หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/ ‘ภาพลวงตา’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือดาว - เสือดาวเลือกวิธีการล่าเหยื่อโดยการซุ่มรอ เช่นเดียวกับเสือโคร่ง

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ภาพลวงตา’

เมื่อมีโอกาสพบเจอทำความรู้จักสัตว์ป่ามากขึ้น

มีสิ่งหนึ่งที่ผมต้องยอมรับกับตัวเอง คือ หลายๆ ครั้งที่พบสัตว์ป่า ได้เห็นกิริยาท่าทางพวกมัน

สิ่งที่สัตว์ป่ากำลังแสดงให้เห็น

บางทีมันก็เป็น “ภาพลวงตา”

 

เช่น จู่ๆ ไก่ป่าก็วิ่งพรวดพราดออกมา ส่งเสียงลั่น ดิ้น กระพือปีก เดินเซไปเซมา และออกห่างไปจากบริเวณนั้น เหมือนจะบาดเจ็บ

ไม่ใช่หรอก มันกำลังล่อหลอกเราให้ไปจากที่นั่น

อาจเพราะมีไข่ หรือลูกเล็กๆ อยู่

หรือขณะเดินไปตามด่าน ได้ยินเสียงคำรามจากเสือ

นี่คล้ายเป็นการ “ลวง” แบบหนึ่ง เสือได้กลิ่นคน มันร้องเตือนขู่คำราม

บางทีเพื่อปกปิดความหวาดหวั่นที่อยู่ข้างใน

 

มีเหตุการณ์ที่ผมจำได้แม่นยำและพูดถึงบ่อย ครั้งหนึ่งผมวิ่งไล่ตามเสือดาวตัวหนึ่งที่กำลังวิ่งไล่ตามลิงแสมไปตามหาดทรายริมห้วย มีระดับน้ำไหลรินๆ หาดขยายกว้าง

เสือดาวเข้าถึงตัวลิง มันคาบที่คอลิง เดินย้อนกลับมา

เราเผชิญหน้ากัน

เสือดาวปล่อยลิง และหลบเข้าไปในดงพง ผมก็ทำเช่นนั้นด้วย ถอยมาหลบในดงพงอีกฝั่ง

ลิงแสมบาดเจ็บ นอนนิ่ง มีเพียงส่วนหัวขยับไป-มา

เสือดาวส่งเสียงคำรามขู่ ผมมองสายตาลิง ไม่ใช่เป็นแววตาของสัตว์บาดเจ็บ สิ้นหวัง

แต่คล้ายเป็นแววตาที่ยอมรับชะตากรรม

 

กว่าครึ่งชั่วโมงต่อมา เสือดาวออกมาเอาเหยื่อของมัน คาบลิงลากเข้าไปในด่าน

มันมองผมด้วยแววตาแข็งกร้าว

เสือดาวทำงานเสร็จไปอีกหนึ่งครั้ง ผมมีโอกาสได้เห็นการทำงานของมัน

นั่นไม่ใช่ภาพลวงตา

แต่ที่ “ลวงตา” คนส่วนใหญ่ คือ หน้าที่ของเสือ ซึ่งคนเห็นเป็นความดุร้าย อันตราย

 

ผ่านเวลาแห่งการทำงานมานาน

อุปกรณ์หลายอย่างเปลี่ยนไป แต่สิ่งซึ่งไม่เปลี่ยนเลยคือ เหล่าสัตว์ป่า ที่ยังมีโอกาสได้ใช้ชีวิตไปตามวิถีอย่างที่ควรจะเป็น

มีสิ่งที่พวกมันยึดมั่นอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

คนไม่ใช่ “พวก” เดียวกับมัน

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก สัตว์ป่าส่วนใหญ่พบเจอคนในด้านที่เป็นอันตราย และความรู้สึกนี้ได้รับการถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น

ในสภาวะปกติ เพียงแค่ได้กลิ่นกาย หรือสัมผัสได้ว่ามีคนอยู่ในบริเวณนั้น

พวกมันจะตื่นหนี ไม่มีสัตว์ตัวใดอยากอยู่ใกล้ๆ

ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ผู้ล่า หรือสัตว์กินพืช

มีขนาดร่างกายใหญ่โต หรือตัวเล็กๆ

 

พวกมันออกมาปะทะ หรือรุกรานคน เพราะถูกรุกไล่แหล่งอาศัยกระทั่งจนมุม ไม่ใช่วิถีปกติของพวกมัน

และหลายครั้งที่พวกมันเข้าปะทะ

พวกมันไม่ได้เลือกว่าเป็นใคร

 

ในช่วงเวลาที่ร่วมงานกับโครงการศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่ง ในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ

นั่นคือโอกาสดีของชีวิต

ได้ใกล้ชิดเสือถึงขนาดโอบกอด สูดดมกลิ่น

ภารกิจหนึ่งของโครงการคือ จับเสือเพื่อสวมปลอกคอติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุ

ข้อมูลที่ได้ ทำให้การศึกษาเรื่องเสือโคร่งทำได้ละเอียดและลึกมากขึ้น

และข้อมูลนั้น นำมาสู่การจัดการพื้นที่อันเป็นแหล่งอาศัยของเหล่าสัตว์ป่าอย่างได้ผล

 

ขณะเสือสลบ เพราะฤทธิ์ยา

คนมีโอกาสอยู่ใกล้ๆ มัน ผมมีรูปในช่วงเวลาเหล่านี้

เสร็จงานกลับถึงสถานี ผมเปิดดูรูป ผมนั่งยิ้ม มือซ้ายวางบนตัวเสือโคร่ง

แน่นอน เมื่อมันฟื้น เหตุการณ์จะเป็นอีกแบบหนึ่ง

ผมดูรูปนั้น และลบทิ้งไป

ด้วยเหตุผลเดียว

ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเก็บรูปซึ่งเป็นเพียง “ภาพลวงตา”

เหล่านั้นไว้…