เพื่อตัดคนไม่จนจริงออกไป โดยเงื่อนไขใหม่จะนำรายได้และทรัพย์สินของครอบครัวมาเป็นส่วนหนึ่งในคุณสมบัติของผู้ถือบัตร จากเดิมกำหนดรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี เงินฝากไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี บ้านขนาดไม่เกิน 25 ตร.ว. และคอนโดฯ ขนาดไม่เกิน 35 ตร.ม. ที่ดินเพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ ส่วนที่ดินเพื่อการเกษตรไม่เกิน 10 ไร่

จากการแจกบัตรในรอบที่ผ่านมา พบว่ามีกลุ่มคนมีเงิน อยู่บ้านหลังโต แต่ได้บัตรเพราะมีอาชีพเป็นแม่บ้าน นักเรียน ซึ่งรายได้และทรัพย์สินไม่เกินเกณฑ์ นอกจากนี้ยังพบการโชว์บัตรคนจนผ่านโลกออนไลน์จากกลุ่มคนที่ดูแล้วไม่น่าจะมีฐานะยากจน เช่น กรณีนายแบบ เจ้าของโรงน้ำแข็ง คนจบ ดร. ได้รับบัตร ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงกระบวนการคัดกรองว่ามีช่องโหว่

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังมีแนวคิดตั้งคณะกรรมการในพื้นที่ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับหมู่บ้าน เพื่อช่วยตรวจสอบผู้รับบัตรในพื้นที่ว่าจนจริงหรือไม่ รวมถึงเข้ามาช่วยคัดกรองและเสนอรายชื่อผู้ที่ควรได้รับบัตรที่ยังตกหล่นในรอบที่ผ่านมา

กระทรวงการคลังหวังว่าเกณฑ์ที่เข้มงวดจะทำให้ตัวเลขคนจนรอบใหม่ลดลงเหลือ 10 ล้านคน ซึ่งเป็นการประเมินจากสถิติคนจนรายครอบครัวที่มีประมาณ 6-7 ล้านครัวเรือน

ซึ่งกำหนดกรอบเวลาลงทะเบียนรอบใหม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ เพื่อเริ่มสวัสดิการใหม่ตามนโยบายบิ๊กตู่ 2 ในวันที่ 1 มกราคม 2563

 

สวัสดิการใหม่ๆ เพิ่มเติม ถ้าดูจากการหาเสียงของพรรค พปชร. และจากการเตรียมการของข้าราชการกระทรวงการคลัง

สวัสดิการแรกเกิดแน่นอนคือ “มารดาประชารัฐ” นโยบายหาเสียงหลักของพรรค พปชร. มีแนวคิดแจกเงินให้กับแม่ตั้งครรภ์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ เดือนละ 3 พันบาท เป็นเวลา 9 เดือน รวมสูงสุด 2.7 หมื่นบาท ให้ค่าทำคลอด 1 หมื่นบาท หลังคลอดจ่ายค่าเลี้ยงดูเด็กเดือนละ 2 พันบาทจนถึงอายุ 6 ปี รวมเป็นเงิน 1.44 แสนบาท เมื่อรวมทั้งหมดเด็ก 1 คน รับเงินจากนโยบายมารดาประชารัฐ 1.81 แสนบาท

ถ้าแจกเงินให้แม่ตั้งครรภ์ทุกรายคงใช้เงินมหาศาล ดังนั้น กลุ่มแม่ตั้งครรภ์ที่จน น่าจะได้รับสิทธิ์เป็นกลุ่มแรก ดังนั้น ในระยะแรกจะจ่ายเงินในโครงการมารดาประชารัฐผ่านบัตรคนจน

คาดว่ามีจำนวนประมาณปีละ 1 แสนราย

 

นอกจากนี้ พรรคพลัง พปชร.เคยหาเสียงไว้ว่าจะปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชราเป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน เท่ากันทุกช่วงอายุ จากขณะนี้รับเป็นขั้นบันได 600-1,000 บาทต่อเดือน

ถ้าติดตามการหาเสียงของพรรค พปชร. จะพบว่าในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แกนนำพรรค พปชร.พูดในหลายเวทีว่าจะเพิ่มเงินในบัตรให้เป็น 1,000 บาท จากขณะนี้ได้รับเพียง 500 บาท โดยขณะนี้สวัสดิการที่ผู้ถือบัตรได้รับทุกเดือน หรือสวัสดิการพื้นฐาน ประกอบด้วย วงเงินซื้อของร้านธงฟ้าเดือนละ 200-300 บาท ค่ารถเมล์ ขสมก.หรือรถไฟฟ้าเดือนละ 500 บาท ค่ารถไฟเดือนละ 500 บาท ค่ารถ บขส.เดือนละ 500 บาท ส่วนลดในการซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อ 3 เดือน

ก่อนหน้านี้รัฐบาลบิ๊กตู่ 1 แจกสวัสดิการเป็นครั้งคราว เช่น แจกเงินช่วงปีใหม่คนละ 500 บาท แจกเงินให้ผู้ปกครองใช้ซื้อชุดนักเรียน 500 บาท จ่ายเงินแลกกับการเข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพอีกเดือนละ 100-200 บาท แจกเงินให้คนชราอายุ 65 ปีขึ้นไป คนละ 1,000 พันบาทเพื่อเป็นค่าเดินทางหาหมอ และหากคนชราคนใดไม่มีบ้านอยู่ได้รับเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้านเดือนละ 400 บาท/เดือน รวมถึงอื่นๆ อาทิ แจกเงินคนพิการ ช่วยเหลือเกษตรกร เป็นต้น

นอกจากนี้ คาดว่าสวัสดิการครั้งคราว เช่น ค่าไฟ 230 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน และค่าน้ำประปา ไม่เกิน 100 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ซึ่งครบกำหนดในเดือนกันยายนนี้ อาจกลายเป็นมาตรการถาวร เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐเคยหาเสียงไว้

อย่างไรก็ตาม การแจกสวัสดิการ ต้องคำนึงถึงเม็ดเงินที่มีในกระเป๋าด้วย ล่าสุดเงินใช้แจกสวัสดิการ ซึ่งเป็นเงินงบประมาณใส่ไว้ในกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เหลืออยู่แค่กว่า 1 หมื่นล้านบาท

ลำพังสวัสดิการพื้นฐานใช้เงินประมาณเดือนละ 4-5 พันล้านบาท หรือปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2563 สำนักงบประมาณจัดสรรเงินไว้ในกองทุน 5.3 หมื่นล้านบาท

ล่าสุดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณถึงสำนักงบประมาณเพิ่มเติมเงินในกองทุนให้ครบ 1 แสนล้านบาท เพื่อจะได้มีเงินเพียงพอแจกสวัสดิการเพิ่มเติม

 

เรื่องนี้ นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีข้อกังขาเกี่ยวกับตัวเลขคนจนของกระทรวงการคลัง 14.5 ล้านราย เพราะกำหนดรายได้ไว้ 1 แสนบาทต่อปี ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดรายได้คนจนไว้เพียง 3 หมื่นบาทต่อปี มีกลุ่มคนยากจน 4-5 ล้านราย แตกต่างกันพอสมควร

โดยแนะว่าหากกระทรวงการคลังจะปรับสวัสดิการควรปรับเงื่อนไขการให้บัตรใหม่ ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนใหม่ เพราะการลงทะเบียนใหม่มีต้นทุน ต้องใช้งบฯ เพื่อดำเนินการลงทะเบียน ดังนั้น สามารถใช้ฐานข้อมูลเดิม แต่ปรับปรุงใหม่แทนการลงทะเบียนใหม่ ส่วนการให้สวัสดิการควรให้เป็นเงินสด หรือเงินในบัตร กดไปใช้อะไรก็ได้ น่าจะยืดหยุ่น และตอบโจทย์ชีวิตคนจนมากกว่า การกำหนดเป็นวงเงินสำหรับซื้อของร้านธงฟ้า เงินสำหรับเดินทางรถโดยสาร รถไฟ หรือเงินส่วนลดในการซื้อก๊าซหุงต้ม

ต่างจาก น.ส.แสงศิริ ตรีมรรคา ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ให้ความเห็นว่า รัฐควรยกเลิกบัตรคนจน เพราะไม่เห็นประโยชน์ในการให้สวัสดิการผ่านบัตรดังกล่าว หากรัฐจะแจกสวัสดิการควรให้แบบถ้วนหน้า ควรให้กับทุกคนที่ควรได้

 

สัญญาจากการหาเสียงถือเป็นสัญญาใจที่นักการเมืองให้ไว้กับประชาชน เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว หากไม่ทำตามที่เคยลั่นวาจาไว้ หรือทำแต่ทำแบบมีเงื่อนไข อาจทำให้ประชาชนหมดความไว้วางใจกับรัฐบาลใหม่

แต่ถ้าทำทั้งหมดตามที่พรรคร่วมรัฐบาลประกาศไว้ ต้องใช้เงินสูงถึง 2-3 แสนล้านบาท อาจจะมีปัญหาเพราะงบประมาณมีจำกัด

แม้เป็นรัฐบาลพรรคร่วมแต่การใช้งบประมาณต้องจัดสรร คงไม่สามารถทุ่มเงินให้กับนโยบายพรรคใดพรรคหนึ่งได้

   สำหรับคนจนแล้ว ไม่ว่าสมการ “บิ๊กตู่ 2” กับ “บิ๊กตู่ 1” จะเป็นอย่างไร ก็ขอให้อย่าปล่อยให้ฝันค้าง!!!