จรัญ มะลูลีม : สหรัฐ-อิหร่าน จากอดีตถึงปัจจุบัน

จรัญ มะลูลีม

จากอดีตจนถึงปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าสหรัฐมีทั้งชัยชนะและความสูญเสียกับพันธมิตรที่ใกล้ชิดมาก่อนอย่างอิหร่าน

นับตั้งแต่ปี 1979 ที่มีการปฏิวัติโค่นชาฮ์ที่สนับสนุนสหรัฐเป็นต้นไป ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็เสื่อมทรามลงอย่างเห็นได้ชัด

ก่อนปี 1979 สหรัฐได้พัฒนาความสัมพันธ์อันชิดใกล้กับอิหร่าน ความสนใจของสหรัฐนั้นคาดหมายกันว่ามาจากการมีน้ำมันสำรองและความสำคัญทางภูมิยุทธศาสตร์ของอิหร่านในการถ่วงดุลกับอิทธิพลของโซเวียตในอาณาบริเวณอ่าวเปอร์เซียในระหว่างสงครามเย็น

นโยบายเอนเอียงเข้าสู่ตะวันตกของชาฮ์และการมีความสัมพันธ์กับสหรัฐทำให้ชาฮ์ต้องมาเป็นปรปักษ์กับฝ่ายอนุรักษนิยม นักอิสลามนิยม (Islamist) และกลุ่มก้อนของฝ่ายซ้าย (Leftist) ของอิหร่านในเวลานั้น

การอ่านสถานการณ์ผิดพลาด ทำให้ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีคาร์เตอร์ (Carter) ยังคงสนับสนุนชาฮ์ต่อไป ในขณะที่ความไม่พอใจของประชาชนและผู้หนุนการปฏิวัติมีจำนวนมากขึ้นทุกที

ในที่สุดก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเกิดขึ้นของการปฏิวัติปี 1979 ได้ และจบลงด้วยการจากไปของชาฮ์และการเข้าสู่อำนาจของนักอิสลามนิยม

นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐ-อิหร่านตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

 

ในความเป็นจริงการปฏิวัติและชะตากรรมของชาฮ์ต่างหากที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์แรกในสถานทูตสหรัฐในอิหร่าน เมื่อสถานทูตถูกโจมตีและเกิดการยึดเอาชาวอเมริกันเป็นตัวประกัน

ชาวอเมริกันที่ทำงานในสถานทูตสหรัฐ 52 คน ถูกกักบริเวณอยู่ยาวนานถึง 444 วัน เครื่องบินของสหรัฐที่หวังจะเข้ามาช่วยผู้ถูกกักบริเวณเหล่านี้ประสบความล้มเหลวและตกลงบนผืนแผ่นดินของอิหร่าน อย่างไรก็ดี กว่าวิกฤตตัวประกันชาวอเมริกันจะยุติลงได้ก็ล่วงเลยมาจนถึงเดือนมกราคมปี 1981

วิกฤตตัวประกันในอิหร่านทำให้สหรัฐต้องขายหน้าในดินแดนตะวันออกกลาง เหตุการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่การตัดความสัมพันธ์กับอิหร่านในที่สุด

ต่อมารัฐบาลของอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ก็ลดความสำคัญของสหรัฐลงเรื่อยๆ และเรียกสหรัฐว่าพญามาร (Great Satan)

นอกจากนี้ ชาวอิหร่านจำนวนนับแสนคนได้รับการสนับสนุนให้ออกมาตะโกนคำว่า “ความตายจงมีแด่อเมริกา” (Death to America) ในการละหมาดวันศุกร์ (Friday prayers) และการเดินขบวนที่สนับสนุนโดยรัฐ

ความเป็นหุ้นส่วนความสัมพันธ์ต่อกัน ซึ่งก่อนการปฏิวัติเป็นที่รับทราบกันเป็นอย่างดีว่าสหรัฐเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจและการทหารที่สำคัญที่สุดของอิหร่าน บัดนี้ความสัมพันธ์ดังกล่าวได้จบสิ้นลงแล้ว

สหรัฐยังคงเป็นประเทศที่แซงก์ชั่นอิหร่านมาอย่างเหนียวแน่น แม้ว่าจะมีการยกเลิกการแซงก์ชั่นไประยะหนึ่งในสมัยของโอบามาหลังจากมีข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างประเทศสมาชิกถาวรของสหประชาชาติ (Permanent 5) และประเทศเยอรมนีที่เรียกกันว่ากลุ่มประเทศ P5+1 ก็ตาม

การแซงก์ชั่นส่งผลทางการค้า อุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนาด้านการน้ำมันของอิหร่านอย่างไม่ต้องสงสัย แต่อิหร่านก็ประคองตัวมาได้ท่ามกลางความยากลำบากทางเศรษฐกิจ

บัดนี้แม้ว่าการต่อต้านอิหร่านได้ผ่านเลยมากว่า 40 ปีแล้ว แต่อิหร่านและสหรัฐก็ยังขัดแย้งกันมาตลอดในหลายๆ ประเด็น

 

ในสมัยของประธานาธิบดีเรแกน สหรัฐก็ไปยืนอยู่กับอิรักเพื่อต่อต้านรัฐบาลอิมาม โคมัยนีของอิหร่าน

การส่งเสริมอิรักให้รุกรานอิหร่านของสหรัฐนำไปสู่การแบ่งแยกระหว่างฝ่าย “โลกวิสัย” ซึ่งสนับสนุนโดยสหรัฐและการขึ้นมามีอำนาจของ “นักอิสลามนิยม” ที่ขยายไปทั่วภูมิภาคนำโดยอิหร่าน

สงครามอิรัก-อิหร่าน (1980-1988) จะเห็นการใช้อาวุธที่มาจากสหรัฐ และอาวุธเคมีที่อิรักนำมาใช้ในสงครามนี้

ในช่วงนี้เองได้ปรากฏขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ขึ้นในเลบานอน ซึ่งสนับสนุนโดยอิหร่าน ขบวนการนี้มีชื่อว่าฮิซบุลลอฮ์หรือฮิซบอลลอฮ์ในภาษาเปอร์เซีย หรือพรรคของพระเจ้า (Party of God) ซึ่งกลายเป็นกองกำลังเดียวของตะวันออกกลางที่เอาชนะอิสราเอลได้ถึง 2 ครั้ง 2 ครา

สำหรับสหรัฐการโจมตีใดๆ ต่อพันธมิตรของสหรัฐที่มาจากกองกำลังฮิซบุลลอฮ์จะถูกถือว่าเป็นการวางแผนโดยอิหร่าน

 

วิกฤตอิหร่าน-คอนทร้า (Iran-Contra) ถูกจับตามาที่ฝ่ายบริหารของเรแกน หลังจากมีการเปิดเผยว่ามีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งของสหรัฐขายอาวุธให้อิหร่านเพื่อเอาเงินจากการขายอาวุธดังกล่าวไปเป็นกองทุนช่วยเหลือฝ่ายกบฏคอนทราในนิการากัว

ในปี 1988 กองทัพสหรัฐยิงเครื่องบินอิหร่านตกโดยมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 290 คน อิหร่านกล่าวว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นความตั้งใจ แต่สหรัฐอ้างว่าเกิดจากความผิดพลาด

รัฐบาลในสมัยต่อๆ มาของสหรัฐมิได้ทำให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศดีขึ้นแม้แต่น้อย ท่ามกลางความหวังที่ว่าการเลือกตั้งในอิหร่านที่นำเอานักปฏิรูปอย่างเช่นประธานาธิบดีคอตามี (Khatami) เข้ามาสู่อำนาจในปี 1998 จะเปิดศักราชแห่งความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศขึ้นมาใหม่

ภายใต้ประธานาธิบดีคลินตัน (Clinton) มีความพยายามที่จะมีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน แต่ความพยายามดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงเมื่อสหรัฐได้ตั้งเงื่อนไขในการพูดคุยเพื่อการมีความสัมพันธ์ระหว่างกันไว้หลายประการ รวมทั้งจุดยืนของอิหร่านที่มีต่ออิสราเอล

การกล่าวหาว่าอิหร่านเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย รวมทั้งประเด็นเรื่องนิวเคลียร์ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

 

ความสัมพันธ์อิหร่าน-สหรัฐที่ร้าวฉานมากที่สุดอยู่ในสมัยของประธานาธิบดีคนต่อมาคือประธานาธิบดีบุช ซึ่งในวันที่ 29 มกราคม ปี 2002 บุชเรียกอิหร่าน อิรักและเกาหลีเหนือว่าเป็นสมาชิกที่เป็นแกนแห่งความชั่วร้าย (Axis of Evil) ซึ่งประเทศทั้งสามล้วนแต่คุกคามสหรัฐทั้งสิ้น

ภายใต้บุชและโอบามา แรงต้านต่อการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเป็นไปอย่างเข้มข้นและความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็ดูเหมือนจะร้าวฉานยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถึงเวลานี้สาธารณชนของสหรัฐได้หมดไฟไปแล้วที่จะเห็นการเข้าไปผจญภัยของสหรัฐในที่ใดๆ ของตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอิรักซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของอิหร่าน

ประธานาธิบดีของอิหร่าน มะห์มูด อะห์มะดีเนญอด (Mahmoud Ahmadenejad) ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของอิหร่านสองสมัย เริ่มจากปี 2005 และเขาก็เป็นผู้ที่ใช้เวทีสาธารณะและเวทีระหว่างประเทศต่อต้านสหรัฐและอิสราเอลอย่างถึงพริกถึงขิง

ปี 2006 สหรัฐเตือนว่าจะมีเหตุการณ์ตามมาหากว่าอิหร่านยังคงเพิ่มยูเรเนียมในโครงการนิวเคลียร์ของตน

บางคนในฝ่ายบริหารของบุช สนับสนุนให้สหรัฐใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อต้าน “รัฐอันธพาล” อันเป็นคำเรียกอิหร่านในเวลานั้น ซึ่งยังห่างไกลจากความเป็นจริง

การขึ้นมาสู่อำนาจของประธานาธิบดีโอบามาในเดือนมกราคมปี 2009 นำเอาความหวังมาสู่สองประเทศที่จะมีความสัมพันธ์ต่อกันและปลดปล่อยความขมขื่นที่มีต่อกันในอดีตที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศก็ยังเต็มไปด้วยความระแวงสงสัยต่อกัน นอกจากนี้การเข้าสู่ตำแหน่งอีกครั้งในปี 2009 ของประธานาธิบดีอะห์มะดีเนญอดก็เต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างดุเดือดระหว่างผู้สมัครด้วยกัน โดยสหรัฐถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนผู้ประท้วงที่ต่อต้านประธานาธิบดีอะห์มะดีเนญอด

 

หากกล่าวถึงสหรัฐ-อิหร่านจะพบว่าระบบการเมืองของทั้งสองประเทศมีความแตกต่างกันอย่างมาก

อิหร่านเป็นสาธารณรัฐอิสลาม มีผู้นำเป็นนักการศาสนา (theocratic elite) เป็นประเทศเดียวในศตวรรษที่ 21 ที่ปกครองโดยใช้หลักการศาสนาอิสลามอย่างเต็มรูปแบบ

ในอีกทางหนึ่งสหรัฐนั้นเป็นมหาอำนาจของโลก ซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยและตลาดเสรี

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศได้อำนาจมาจากการเลือกของประชาชนเหมือนๆ กัน

ความสัมพันธ์สหรัฐ-อิหร่านภายใต้ประธานาธิบดีโอบามา และอะห์มะดีเนญอดของอิหร่านหรือระหว่างโรฮานีกับทรัมป์นั้นดูเหมือนว่าช่วงเวลาส่วนใหญ่จะหมดไปกับความคลุมเครือและความสัมพันธ์ที่ยังดูห่างไกล แม้จะมีช่วงความสัมพันธ์ที่ดีในตอนปลายสมัยของโอบามาว่าด้วยข้อตกลงนิวเคลียร์อยู่บ้างก็ตาม

ประเด็นปัญหาในสมัยของผู้ปกครองแต่ละฝ่ายยังคงเป็นประเด็นว่าด้วยนิวเคลียร์และการเสริมสมรรถนะของยูเรเนียม

บทบาทของสหรัฐในภูมิภาคตะวันออกกลางในปัจจุบันมิได้มีเพียงความร้าวฉานกับอิหร่านที่กำลังมีบทบาทอยู่ทั้งในเยเมนอิรักและซีเรียเท่านั้น แต่สหรัฐจะต้องแสดงจุดยืนของตนให้เห็นในดินแดนตะวันออกกลางที่เป็นจุดยุทธศาสตร์อีกด้วยไม่ว่าจะเป็นอิรัก ตุรกี รวมทั้งรัฐในแถบอ่าวเปอร์เซียและการผลิตน้ำมัน

ทั้งนี้ ประเทศที่กำลังเฝ้าดูว่าสหรัฐจะดำเนินนโยบายกับอิหร่านต่อไปอย่างไรคืออิสราเอลพันธมิตรที่สหรัฐไม่อาจทอดทิ้งได้