นิ้วกลม : ความหวานที่หายไป

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

กิจวัตรประจำวันทุกเช้าตั้งแต่เริ่มแตกเนื้อหนุ่มคือการนั่งลงจิบกาแฟ อาจคล้ายโกวเล้งกับสุรา ผมไม่ได้ชื่นชอบรสชาติกาแฟมากเท่าบรรยากาศแห่งการดื่ม ผมไม่รู้จักชนิดและสายพันธุ์ของกาแฟอย่างลึกซึ้ง แต่ผมรู้ว่าตัวเองชอบให้เครื่องดื่มชนิดนี้โลมไล้ลิ้น จูบกระเพาะ และกระโดดเตะจมูก

กาแฟสร้างพื้นที่ชนิดหนึ่งขึ้นมาด้วยองค์ประกอบหลายอย่างของมัน เพียงเดินผ่านร้านกาแฟ เราย่อมสัมผัสได้ถึงอาณาบริเวณแห่งกาแฟที่แผ่ลามออกมาขีดวงบริเวณจางๆ ถึงข้างนอกร้าน

กลิ่นกาแฟคล้ายมือล่องหนที่กวักเรียกให้เราเข้าไปหย่อนก้น พักขา คลายเครียดจากความเร่งรีบไปถึงจุดหมายซึ่งเราชาชินอยู่ตลอดเวลา

กลิ่นกาแฟสร้างพื้นที่ล่องหนแต่สัมผัสได้ขึ้นมา มันสร้างบรรยากาศที่แตกต่างไปจากพื้นที่ทั่วไปที่ไร้กลิ่นยั่วยวน หรือกระทั่งกลิ่นยั่วยวนชนิดอื่น

ความหอมของกาแฟไม่เหมือนน้ำหอม มันไม่สดใสเหมือนวัยรุ่นหรือกุหลาบแรกแย้ม หากกลับสุขุม สงบนิ่ง เข้มข้น และไม่ยี่หระกับความสนใจของเรา อยากเดินเข้ามาก็เชิญ ไม่อยากเดินเข้ามาก็ไม่ได้แคร์

กาแฟเป็นกลิ่นที่นิ่ง โชกโชน ไม่ผาดโผน ทว่า มีเสน่ห์ลึก

 

นอกจากนั้นแล้ว ด้วยความขมและความร้อนของกาแฟ ทำให้เราไม่รีบร้อนกับการซดดื่ม ค่อยๆ จิบ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ อ่านหนังสือ ค่อยๆ สานบทสนทนา (แน่นอนว่า ผมไม่ได้นับกาแฟเย็น ซึ่งมีไว้ดื่มเล่นมากกว่าจะทำหน้าที่กาแฟที่แท้จริง)

จึงไม่แปลกที่ “พื้นที่กาแฟ” มักเป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยน ทั้งความคิด ความรู้สึก รับฟัง โต้ตอบ เรียนรู้ และก่อร่างความคิดใหม่ๆ หลายความคิดพลิกโลกก็เกิดขึ้นในร้านกาแฟ บ้างร่ำลือว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสก็เริ่มต้นจากวงสนทนาในร้านกาแฟกลางกรุงปารีสนี่เอง

สำหรับผมแล้ว “พื้นที่กาแฟ” คือพื้นที่ของแม่ ป๊า และผม ในยามเช้าของทุกวัน

หากเลือกได้ผมพยายามรักษาเวลาช่วงเช้านี้ไว้ นัดหมายผู้คนหลังจากสิบโมงเช้า เพื่อจะได้นั่งดื่มกาแฟกับป๊าแม่แล้วอัพเดตชีวิตของกันและกัน

ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผม-ผู้ออกจากบ้านมากกว่า-ที่จะมีเรื่องมาเล่าให้ทั้งสองท่านฟังอยู่เสมอ

บรรยากาศดีๆ ของบ้านเราเกิดขึ้นเหนือแก้วกาแฟ

สำหรับผมแล้ว พื้นที่และช่วงเวลานี้คือปั๊มน้ำมันที่มีไว้แวะเติมกำลังใจ และเป็นสถานที่บอกเล่าความทุกข์ใจที่คลุ้งวนอยู่ในสมอง ในภาวะปกติ การจิบกาแฟกับป๊าแม่คือการเติมพลังให้เต็มถังก่อนออกไปลุยในโลกกว้าง ในภาวะติดลบ ช่วงเวลากาแฟก็เหมือนการชำระล้างจิตใจให้สดใสจะได้ไม่ออกจากบ้านไปด้วยความหม่นหมอง

ผมจึงมิได้ดื่มแค่กาแฟ แต่ยังได้ดื่มความสัมพันธ์ของผู้คนในครอบครัวไปพร้อมกันด้วย

 

เครื่องดื่มของเราสามคนแปรเปลี่ยนไปตามวันเวลา

แต่ก่อนตอนเด็กๆ ผมจะเป็นคนเดียวที่ดื่มไมโล-โอวัลติน ขณะที่ป๊ากับแม่ดื่มกาแฟที่ชงครบสูตร นั่นคือกาแฟ-ครีมเทียม-นมข้นหวาน

พอโตขึ้นหน่อย ผมอาจเริ่มคุ้นชินกับรสขม จึงมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่พวกเราสามคนดื่มกาแฟสูตรเดียวกัน

แม่เป็นคนชงด้วยส่วนผสมมาตรฐาน กาแฟของเราจึงมีรสชาติราวกับกำลังจิบแก้วเดียวกันยังไงยังงั้น

แต่มาถึงวันหนึ่งไม่นานมานี้ เครื่องดื่มในแก้วของเราสามคนก็เข้าสู่ช่วงเวลาที่ไม่เหมือนกันเลย

ป๊าต้องดื่มกาแฟปราศจากน้ำตาล และต่อมาก็ลดครีมเทียมด้วย เพราะป้องกันโรคเบาหวานจะแวะเวียนมาทักทาย

ส่วนแม่เลิกดื่มกาแฟ หันมาดื่มนมเสริมแคลเซียมที่หมอแนะนำ เพื่อบำรุงกระดูกที่บางและเปราะไปตามเวลา

ผมเองก็ค่อยๆ เปลี่ยนส่วนผสมในถ้วยกาแฟ จากสามส่วนผสมหลักนั้น ค่อยๆ ลดลงทีละส่วนที่มีรสหวาน เริ่มจากลดน้ำตาลหรือนมข้นหวานลงเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่นานนี้ผมก็ชินกับการดื่มกาแฟที่ไม่มีรสหวาน กระทั่งเปลี่ยนเป็นชอบ และรังเกียจรสหวานไปเสียได้

ถึงตอนนี้ผมขยับมาสู่การดื่มที่ปราศจากน้ำตาลและครีมเทียม กลายเป็นกาแฟดำเพียวๆ ซึ่งกลับกลายเป็นว่า ผม (ในวัยนี้) ชอบรสชาตินี้มากที่สุด

ผมค้นพบอะไรบางอย่างจากความเปลี่ยนแปลงของกาแฟ แน่นอน ผมเริ่มลดความหวานเพราะต้องการดูแลสุขภาพ คนอายุเกินสามสิบปีเริ่มอ้วนง่าย และคงมีผู้ชายน้อยคนที่จะลูบพุงตัวเองเล่นอย่างเอ็นดู

จำได้ว่าเมื่อนานมาแล้ว เคยนั่งดื่มอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่งกับพี่จุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง พนักงานนำกาแฟมาเสิร์ฟ พี่จุ้ยฉีกซองน้ำตาลแล้วเทออกมาแค่ครึ่งเดียว แกแนะนำผมว่า อะไรที่เราชอบมาก เราอาจจะเลิกเลยไม่ได้ แต่ไม่เป็นไร ถ้ายังเลิกไม่ได้ก็ใช้วิธีค่อยๆ ลดปริมาณลง แล้ววันหนึ่งเราจะค่อยๆ ปรับตัวให้เข้ากับปริมาณใหม่จนเคยชิน

อะไรที่เราชอบ ใช่ว่าจะดีเสมอไป

เวลาเปลี่ยน ความดีงามก็เปลี่ยน

ความหวานซึ่งเป็นที่โปรดปรานในวัยหนุ่มอาจไม่ส่งผลดีนักในวัยหนุ่มที่เหลือน้อยลง ผมค่อยๆ ลดปริมาณความหวานในกาแฟ กระทั่งเลิกขาด แต่ไม่หวานไม่ได้แปลว่าไม่อร่อย ความอร่อยที่เราเคยตั้งไว้ก็แปรเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงของนิสัย ร่างกาย และจิตใจเรา ซึ่งสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น

“ความอร่อย” หรือ “รสชาติที่โปรดปราน” ไม่ได้หยุดนิ่งเป็นความจริงนิรันดร์ เราเปลี่ยนแปลงมันได้ และมันก็เปลี่ยนแปลงเราไปพร้อมกัน

เมื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่ม กระทั่งกลายมาเป็นนิสัย รสหวานที่เคยโปรดปรานกลับกลายเป็นรสชาติที่ไม่ถูกคอ รสขมที่เคยหลับตาปี๋กลับกลายเป็นของดีที่ถูกใจ

บางทีชีวิตก็เป็นเช่นนี้ ค่อยๆ เปลี่ยนกระทั่งหมดจด และไม่กลับไปชื่นชอบสิ่งเดิมได้อีกเลย

 

ระหว่างทางของการเปลี่ยนแปลง ผมสังเกตว่าตัวเองใช้เวลากับการเลิกน้ำตาลนานกว่าครีมเทียมมาก อาจจะใช่ เราเสพติดความหวานมากกว่าความมัน หรือความหวานมีอานุภาพรุนแรงกว่า นั่นก็จริง

แต่จากที่ลองสังเกตลิ้นตัวเอง ผมได้ข้อสรุปว่า เหตุผลที่ทำให้ผมเลิกใส่ครีมเทียมลงไปในกาแฟหลังจากเลิกน้ำตาลอย่างหมดจดไม่นานนัก เป็นเพราะความอร่อยที่เปลี่ยนไปเมื่อส่วนผสมเปลี่ยนแปลง

ครีมเทียมไม่ได้อร่อยเหมือนเดิม เมื่อไม่มีน้ำตาลอยู่ในถ้วยกาแฟ

ความมันไม่จำเป็นนัก เมื่อไม่มีรสหวาน

ผมบอกกับแม่ว่า “แปลกดีที่พอไม่ใส่น้ำตาลแล้วก็ไม่รู้สึกว่าครีมเทียมที่ใส่ลงไปมันช่วยให้อร่อย” แม่บอกกับผมว่า “ใช่ เพราะทั้งสามส่วนผสมช่วยกัน มันจึงกลมกล่อม” เมื่อขาดไปอย่างหนึ่งแล้ว อีกอย่างหนึ่งก็รสชาติ (ของการผสม) ก็ต่างไปจากเดิม เราจึงไม่รู้สึกว่ามันอร่อยดังเดิม

สุดท้าย กาแฟยามเช้าของผมทุกวันนี้จึงเหลือเพียงกาแฟหนึ่งช้อนพูนราดรดด้วยน้ำร้อนเกือบเต็มถ้วย

ขม ไม่หวาน ไม่มัน

ผมคิดว่าส่วนผสมในชีวิตของคนเรานั้นปรับเปลี่ยนตลอดเวลา แรกๆ เราอาจไม่ชินกับความเปลี่ยนแปลงนั้น แต่ในแต่ละจังหวะชีวิตเราต่างมีเงื่อนไขให้ต้องปรับตัวปรับใจ สร้างนิสัยใหม่ ก่อเกิดความเคยชินใหม่ นำไปสู่ชีวิตในรูปแบบใหม่ และความอร่อยใหม่ๆ

รสชาติที่เราเคยชอบ วันหนึ่งอาจไม่ชอบ หรือจำใจต้องเปลี่ยนแปลงทั้งที่ยังชอบอยู่ กระนั้นชีวิตก็ยุติธรรมพอ และมนุษย์ก็ยืดหยุ่นพอที่จะได้พบว่า รสชาติที่เราเคยไม่ชอบ วันหนึ่งกลับกลายเป็นรสที่โปรดปรานสำราญลิ้น

ผมมองตัวเอง แม่ และป๊า แล้วนึกถึงส่วนผสมในถ้วยกาแฟ

พื้นที่กาแฟและห้วงเวลากาแฟที่พวกเรามีกันมาเนิ่นนาน เมื่อถึงวันหนึ่งก็คงต้องปรับเปลี่ยนส่วนผสมกันไป

ยังมีความอร่อยในแบบอื่นเมื่อส่วนผสมไม่เหมือนเดิม

การเปลี่ยนแปลงมีรสขม แต่รสขมใช่ว่าจะไม่อร่อย