รัฐทหารแปลงรูป & รัฐบาลทหารแปลงร่าง | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ระบอบพันทางมีทางเลือกสองประการคือ พวกเขาจะต้องดูแลกองทัพเป็นอย่างดี และจะต้องมั่นใจว่ากองทัพจะไม่เป็นทหารอาชีพ เพื่อโค่นล้มรัฐบาล [เผด็จการ]”

Paul W. Zagorski

Comparative Politics (2009)

ในที่สุดแล้วผลการเลือกตั้งของประเทศไทยก็นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ซึ่งรัฐบาลใหม่ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ผิดจากความคาดหมายแต่ประการใด ที่ผู้นำจากการรัฐประหารได้กลับขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

แต่ครั้งนี้ผู้นำทหารไทยสามารถพาตัวเองขึ้นสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้ง และสร้างภาพว่ารัฐบาลทหารไทยมีความชอบธรรมในตัวเองด้วยเสียงของประชาชน

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลเลือกตั้งใหม่อาศัยกระบวนการเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารเป็นเครื่องมือในการ “แปลงร่าง” จากรัฐบาลทหารเดิมมาเป็น “รัฐบาลทหารเลือกตั้ง”

หรือโดยนัยทางทฤษฎีก็คือ การกำเนิดของ “ระบอบอำนาจนิยมจากการเลือกตั้ง” (electoral authoritarianism) ของการเมืองไทยปัจจุบัน

การกำเนิดของรัฐบาลทหารในรูปแบบ “ระบอบกึ่งอำนาจนิยม” ในการเมืองไทยเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่าสนในทางทฤษฎี เพราะการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 กลายเป็นช่องทางของการอยู่ต่อในอำนาจของรัฐบาลเดิม

การเลือกตั้งไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านแต่อย่างใด เนื่องจากความต่อเนื่องของรัฐบาลอำนาจนิยมไม่สามารถเกิดขึ้นได้เองโดยอัตโนมัติ และจำเป็นต้องสร้างความชอบธรรมรองรับ

หรือที่วิชาเปลี่ยนผ่านวิทยากล่าวถึงการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเผด็จการว่า “continuity is not automatic”

การแปลงร่างของรัฐบาลทหารเช่นนี้ ยังมีผลทำให้เกิดความพยายามในการแปลงรูปรัฐทหารของไทยอีกด้วย ซึ่งการแปลงในสองส่วนนี้เป็นผลจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่

1)การสนับสนุนของกองทัพ

รัฐบาลเผด็จการทั่วโลกไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดยปราศจากการสนับสนุนของกองทัพ รวมถึงหน่วยงานความมั่นคง เช่น ในระบอบอำนาจนิยมมีการใช้ตำรวจลับและหน่วยงานทหารที่ทำหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงภายในเป็นเครื่องมือในการกวาดล้างจับกุมผู้เห็นต่าง

กำลังที่รัฐบาลใช้ไม่ว่าจะอยู่ในแบบของตำรวจ ทหาร หรือเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจะถูกสร้างความชอบธรรมว่า เจ้าหน้าที่เหล่านี้ทำภารกิจด้วยข้ออ้างว่าเป็นการ “รักษาความมั่นคงภายใน”

ซึ่งข้ออ้างเรื่องความมั่นคงภายในนั้น แทบจะเป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลเผด็จการทั่วโลกใช้ในการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม

ในช่วงที่รัฐบาลทหารพยายามที่จะสร้างภาพให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านนั้น ประเด็นการใช้อำนาจของรัฐด้านความมั่นคงถือได้ว่าเกินมาตรฐานของระบอบประชาธิปไตย

และการใช้อำนาจเช่นนี้เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของบรรดาผู้นำทหาร ตำรวจ และหน่วยงานความมั่นคง

ซึ่งความร่วมมือเช่นนี้คือการสร้าง “พันธมิตรทางการเมือง” ระหว่างผู้นำเผด็จการเดิมกับบรรดาผู้คุมอำนาจในโครงสร้างกำลังของรัฐ

การกระทำดังกล่าวจะเป็นหลักประกันว่า รัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งจะยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มผู้นำเดิม

และการเลือกตั้งจะไม่นำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มรูป แต่จะเป็นเพียงการเดินทางสู่ “พื้นที่สีเทา”

ซึ่งการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งมีนาคม 2562 อยู่ในสภาวะเช่นนี้อย่างชัดเจน

2)การสนับสนุนของสถาบันตุลาการ

ระบอบกึ่งเผด็จการในหลายประเทศมีความคล้ายคลึงกันที่มีฐานสนับสนุนจากฝ่ายตุลาการ

ซึ่งในบางกรณีอำนาจของสถาบันนี้ในทางการเมืองมีลักษณะเป็น “ตุลาการธิปไตย” (Juristocracy) หรืออีกนัยหนึ่งคือการขยายบทบาททางการเมืองของสถาบันตุลาการ อันอาจถูกตีความว่าเป็นการแทรกแซงทางการเมืองของสถาบันตุลาการ (ไม่ใช่ในแบบของ “ตุลาการภิวัฒน์” ที่เป็นการใช้อำนาจของสถาบันตุลาการในการปกป้องเสรีภาพของประชาชน)

รัฐบาลอนุรักษนิยมไทยนับจากรัฐประหาร 2549 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลทหารหลังปี 2557 เป็นต้นมา พึ่งพาบทบาทของสถาบันตุลาการในความเป็นตุลาการธิปไตยอย่างมาก

ซึ่งการใช้อำนาจในลักษณะเช่นนี้ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี

เพราะการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามนั้น เกิดจากการใช้อำนาจทางกฎหมายของฝ่ายตุลาการ ไม่ใช่การใช้อำนาจของรัฐบาลทหารโดยตรง

3)การใช้อำนาจขององค์กรอิสระ

ประเด็นนี้มีความสืบเนื่องกับบทบาทของฝ่ายตุลาการ เพราะองค์กรอิสระในระบบการเมืองไทยมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ จนเสมือนเป็น “ผู้กุมอำนาจอธิปไตย” อีกแบบ

ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น

องค์กรเหล่านี้มีบทบาทอย่างมาก และในหลายกรณีมีอำนาจ “ชี้ขาด” จนกลายเป็นการกำหนดทิศทางการเมืองไทย

และในขณะเดียวกันก็มีอำนาจในการปกป้องอำนาจรัฐเดิม เท่าๆ กับที่มีอำนาจในการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไม่แตกต่างจากกลไกของฝ่ายตุลาการ

อำนาจเช่นนี้จึงเป็นกลไกสำคัญอีกประการในการสร้างระบอบกึ่งเผด็จการไทยปัจจุบัน

4)การออกแบบรัฐธรรมนูญและกติกาการเมือง

ตัวแบบจากละตินอเมริกาชี้ให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลเผด็จการที่จะสืบต่ออำนาจหลังจากการเลือกตั้ง หนึ่งในวิธีที่ผู้นำทหารในภูมิภาคดังกล่าวใช้เป็นเครื่องมือก็คือ การออกแบบ “รัฐธรรมนูญของฝ่ายบริหาร” ที่เอื้อให้รัฐบาลมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญอย่างมาก (constitutional executive power)

ในกรณีของไทยนอกจากจะออกแบบรัฐธรรมนูญแล้ว ระบอบเดิมยังออกแบบกฎหมายลูกให้เอื้อต่อฝ่ายรัฐบาลทหารอย่างมาก ซึ่งการออกแบบเช่นนี้ก็คือการปูทางสู่การมีระบอบกึ่งเผด็จการ และยังใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายระบบพรรคการเมืองอีกด้วย

เช่น การสร้างให้เกิดระบบแบบหลายพรรค อันจะนำไปสู่การจัดตั้ง “รัฐบาลผสม” ด้วยการดึงพรรคเล็กให้เป็นฐานของรัฐบาลทหารที่มาจากเลือกตั้ง

และการมีรัฐบาลผสมจะทำให้การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ และจำเป็นต้องพึ่งพาอำนาจของผู้นำทหาร

5)การจัดตั้งพรรคของระบอบเดิม

ในทุกระบอบพันทาง รัฐบาลสืบทอดอำนาจจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองเป็นของตนเอง และการสร้าง “พรรคที่สนับสนุนระบอบเดิม” (pro-regime parties) จะเป็นหนทางของการระดมความสนับสนุนจากประชาชน และสร้างภาพของการแข่งขันเช่นในแบบประชาธิปไตย

ดังนั้น รัฐบาลทหารไทยในการเลือกตั้งในปี 2562 มีพรรคการเมืองเป็นของตัว (ต่างจากระบอบกึ่งประชาธิปไตยในยุค พล.อ.เปรม) และยังมีพรรครองที่คอยสนับสนุนตนเองอีกด้วย

พรรคเหล่านี้จะทำหน้าที่ในการปกป้องตัวผู้นำ และเพื่อแสดงให้เห็นว่า การอยู่ต่อในอำนาจนั้น เป็นผลมาจากการเลือกตั้ง

ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่เสรีบางส่วนและไม่เป็นธรรม

6)การควบคุมสื่อ

แม้ว่าระบอบการปกครองแบบพันทางจะไม่สามารถควบคุมสื่อได้มากเท่ากับระบอบอำนาจนิยมเต็มรูป

แต่ก็จะต้องมีความสามารถในการควบคุมสื่อให้ได้ในระดับหนึ่ง

การควบคุมเช่นนี้ทำให้รัฐทหารเดิมใช้ในการโฆษณาตนเอง และขณะเดียวกันก็ใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงข้ามอีกด้วย

ในอีกด้าน การควบคุมสื่อเกิดในบริบทของการเซ็นเซอร์ข่าว เพราะรัฐบาลเดิมอาศัยอำนาจพิเศษที่มาจากการรัฐประหาร จึงเอื้อให้รัฐบาลควบคุมการไหลของข่าวสารในสังคมได้โดยตรง

และยังควบคุมไม่ให้สื่อของฝ่ายตรงข้ามนำเสนอเนื้อหาที่กระทบต่อสถานะของรัฐบาลอีกด้วย

ในขณะเดียวกันการเป็นรัฐบาลทำให้มีความได้เปรียบโดยตรงในการโฆษณาทางการเมือง เช่น รัฐบาลทหารสามารถทำรายการต่างๆ ในสื่อด้วยอำนาจพิเศษที่มี แต่ไม่อนุญาตให้ผู้เห็นต่างสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออกในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะอยู่ในสื่อ หรือเป็นการแสดงออกทางตรง

ซึ่งก็เป็นคุณลักษณะที่ชัดเจนของรัฐบาลทหารที่ไม่อนุญาตให้มีเสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression) และเสรีภาพของสื่อมวลชน (freedom of press)

7)การควบคุมประชาสังคม

รัฐบาลในระบอบกึ่งเผด็จการนั้น มักจะเผชิญกับแรงต่อต้านที่สำคัญจากสมาคมวิชาชีพหรือจากสมาคมของภาคประชาสังคม

ดังนั้น การจะทำให้รัฐบาลในระบอบอยู่ได้จำเป็นต้องสร้างอำนาจในการควบคุมทางสังคม ซึ่งในด้านหนึ่งนั้นอำนาจเช่นนี้เกิดจากการควบคุมสื่อในประเทศ เพื่อทำให้สังคมอยู่ในสภาพเหมือนถูก “ปิดหู-ปิดตา” และความรับรู้ของสังคมที่มีเกิดจากการสร้างข่าวสารของฝ่ายรัฐ

ซึ่งก็คือการใช้การโฆษณาชวนเชื่อ หรือในภาษาเดิมคือ “ปฏิบัติการจิตวิทยา” (ปจว.) เป็นเครื่องมือของการควบคุมทางสังคม

แม้ในปัจจุบันจะมีคำเรียกใหม่ว่า “ปฏิบัติการข่าวสาร” (หรือที่ชอบเรียกกันว่า IO) แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ปฏิบัติการนี้คือการทำให้เกิด “ความเชื่องทางการเมือง” คือทำให้คนในสังคมยอมรับระบอบเดิม และไม่นำไปสู่การต่อต้าน ซึ่งก็คือการอาศัยงาน ปจว. เป็นเครื่องมือควบคุมความขัดแย้ง และทำให้เกิดความสงบทางการเมือง

ในอีกด้านคือการทำให้กลุ่มต่างๆ ในสังคมยอมรับต่อการคงอยู่ของระบอบเดิมคือ การอาศัยการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างภาพให้เห็นว่าระบอบกึ่งเผด็จการที่เกิดหลังจากการเลือกตั้งนั้น เป็นผลจากการตัดสินใจของประชาชน

การสร้างภาพเช่นนี้จะช่วยลดแรงต่อต้านทั้งจากภายนอกและภายใน

อีกทั้งการเลือกตั้งจึงเป็นดัง “เปิดวาล์ว” ลดแรงกดดันทางการเมือง และทั้งยังเปิดโอกาสให้มีการแสดงออก หรือเปิดโอกาสให้เกิดการใช้เสรีภาพในการรวมกลุ่ม (freedom of association) ได้ในบางระดับ

แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียงภาพลวงตา เพราะรัฐบาลเดิมยังคงอำนาจพิเศษไว้ในมือ หรือเป็นดังการเปิดวาล์วเพียงบางส่วนไม่ใช่เปิดหมด

8)การสร้างความหวาดกลัว

ระบอบเผด็จการทุกแบบอาศัย “การสร้างความกลัว” เป็นเครื่องมือสำคัญของการอยู่ในอำนาจ การปราบปรามและการจับกุมจึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น และรัฐบาลมักจะมีข้ออ้างเสมอว่า พวกเขาจำเป็นต้องกระทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพเพื่อรักษาความสงบในสังคม ทุกรัฐบาลอำนาจนิยมจึงมี “สินค้าการเมือง” ที่ต้องการเสนอขายให้สังคมไม่แตกต่างกันคือ “ความสงบเรียบร้อย”

และที่สำคัญรัฐบาลเช่นนี้พยายามแสดงให้เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยจะนำไปสู่ความขัดแย้ง และการมีรัฐบาลกึ่งเผด็จการจะเป็นเครื่องมือในการสร้างความสงบ หรือในบางกรณีอาจจะรวมถึงความมั่นคงอีกด้วย

การสร้างให้สังคมกลัวว่าจะไม่มีความสงบในอนาคต จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการมีอำนาจต่อของระบอบเดิม หรือการสร้างให้กลัวความแตกแยกภายในสังคม

หรือกลัวภัยคุกคามและความรุนแรงก็มีผลในทำนองเดียวกัน

9)การควบคุมระบบการเลือกตั้ง

ในระบอบประชาธิปไตยมีกติกาสำคัญที่จะต้องตัดสิน 5 ประการคือ

1) ใครคือผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง

2) ใครคือผู้มีสิทธิ์ลงแข่งขันทางการเมือง

3) พรรคการเมืองจะจัดตั้งและลงทะเบียนอย่างไร

4) การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะดำเนินการอย่างไร/จะแบ่งเขตอย่างไร

และ 5) เสียงจากผู้ใช้สิทธิ์จะถูกแปลงเป็นจำนวนที่นั่งในรัฐสภาอย่างไร

ดังนั้น รัฐบาลเผด็จการที่จะลงสนามเลือกตั้ง จึงพยายามสร้างความได้เปรียบจากกติกาดังกล่าวให้ได้มากที่สุด เช่น การแบ่งเขตที่เอื้อประโยชน์ให้แก่รัฐบาล การนับคะแนนที่รัฐบาลได้เปรียบ (โดยมีผู้ควบคุมการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือ) หรือการใช้อำนาจทางกฎหมายที่รัฐบาลทหารสร้างขึ้นในการทำลายพรรคฝ่ายค้าน

แต่ขณะเดียวกันพรรครัฐบาลจะไม่ถูกลงโทษ หรือถูกเอาผิดใดๆ ตลอดรวมถึงการใช้อำนาจรัฐสนับสนุนพรรครัฐบาล

ดังนั้น การสร้างอำนาจในการควบคุมระบบการเลือกตั้งจึงเป็นปัจจัยสำคัญของระบอบพันทาง

10)สร้างกลไกพิเศษหลังการเลือกตั้ง

รัฐบาลเผด็จการทุกที่พยายามอย่างยิ่งที่จะสร้าง “กลไกพิเศษ” รองรับต่อการอยู่ในอำนาจต่อ ในกรณีของรัฐบาลไทยปัจจุบัน เห็นได้ชัดจากกลไกดังนี้

1) การออกแบบให้วุฒิสมาชิก 250 คนมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อประกันว่าผู้นำรัฐบาลทหารเดิมจะอยู่ในอำนาจหลังเลือกตั้ง

2) การบังคับใช้ยุทธศาสตร์ 20 ปีให้รัฐบาลในอนาคตต้องดำเนินการตามกรอบของรัฐบาลทหารเดิม

3) การยกสถานะของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ให้เข้ามาเป็นผู้ดูแลความมั่นคงภายในทั้งหมดหลังการเลือกตั้ง

และ 4) การคงอำนาจพิเศษของรัฐบาลทหารไว้จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีใหม่ กลไกเหล่านี้เอื้อต่อการเกิดของเผด็จการรูปแบบใหม่

ปัจจัยทั้ง 10 ประการที่นำเสนอในข้างต้นคือ พลังที่ทำให้รัฐบาลทหารแปลงร่างเป็น “ระบอบกึ่งเผด็จการ” และขณะเดียวกันก็ทำให้ระบอบทหารแปลงรูปอยู่กับระบบเลือกตั้งเป็น “ระบอบกึ่งทหาร” เช่นกัน

และนี่คือระบอบพันทางไทยที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 2562!