วงค์ ตาวัน | 396 โรงพัก-ตำนานยุค “มาร์ค-เทือก”

วงค์ ตาวัน

คดีอันยืดเยื้อถึง 5-6 ปี โดยนับจากมีการเปิดเผยเรื่องกลางสภาจนฮือฮาเมื่อปี 2556 จึงกลายเป็นคดีความขึ้นมาภายใต้การรับผิดชอบของดีเอสไอ ก่อนรวบรวมพยานหลักฐานสำนวนส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ทำการไต่สวน สอบสวนอยู่ยาวนาน

จนล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา จึงมีข่าวจาก ป.ป.ช.ว่าได้ข้อสรุปชี้มูลความผิดแล้ว เพื่อดำเนินการส่งอัยการนำฟ้องร้องต่อไป

“นั่นคือคดีอื้อฉาว โครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง และโครงการแฟลตที่พักตำรวจ 163 แห่งทั่วประเทศ”

โดยที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช.มีมติทั้งสองคดีให้ชี้มูลความผิด นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทน ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุพร พันธุ์เสือ อดีต ผบช.ส่งกำลังบำรุง

“จากนี้ต้องติดตามกันต่อไปว่า อัยการจะรวบรวมสำนวนเพื่อส่งฟ้องศาลเช่นไร เมื่อไร!”

ถ้าย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ ซึ่งเกิดในยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ มีนายสุเทพเป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงดูแลงานตำรวจ จะพบตำนานเรื่องร้องแรงในแวดวงสีกากีในยุคนี้มากมาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ กับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ในขณะนั้น เกี่ยวเนื่องถึงการตั้ง ผบ.ตร.คนต่อจาก พล.ต.อ.พัชรวาท ที่นายอภิสิทธิ์ในฐานะประธาน ก.ต.ช.ทำไม่สำเร็จ กลายเป็นเรื่องเดือดพล่านในวงการตำรวจ

ลงเอยจึงวกกลับมาปลด พล.ต.อ.พัชรวาทพ้นเก้าอี้ก่อนครบเกษียณไม่กี่วัน พร้อมกับตั้ง พล.ต.อ.ปทีป เป็นรักษาการ ผบ.ตร.ยาวนานเกือบ 1 ปี

“แล้วก็กลายเป็นที่มาของการแก้สัญญาก่อสร้างโรงพัก จากแยกภาค มาเป็นรวมสัญญาเดียว จนเกิดเรื่องขึ้น เพราะไม่สามารถก่อสร้างได้สำเร็จลุล่วง”

เป็นที่น่าสังเกตว่า การแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนต่อจาก พล.ต.อ.พัชรวาท เพื่อเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ซึ่งจะทำกันในช่วงก่อนเดือนกันยายน อันเป็นช่วงก่อนเกษียณของ พล.ต.อ.พัชรวาทนั้น

เป็นบทบาทของนายอภิสิทธิ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้ง ผบ.ตร. แต่นายอภิสิทธิ์ไม่สามารถแต่งตั้งได้สำเร็จ ประชุมแล้วก็ล่มหลายหน

เพราะนายอภิสิทธิ์ภายใต้การชี้แนะของแกนนำม็อบเหลือง ผู้ทรงอิทธิพลความคิด ได้พยายามผลักดัน พล.ต.อ.ปทีปให้เป็น ผบ.ตร. แต่กรรมการ ก.ต.ช.แทบทั้งหมดไม่เห็นด้วย เพราะ พล.ต.อ.ปทีปคือมืองบประมาณ แต่ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ซึ่งเป็นมือปราบน่าจะเหมาะสมกว่า”

ลงเอยเมื่อตั้งไม่สำเร็จ ก็ใช้วิธีให้ “มืองบประมาณ” พล.ต.อ.ปทีป รักษาการ ผบ.ตร.ไปเรื่อยๆ เกือบ 1 ปี

แล้วช่วงที่ พล.ต.อ.ปทีปรักษาการนี่แหละ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัญญา พลิกจากที่ทำไว้ในยุคพัชรวาท เลยกลายเป็นคดีอื้อฉาวที่เพิ่งมาถึงบทสรุป

จากโครงการก่อสร้าง 396 โรงพักและแฟลตที่พักตำรวจ 163 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มดำเนินการในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ เมื่อราวต้นปี 2552 จากนั้นก็เต็มไปด้วยเรื่องราวขัดแย้งมากมายในวงการตำรวจ และความร้อนระอุของการเมือง ไปจนถึงเหตุการณ์สลายม็อบปี 2553 หรือ 99 ศพ

จนในปี 2556 ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรื่องจึงแดงขึ้นมา เมื่อนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.พรรครักประเทศไทย ได้เปิดอภิปรายกลางสภา ในวาระไม่ไว้วางใจ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ดูแลงานตำรวจ โดยเปิดโปงโครงการ 396 โรงพักที่สร้างแล้วทิ้งร้าง โดยนำภาพถ่ายจำนวนมากมาแสดงประกอบอภิปราย กลายเป็นที่ฮือฮาอย่างมาก

“เพราะเห็นแต่โรงพักที่สร้างทิ้งร้าง มีแค่เสาปูนโด่เด่ พร้อมกับมีเถาวัลย์ไม้เลื้อยพัน บางแห่งก็เห็นผนังก่ออิฐแต่ทิ้งเอาไว้เปลือยๆ”

ร.ต.อ.เฉลิมสั่งตรวจสอบก็พบว่าต้นเรื่องมาจากโครงการในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ และเกิดปัญหามีการไปแก้สัญญา จากแยกประมูลรายภาค มาเป็นรวมสัญญาประมูล

จึงกลายเป็นคดีความสอบสวนหาผู้กระทำผิดเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษในยุคนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดี ได้รวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนสรุปให้เอาผิดนายสุเทพกับพวก โดยยื่นให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ

“นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ในฐานะที่เป็นคนเปิดเรื่องนี้คนแรก โดยสรุปประเด็นสำคัญคือ”

ประเด็นง่ายๆ ที่อยากให้ชาวบ้านฟังแล้วเข้าใจในเรื่องนี้ คือ

1. การสร้างโรงพักตามต่างจังหวัด ไม่ได้ใหญ่โตมโหฬาร หรือเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ต้องใช้เทคโนโลยีสลับซับซ้อนแต่อย่างใด เป็นเพียงตึกคอนกรีต 2-4 ชั้นธรรมดา ผู้รับเหมาที่ไหนก็สร้างได้ แต่ที่เป็นปัญหาคือ “สร้าง 396 แห่งทั่วประเทศพร้อมๆ กัน”

เพราะตามประสาผู้รับเหมา ต้องหาผู้รับเหมาช่วงในท้องถิ่นนั้นๆ ไปดำเนินการก่อสร้าง จะให้ผู้รับเหมาเจ้าเดียวไปทำทุกที่ เหนือ ใต้ ออก ตก ใครจะมีปัญญา? ถึงจะเป็นผู้รับเหมายักษ์ใหญ่ก็เถอะ มันผิดหลักการด้านบริหารจัดการ

แม้แต่ ครม.ในขณะนั้น ยังมีความเห็นว่าควรจะจ้างผู้รับเหมาเป็นรายภาค ดีกว่าที่จะไปจ้างรายเดียวสร้างทั่วประเทศ แต่ก็ไม่มีใครสนใจฟัง ได้แต่บันทึกไว้เป็นหลักฐานเท่ๆ ว่ามีผู้ท้วงติงแล้ว ซ้ำในสัญญาที่เซ็นไป ยังห้ามไม่ให้ผู้รับเหมาที่ได้งานนี้ไปจ้างผู้รับเหมาช่วง หรือหากจะจ้าง ต้องได้รับการอนุมัติเสียก่อน

2. จนอีกเดือนหนึ่งจะสิ้นสุดสัญญา เป็นจังหวะที่ผมได้คิวอภิปรายพอดี งานยังทำได้แค่ตอกเสาเข็ม แต่แทนที่จะยกเลิกสัญญา หารายใหม่ กลับตะบี้ตะบันขยายเวลา ต่อสัญญาไปหลายครั้งหลายคราให้กับรายเดิม เหมือนคนไม่รับรู้ ทั้งๆ ที่เห็นอยู่ต่อหน้า

3. ขั้นตอนการตรวจสอบของราชการ มีระเบียบต่างๆ มากมายกว่าจะเบิกเงินได้ แต่ก็ยังปล่อยให้สัญญาหมดคาตา เรื่องนี้หากผมไม่ตายไปเสียก่อน ต้องได้เห็นคนติดคุก เพราะความเสียหายเกิดขึ้นทั่วประเทศ มูลค่าโครงการตั้ง 5,848 ล้าน

นั่นคือถ้อยความจากผู้เปิดประเด็นเรื่องนี้ต่อสังคม ซึ่งสมควรยกเครดิตของคดีนี้ให้กับนายชูวิทย์ไปเต็มๆ

กล่าวได้ว่า คดี 396 โรงพัก และ 163 แฟลตตำรวจ ได้บอกเล่าให้รู้กันถึงตำนานความระอุในวงการสีกากียุคนายอภิสิทธิ์-สุเทพ ซึ่งมีมากมายหลายประเด็น

รัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพเข้าสู่อำนาจเมื่อปลายปี 2551 จากสาเหตุการพลิกขั้วการเมืองและการเจรจาลับในค่ายทหาร ซึ่งผู้นำกองทัพในขณะนั้น ก็คือกลุ่มเดียวกันกับ คสช. ซึ่งเข้ามาเป็นรัฐบาลได้ด้วยการรัฐประหาร เนื่องจากการชัตดาวน์โดยม็อบที่นำโดยนายสุเทพ

เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลในปลายปี 2551 ขณะนั้น พล.ต.อ.พัชรวาทเป็น ผบ.ตร.อยู่แล้ว

“ต่อมาในเดือนเมษายน 2552 เกิดคดีลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล บาดเจ็บสาหัส นายอภิสิทธิ์ที่ให้ความเคารพรักนายสนธิอย่างสูง ได้สั่งตำรวจมือดีเข้าสอบสวนหาทีมสังหาร และเริ่มเกิดข้อขัดแย้งกับ พล.ต.อ.พัชรวาท”

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลมาร์ค-เทือกกับ พล.ต.อ.พัชรวาท หนักหน่วงขึ้นในกรณีตั้ง ผบ.ตร. จนมาอาศัยเหตุที่ ป.ป.ช.ชี้มูลคดีสลายม็อบพันธมิตรฯ 7 ตุลาคม 2551 เป็นข้ออ้างในการเด้ง พล.ต.อ.พัชรวาท

แต่เมื่อไม่สามารถฝืนมติ ก.ต.ช.ได้ ก็ใช้วิธีตั้ง พล.ต.อ.ปทีปรักษาการไปเรื่อยๆ แล้วการเปลี่ยนสัญญาจากแยกภาคที่ พล.ต.อ.พัชรวาททำเอาไว้ มาเป็นรวบสัญญาเดียวก็เกิดในช่วงนี้เอง

“อย่างไรก็ตาม ในภายหลัง พล.ต.อ.พัชรวาทได้ต่อสู้ทั้งอุทธรณ์ต่อ ก.ตร. ทั้งร้องศาลปกครอง จนได้รับการปลดคำสั่งย้าย ถือว่าเกษียณอายุในตำแหน่ง ผบ.ตร.”

ขณะที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ผู้ทำคดีขณะนั้น วันนี้ต้องเข้าคุกเพราะคดีหมิ่นประมาทนายสุเทพ ในเรื่องคดี 396 โรงพัก

แต่สำนวนที่นายธาริตและดีเอสไอเสนอมาให้ไต่สวนนั้น สุดท้าย ป.ป.ช.สรุปว่ามีมูลจริง!