วิรัตน์ แสงทองคำ : บทเรียนนักธุรกิจรุ่นใหม่

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ปัญหาเกี่ยวกับ “Dean & DeLuca” กับตึกสูงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย เชื่อว่าสะท้อนสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านสังคมไทย

เรื่องราวครึกโครมเริ่มต้นมาไกล มาจากสื่ออเมริกันผู้ทรงอิทธิพล เปิดฉากโดย The New York Times (10 กรกฎาคม 2562) “Dean & DeLuca Closes Stores as Debts Pile Up” (Dean & DeLuca ปิดสาขา เนื่องด้วยหนี้สินที่เพิ่มขึ้น) เมื่อตามมาด้วย Washington Post นำเสนอมุมมองที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับปัญหาร้านขายของชำระดับพรีเมี่ยม “The decline of Dean & DeLuca : Why premium grocers are biting the dust.”

เรื่องราวข้างต้น ถูกถ่ายทอดแทบจะพร้อมเพรียงกันโดยสื่อไทย ด้วยเกี่ยวข้องกลุ่มธุรกิจไทยโดยตรง

 

เรื่องของเรื่องเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อกิจการ Dean & Deluca เครือข่ายร้านอาหารและคาเฟ่ระดับพรีเมี่ยม สัญชาติอเมริกันในราคา 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 5 ปีแล้ว Dean & Deluca ในสหรัฐอเมริกาขาดทุนมาโดยตลอด จนล่าสุดเป็นข่าวใหญ่ในสื่ออเมริกันที่ว่า

The New York Times นำเสนอภาพไว้ค่อนข้างครอบคลุม Dean & DeLuca (ใน http://pacedev.com นิยามว่า “ธุรกิจไฟล์สไตล์รีเทลด้านอาหารและเครื่องดื่มกูร์เม่ต์”) ก่อตั้งเมื่อ 2520 โดย Giorgio DeLuca และ Joel Dean ที่ย่าน SOHO มหานครนิวยอร์ก อีก 37 ปีต่อมา ได้ตัดสินใจขายกิจการให้เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คิดเป็นเงินไทยราวๆ 4,550 ล้านบาท ขณะนั้น Dean & DeLuca มีสาขาประมาณ 40 สาขา

เมื่อปี 2560 ผู้บริหารเพซ ดีเวลลอปเมนท์ เคยให้สัมภาษณ์สื่อญี่ปุ่น Nikkei Asian Review ว่า การเข้าซื้อกิจการ Dean & DeLuca เพราะชื่อเสียงธุรกิจอาหารระดับพรีเมี่ยมที่มีมาอย่างยาวนาน เป็นสิ่งที่มั่นคง ตราบเท่าที่คุณไม่สร้างความเสียหายต่อแบรนด์

ขณะปัจจุบันยอมรับกับ The New York Times ว่าประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง นับตั้งแต่เข้าซื้อกิจการ จากปี 2014 ขาดทุน 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นมาเป็น 158 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน

ตอนซื้อกิจการ ผู้บริหารเพซ ดีเวลลอปเมนท์ เคยแถลงแผนการขยายกิจการจะให้มี 100 สาขาทั่วโลก แต่ไม่เป็นไปเช่นนั้น ล่าสุดได้ประกาศปิดสาขาในสหรัฐ รวมทั้งสาขาที่เพิ่งเปิดได้เพียง 3 เดือน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาค้างชำระกับซัพพลายเออร์ในสหรัฐอเมริกาหลายราย

 

“เราปิดแค่ 2 สาขาในอเมริกา แต่เป็นข่าวใหญ่ลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ มันทำให้เห็นว่าแบรนด์เป็นที่รู้จักดี ซึ่งเหมือนเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส…” ถ้อยแถลงผู้บริหารบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ต่อสื่อในประเทศไทย (18 กรกฎาคม 2562)

ทั้งเน้นว่า Dean & DeLuca มีปัญหาเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ พบรายงานที่น่าสนใจ “รายได้จากการดำเนินธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มกูร์เม่ต์ Dean & DeLuca จำนวน 2,477.7 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 22 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 ที่มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 3,173.8 ล้านบาท รายได้ที่ลดลงในปีนี้เป็นผลมาจากรายได้ที่ลดลงของ Dean & DeLuca ประเทศสหรัฐอเมริกา จากการทยอยปิดสาขาที่มีประสิทธิภาพในการทำกำไรน้อย 4 สาขาจากเดิม 10 สาขาในปี 2560” (รายงานประจำปี 2561 บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน))

“ผู้บริโภคอเมริกันซื้อสินค้าและอาหารทางออนไลน์มากขึ้นถึง 30% ส่งผลให้เครือข่ายค้าปลีกที่มีหน้าร้านต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ครั้งใหญ่” บทวิเคราะห์ผู้บริหารเพซ ดีเวลลอปเมนท์ สอดคล้องกับ Washington Post อ้างผู้เชี่ยวชาญที่บอกว่า “Dean & DeLuca (ซึ่งเขานิยามว่าเป็นผู้นำเสนออาหารประเภท ultra-premium fancy foods) สร้างชื่อเสียงมาจากสินค้าอย่าง aged balsamic vinegars และเกลือสีชมพูจากเทือกเขาหิมาลัยนั้น ปัจจุบันมีขายในออนไลน์แล้วทั้งสิ้น”

ภาพใหญ่อย่างมีนัยยะสำคัญกว่านั้น คือเรื่องราวบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เอง

 

“ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์ ธุรกิจไลฟ์สไตล์รีเทลด้านอาหารและเครื่องดื่มกูร์เม่ต์ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “Dean & DeLuca” ทั่วโลก โดยเป็นเจ้าของกิจการ Dean & DeLuca ทั้งหมดในสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย และเป็นเจ้าของ Dean & DeLuca รูปแบบคาเฟ่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการร่วมค้า (Joint Venture)” ภาพกว้างๆ ทางธุรกิจจากข้อมูลอย่างเป็นทางการ (จาก http://www.pacedev.com) มีบางภาพขยายที่น่าสนใจ

เพซ ดีเวลลอปเมนท์ฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2546

จากนั้นดำเนินการโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการ โดยเฉพาะศาลาแดง เรสซิเดนเซส และมหาสมุทร หัวหิน ก่อนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2556

จากนั้นมามีแผนการใหญ่ขึ้นอย่างมากทีเดียว ทั้งการเปิดตัวโครงการใหญ่กลางกรุงเทพฯ ตึกสูงที่สุดในประเทศไทย (ในเวลานั้น) พร้อมๆ กับซื้อ “ธุรกิจไลฟ์สไตล์รีเทลด้านอาหารและเครื่องดื่มกูร์เม่ต์ ภายใต้เครื่องหมายการค้า Dean & DeLuca ทั่วโลก”

เป็นช่วงเวลาอันตื่นเต้น จากดีล Dean & DeLuca ในปี 2557 อีก 2 ปีต่อมาโครงการ “มหานคร” ได้เปิดตัวขึ้น

“มหานคร โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ออกแบบโดยการหลอมรวมระหว่างสถาปัตยกรรมร่วมสมัย โดยโครงการนี้มีรูปแบบการใช้งานแบบผสมผสาน ซึ่งประกอบไปด้วยโรงแรม อาคารพักอาศัย และพื้นที่ไลฟ์สไตล์รีเทล ที่ตั้งโครงการ ติดถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร พื้นที่โครงการ 9 ไร่ 1 งาน 51.1 ตารางวา พื้นที่ขาย/เช่าประมาณ 47,725.44 ตารางเมตร ราคาขายเฉลี่ยประมาณ 303,996 บาทต่อตารางเมตร” ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2561 บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เรื่องราวข้างต้น The New York Times นำเสนอเชื่อมโยงไว้เช่นกันว่า ปัญหาเพซ ดีเวลลอปเมนท์ฯ ต่อเนื่องมาตั้งแต่การเปิดตัว “มหานคร” อาคารที่สูงที่สุดของประเทศไทย (ในปี 2560) มูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ในปีต่อมาได้ขายพื้นที่บางส่วนให้กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับ “มหานคร” นอกจากใช้ทีมงานระดับโลกออกแบบ ในนาม B?ro Ole Scheeren นำโดย Ole Scheeren สถาปนิกชาวเยอรมัน ผู้มีผลงานโครงการยักษ์ใหญ่ทั่วโลก รวมทั้งฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ เพิ่งก่อตั้งสำนักงานตนเอง เมื่อปี 2553 อยู่ที่ปักกิ่ง ฮ่องกงและกรุงเทพฯ

จากนั้นตามมาด้วยแผนการใหญ่ การสร้างแบรนด์ โดยเฉพาะการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยจอ LED พื้นที่ 1,000 ตารางเมตร สูงถึงชั้น 7 ออกแบบโดย Pentagram สำนักงานออกแบบระดับโลก ก่อตั้ง ณ สหราชอาณาจักร

 

เรื่องราวและความเป็นมาอย่างตื่นเต้น กรณี Dean & DeLuca กับตึกมหานคร มีความสัมพันธ์กับบทบาทผู้บริหารคนสำคัญ และผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 คน นั่นคือ โชติพล – สรพจน์ และ จุมพล เตชะไกรศรี สามพี่น้องอายุไล่เลี่ยกัน มีวัยเพียง 34-36 ปีเท่านั้น เมื่อเพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น เปิดฉากโครงการใหญ่และเตรียมตัวนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น

ความเป็นไปที่ว่า ย่อมมีแรงส่งสำคัญ ดังเช่นนักธุรกิจรุ่นใหม่ ผู้มาจากฐานธุรกิจครอบครัว ซึ่งสะสมความมั่งคั่งไว้ และดูเหมือนมีการวางแผนเส้นทางทายาทธุรกิจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

บริษัท ที.กรุงไทยอุตสาหกรรมจำกัด (มหาชน) (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ : TKT) ผู้ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกรถยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ในฐานะเป็นธุรกิจของครอบครัว โดยผู้ก่อตั้ง สุเมธ-ยุพา เตชะไกรศรี บิดา-มารดาของเขาทั้งสาม เริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี 2516 จากพนักงานเพียง 10 คน ต่อมาในช่วงทศวรรษปี 2530 ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์เติบโต TKT ขยายกิจการอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันมีโรงงาน 3 แห่งที่บางพลี กบินทร์บุรี และสุวินทวงศ์

กว่า TKT จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ล่วงมาปี 2547 ในช่วงเวลาทายาทจบการศึกษา ดูเหมือนเป็นไปตามเส้นทางที่วางไว้

บุตรทั้งสามล้วนผ่านการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ บางคนเจาะจงธุรกิจการเงิน ธุรกิจระหว่างประเทศ เชื่อว่ามีความสัมพันธ์ไม่มากก็น้อย กับมุมมองมาตรฐานของผู้บริหารรุ่นใหม่ มักมีจุดตั้งต้นที่ตลาดหุ้น

ว่าไปแล้ว ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ในช่วงเวลาเริ่มต้นของทายาท ในช่วงเวลาต้นๆ ของเพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น นั้น ไม่ราบรื่นนัก เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ถือว่าได้ผ่านยุครุ่งเรืองที่มีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายไปแล้ว

ว่ากันว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ปรับตัวไม่ทันถึง 30% ต้องปิดตัวลง ขณะที่ปริมาณการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยในช่วงก่อนหน้าหลายปีถือว่าไม่เติบโต และมีบางรายย้ายฐานการผลิตสู่ประเทศอื่นๆ

จะว่าเพซ ดีเวลลอปเมนท์ฯ เริ่มต้นแตกต่างจากธุรกิจครอบครัวดั้งเดิมเลยก็ไม่เชิง ด้วยครอบครัวเตชะไกรศรีมีประสบการณ์มาบ้างในฐานะผู้ถือหุ้นสำคัญของกิจการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีมานานและผ่านวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่มาได้–บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN (ก่อตั้งปี 2532 จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2537)

“ผู้ประกอบธุรกิจในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยมุ่งเน้น (Focus) การพัฒนาอาคารชุดพักอาศัยภายในเมือง ในราคาที่สามารถครอบครองได้ (Affordable Price) สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ในระดับกลางถึงกลาง-ล่าง เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก” ข้อสนเทศข้างต้นสะท้อนแนวทางธุรกิจที่แตกต่าง

เรื่องราว Dean & DeLuca กับตึกมหานคร มีความสัมพันธ์กับผู้บริหารรุ่นใหม่ เชื่อว่าเป็นไปตามกระแสสังคมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน เป็นชิ้นส่วนย่อยในภาพใหญ่ทั้งมวล กำลังขับเคลื่อนไหลไปข้างหน้า ท่ามกลางโอกาสที่พลิกผัน กับการมองโลกในแง่ดีที่แตกต่างและกว้างขึ้น ด้วยแบบแผน แผนการเชิงรุก ลองผิด ลองถูก แสวงหาประสบการณ์อันเข้มข้น กับเส้นทางและเวลาที่เชื่อว่าเหลืออีกมาก