จัตวา กลิ่นสุนทร : ไป (เยี่ยมเพื่อน) “โรงพยาบาล” – ชีวิตของความเจ็บไข้

เชื่อว่าไม่มีใครอยากไปโรงพยาบาล นอกเสียจากว่ามีความจำเป็นเช่นเยี่ยมญาติ เพื่อนสนิทมิตรสหายที่ไปรักษาตัว หรือเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาเสียเอง

อันที่จริงก็เข้า-ออกโรงพยาบาลมาหลายปีทีเดียว ไปพบแพทย์ตามระยะเวลาที่กำหนดนัดหมายเพื่อรับยามากินเองเนื่องจากอาการของโรคมิได้รุนแรง เพียงแต่มีอาการตามวัย เช่น ความดัน ไขมันในเลือด และน้ำตาลขึ้นสูงเกินอัตราที่เขาพึงจะมีกัน โดยเฉพาะกับผู้สูงวัย

เมื่อตัวเลขอายุเดินผ่านเข้าสู่เลข 4 กลางๆ อาการต่างๆ เริ่มปรากฏให้เห็นบ้าง เนื่องจากได้สะสมสิ่งที่เป็นพิษภัยกับร่างกายในยามหนุ่มแน่นไว้มาก การใช้ชีวิตดื่มกินตามใจปากพอควร ไม่ค่อยสนใจ ไร้วินัยกับร่างกายตัวเอง

กระทั่งมีอาการโน่นนี่ปรากฏ เช่น เจ็บหน้าอก ทั้งเรื่องของทางเดินอาหารจึงต้องไปพบแพทย์ตามคำร้องขอของแม่บ้านผู้เป็นหุ้นส่วนชีวิตที่ไม่ต้องการเห็นอาการหนักหนาจนยากแก้ไข

ส่วนเรื่องการเป็นหวัดเป็นไข้นั้นแทบจะเป็นเพื่อนสนิท เนื่องจากไม่ค่อยได้ดูแลร่างกายตัวเอง กินนอนไม่เป็นเวลา พักผ่อนนอนหลับไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านเขา

ต้องเรียกว่าใช้ชีวิตสมบุกสมบันประมาณนั้น

อีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายมากอย่างไม่ค่อยจะรู้สึกตัว ด้วยการสะสมมาเรื่อยๆ คือเรื่อง “สูบบุหรี่” ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมวัยรุ่นแต่ก่อนจึงคิดว่ามันเท่ เป็นลูกผู้ชายเช่นเดียวกับการ “ดื่มเหล้า” ทั้งๆ ที่เงินทองไม่ค่อยจะมียังริอ่านสูบ ดื่มกินกันตั้งแต่ยังทำมาหาเงินไม่ได้ ต้องแบมือขอสตางค์จากพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ซึ่งหมายความว่ายังอยู่ในวัยเรียนหนังสือ

เริ่มริอ่านหัดสูบบุหรี่ตามๆ กันมาตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย โดยซื้อกันเป็นมวนๆ เพราะแต่ก่อนมีการแกะซองแบ่งขาย ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่มีมากน้อย โดยเจียดแบ่งมาจากค่าขนมไปเรียนหนังสือนี่แหละ

เริ่มต้นจากบุหรี่ที่คิดกันว่าไม่ฉุนไม่รุนแรง แล้วก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สมัยยังเป็นวัยรุ่นเท่าที่จำได้ จะเป็นบุหรี่ยี่ห้อ “เกล็ดทอง” ซองสีแดงๆ “สามิต” ซองสีขาวๆ มวนสั้นๆ ยังไม่มีบุหรี่ก้นกรอง (Filter Cigarettes) และทุกอย่างค่อยขยับขึ้นตามลำดับชั้น จนกระทั่งก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัย จึงได้เพิ่มการหัด “ดื่มเหล้า” ขึ้นมาอีกอย่าง

ยังดียุคสมัยนั้นยังไม่มี “ยาเสพติด” ผลิตง่ายแพร่ระบาดอย่างรุนแรงเหมือนเช่นทุกวันนี้ อาจมีเพื่อนพ้องใกล้ชิดกับพวกเราเข้าไปทดลองกับมันก็เป็นไปได้ เนื่องจากพวกเราล้วนอยู่ในครอบครัวกลุ่มเสี่ยงพอสมควร เพราะไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีอันจะกิน ขณะเดียวกันพ่อแม่ท่านไม่มีเวลา ความรู้ความสามารถมาให้การอบรมชี้แนะได้ไปมากกว่าให้ทำตัวเป็นคนดี ตั้งใจเรียนหนังสือ

บังเอิญสังคมบ้านนอกแต่ก่อนค่อนข้างจะสงบ เป็นสังคมที่ไม่ใหญ่โต ใครทำอะไรที่ไหนย่อมจะรู้เห็นกันได้ไม่ยากนัก ครูใหญ่ของโรงเรียนประจำจังหวัด นอกจากจะรู้จักชื่อนักเรียนเกือบครบทุกคน ยังสามารถเรียกชื่อพ่อ-แม่ของนักเรียนถูกต้องอีกด้วย

ต่างจังหวัดไม่มีสิ่งยั่วยวนล่อใจอะไรเหมือนอย่างเช่นสมัยนี้ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจในเมือง ซึ่งเรียกกันว่าในตลาดอย่างดี ก็แค่โรงหนัง ซึ่งเมื่อไม่มีหนังมาฉายจะเอาลิเกมาเล่นเป็นเดือนๆ ชนิดผูกปีเล่นยังมี คนแก่คนเฒ่าเท่านั้นจึงจะออกมาหาความบันเทิงเหล่านี้ได้

สำหรับวัยรุ่นจังหวัดอื่นไม่รู้ได้ แต่สำหรับที่บ้านเกิดผม ครูผู้ปกครองปล่อยให้ออกมาตลาดได้ไม่เกิน 2 ทุ่ม

เรื่อง “ยาเสพติด” จำได้แต่เพียงว่ามีแค่ “โรงยาฝิ่น” ซึ่งถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแต่คนจีน หรือคนไทยก็สุดแท้แต่ที่ทำงานหนักประเภทพวกแบกหามจะเข้าไปสูบกัน ส่วนคนบ้านนอกจะใช้ยาเส้นมวนด้วยใบจาก กระดาษหนังสือพิมพ์ เป็นบุหรี่สำหรับสูบ

ส่วนพวกหนักๆ หน่อยประเภทสิงห์อมควันนั้นเล่นไปถึง “กัญชา” ซึ่งน่าจะผิดกฎหมาย

 

เรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วย จำได้ว่าแทบไม่เคยไปโรงพยาบาล รักษากันตามมีตามเกิดแบบพื้นบ้าน ใช้ยาสมุนไพรประเภทว่านต่างๆ สำหรับอาการเคล็ดขัดยอกช้ำบวม ฯลฯ พวกยาหม่องอะไรนี่เพิ่งจะติดตามมาห่างๆ ส่วนยาเขียวแทบจะเป็นยาสามัญประจำบ้านเลยทีเดียว

เราเติบโตกันมาอย่างนี้ทั้งลูกคนรวยคนจนในต่างจังหวัด เมื่อผ่านโรงเรียนประจำจังหวัดแล้วก็ต้องดิ้นรนเข้ามาศึกษาเล่าเรียนให้สูงขึ้นเพื่อจะได้กลับไปสานงานต่ออาชีพดั้งเดิมของพ่อ-แม่ พวกยากไร้ไม่มีอะไรรองรับที่บ้านเกิดจึงต้องดิ้นรนหาหนทางในการต่อสู้ทำมาหากิน และสร้างครอบครัวขึ้นใหม่

ยามเด็กอยู่ต่างจังหวัดจึงไม่เคยสัมผัส ไม่เคยต้องเข้าโรงพยาบาล จนกระทั่งเติบโตเป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มรู้จักเที่ยวซุกซนกันตามประสาผู้ชายในสถานที่ผู้ชายต้องไปกันเป็นส่วนใหญ่ คือ “ซ่องโสเภณี” หรือสถานนางโลม

จึงหนีไม่พ้นต้องเรียนรู้เพื่อซื้อยาจากร้านของคนจีนซึ่งเรียกกันติดปากว่าหมอตี๋ เนื่องจากคนไทยเชื้อสายจีนจะนิยมลงทุนเปิดร้านขายยา ก่อนที่จะมีประสบการณ์สูงขึ้น พร้อมรวบรวมความกล้าไปพบแพทย์ตามคลินิกเพื่อฉีดยารักษาโรคติดต่อ

พวกเราเติบโตขึ้นตามวัย แยกย้ายกันไปศึกษาเล่าเรียนและประกอบอาชีพต่างๆ กัน จนกลายเป็นผู้สูงวัยพร้อมสร้างครอบครัว เกิดลูก-หลานสืบสานต่อๆ กันมา

ได้กลับมาพบกันมากขึ้นเมื่อเวลาเดินทางพาเข้าสู่ปัจฉิมวัย บ้างห่างหายเงียบเชียบไปในสังคมอันกว้างใหญ่ไพศาล หลายคนถูกโรคร้ายเข้ามาเกาะกุมรุมเร้า

และจำนวนไม่น้อยในรุ่นที่ได้นัดพบกันประจำได้ล้มหายตายจาก จนมีความรู้สึกว่าในแต่ละปีที่เวลาวนเวียนมาครบรอบวันนัดพบปะพูดคุย กระทั่งการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรดาเพื่อนร่วมรุ่น ครู อาจารย์ ที่ได้เดินทางล่วงหน้าไปก่อนแล้ว จำนวนลดลงๆ จนบางตาไปมาก

 

บ้านเรากลายเป็นสังคมของผู้สูงอายุ เรียกกันตามประสาเราๆ ต้องบอกว่า “คนอายุยืน” ขึ้นมากกว่าแต่ก่อน

จำได้ว่าตอนที่เราเป็นเด็กเล็กๆ เมื่อได้รู้ว่าพ่อแม่ของเราอายุ 60 ปี ซึ่งถึงเวลาเกษียณอายุราชการ สำหรับท่านที่เป็นตำรวจ ทหาร ข้าราชการพลเรือน มีความรู้สึกว่าท่านชราภาพมาก

ความเจริญก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ การศึกษาทดลองค้นคว้า ค้นคิดยารักษาโรค ตลอดจนเครื่องมือในการทำการรักษาคนพัฒนามากขึ้น จนกระทั่งทำการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้แทบจะทุกชนิด แต่ในขณะเดียวกันเชื้อโรคร้ายต่างๆ กลับมีการพัฒนาขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น พร้อมประเทศเราก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ การดูแลรักษาย่อมต้องหนักขึ้นเป็นเงาไม่แตกต่างกัน โรงพยาบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะลำพังเพียงแต่โรงพยาบาลของรัฐย่อมไม่เพียงพอต่อการรักษา ในขณะที่ “โรงพยาบาลเอกชน” เป็นธุรกิจที่ลงทุนด้วยจำนวนเงินสูงยิ่ง โดยเฉพาะแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นได้อย่างช้าๆ การรักษาพยาบาลจึงจำเป็นต้องมีราคาสูงมาก

กระทั่งคนมีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าไปพึ่งพาได้

 

จําได้ว่านานมากแล้วด้วยอาชีพการหาข่าวมานำเสนอ เคยเสนอเรื่อง “รองเท้าเข้าแถว” จาก “โรงพยาบาลของรัฐ” ซึ่งยังพอจำกันได้ว่าเป็นการต่อคิวเพื่อจะได้เข้าพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโรค เพื่อรักษา ซึ่งต้องเดินทางไปโรงพยาบาลตั้งแต่ดึกดื่น และ “วางเรียงรองเท้า” เข้าคิวไว้แทน ส่วนเจ้าของรองเท้าแอบนั่งหลับ นอนรออยู่แถวๆ นั้น

เพราะต้องไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์แต่ไม่ถี่นัก ขณะเดียวกันก็ยอมไปในช่องทางการรักษาที่พอจะรับไหว เช่น คลินิกนอกเวลา ซึ่งจะมีอัตราค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าในเวลาปกติธรรมดาสักหน่อย ซึ่งก็ต้องใช้แพทย์จากแห่งเดียวกันสลับหมุนเวียนมาทำการรักษานอกเวลาราชการ

เป็นเรื่องดีเป็นอย่างมาก คงหนีไม่พ้นต้องชื่นชมความคิดของท่านที่คิดเรื่อง “คลินิกนอกเวลา” ขึ้น

ท่านที่ไม่เคยไปโรงพยาบาลรัฐในเวลาปกติ คงไม่ทราบว่าค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร สืบเนื่องมาจากผู้คนเจ็บป่วยกันมากมายจนล้นหลามโรงพยาบาล แทบรับไม่ไหวในแต่ละวัน ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลได้พยายามขยายตึก ขยายอาคารอย่างไม่หยุด แต่ก็ยังเต็มไปด้วยคนเจ็บไข้ได้ป่วย และผู้สูงอายุจะมีจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดสำหรับร่างกายที่เดินทางมาไกลอย่างยาวนาน

สำหรับคนเจ็บป่วยผู้สูงอายุก็มีจำนวนมากอยู่แล้ว เมื่อเพิ่มคนสูงวัยที่ต้องนั่งรถเข็น (Wheel Chair) ด้วยแล้ว ดูเหมือนจะค่อนข้างแออัดทีเดียว

เป็นภาพที่หดหู่หัวใจ “ผู้สูงวัย” ด้วยกันเป็นอย่างยิ่ง