‘นารีขี่ม้าขาว’ คำทำนายวิกฤติการเมืองไทย ที่เคลือบด้วยสีสันสดใสราวลูกกวาด

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้เราขอนำเสนอเกี่ยวกับนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจที่เรามีโอกาสได้ไปดูมา

เป็นนิทรรศการแสดงเดี่ยวของยุรี เกนสาคู ศิลปินหญิงรุ่นใหม่ที่มีความโดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ทั้งในประเทศไทยและในระดับสากล

ด้วยผลงานสีสันสดใสที่มีกลิ่นอายและลักษณะคล้ายการ์ตูนและงานกราฟิก ผสมกับศิลปะในสไตล์เหนือจริงอันเปี่ยมจินตนาการ

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า นารีขี่ม้าขาว The Lady on a White Horse

ที่มีลอรีดาน่า พาซซินี่ – พาราคเซียนี่ (Loredana Pazzini-Paracciani) เป็นภัณฑารักษ์ ผู้ร่วมดูแลคัดสรรผลงานในนิทรรศการครั้งนี้

 

ถึงผลงานในนิทรรศการนี้จะมีสีสันสดใสน่ารักหวานแหวว ทำให้ผู้ชมทั่วไปดูได้อย่างเพลิดเพลินเจริญใจ สบายตา

แต่เมื่อเข้าไปสำรวจถึงความหมายลึกๆ ของมันแล้ว ผลงานเหล่านี้กลับแฝงถึงประเด็นทางการเมืองที่หนักหน่วงเข้มข้นอย่างยิ่ง

เริ่มกันตั้งแต่ชื่อของนิทรรศการเลย

“ชื่อนิทรรศการ นารีขี่ม้าขาว มาจากคำทำนายที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ เวลาที่ทุกครั้งที่มีแนวโน้มว่าจะมีผู้หญิงมาเป็นผู้นำช่วยประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤต ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่สมัยก่อนหน้าแล้วก็มีมาอีกเรื่อยๆ จนถึงล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ เราก็รู้สึกว่าทำไมคำทำนายนี้กลับมาอีกแล้ว เราก็เลยไปหาที่มาว่าคำทำนายนี้มาจากไหน”

“ปรากฏว่ามีหลายที่มา หลากความเชื่อมาก บ้างก็บอกว่ามาจากหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ เราสืบค้นพบว่าวัดที่หลวงพ่อเคยอยู่ เขาบอกว่าหลวงพ่อไม่ได้เขียนคำทำนายนี้ขึ้นมา บ้างก็บอกว่ามีที่มาจากตั้งแต่สมัยอยุธยา ไปๆ มาๆ ก็ไม่มีใครรู้ว่าต้นกำเนิดของคำทำนายนี้มาจากไหน เมื่อไหร่ ยังไง”

“แต่เรามองว่าคนมักจะเลือกเชื่อในสิ่งที่เราอยากจะเชื่อ ทั้งที่เราไม่รู้ว่ามันจริงไหม มันมีที่มายังไง เราไม่ได้ศึกษาว่าความเชื่อเหล่านี้มาจากไหน และงานหลายๆ ชิ้นในนิทรรศการนี้ก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อและความหวังต่างๆ”

“เราเลยทำคำทำนายที่ว่านี้จำลองอยู่บนแท่น โดยว่าจ้างคนที่ศูนย์ศิลปาชีพที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ให้เขียนเป็นลายมือไทยโบราณลงบนกระดาษข่อย ซึ่งกระดาษข่อยเป็นกระดาษที่พระสมัยก่อนใช้เขียนหนังสือหรือหลักธรรมคำสอนอะไรลงไป เรารู้สึกว่ามันเชื่อมโยงกันก็เลยเอามาใช้”

“แล้วเราก็แปลคำทำนายนี้เป็นภาษาอังกฤษ โดยใช้ฉันทลักษณ์แบบกวีเพื่อให้มันคล้องจองกับฉันทลักษณ์ของคำทำนายไทยที่เป็นโคลงไทยโบราณด้วย”

ส่วนผลงานหลักที่มีชื่อเดียวกับนิทรรศการ “The Lady on a White Horse” เป็นภาพวาดที่เราพูดเรื่องความหวัง ที่เป็นเหมือนวีรสตรีต่อสู้กับสัตว์ร้ายหรือไดโนเสาร์ ซึ่งในที่นี้เป็นสัญลักษณ์แทนความล้าหลัง

ในช่วงที่เราเตรียมนิทรรศการนี้อยู่ เราก็ไปค้นเจอว่าไดโนเสาร์ไทแรนโนซอรัส (Tyrannosaurus) หรือ T-Rex แปลจากภาษากรีกได้ว่า “กิ้งก่าทรราช” ซึ่งตรงกับความหมายของงานชิ้นนี้ เพราะคำว่า ทรราช (ความหมายจากพจนานุกรมแปลไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน) แปลว่า ผู้ปกครองบ้านเมืองที่ใช้อํานาจตามอําเภอใจ ทําความเดือดร้อนทารุณให้แก่ผู้อยู่ใต้การปกครองของตน แล้วนารีขี่ม้าขาวก็กำลังต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้

ส่วนผลงานอีกชิ้นอย่าง “Ceci n”est pas un corbeau noir” ที่เป็นภาพของอีกา ซึ่งอยู่ในคำทำนายที่พูดถึงกาขาวที่บินเข้ามาในเมือง

เราก็ไปศึกษาว่ากาขาวหมายความว่าอะไร บ้างก็ว่ากาขาวหมายถึงคนต่างชาติ บ้างก็ว่ามันหมายถึงความผิดปกติ ความลวง หรือการเห็นผิดเป็นชอบ ซึ่งทำให้เรานึกไปถึงผลงาน The Treachery of Images (การทรยศของภาพ) (1929) ของศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ชาวฝรั่งเศส เรอเน่ มากริตต์ (Ren? Magritte) ที่เป็นรูปวาดไปป์ แต่มีตัวหนังสือภาษาฝรั่งเศสข้างใต้เขียนเอาไว้ว่า “Ceci n”est pas une pipe.” (“นี่ไม่ใช่ไปป์”)

มากริตต์เขาใช้ศิลปะตั้งคำถามเกี่ยวกับความจริงและความลวง

ซึ่งทำให้เรานึกไปถึงการที่คนไทยชอบติดสติ๊กเกอร์ว่า “รถคันนี้สีชมพู” ทั้งๆ ที่รถไม่ได้สีชมพูจริงๆ นัยว่าเพื่อเป็นการหลอกเจ้ากรรมนายเวร

ซึ่งเรามองว่ามันแตกต่างกันอย่างมากระหว่างวิธีคิดตะวันตกและบ้านเรา

“เราก็เลยวาดรูปนี้ออกมาเป็นอีกาสีดำ แล้วเขียนตัวหนังสือภาษาฝรั่งเศสข้างใต้ว่า “Ceci n”est pas un corbeau noir.” (“นี่ไม่ใช่อีกาสีดำ”)”

ยุรีกล่าวถึงผลงานชิ้นเด่นๆ ในนิทรรศการนี้ของเธอ

“The Treachery of Images ของมากริตต์ เหมือนเป็นการหักหลังความรับรู้ของเรา ด้วยการเล่นระหว่างภาพกับภาษา ด้วยการวาดรูปไปป์บนแคนวาส แต่ดันเขียนใต้ภาพว่า นี่ไม่ใช่ไปป์ เขาเล่นกับการมองเห็นภาพกับการรับรู้ภาษาของคนดู และเล่นกับความคิดและการรับรู้ของคนดู ว่าพวกเขาจะดูรูป หรืออ่านตัวหนังสือแทน”

“ยุรีเอางานชุดนี้มาดัดแปลงให้เข้ากับลักษณะความเชื่อของคนไทย เหมือนที่เธอบอกว่า เป็นการหลอกผีหลอกเจ้ากรรมนายเวรว่า รถคันนี้ไม่ได้สีนี้ เหมือนเป็นการแก้ชง คนเรามักจะหลอกตัวเองด้วยการหนีจากสิ่งต่างๆ ที่ไม่ดี ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับประเด็นทางการเมืองในบ้านเราว่าเราชอบหลอกตัวเอง ว่าสังคมดี ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เราหลอกตัวเองว่า บ้านเมืองสงบสุข ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่เรื่องจริง”

ลอรีดาน่า ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการนี้กล่าวเสริม

มาที่ผลงานอีกชิ้นที่โดดเด่นเตะตาอย่าง “The Prophecy of 24 March 2019” หน้ากระดาษของปฏิทินจีนถูกนำมาขยายใหญ่ติดบนฝาผนัง ซึ่งศิลปินเลือกเอาหน้าของวันที่ที่ประชาชนชาวไทยเราน่าจะคุ้นเคยแกมละเหี่ยใจกันเป็นอย่างดี

“พอเราทำงานที่พูดเรื่องความเชื่อหลายๆ อย่าง และการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ เราก็คุยกับภัณฑารักษ์ว่ามีอะไรจะแนะนำไหม เขาก็บอกว่าปฏิทินจีนน่าสนใจนะ เราก็เลยไปหาซื้อปฏิทินจีนมาหลายแบบ ซึ่งเราไม่คุ้นว่าปฏิทินมีทั้งปฏิทินรายวัน รายเดือน รายปี ซึ่งมีคำทำนายอยู่ทุกอัน เราก็หยิบอันที่มีคำทำนายรายวันเล่มใหญ่มาเปิดดู ตั้งใจว่าจะเปิดหน้าแรกคือวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 อยากรู้ว่าคำทำนายนั้นพูดว่าอย่างไร”

“แล้วคำทำนายของวันเลือกตั้งนี้เขาเขียนว่า”

“การดำเนินชีวิตของคุณรู้สึกว่าเสมือนหนึ่งในการพายเรืออยู่แค่ในอ่าง”

เราก็เลยรู้สึกว่าคำทำนายนี้ตรงและน่าสนใจมาก เราก็จึงเอาปฏิทินหน้านี้มาทำเป็นงาน และที่น่าประหลาดใจอีกอย่างในปฏิทินรายวันขนาดใหญ่ในหน้านี้ ต้นฉบับยังมีภาพผู้ชายขี่ม้าปรากฏอยู่ในปฏิทินอีกด้วย โดยเราแทนที่ภาพประกอบทุกอันเป็นงานของเรา แล้วก็แปลคำทำนายนี้เป็นภาษาอังกฤษติดเอาไว้ข้างๆ

หรือผลงาน Rowing a Boat in a Basin Frozen in Time ที่เราเอาหน้าปกของปฏิทินมาวาดใหม่ หน้าปกปฏิทินจีนเต็มเปี่ยมไปด้วยความหมายเกี่ยวกับเรื่องเวลาทั้งสิ้น

ในนั้นมีภาพของเทพซิ่ว (ฮก ลก ซิ่ว) ที่มีอายุถึง 800 ปี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความมีอายุยืนยาว ซึ่งเราแทนเหตุการณ์ในปัจจุบันของบ้านเมืองเราที่ถูกแช่แข็งเวลาเอาไว้ 5 ปี โดยที่ไม่มีเลือกตั้ง

ส่วนหน้าของเทพซิ่วเราก็เปลี่ยนเป็นหน้าของผู้นำที่คุณก็รู้ว่าใคร ด้านข้างเป็นรายละเอียดที่เราได้มาจากคำทำนาย คือผู้หญิงที่พายเรือวนไปวนมาในอ่าง ส่วนเด็กๆ ที่อยู่ในปฏิทินเราก็เปลี่ยนให้เป็น รด.และทหารเกณฑ์ ซึ่งสื่อไปถึงประเด็นการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร

 

“ในภาพก็มีรายละเอียดอื่นๆ ที่เราใส่เข้าไป เช่น หีบเลือกตั้งบนเครื่องบินที่หายไปในกลีบเมฆ”

“คือตั้งแต่ทางเข้านิทรรศการ จะมีผนังด้านหน้าที่ทำเป็นสีรุ้ง ซึ่งจริงๆ แล้ว “รุ้ง” เป็นสัญลักษณ์แทนความหวัง แต่เราเลือกทำออกมาเป็นรุ้งสีซีด เหมือนเป็นความหวังที่ริบหรี่ แล้วพอเดินเข้ามาข้างใน เราก็เจอผนังสีเขียวขี้ม้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกองทัพ ผนังทั้งสองนี้ เราอยากเชื่อมโยงไปถึงตอนที่มีเลือกตั้ง ซึ่งเหมือนเรามีความหวัง แต่จริงๆ แล้วเรากลับโดนสับขาหลอก ถึงเราจะมีสิทธิเลือก แต่ถึงเลือกไปก็เหมือนไม่ได้เลือก เราเลยทำเป็นสัญลักษณ์แทนการเข้ามาด้วยความหวัง แล้วก็กลับไปสู่วังวนเดิมๆ”

“ถ้าสังเกตจะเห็นว่างานหลายชิ้นจะมีลูกพีชอยู่ เหตุผลก็คือ เราชอบความหมายของมัน ทั้งในภาษาอังกฤษ ที่เสียงดันไปพ้องกับคำว่า Peace ที่แปลว่า สันติภาพ ส่วนในภาษาไทย ลูกท้อ ความหมายแตกต่างกันอย่างมาก ทำให้นึกไปถึงความท้อแท้สิ้นหวัง ส่วนความหมายแบบจีนก็จะหมายถึงความอายุยืน หรือความยืนยาว เราเลยรู้สึกว่าถ้าเราแปลแบบเอาสามความหมายนี้มารวมกันก็น่าจะหมายถึง การที่เราคิดคำนึงถึงสันติภาพด้วยความท้อแท้สิ้นหวังอย่างยาวนานนั่นเอง”

เรียกได้ว่าภายใต้ผิวหน้าที่เคลือบด้วยสีสันสดใสหวานราวลูกกวาด ภายในก็ซ่อนนัยยะทางการเมืองที่หนักหน่วงเข้มข้นจริงๆ อะไรจริง!

นิทรรศการนารีขี่ม้าขาว The Lady on a White Horse จัดแสดงที่ Tang Contemporary Art Bangkok ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน – 24 กรกฎาคม 2562

น่าเสียดายที่กว่าหนังสือจะออก นิทรรศการก็คงจบไปแล้ว

แต่ถ้ามีข่าวคราวเกี่ยวกับงานของเธออีกเมื่อไหร่ เราจะรีบนำมารายงานให้ทราบโดยพลัน!