ในประเทศ / ปฏิบัติการ วาง ทุ่นระเบิด

ในประเทศ

 

ปฏิบัติการ

วาง

ทุ่นระเบิด

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังจะเอา “เรือเหล็ก” เข้าเทียบท่ารัฐสภาแห่งใหม่ หลังจากจะเริ่มมีการเปิดใช้ห้องประชุมบางส่วน

แต่ดูเหมือนการจะเอาเรือเทียบท่า หรือออกจากท่า ไม่ใช่เรื่องง่าย

ด้วยเพราะเริ่มมี “ทุ่นระเบิด” ปรากฏ และคงจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ จับสัญญาณจากการประชุมรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 25-26-27 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เส้นทางการเดินเรือของรัฐนาวาประยุทธ์ 2 ไม่ง่ายเลย

แม้นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะเป็นตัวแทนรัฐบาลออกมาปลุกปลอบใจคนในเรือลำเดียวกันว่า

การแถลงนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมา ในภาพรวมเป็นไปด้วยดี

พล.อ.ประยุทธ์ตอบข้อซักถามได้อย่างกระจ่าง ตรงประเด็น ไม่ต้องใช้สคริปต์

พล.อ.ประยุทธ์อาจจะแสดงอารมณ์โกรธระหว่างการแถลงนโยบาย แต่ต้องเข้าใจว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นอดีตนายทหารซึ่งมีความเข้มแข็ง

และมีความตั้งใจดีที่จะทำงานเพื่อรับใช้ประชาชน

การแถลงนโยบายทำให้เห็นแล้วว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีความเข้มแข็ง

จึงมั่นใจว่ารัฐบาลชุดนี้จะอยู่อย่างเข้มแข็ง

ครบเทอม

 

กระนั้น เมื่อไปดูปฏิกิริยาฝ่ายค้าน

โดยเฉพาะอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย

ได้สรุปภาพที่แตกต่าง

โดยชี้ว่า การอภิปรายนโยบายรัฐบาลทำให้ประชาชนมองเห็น

  1. การรัฐประหารที่ผ่านมามิใช่อุบัติเหตุ แต่เกิดจากการสมคบคิดและความจงใจ
  2. รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันร่างมาเพื่อการสืบทอดอำนาจ
  3. ส.ว.มีเพื่อให้การสืบทอดอำนาจสัมฤทธิผลและสิ้นเปลืองภาษีอากรของราษฎร
  4. องค์กรอิสระเป็นที่เสื่อมศรัทธาของประชาชน
  5. คุณสมบัติของผู้นำสืบทอดอำนาจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขัดรัฐธรรมนูญ แต่ยืนอยู่ด้วยการขาดหลักนิติธรรม

และ 6. ผู้นำสืบทอดอำนาจมีพฤติการณ์ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการถวายสัตย์ปฏิญาณตนที่ไม่สมบูรณ์แบบ และการแถลงนโยบายรัฐบาลที่อ่านแบบขอไปที

“ขณะนี้มีสิ่งบอกเหตุว่า เมื่อรัฐบาลสืบทอดอำนาจไม่มี ม.44 อยู่ในมือก็ใกล้หมดอายุขัยเสียแล้ว” พล.ท.ภราดรกล่าว

 

จะเห็นว่าระหว่างนายพุทธิพงษ์กับ พล.ท.ภราดร มีจุดยืนกันคนละขั้ว

ขั้วหนึ่งเชื่อว่า รัฐนาวาจะอยู่ครบเทอม

ขั้วหนึ่งเชื่อว่า สัญญาณการนับถอยหลังกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว

ซึ่งขั้วหลังนี้ได้เริ่มตั้งแต่วันแถลงนโยบาย

โดยเฉพาะการสืบทอดอำนาจ ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อภิปรายในรัฐสภาด้วยการย้อนอดีต 22 พฤษภาคม 2557 ถึงคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ตอนยึดอำนาจว่า “ผมเตรียมการเรื่องนี้มา 3 ปีกว่าแล้ว”

คำถามมีว่า การเตรียมการกว่า 3 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ในทางเป็นจริงคืออะไร

มีการ “วางแผนล่วงหน้า” ที่จะยึดอำนาจใช่หรือไม่

มีการตอบโต้จาก พล.อ.ประยุทธ์อย่างมีอารมณ์ว่า ที่เตรียมการ 3 เดือนหมายถึงการเตรียมความพร้อมกำลังพล เพื่อรับมือสถานการณ์ความวุ่นวายที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้น

มิได้หมายถึงการวางแผนยึดอำนาจ

 

แต่กระนั้น หากย้อนกลับไปอ่านคำพูดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 ในงานเลี้ยงอาหารค่ำ “กินข้าวกับลุงกำนัน” ณ ตึกแปซิฟิกคลับ กทม.

นายสุเทพได้เปิดเผยข้อมูลอันสำคัญไว้ว่า

“ผมวางแผนล้มระบอบทักษิณร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่ปี 2553 ตอนที่ผมยังเป็นรองนายกฯ เมื่อผมเป็นแกนนำ กปปส.ก็ติดต่อกันทางไลน์ตลอดเวลา ในการวางแผนกำจัดรัฐบาลยิ่งลักษณ์”

ซึ่งคำพูดนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า การรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม มิใช่เพราะอุบัติเหตุหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยประเทศ

หากแต่มีการ “วางแผนล่วงหน้า”

นั่นจึงทำให้สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธในรัฐสภา ไม่จบ

และได้บานปลายไปสู่วิวาทะปรี๊ดแตก “ตัดพี่ตัดน้อง” ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่ปักใจเรื่อง “การปฏิวัติ”

โดยเมื่อปฏิวัติสำเร็จแล้ว ยังมีการวางแผนสืบทอดอำนาจต่อไป

ซึ่งนำมาสู่ข้อกล่าวหาของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ว่า มีชาวบ้านให้ข้อมูลมีการโกงเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม และมีการแย่งชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอย่างหน้า “ด้านๆ” โดยอาศัยองค์กรอิสระ

อันสอดคล้องกับข้อสรุปของ พล.ท.ภราดรข้างต้น

แต่นั่นดูเหมือนจะไม่ได้รับการเห็นพ้องจาก พล.อ.ประยุทธ์อย่างแรง

ถึงขนาดระเบิดอารมณ์ในการประชุมรัฐสภา ตัดพี่ตัดน้องกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ พร้อมกับเดินออกจากที่ประชุมอย่างหัวเสีย

อันนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในและนอกสภา ถึงภาวะความเป็นผู้นำตามระบอบประชาธิปไตย ที่ควรจะอดกลั้นมากกว่านี้หรือไม่

ซึ่งประเด็นนี้มีผู้แสดงความห่วงใยก่อนหน้านี้แล้ว

และที่สุดก็เป็นจริง เพียงแต่หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์พยายามควบคุมอารมณ์กลับเข้ามาร่วมประชุมจนลุล่วงไปได้

แต่กระนั้นเชื่อว่าสะเก็ดแผลนี้คงจะถูกสะกิดให้เจ็บแสบต่อไปอย่างแน่นอน

 

แน่นอน เหมือนกับคุณสมบัติของผู้นำสืบทอดอำนาจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขัดรัฐธรรมนูญ ที่ถูกกล่าวหายืนอยู่ด้วยการขาดหลักนิติธรรม จะต้องถูกตามตอแยต่อไป

ทั้งในช่วงอภิปรายงบประมาณ และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

โดยต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังถูกตรวจสอบในประเด็นการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่

เช่นเดียวกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังถูกตั้งข้อสงสัยในการหลุดคดีปล่อยกู้เงินให้กับกฤษดามหานคร

ซึ่งทั้ง 2 เรื่องคงยังไม่จบลงง่ายๆ อาจจะลากยาวเป็นทุ่นระเบิดการเมืองไปจนถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจเลยก็ได้

เช่นเดียวกับเรื่องนโยบายรัฐบาล ซึ่งแม้จะผ่านไปแล้วแต่ก็ยังไม่ยุติลงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

สิ่งที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ประทับตราบาป 3 ประการให้ ก็คือสิ่งที่จะต้องถูกขุดคุ้ยเปิดโปงต่อไป

นั่นคือนโยบายรัฐบาล มีลักษณะ

  1. เลื่อนลอย เอาทุกเรื่องจับเรียงกันมา กระจัดกระจาย ประกอบด้วยคำใหญ่โต ไม่มีรูปธรรม แต่ไม่ได้ระบุวิธีการทำ
  2. โลเล ไม่แน่ใจว่าต้องการอะไรกันแน่ เช่น จะเร่งคืนพื้นที่ผืนป่า แต่จะจัดการให้ประชาชนอยู่ร่วมกับป่าได้ ดูเป็นคนละทิศทาง ส่วนเรื่องการเกษตร จะประกันรายได้หรือจะประกันราคากันแน่ ดูขัดแย้งกันเอง
  3. หลอกลวง การเลือกตั้งที่ผ่านมามีการหาเสียงเรื่องค่าแรง สวัสดิการ และเรื่องอื่นๆ แต่กลับไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในนโยบายรัฐบาล อาทิ ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท ปริญญาตรีเงินเดือน 2 หมื่นบาท อาชีวะ 18,000 บาท ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เป็นต้น

ซึ่งหากเวลาผ่านไปแล้วการกระทำของรัฐบาลเข้าลักษณะทั้ง 3 ประการ เป็นไปอย่างข้อกล่าวหา

นี่ก็จะเป็นทุ่นระเบิดอีก 3 ทุ่นที่วางไว้

 

นอกจากนี้ นายปิยบุตรยังวางทุ่นระเบิดไว้อีกทุ่น ซึ่งก็คือ ข้อสังเกตข้อที่ 6 ของ พล.ท.ภราดรที่ตั้งข้อสังเกตไว้

นั่นคือ 6. ผู้นำสืบทอดอำนาจมีพฤติการณ์ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ อย่างเรื่องของการถวายสัตย์ปฏิญาณตนที่ไม่สมบูรณ์แบบ

ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ทั้งนี้ นายปิยบุตรได้ตั้งข้อสงสัยว่า พล.อ.ประยุทธ์และคณะรัฐมนตรี กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ไม่ครบถ้วน

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ได้นำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161

ซึ่งมาตราดังกล่าวระบุว่าคำปฏิญาณต้องจบด้วยประโยคสุดท้ายที่ว่า

“ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

แต่เมื่อตรวจสอบจากคลิปข่าวในพระราชสำนักแล้ว พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้พูดประโยคนี้

โดยกล่าวจบเพียงว่า “จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนตลอดไป”

นายปิยบุตรชี้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับความสมบูรณ์ในทางรัฐธรรมนูญ

เป็นเรื่องใหญ่

เพราะการกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นหน้าที่ของบรรดาองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่จำเป็นต้องทำก่อนการเข้ารับหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ผู้พิพากษา องคมนตรี

ดังนั้น ขั้นตอนการถวายสัตย์ปฏิญาณถือเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนปฏิบัติหน้าที่ ถ้าไม่มีเรื่องนี้ก็ไปต่อไม่ได้

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถูกประธานที่ประชุมคือนายชวน หลีกภัย ชิงตัดบทให้ไปตรวจสอบคลิปข่าวกันเอง

แต่เรื่องก็ดูจะไม่จบ เพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์ “นอกสภา” อย่างกว้างขวาง

อาทิ นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล คนพรรคเดียวกับประธานรัฐสภา ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

  1. คำถวายสัตย์ปฏิญาณต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน รธน.ทุกถ้อยคำ หากใช้ถ้อยคำหรือวลีใดผิดไป ถือว่าผิด รธน.

2.หาก นรม.นำ ครม.กล่าวคำถวายสัตย์โดยผิด รธน. จึงเท่ากับยังไม่ได้ถวายสัตย์

  1. รัฐบาลยังไม่ได้ถวายสัตย์จึงยังไม่สามารถเข้าแถลงนโยบาย เหมือนที่ พล.ต.อ.เสรีวิศุทธ์พยายามยกขึ้นต่อสู้ในสภา ศาล รธน.น่าจะชี้ขาดเรื่องนี้หากมีผู้ยกขึ้นร้อง

นี่ย่อมเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่อาจจะกลายเป็นทุ่นระเบิดการเมืองอีกทุ่นหนึ่ง ที่รอรัฐนาวาประยุทธ์ 2 อยู่

 

จากที่ยกมาข้างต้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น-ต่อเนื่อง-และสืบทอด มาจากการประชุมรัฐสภาเพียง 1 นัด

ก่อให้เกิดประเด็นทางการเมืองที่อาจขยายใหญ่เป็น “ปมร้อนทางการเมือง” ได้ตลอดเวลา

เปรียบประหนึ่งทุ่นระเบิดที่ถูกวางไว้มากมาย

นี่ยังไม่รวมปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นสมทบอีก ทั้งเฉพาะหน้าและที่ไม่คาดฝัน

จึงท้าทายฝีมือของกัปตันเรือลำนี้ยิ่งนัก ว่าจะนำพาผู้โดยสารฟันฝ่าไปได้หรือไม่

ในสภาพเรือที่ปริ่มน้ำ และถูกคาดหมายในทางร้ายว่าอาจเกิด “สนิม” จากเนื้อในรัฐนาวาเองอีก

การปลุกขวัญ รัฐนาวาจะลอยลำได้ 4 ปี จะมีคนเชื่ออีกนานเท่าใด

เมื่อท้องน้ำข้างหน้า เต็มไปด้วยทุ่นระเบิด