การศึกษา / ร.10 โปรดเกล้าฯ สถาปนา 2 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า-4 สมเด็จฯ ใหม่

การศึกษา

 

ร.10 โปรดเกล้าฯ สถาปนา

2 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า-4 สมเด็จฯ ใหม่

 

เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ โปรดสถาปนา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ และสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวัฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชที่มีฐานันดรศักดิ์เป็นสามัญชนขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ซึ่งในอดีต ไทยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรอีกด้วย

 

นอกจากนี้ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เลื่อนอิสริยฐานันดรในสมณศักดิ์สูงขึ้น จำนวน 9 รูป

โดยโปรดสถาปนาสมณศักดิ์ สมเด็จพระราชาคณะ 4 รูป ได้แก่ “พระพรหมวชิรญาณ” วัดยานนาวา เป็นสมเด็จพระมหาธีราจารย์

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 (ฝ่ายศาสนศึกษา) ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม (มส.) ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

นามเดิม ประสิทธิ์ สุทธิพันธุ์ เกิดวันที่ 24 พฤษภาคม 2480 ที่บ้านยางน้อย ต.ก่อเอ้ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี

บรรพชาเป็นสามเณร วันที่ 3 เมษายน 2491 ที่วัดยางน้อย ต.ก่อเอ้

พระครูพินิฐศีลคุณ เจ้าคณะอำเภอเขื่องใน วัดทุ่งสว่าง บ้านโนนใหญ่ ต.ก่อเอ้ เป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ วันที่ 20 กรกฎาคม 2501 ณ พัทธสีมาพระอุโบสถวัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ พระธรรมธีรราชมหามุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยกิจโกศล (อิน ติสฺสสโร ป.ธ.6) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาบุญมา ทีปธมฺโม ป.ธ.6 เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาว่า เขมงฺกโร

 

“พระสาสนโสภณ” วัดโสมนัส เป็นสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วิทยฐานะ ป.ธ.9, นธ.เอก. เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เจ้าอาวาสวัดโสมนัสราชวรวิหาร อดีตเจ้าคณะภาค 16-17-18 (ธรรมยุต)

นามเดิมว่า พิจิตร ถาวรสุวรรณ เป็นบุตรคนโต ในจำนวน 9 คน เกิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2479 ที่หมู่บ้านพังขาม อ.สทิงพระ จ.สงขลา

บรรพชาเมื่ออายุ 17 ปี โดยพระอุดมศีลคุณ (เริ่ม นนฺทิโย) วัดบุรณศิริมาตยาราม ผู้เป็นหลวงอา

ในสมัยที่เป็นพระครูปลัดเถรธรรมวัฒน์ ได้นำไปฝากให้บวชที่วัดโสมนัสราชวรวิหาร โดยถวายตัวเป็นศิษย์ของพระวินัยวงศ์เวที (พวง ธมฺมธโร) ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2496 โดยสมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธมฺโม) ขณะยังเป็นพระอมรมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระวินัยวงศ์เวที (พวง ธมฺมธโร) เป็นพระศีลาจารย์ และได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน

จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค และนักธรรมชั้นเอกตั้งแต่เป็นสามเณร

 

“พระพรหมมุนี” วัดราชบพิธฯ เป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการสภาการศึกษา กรรมการ มส. เจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต) รักษาการเจ้าคณะภาค 4-5-6-7 (ธรรมยุต) แม่กองธรรมสนามหลวง รองแม่กองงานพระธรรมทูต หัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 7 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ และเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช

นามเดิมว่า สุชิน มงคลแถลง เกิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2493 ที่ ต.ปลายกลัด อ.บางซ้าย จ.พระนครศรีอยุธยา

บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2505 โดยมีพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์

และอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธฯ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513 โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสิริวัฒนเมธี (ทองคำ กมพุวณโณ) และพระราชภัทราจาร (เปล่ง กุวโม) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูวิจิตรธรรมคุณ (เจียร เขมาจาโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้ฉายาว่า อคฺคชิโน

 

และ “พระพรหมมังคลาจารย์” วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองฝ่ายมหานิกาย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรฯ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 8 ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ และรองแม่กองธรรมสนามหลวง กำกับดูแลฝ่ายวิเทศสัมพันธ์

นามเดิมว่า ธงชัย เอี่ยมสอาด เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2496 อยู่บ้านแหลมแค ต.หน้าประดู่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี บวชเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2510 ณ พระอุโบสถวัดไตรมิตรฯ มีพระธรรมมหาวีรานุวัตร (ไสว ฐิตวีโร) เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ และอุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2517 ณ พระอุโบสถวัดไตรมิตรฯ โดยมีพระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสุวรรณธีราจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระสุนทรคุณธาดา เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้ฉายาว่า ธมฺมธโช

 

นอกจากนี้ ทรงโปรดสถาปนาพระราชาคณะเจ้าคณะรอง 5 รูป ได้แก่ พระธรรมโสภณ วัดสุทธจินดา จ.นครราชสีมา เป็นพระสาสนโสภณ, พระธรรมเสนานุวัตร วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก เป็นพระพุทธิวงศมุนี, พระธรรมรัตนดิลก วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระวิสุทธาธิบดี, พระธรรมเจติยาจารย์ วัดพระศรีมหาธาตุ เป็นพระพรหมมุนี และพระธรรมมงคลญาณ วัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร เป็นพระพรหมมงคลญาณ

ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พระราชาคณะ จำนวน 65 รูป อาทิ พระเทพประสิทธิโสภณ วัดเทพศิรินทราวาส เป็นพระธรรมโสภณ, พระเทพสุธี วัดศรีสุริยวงศาราม จ.ราชบุรี เป็นพระธรรมวุฒาจารย์, พระเทพเมธี วัดอรุณราชวราราม เป็นพระธรรมรัตนดิลก, พระเทพวิสุทธิญาณ วัดอนาลโยทิพยาราม จ.พะเยา เป็นพระธรรมวิสุทธิญาณ, พระเทพรัตนสุธี วัดเขียนเขต จ.ปทุมธานี เป็นพระธรรมรัตนาภรณ์, พระเทพวีราภรณ์ วัดพระเชตุพนฯ เป็นพระธรรมรัตนากร

พระราชประสิทธิวิมล วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นพระเทพประสิทธิคุณ, พระราชญาณปรีชา วัดราชาธิวาส เป็นพระเทพวิสุทธิญาณ, พระราชรัตนกวี วัดมหาธาตุ จ.ยโสธร เป็นพระเทพวงศาจารย์, พระราชเจติยาจารย์ วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ เป็นพระเทพวุฒาจารย์, พระราชปริยัติโสภณ วัดหนองกุง จ.ขอนแก่น เป็นพระเทพวิสุทธิคุณ, พระราชคุณาภรณ์ วัดภูมินทร์ จ.น่าน เป็นพระเทพนันทาจารย์, พระราชสิทธิมุนี วัดมหาธาตุ เป็นพระเทพวิสุทธิมุนี, พระราชรัตนสุธี วัดชนะสงคราม เป็นพระเทพรัตนสุธี, พระราชธรรมสุธี วัดเกตการาม จ.สมุทรสงคราม เป็นพระเทพสุเมธี, พระราชวิสุทธิเมธี วัดไชยชุมพลชนะสงคราม จ.กาญจนบุรี เป็นพระเทพปริยัติโสภณ

พระราชโสภณ วัดราษฎร์บำรุง เป็นพระเทพญาณโสภณ, พระราชศิริธรรมเมธี วัดคูหาสวรรค์ จ.พัทลุง เป็นพระเทพปริยัติคุณ, พระราชวรมุนี วัดสังเวชวิศยาราม เป็นพระเทพเวที, พระราชศาสนกิจโสภณ วัดเสมียนนารี เป็นพระเทพวรสิทธาจารย์, พระราชปริยัติเมธี วัดสุวรรณภูมิ จ.สุพรรณบุรี เป็นพระเทพปริยัติกวี, พระราชสีมาภรณ์ วัดบึง จ.นครราชสีมา เป็นพระเทพสีมาภรณ์, พระราชวรเมธี วัดประยุรวงศาวาส เป็นพระเทพปวรเมธี, พระราชสุเมธาจารย์ วัดอมราวดี สหราชอาณาจักร เป็นพระเทพญาณวิเทศ เป็นต้น

    นอกจากนี้ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตร จำนวน 1,084 รูป และโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์บรรพชิตอนัมนิกาย จำนวน 10 รูป และบรรพชิตจีนนิกาย จำนวน 8 รูป