สุจิตต์ วงษ์เทศ / ผีขวัญเทวดา ลัทธิเทวราช

ศิวลึงค์เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของเทวราช โดยปกติตั้งบนฐานโยนีในครรภคฤหะของเทวาลัยประจำชุมชนสำคัญในอาณาจักรกัมพูชา (ภาพนี้เป็นศิวลึงค์ขนาดสูงยาวที่สุดในไทย พบในเมืองศรีมโหสถ ปัจจุบันตั้งยู่ในอาคารโถง หน้าวัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ผีขวัญเทวดา

ลัทธิเทวราช

ลัทธิเทวราช มีต้นตอจากการประสมกลมกลืนของผีขวัญและเทวดา (ผีขวัญ หมายถึง ขวัญของคนตาย) ผมเรียบเรียงโดยสรุปไว้ในเรื่องโขน มีกำเนิดจากการเมืองเรื่องลัทธิเทวราชฯ [เอกสารประกอบบรรยายให้สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอยุธยา (มีนาคม 2561) และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (เมษายน 2562)]

นักวิชาการเคยบอกต่อๆ กันนานแล้วว่า นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนบทความวิชาการเป็นภาษาอังกฤษเรื่องเทวราช ผมขอให้นักวิชาการเหล่านั้นช่วยแปล หรือสรุปสาระสำคัญก็ได้มาสู่กันอ่านบ้าง เพราะอยากอ่านและอยากตามทันความรู้เรื่องนี้ แต่ตัวเองไม่มีกึ๋นภาษาอังกฤษ

ทุกคนส่ายหน้า แล้วตอบอย่างเดียวกันว่าอ่านยาก เข้าใจยาก ไม่กล้าแปลเป็นไทย ผมเลยโง่ต่อไป

เมื่อวันอาสาฬห-เข้าพรรษาที่ผ่านมา (16-17 กรกฎาคม 2562) ผมส่งเอกสารที่เขียนไว้เรื่องลัทธิเทวราชเพื่อขอคำชี้แนะจากธเนศ อาภรณ์สุวรรณ จึงได้รับความเห็นและความรู้เพิ่มเติมว่าราว พ.ศ.2518 ไปเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วได้สำเนาต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่องเทวราช ที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียน (สมัยนั้นไม่พูดถึงความเชื่อเรื่องขวัญ) และมอบให้อ่านประกอบการสอน เมื่อ พ.ศ.2519

ด้วยความกรุณาของธเนศ อาภรณ์สุวรรณ แปลบทสรุปจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยให้อ่านตามที่ร้องขอ ผมอิ่มอกอิ่มใจมาก เลยขอเอามาแบ่งปันผู้ต้องการอ่านด้วย ดังนี้

 

ลัทธิเทวราช ของนิธิ เอียวศรีวงศ์

 

“ลัทธิเทวราชกับสถาบันกษัตริย์ในอังกอร์” โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ บทความนี้ต้องการตอบคําถามที่นักวิชาการมานุษยวิทยาได้เสนอประเด็นและมีข้อถกเถียงถึงว่าลัทธิเทวราชในเขมรคืออะไร? มีความหมายอย่างไร? เช่น

ปิแอร์ ดูปองต์ มองว่าลัทธินี้เป็นเสมือนลัทธิบูชาบุคคลที่ปฏิบัติกันมาในอาณาจักรกัมพูชาโบราณแล้วขยายต่อมากับพิธีทําให้ผู้ปกครองเป็นเทวะ ดังนั้น ลัทธินี้ไม่ใช่แค่เป็นลัทธิธรรมเนียม หากแต่เป็นรูปแบบหนึ่งของระบบกษัตริย์หรือภาวะการเป็นกษัตริย์

ยอร์ช เซเดส์ คิดว่าลัทธิเทวราชเป็น “เครื่องยึดโยงระหว่างกษัตริย์กับเทวะ” ทําพิธีผ่านลึงค์ของพระศิวะซึ่งบรรจุแกนของความเป็นกษัตริย์ไว้ พิธีนี้ทําให้กษัตริย์กลายเป็นเทวราช การที่ชัยวรมันที่ 2 สถาปนาลัทธิเทวราช เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นอิสระจากจักรพรรดิราชแห่งชวา (ที่อ้างว่าตัวเองเป็นจักรพรรดิราช) ชัยวรมันที่ 2 อ้างว่าพิธีเทวราชก็ใช้หลักจักรวาทินเหมือนกัน ดังนั้น พระองค์ก็เป็นจักรพรรดิราชด้วยเช่นกัน

นักวิชาการบางคนเสนอว่าอํานาจกษัตริย์เขมรไม่สากลจริง อํานาจชัยวรมันที่ 2 ลดลง แต่ โอ. ดับเบิลยู. วอลเตอร์ บอกว่ามี ไม่ลด เชื่อว่ามีหลักจักรวาทินในลัทธิเทวราช ตามจารึกสด๊กก๊อกธม

เอียน แบเบ็ตต์ เสนอว่าลัทธิเทวราชเป็น “ภาษาทางสังคม” สะท้อนความคิดสําคัญในสังคมเขมรสมัยนั้น ว่าเป็นแนวคิดที่ใช้ทั้งกับชนชั้นนําและราษฎร คือทั้งเจ้ากับข้าต่างใช้ลัทธิเทวราชด้วยกัน แต่นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิจารณ์ว่านักวิชาการก็ไม่อธิบายให้เห็นว่ากระบวนการดังกล่าวกระทํากันอย่างไร?

นี่จึงเป็นคําถามที่บทความนิธิ เอียวศรีวงศ์ ต้องการตอบ

คําตอบที่ให้คือชนชั้นนํากับราษฎรมีความคิดร่วมกันในเรื่องผีบรรพบุรุษ การอาศัยลัทธิเทวราชกษัตริย์สามารถเรียกหาความร่วมมือจากชาวบ้านได้ ดังนั้นเทวราชจึงเป็น “อุดมการณ์ร่วม”

ประเด็นต่อไปคือการค้นหาว่าแล้วเอาอะไรเป็นฐานรองรับลัทธิเทวราชนี้?

คําตอบมาจาก 1) ความคิดเรื่องความอุดมสมบูรณ์ ความงอกเงย เช่น ต้นไม้ และ 2) ความคิดเรื่องบรรพบุรุษ แสดงออกในพิธีศพ

หลักฐานอาศัยจากบาหลีที่มีพิธีทั้งความอุดมสมบูรณ์กับผีบรรพบุรุษ

เรื่องผีบรรพบุรุษอาศัยหลักฐานจากจารึกในท้องถิ่นที่มีการระบุถึงชื่อของเทวะ เดาว่าเป็นผีพื้นบ้าน แต่สะกดแบบบาลีสันสกฤต เช่นที่วัดภู สมัยชัยวรมันที่ 2 มีเทพชื่อ Vrah Thkval เดาว่าเป็นเทพหรือผีท้องถิ่น

ดังนั้น กระบวนการทําให้เป็นอินเดียของยอร์ช เซเดส์ นับแต่แรกก็มีการผสมปนเปกับผีพื้นบ้านมาโดยตลอด

ความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษคือเป็นแหล่งที่มาของ “อํานาจแห่งชีวิต” ที่จะสร้างความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงแก่ชุมชนและคนทั้งหลายได้

คติบรรพบุรุษนี้ทําให้มองว่ากษัตริย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่เทวราช หากแต่เป็นผู้นําพาและถ่ายทอดอํานาจแห่งชีวิตนั้นให้แก่คนอื่นๆ ต่อไป

ในจารึกเขมร ไม่ตอกย้ำการให้กษัตริย์ควบคุมตนเองและการมีสมดุลในการเสพสุข (กาม) (หมายความว่าในเมื่อยังเป็นภาวะของมนุษย์อยู่ การเรียกร้องให้ควบคุมกิเลสก็เป็นเรื่องเกินจริงไป คือเรียกไปก็ทําไม่ได้ ปล่อยไปดีกว่า)

พิธีกรรมบูชาผีบรรพบุรุษ แสดงว่ากษัตริย์ปล่อยวางภาระในโลกนี้ลงไป จะได้ไปสู่ดินแดนของบรรพบุรุษ และสื่อสารกับลูกหลานผ่านลัทธิเทวราชต่อไป

บทความพูดถึง “วิญญาณ” (soul) เมื่อตายไป ว่าจะไปสู่เขาพระสุเมรุ ปราสาทที่ใช้ในพิธีศพเจ้า จึงหมายถึงยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ที่วิญญาณจะไปสิงสถิตต่อไป

สรุป แนวคิดบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นที่มาของอํานาจแห่งชีวิต คติสถาบันกษัตรย์ที่เป็นเจ้าเหนือเทวะทั้งหลาย นําไปสู่การเกิดลัทธิเทวราช สมัยชัยวรมันที่ 2 ความคิดว่ากษัตริย์เขมรมีความสัมพันธ์พิเศษกับลัทธิเทวราชดํารงต่อมา ในบรรดาสิ่งที่ให้ความชอบธรรมแก่กษัตริย์ในการปกครองที่เด่นชัดที่สุด คือคติว่าผู้เชื่อมโยงระหว่างแหล่งของอํานาจชีวิตกับชุมชนคือกษัตริย์ ซึ่งสร้างระบบชลประทานและให้สันติและความยุติธรรมผ่านระบบรัฐบาล คตินี้ราษฎรส่วนมากรับได้ และแสดงออกผ่านตํานานเรื่องกษัตริย์ต้องไปสมสู่กับนางนาคซึ่งเป็นเจ้าเหนืออาณาจักรทุกๆ คืนเพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์แก่อาณาจักร

[ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เก็บความโดยสรุปจาก “The Devaraja Cult and Khmer Kingship at Angkor” By Nidhi Aeusrivongse in Explorations in early Southeast Asian history : the origins of Southeast Asian statecraft. Ed. By Kenneth R. Hall and John K. Whitmore. Ann Arbor : Center for South and Southeast Asian Studies, university of Michigan, 1976. Pp. 107-148.]