เมื่อผู้กำกับฯ หญิง“สิงคโปร์”ทำหนังโร้ดมูฟวี่แบบ“ช้างๆ”ในไทย จนได้ไปเทศกาล“ซันแดนซ์”

คนมองหนัง

ภาพยนตร์เรื่อง “Pop Aye” ผลงานการกำกับฯ ของ “เคอร์สเทน ตัน” เป็นหนังร่วมสร้างระหว่าง “Giraffe Pictures” ของสิงคโปร์ ที่รับผิดชอบด้านการหาทุนสร้าง และ “185 Films Company” ของไทย ที่รับผิดชอบงานด้านการผลิต

หนังของผู้กำกับภาพยนตร์หญิงชาวสิงคโปร์ ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครไทย ช้างไทย และมีท้องเรื่องเกิดขึ้นในประเทศไทย (นำแสดงโดย ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ และ เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) เพิ่งถูกคัดเลือกเข้าฉายในสายการประกวดของเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ 2017

จนถือเป็นหนังสิงคโปร์และหนังไทยเรื่องแรก ซึ่งได้เข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์อินดี้ที่ใหญ่สุดของสหรัฐ

นักวิจารณ์ที่ซันแดนซ์พูดถึงภาพยนตร์อาเซียนเรื่องนี้ว่าเป็นบทกวีเปี่ยมมนุษยธรรม ที่เล่าถึงพลังของการกระทำอันเกิดจากความเมตตากรุณาแสนธรรมดา ในโลกซึ่งสูญเสียความไร้เดียงสาและสูญสิ้นโอกาสดีๆ ไปมากมาย โดยบทกวีดังกล่าวยังถูกคั่นจังหวะด้วยมุขตลกหน้าตายที่สะท้อนถึงความไร้สาระของชีวิต ซึ่งแสดงบทบาทออกมาได้อย่างถูกที่ถูกเวลา

นักวิจารณ์ยังระบุด้วยว่า ผู้กำกับฯ ที่เพิ่งมีผลงานหนังยาวเป็นเรื่องแรกอย่าง เคอร์สเทน ตัน สามารถถักทอความโศกเศร้าและอารมณ์ขันในเรื่องราวเข้ากับการเดินทางของตัวละครนำได้อย่างประณีต ผ่านงานถ่ายภาพอันงดงามยากลบเลือน ที่ปรากฏขึ้นโดยต่อเนื่องในจอภาพยนตร์

เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2559 เว็บไซต์ http://sg.asia-city.com/ เพิ่งจะเผยแพร่บทสัมภาษณ์ เคอร์สเทน ตัน ที่เรียบเรียงและซักถามโดย “อดัม เคอร์”

ผู้กำกับฯ หญิงชาวสิงคโปร์ ที่เคยได้รับรางวัลจากการทำหนังสั้นมาแล้วหลายครั้ง จะพูดถึงหนังยาวเรื่องแรกของตนเอง ซึ่งเป็นภาพยนตร์ “โร้ดมูฟวี่” ที่ใช้ “ช้าง” แทน “รถ” ไว้ว่าอย่างไรบ้าง

ติดตามอ่านได้จากคำถาม-คำตอบบางส่วน ในบทสนทนาดังกล่าว

1208716_popeye

: อยากให้คุณช่วยเล่าเรื่องราวคร่าวๆ ของ “Pop Aye” หน่อยได้ไหม?

“Pop Aye” เป็นภาพยนตร์โร้ดมูฟวี่ที่ดำเนินเรื่องผ่านช้าง และถ่ายทำกันในประเทศไทย เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อสถาปนิกชายวัยกลางคน ผู้กำลังหมดอาลัยตายอยากในชีวิต ได้พบปะกับช้างเพื่อนสนิทของเขาที่พลัดพรากจากกันมานานโดยบังเอิญ บนท้องถนนในกรุงเทพมหานคร

จากนั้น ชายผู้เบื่อหน่ายชีวิตปัจจุบันของตนเอง ก็ออกเดินทางไปทั่วประเทศไทยพร้อมกับช้างเพื่อนยาก เพื่อค้นหาไร่นาแห่งเดิมที่ทั้งคู่เจริญเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กัน

หนังเรื่องนี้เป็นผลลัพธ์ของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างโศกนาฏกรรมและเสียงหัวเราะ ฉันคาดหวังว่าผู้ที่ได้ชมมันจะมีอารมณ์ความรู้สึกแจ่มใส รวมทั้งได้ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์อย่างลึกซึ้ง

 

: อะไรคือแรงบันดาลใจเบื้องหลังการสร้างหนังเรื่องนี้?

ด้วยความที่ฉันต้องใช้ชีวิตอยู่ในสี่ประเทศภายในเวลาหนึ่งทศวรรษ ฉันจึงมักรู้สึกว่าตนเองเป็นเหมือนคนจรจัด และฉันยังรู้สึกเข้าอกเข้าใจบรรดา “คนนอก” ซึ่งตระหนักว่าวิถีชีวิตของพวกตนไม่ได้สอดคล้องต้องตรงกับระบบสังคม ระบบใดระบบหนึ่ง

เรื่องราวของหนังเรื่องนี้จะกล่าวถึงผู้ที่อยู่ “ผิดที่ผิดทาง” สองราย หนึ่ง คือ ชายวัยกลางคนที่ผ่านจุดสูงสุดในชีวิตมาเรียบร้อยแล้ว สอง คือ ช้างข้างถนน ที่เคยเป็นเพื่อนเล่นของชายคนแรก ทั้งคู่ต่างเสาะแสวงหาความหมายในการมีชีวิตอยู่และความต้องการจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งบางอย่าง

จุดตั้งต้นเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อตอนฉันอาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งฉันได้เห็นเด็กๆ ลูกชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง จูงช้างตัวหนึ่งไปริมทะเล แล้วพากันอาบน้ำให้มัน

พลังและความไร้เดียงสาของภาพดังกล่าวได้ตรึงติดอยู่ในความคิดของฉันมานานหลายปี กระทั่งฉันตัดสินใจลงมือเขียนบทภาพยนตร์ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากอารมณ์ความรู้สึก อันเกิดจากความทรงจำเฉพาะชุดนั้น

1484712715763

: “ช้าง” ในหนังเรื่องนี้ มีสถานะเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบที่สื่อถึงอะไรอย่างอื่นหรือเปล่า?

ฉันตระหนักดีว่า “ช้าง” ในหนัง อาจถูกตีความในเชิงสัญลักษณ์ได้อย่างหลากหลาย แต่ในส่วนของตัวฉันเอง เมื่อต้องลงมากำกับช้างให้แสดงบทบาทในภาพยนตร์ ฉันกลับพยายามไม่ใส่ใจกับการตีความเชิงสัญลักษณ์ใดๆ มากนัก

หน้าที่สำคัญประการแรกของฉันในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ก็คือ การต้องทำให้ช้างในหนังมีบุคลิกพฤติกรรมที่เป็นช้างจริงๆ และมีความน่าเชื่อถือ

ฉันต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน ในการเดินทางไปศึกษาพฤติกรรมของช้างที่ประเทศไทย จนตัวเองสามารถทำความเข้าใจสัตว์ชนิดนี้ได้ดียิ่งขึ้น และสามารถถ่ายทอดพฤติกรรมของพวกมันออกมาได้อย่างสมจริงมากขึ้น

ฉันไม่ต้องการให้ช้างในหนังเรื่องนี้ กลายเป็น “ช้างดิสนีย์น่ารักๆ” ที่เป็นผลลัพธ์ของการลอกเลียนแบบอย่างเลื่อนลอยไร้ซึ่งความรู้ ถ้าฉันต้องการใช้ “ช้าง” เป็นเพียง “สัญลักษณ์” ในหนัง ฉันก็คงไม่ต้องทำงานหนักขนาดนี้ รวมทั้งไม่ต้องไปเข้มงวดกวดขันว่าบุคลิกลักษณะของเขาที่ถูกถ่ายทอดออกมาบนจอภาพยนตร์จะมีความสมจริงหรือไม่

ฉันเชื่อว่าถ้าตนเองในฐานะผู้กำกับฯ สามารถถ่ายทอดลักษณะพฤติกรรมของช้างออกมาได้อย่างสมจริงแล้ว หลังจากนั้น ก็จะเป็นเรื่องของผู้ชม ว่าพวกเขาจะตีความถึง “ช้างตัวนี้” อย่างไรในเชิงสัญลักษณ์

1484712780924

: ในฐานะที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ “หญิงชาวเอเชีย” คุณพบว่าตนเองประสบความยากลำบากบ้างไหม เมื่อต้องเข้าร่วมแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ถูกครอบงำโดย “ผู้ชาย”?

ฉันไม่ได้มาให้สัมภาษณ์เพื่อร้องโอดครวญ และฉันยังตระหนักเสมอมาว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ในพื้นที่สาธารณะ เพราะผู้คนมักจะอ่อนไหวเป็นพิเศษเมื่อต้องถกเถียงกันในประเด็นทำนองนี้

ฉันพอจะประเมินได้ว่าผู้กำกับฯ หญิง ถือเป็นคนกลุ่มน้อยอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์หญิงคือสิ่งแปลกปลอมสำหรับคนจำนวนมากในวงการ ดังนั้น จึงเลี่ยงไม่ได้ ที่คุณจะถูกจับจ้องอย่างละเอียดถี่ถ้วนจากบรรดาผู้ชายในกองถ่าย ซึ่งมีบรรยากาศของการแข่งขันกันอย่างดุเดือด และมีลำดับขั้นการบังคับบัญชาอันเข้มข้น

มันจึงต้องอาศัยเวลาสักระยะหนึ่ง เพื่อรอให้คนในกองรู้สึกเชื่อถือและคุ้นเคยกับคุณ “Pop Aye” อาจเป็นหนังยาวเรื่องแรกของฉันในฐานะผู้กำกับฯ แต่ฉันเคยทำงานหลากหลายในกองถ่ายภาพยนตร์มานานกว่าสิบปี และเข้าใจดีว่าประเด็นเรื่องเพศสภาพและเชื้อชาตินั้นส่งผลกระทบต่อทัศนคติในการทำงานของกองถ่ายมากขนาดไหน

สิ่งที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่การเหยียดกันอย่างตรงไปตรงมา แต่เป็นอคติต่อผู้หญิงที่ทำงานในตำแหน่งผู้นำ ซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวโดยไม่ได้ตั้งใจ อคติเหล่านี้ถูกแสดงออกมาทั้งโดยผู้ชายและผู้หญิงด้วยกันเอง แล้วมันยังกระจายตัวไปสู่อุตสาหกรรมทุกประเภท

“ทา-เนฮิซี โคตส์” (นักคิด-นักเขียนชาวอเมริกันผิวสี) เคยเขียนเอาไว้ใน The Atlantic ว่า “ถ้าผมต้องกระโดดสูงถึงหกฟุต เพื่อจะไขว่คว้าเอาสิ่งของที่คุณสามารถหยิบฉวยมันมา เมื่อใช้แรงกระโดดให้สูงเพียงแค่สองฟุต นั่นก็แสดงว่าลัทธิเหยียดเชื้อชาติยังคงทำงานอยู่”

ภาวะไม่เท่าเทียมเช่นนั้นก็เกิดขึ้นในพื้นที่ของเพศสภาพเช่นเดียวกัน และถ้าคุณไปพูดคุยกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ ทั่วโลก พวกเขาก็น่าจะเข้าใจได้เป็นอย่างดีถึงภาวะไม่เป็นธรรมดังกล่าว

ในมุมมองส่วนตัว ฉันยอมรับได้ว่าภาวะไม่เท่าเทียมทำนองนี้คือ “เกมการแข่งขัน” ประเภทหนึ่งที่เราต้องเผชิญหน้า นอกจากนี้ ถ้าฉันยังมัวเอาแต่คิดถึงเรื่องความอยุติธรรมดังกล่าว งานการของตนเองก็จะไม่เดินหน้าไปอย่างที่ควรเป็น

สิ่งที่ตัวฉันสามารถทำได้ดีที่สุด ก็คือ การเดินหน้าสร้างหนังดีๆ เพื่อท้าทายความคิดความเชื่อกระแสหลัก ซึ่งยังคงดำรงอยู่ อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณทีมงานของฉัน ที่พวกเขามองเห็นฉันเป็น “คนเต็มคน” ไม่ใช่เป็นอะไรบางอย่างที่มีแผ่นป้ายคำว่า “ผู้หญิง” หรือ “คนเอเชีย” แปะอยู่ด้านหน้า

1484712753620

: นี่อาจเป็นคำถามที่คุณต้องคอยตอบอยู่บ่อยครั้ง คุณคิดว่าตัวเองเป็นคนทำหนัง “ชาวสิงคโปร์” หรือไม่?

แน่นอน ฉันคิดเสมอว่าตัวเองเป็นคนทำหนัง “สิงคโปร์” และฉันก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ผลงานหลายเรื่องของตนเอง มีสถานะเป็นตัวแทนของประเทศสิงคโปร์ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ

ทว่า ฉันก็ไม่ได้คิดจะจำกัดตนเองให้ต้องทำหนังที่เล่าแต่เรื่องราวของคนสิงคโปร์ เพราะฉันรู้สึกว่าบทบาทของศิลปิน ควรจะถูกขยับขยายให้กว้างขวางเกินกว่าขอบเขตของความเป็นชาติ

ยิ่งกว่านั้น การไปกำหนดตั้งเป้าว่าการทำงานศิลปะหรือกระบวนการสร้างภาพยนตร์ คืออะไรบางอย่างที่ต้องถูกจำกัดไว้ด้วยขอบเขตของความเป็นชาติ ก็ควรจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด

หรืออาจพูดให้ตรงขึ้นได้ว่า ฉันให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ มากกว่าพรมแดนที่ถูกมนุษย์สร้างขึ้นมา

ภาพและเนื้อหาจาก http://sg.asia-city.com/movies/news/meet-the-singaporean-director-whose-film-is-premiering-at-sundance