สังคมไทยไม่ลืม “แพรวา 9 ศพ” ปรากฏ “แซงก์ชั่นทางออนไลน์” 9 ปีแห่งการรอคอยของเหยื่อ

กลับมาเป็นข่าวโด่งดังอีกครั้ง สำหรับคดีแพรวา หรือสาวซีวิคซิ่งชนรถตู้โดยสารบนทางยกระดับอุตราภิมุข ขาเข้าดอนเมือง ส่งผลมีผู้เสียชีวิต 9 ราย และบาดเจ็บอีก 5 รายเมื่อ 27 ธันวาคม 2553

ในส่วนอาญา ศาลได้มีคำพิพากษาที่สุดในชั้นอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี รอลงอาญาไว้ 4 ปี พร้อมสั่งทำงานบริการสังคม 48 ชั่วโมงต่อปีใน 3 ปี และห้ามขับรถยนต์จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์

แต่จำเลยยังไม่ยอมฎีกาต่อ ซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกาจำเลย ทำให้คดีสิ้นสุด

แต่คดีนี้ดังขึ้นมาอีก ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้ง 4 คน ซึ่งประกอบด้วย น.ส.แพรวา ที่เปลี่ยนชื่อหลายครั้ง บิดา มารดาและผู้เป็นเจ้าของรถ ร่วมกันชดใช้ผู้เสียหายเป็นเงินรวมกว่า 24 ล้านบาทตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

แต่จนบัดนี้ผู้เสียหายหลายรายยังไม่ได้รับการเยียวยาหรือติดต่อจากทางฝ่ายจำเลยทั้งที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นนานกว่า 9 ปีแล้ว

แม้บางรายถอดใจเจรจารับเงินค่าสินไหมที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ฟ้องไปก่อนที่คดีจะสิ้นสุดลงในชั้นฎีกา เพราะคดียาวนาน ไม่อยากยืดเยื้อ

“ติน” วรัญญู เกตุชู 1 ในเหยื่อผู้รอดชีวิตที่อยู่ในรถตู้วันนั้นเป็นผู้ออกมาจุดประเด็นเผยให้รู้ว่า ครอบครัว “แพรวา” ยังไม่ได้มีการเยียวยาเหยื่อเลย

ขณะนั้นเขาบาดเจ็บสาหัส ไหปลาร้าหัก 3 ท่อน เข่าซ้ายแตก แขนขวาหัก ต้องนอนรักษาตัวบนเตียงขยับไปไหนไม่ได้นานถึง 2 เดือน

และต้องฝึกเดินใหม่ ใช้เวลาอีก 3 ปีกว่าร่างกายจะกลับมาเป็นปกติ ได้ออกมาระบุอย่างเจ็บปวดว่า

“เขาไม่เคยจ่ายอะไรเลย ค่ารักษาพยาบาล 4-5 แสนบาท ประกันเป็นคนจ่ายทั้งหมด หลังออกจากโรงพยาบาล เราก็ต้องจ่ายเอง คดีถึงที่สุด ศาลแพ่งสั่งจ่ายเป็นเงินราว 4 แสนบาทพร้อมดอกเบี้ย จากที่เรียกไป 1 ล้านบาท หลังตัดสินยังไม่ได้รับการติดต่อจากคู่กรณี แม้จะล่วงเลยมากว่า 2 เดือนแล้ว และเชื่อว่าตลอด 9 ปีที่ผ่านมา คู่กรณีได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้คิดถึงความรับผิดชอบต่อผู้อื่น ที่ผ่านมาเจอแค่ครั้งเดียว นอกนั้นเป็นทนาย ในวันที่ไกล่เกลี่ยก่อนเปิดคำพิพากษาศาลฎีกา ทางทนายเขาต่อรองเราเหมือนกับเป็นผักปลา ยื่นข้อเสนอเยียวยาเงินครึ่งหนึ่งของที่ศาลสั่ง พร้อมกับบอกว่า ถ้ารับข้อเสนอนี้ไม่ได้คือ โอเคจบ ไปฟ้องล้มละลายหรือยึดทรัพย์เอากันอีกที ได้ไม่กี่บาท เราก็ไม่ต่ออะไรเลยเพราะเหนื่อยแล้ว แต่พอถึงวันที่ต้องจ่าย เขากลับไม่มาตามที่ตกลงเลย ตอนนี้ไม่ติดต่อมา ว่าเรายอมมามากพอแล้ว ก็ออกมาโพสต์ทวงคำสัญญา เพราะว่าถ้าอ้างไปถึงบรรพบุรุษมันน่าเกลียดถ้าไม่ทำตามที่พูด”

คุณแม่ถวิล เช้าเที่ยง อายุ 71 ปี แม่ของ ดร.ศาสตรา เช้าเที่ยง หรือ ดร.เป็ด นักวิทยาศาสตร์ประจำ สวทช. ที่เพิ่งจบการศึกษาปริญญาเอก 1 ในผู้เสียชีวิต ปัจจุบันแม้อายุมากแล้วยังต้องขายพวงมาลัยเลี้ยงชีพ บอกว่า ตั้งแต่เกิดเหตุ คู่กรณีแค่มาร่วมงานศพเพียงวันเดียว หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการติดต่ออีกเลย

“หลังศาลตัดสินเขาก็ยังเฉยๆ ฉันรู้สึกอึดอัดมาก เพราะอายุก็มากแล้ว คู่กรณีจะเอายังไงขอให้มาพูดคุยกันบ้างเพราะไม่ได้เรียกร้องมากมาย ตอนลูกกลับจากเมืองนอก จะให้เลิกทำงานแล้ว แต่ตอนนั้นยังทำไหวก็เลยทำ ไม่มีลูกแล้วก็ต้องทำมาหากินเลี้ยงตัวเองไป”

หลังจากคำสัมภาษณ์ของผู้เสียหายเหล่านี้ได้แพร่ออกไป ปรากฏการณ์คดี “แพรวา” ถูกจุดขึ้นอีกครั้ง มีการวิจารณ์สำนึกความรับผิดชอบ ลามไปถึงราชสกุล “เทพหัสดินฯ” ที่ทนายจำเลยเคยยกมาอ้างในชั้นก่อนเปิดคำพิพากษาศาลฎีกา

จนราชสกุลดังต้องออกหมายแจ้งแถลงข่าววอนให้หยุดพาดพิงบรรพบุรุษและราชสกุล พร้อมโชว์แคชเชียร์เช็ค 5 แสนบาท จะมอบให้เป็นทุนในการบังคับคดี

มีการมองว่าการแถลงของราชสกุลไม่ได้เป็นสาระสำคัญ และญาติเหยื่อยังออกมาปฏิเสธเงินดังกล่าว เนื่องจากคดีนี้อยู่ที่ “เเพรวา” และครอบครัวไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาทั้งที่ผ่านมาได้ยื้อสู้คดีมากว่า 9 ปี

แม้ภายหลัง นางลัดดาวัลย์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา มารดา น.ส.แพรวา จะออกมาเผยว่า พร้อมนำโฉนดที่ดินเนื้อที่ราว 21 ไร่ ที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท และที่หมู่บ้านเมืองทองธานี เนื้อที่ 300 ตารางวา มูลค่า 55 ล้านบาท ซึ่งเป็นชื่อของ พ.อ.รัฐชัย บิดาของ น.ส.แพรวา ประกาศขาย

แต่เรื่องนี้ต้องตระหนักว่าทรัพย์สินดังกล่าวยังไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ในทันที

โชคดีขณะนี้มีเศรษฐีใจบุญยอมทุ่มซื้อหวังให้นำเงินไปมอบให้ครอบครัวเหยื่อทั้ง 9 แล้ว

จึงเกิดคำถามกลับไปว่า แล้วที่ผ่านมา 9 ปี ผู้เสียหายในคดีนี้ใช้ความอดทนรอมานานแค่ไหนแล้ว

ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานออกตัวช่วยภายหลังที่เป็นข่าวโด่งดังว่าจะช่วยให้คำปรึกษาหรือดูในเรื่องธุรการของขั้นตอนการบังคับคดี แต่ความจริงส่วนนั้นเป็นแค่เรื่องในการเขียนคำร้อง

เพราะเรื่องที่ยากที่สุดของการบังคับคดีคือเรื่อง “การสืบทรัพย์” เนื่องจากการได้ข้อมูลทางการเงินของจำเลยทั้งปัจจุบันและอดีต ในทางปฏิบัติแล้วไม่ง่ายเลย ไม่ใช่ว่าเดินเข้าไปขอแล้วจะได้ออกมาเลย ตรงนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนรับปากช่วย?

แม้กฎหมายยังมีมาตรการ ตาม ป.วิ.พ. ม.277 ที่จะยื่นคำขอเพื่อให้ศาลไต่สวน ซึ่งถ้าศาลเห็นสมควร จะสามารถออกหมายเรียกลูกหนี้ ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่จะให้ถ้อยคำเป็นประโยชน์ เพื่อทำการไต่สวนในเรื่องทรัพย์สินของลูกหนี้

ซึ่งในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่า ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบัญชี เอกสาร ฯลฯ อันเกี่ยวกับทรัพย์สินอยู่ในสถานที่บุคคลอื่นครอบครองอยู่ เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นเพื่อขอให้ศาลออกหมายค้นสถานที่ ตาม ป.วิ.พ. ม.283 และตาม ป.วิ.พ. ม.282 ให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดี

1. ค้นสถานที่และตรวจสอบและยึดบัญชี เอกสาร จดหมาย หรือวัตถุอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้ตามคำพิพากษามาเพื่อตรวจสอบ

2. เปิดสถานที่รวมทั้งตู้นิรภัย ตู้ หรือที่เก็บของอื่นๆ ได้ ในกรณีที่มีเหตุเชื่อว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ในสถานที่ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาครอบครองหรือครอบครองร่วมกับผู้อื่นได้ด้วย

และตามกฎหมายแล้ว กรณีนี้หากพบว่าจำเลยที่ถือเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเจตนาเลี่ยงไม่ชำระหนี้ ในทางอาญาสามารถเอาผิดฐานโกงเจ้าหนี้ได้ ส่วนทางแพ่งก็มีกระบวนการในการติดตามเพื่อฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนได้

ถึงแม้หลายฝ่ายจะมีคำถามว่า ที่ “แพรวา” และครอบครัวต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบครั้งนี้ เพราะการแซงก์ชั่นสังคมโซเชียลหรือไม่ แต่ต่างอนุโมทนา ขอให้ญาติของเหยื่อได้รับการเยียวยาจากการกระทำของ “แพรวา” ให้เรียบร้อยเสียที