อภิญญา ตะวันออก : นอกมาตุคาม-จำพรากจากเขมร

อภิญญา ตะวันออก

การเดินทางไปในชนบทของกัมพูชาโดยชาวต่างชาติ 2 ชีวิตที่ฉันพบว่า พวกเขานอกจากต้นทุนภาษาเขมรที่ร่ำรวยแล้ว ยังมีความหลงรักต่อกัมพูชา ประเทศเกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติ ที่รุ่มรวยไปด้วย “มาตาธรรมชาติ” เว้นแต่ชีวิตของพวกเขาที่ถูกจำกัดด้วยอิสรภาพอย่างเข้มข้นในแต่ละยุคสมัย ที่เธอ-เขา ต่างประสบเคราะห์กรรม กระนั้นก็ยังทิ้งร่องรอยที่เป็นอนุสรณ์แก่คนรุ่นหลังที่ใคร่ศึกษาสังคมกัมพูชาอย่างน่าทึ่ง

ในแง่งามของความคิด

กรณีทั้งสองที่ฉันยกมาดูจะไม่ต่างสายพันธุ์มานุษยวิทยาในบุคลิกของนักวิจัย ปลายศตวรรษ 20 ที่เต็มไปด้วยความโรแมนติก นอกจากความเป็นนักมานุษยวิทยาที่ภูมิภาษาต้องชำนาญแล้ว ยังผูกพันแน่นแฟ้นต่อดินแดนศึกษายิ่งกว่ามาตุภูมิของตน

แม้จะไม่ใช่เขมรโดยกำเนิด ทว่าอาการทางชีวิตที่มีต่อกัมพูชาอย่างเหลือล้นดังกล่าว ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะสะเทือนใจไปด้วย

 

นั่นคือความรู้สึกตอนหนึ่งที่ฉันพบจากการเดินทางไปชนบทของกัมพูชา ในตอนท้ายของบันทึก “Au del? du ciel / เหนือห้วงนภากาศ” โดยลอเรนส์ ปิกก์ ที่เปิดเผยความจริงหลังเขมรแดงล่มสลาย

มันเป็นเช้าวันนั้น วันที่สหายตา ม็อก แนะนำให้ครอบครัวของเธอเดินทางไปอำเภอสำโรง พวกเด็กๆ ต่างเริงร่ามีความสุข เช่นเดียวกับลอเรนส์ ปิกก์ ที่กระโดดขึ้นไปนั่งหลังรถจี๊ปที่จะพาเธอไปสู่ภูมิประเทศแห่งจินตนาการ

เธอสารภาพว่าตื่นเต้นและปรารถนาจะเห็นชนบทของกัมพูชาอย่างเป็นที่สุด

พลขับได้ขับรถไปตามถนน ตอนนั้นเองที่สมองของเธอเริ่มทำงาน ช่างมีความหมายไปเสียทุกอย่าง แม้แต่การศึกษาเกี่ยวกับภูมิประเทศอย่างน่าทึ่งนั้น คือ ความสามารถในการจดจำชื่อหมู่บ้าน ตำบลหนแห่ง แม้แต่แม่น้ำลำคลองสองข้างทางที่รถแล่นผ่านไป

พลันระบบประมวลผลแบบนักวิจัยภูมิศาสตร์ท้องถิ่นได้ทำงานของมันไปอย่างอิสระ หรืออย่างน้อย ผลพวงในระบบการศึกษาที่เธอและกวง ซีเกือน-สามีต่างเล่าเรียนมา อา มันเป็นอย่างนั้นเอง ความรู้สึกลึกซึ้งที่กว้างใหญ่ไพศาลต่อประเทศอันเป็นที่รัก

ทว่าตอนนี้ ลอเรนส์ ปิกก์ กลับมองว่า “เธอกำลังกลับสูญเสียการมองเห็นจากข้อเท็จจริงที่ว่า มีทุ่งนาถูกทิ้งร้างเป็นระยะทางนับสิบๆ กิโลเมตร ตลอดสายตาที่เธอพยายามจะค้นหา จากสองข้างทางไหล่ถนนที่แผ่กว้างออกไปสุดลูกหูลูกตา แต่มันทั้งหมดคือแปลงนาอันรกร้าง ดูเหมือนการมองหานาข้าวและพื้นที่เกษตรกรรมจะล้มเหลว ว่างเปล่า และไร้ประโยชน์ หากความอ่อนล้าที่เสียดแทงใจ หาใช่ระยะทางอันรกร้างว่างเปล่าของนาข้าว

แต่เป็นการปราศจากเงาร่างของชาวนาที่ส่วนใหญ่คือหนุ่มสาว แล้วตอนนี้พวกเขาไปอยู่เสียที่ไหน?

 

อีกฝั่งหนึ่งของถนน เธอเห็นสาวหนุ่มเขมรกลุ่มใหญ่ที่กำลังดุ่มเดินไปข้างหน้า ในชุดอาภรณ์ สมปดกางเกงสีตุ่นที่สวมใส่ขาดวิ่นและไม่พอดีตัว และเกือบทุกคนโพกหัวด้วยผ้าขาวม้า เห็นได้เทียวว่าพวกเขาเป็นชาวอพยพใหม่ที่มาจากคอมมูนอื่น

สำหรับดุลยภาพการขาดแคลนแรงงานที่ไม่อาจชนะโดยง่ายนั้น มาจากนโยบายกำจัดผู้ “ทรยศ” ที่ไร้แก่นสารนั่น ด้วยการอพยพแรงงานจากคอมมูนหนึ่งไปอีกคอมมูนหนึ่ง ตามวิธีการจัดระเบียบพลเมืองที่ปรับเปลี่ยนใหม่กลางปีที่ผ่านมา

ชาวอพยพกลุ่มใหม่ทั้งหมดจึงถูกส่งไปทำงาน และตั้งรกรากทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ พวกเขาต้องเผชิญกับการถูกลิดรอนชีวิตอย่างรุนแรง ทั้งหมดคือสิ่งที่เขาต้องปรับตัวและประพฤติตนอย่างผู้มีอุดมการณ์เพื่อสถาปนาประเทศ ตามแบบ “ปฏิวัติชน”

อา ทว่าบัดนี้แผ่นดิน ผืนนาและทุกแห่งหนที่เคยอุดมสมบูรณ์ กลับถูกทิ้งร้าง ปราศจากแรงงาน และเต็มไปด้วยความอดอยากยากแค้นไปทุกหนแห่ง จากแผ่นดินที่มากมาย บัดนี้เหลือเพียง 1 ใน 5 ของพื้นที่ทั้งหมดที่เพาะปลูกกสิกรรม

ส่วนชาวนาเล่า? พวกเขาหายไปไหน คำถามที่ล่องลอยหาคำตอบ?

อนึ่ง ท่ามกลางสภาพเลวร้ายของการใช้แรงงานหนักในเขตกสิกรรม และเสบียงกรังไม่เพียงพอที่นำมาแจกจ่ายนี้ ครึ่งหนึ่งซึ่งถูกเก็บไว้ในกรุงพนมเปญนั้น ทำให้กลุ่มแรงงานเคลื่อนที่-แรงงานสมทบ คือชนผู้เสียสละที่น่ายกย่องเทิดทูน โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาต้องรับแต่อาหารชั้นเลวที่เป็นเพียงข้าวต้มเปล่าที่แทบจะหาเม็ดข้าวไม่เจอ

เห็นได้ชัดว่า นโยบายการปันส่วนอาหารนี้เป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ พืชผลกสิกรรมที่แคระแกร็น วัว-กระบืออีกแรงงานที่อดอยาก โดยเฉพาะในวันที่อากาศร้อน พวกมันแทบจะไม่มีเรี่ยวแรงทำงานได้เกินครึ่งวัน

ในทางกลับกัน วัว-กระบือเหล่านี้ก็เป็นแรงงานสำคัญ การไถคราดนาดอนและนาลุ่ม นี่เป็นเหตุว่า ทำไมสัตว์เหล่านี้จึงได้รับการดูแลจากชาวนา การออกทุ่งกินหญ้า อาบน้ำ พักผ่อนและสุมไฟไล่ยุงในตอนค่ำเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ชาวนาปฏิบัติทะนุถนอมดูแลต่อวัว-ควายของตนมาเป็นเวลาช้านาน

ทว่า ตอนนี้พวกมันเหมือนสัตว์ที่ใกล้จะมรณะเข้าไปทุกขณะ บางตัวผอมโซ ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำงานต่อไปอีก (เช่นเดียวกับชาวนา)

สำหรับสภาพเลวร้าย ต่อความทุกข์ยากระส่ำระสาย นี่จึงไม่ใช่สิ่งแรกต่อการเดินทางไปชนบทครั้งนั้น ที่ลอเรนส์ ปิกก์ อ้างปากค้างได้แต่อุทานอยู่ในใจ

พลัน ขณะที่รถยนต์กำลังออกวิ่งอีกครั้ง เธอก็พบว่า มีชายชราคนหนึ่ง แกตรงเข้ามาจับมือทั้งสองข้างของนายสารถีราวกับร้องขออย่างเคารพบูชา

แต่ที่ไม่ไกลจากร่างชายชรานั่น ร่างหญิงสาวคนหนึ่งเธอนอนจมกองอยู่ตรงไหล่ถนน อา ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เธอน่าจะป่วยหนักปางตาย ทว่า เพียงชั่วอึดใจ รถยนต์ก็สตาร์ตไปจากโค้งถนนแห่งนั้น

เหลือแต่ภาพชายชราคนเดิมที่ทรุดร่างกับพื้น ขณะที่ชูมือทั้งสองข้างขึ้นไปในอากาศ

 

อีกตอนหนึ่งของการเดินทางผ่านชนบทของกัมพูชาในภาคปัจจุบัน ผ่านโดย “อาเล็ก” (Alejandro Gonzalez-Davison) นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชาวสเปน ผู้ก่อตั้ง “มาตาธรรมชาติ” องค์กรพิทักษ์ป่าในเขตอาแร็งของจังหวัดเกาะกง

ความปรารถนาของอาเล็กนอกจากปกป้องผืนป่าอาแร็งแล้ว เขาอยากจะเป็นชาวเขมร ภาษาถิ่นที่เขาสามารถพูดได้อย่างจับใจจนอาจจะกล่าวว่า มากกว่าชาวกัมพูชาสายเอ็นจีโอเกือบทุกคนก็ว่าได้

และนั่นคือปมเหตุสำคัญที่ทำให้เขาต้องจำพรากจากเขมรด้วยเหตุผลสำคัญ เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล

นับเป็นความเจ็บปวดอย่างที่สุดของอาเล็กต่อความพยายามที่จะอาศัยในแผ่นดินเขมรตราบเท่าที่ชีวิตจะหาไม่ แต่ในที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 อาเล็กถูกจับกุมและถูกขับออกจากกัมพูชา โดยเป็นที่ทราบกันว่า องค์กรมาตาธรรมชาติของอาเล็กต่างหากที่รัฐบาลฮุน เซน ต้องการกำจัดทิ้ง

ทว่าการถูกขับออกนอกประเทศก็ไม่ต่างจากการถูกสังหาร ในความหมายที่เขาต้องสูญเสียโอกาสกลับไปปกป้องป่าอาแร็งอีกครั้ง สำหรับผืนป่าอาแร็ง 1 ในวิกฤตระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่สังเวยแก่โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของกัมพูชา และเมกะโปรเจ็กต์อื่นๆ ซึ่งรุดหน้าไปมาก

ตลอด 4 ปีที่อาเล็กถูกอัปเปหิจากป่างามผืนสุดท้าย สุสานแห่งความทรงจำ ของฌุด วุดที นักสิ่งแวดล้อมที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐสังหาร (2555)

ช่างเป็นการพลีชีพที่น่ายกย่องสำหรับการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ แต่การตายของวุดทีกลับถูกลืมไปพลันเพียงชั่วข้ามปี

ช่างเป็นความเจ็บปวดของนักสิ่งแวดล้อมกัมพูชา ที่ถูกสะกดไว้ด้วยการคุกคามจนสูญสิ้นซึ่งความกล้า

ได้แต่ฝากความหวังไว้กับคนนอกมาตุคามอย่างอาเล็ก