นิธิ เอียวศรีวงศ์ : คนแปลกหน้าทางวัฒนธรรม

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ความรังเกียจไปจนถึงเกลียดชังทักษิณในหมู่ “ผู้ดี” ไทยนั้น ผมรู้สึกว่าจะอธิบายให้ชัดๆ ไม่ได้สักราย เช่น ทักษิณเป็นคนขี้โกง ถามว่าโกงอะไรบ้าง ก็ไม่สามารถบอกอย่างมีหลักฐานเป็นประจักษ์พยานได้ ทั้งหมดเป็นหลักฐานแวดล้อมทั้งสิ้น ทักษิณตีตนเสมอเจ้า ก็เช่นกัน ไม่สามารถบอกได้ว่าเขาทำอะไรชัดๆ ที่ส่อไปเช่นนั้น

ที่มีหลักฐานชัดๆ หน่อยก็น่าจะเป็นเรื่องของความไม่เลื่อมใสในระบอบปกครองประชาธิปไตย และหลักนิติรัฐนิติธรรม แต่สองเรื่องนี้ “ผู้ดี” ไทยไม่ถือเป็นข้อน่ารังเกียจอยู่แล้ว จึงไม่เคยได้ยินผู้ดีคนไหนพูดถึง

ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงคิดว่าความรังเกียจทักษิณในหมู่ “ผู้ดี” ไทยนั้น น่าจะมีเหตุในทางวัฒนธรรมมากกว่าการเมืองหรือเศรษฐกิจหรือการล่วงละเมิดกฎหมายข้อใด

ผมจึงลองคิดถึง “ความผิด” ทางวัฒนธรรมผู้ดีของทักษิณว่ามีอะไรบ้าง และจะคุยให้ฟังข้างล่างนี้

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL
AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

“ความผิด” ทางวัฒนธรรมทั้งหมดเหล่านี้สามารถสรุปรวมเป็นเรื่องของเจ๊กต่าง “ถิ่น” ทะเลาะกัน (หมายถึง dialect ในที่นี้) อย่างที่ท่านอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ชี้ไว้อย่างทีเล่นทีจริงใช่หรือไม่? ผมคิดว่าไม่ใช่ แต่อาจารย์เบนไม่มีวันผิดในเรื่องนี้ เพราะเอาเข้าจริงโคตรเหง้า “ผู้ดี” ไทยทั้งหมดคือ “เจ๊ก” ทั้งสิ้น (ข้อมูลของ คุณสงวน คุ้มรุ่งโรจน์ หรือ “เฮียหงวน” บอกได้ยิ่งกว่าแซ่อะไร แม้แต่ชื่อจีนว่าอะไรก็บอกได้ด้วย) และความเป็นเจ๊กมากหรือเจ๊กน้อยเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการใช้เพื่อเหยียดกันหรือยกกันตลอดมา แต่เป็นเจ๊ก “ถิ่น” ไหนไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

ผมจะกลับมาเรื่องนี้อีกข้างหน้า เพราะเรื่องนี้สำคัญ

ผมคิดว่าทักษิณคิดอะไรที่ไม่ลงรอยกับประเพณีทางปัญญาของผู้ดีไทยอยู่สี่ห้าประการ intellectual tradition หรือประเพณีทางปัญญาเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องสำคัญในหมู่ชนชั้นนำสยามและไทย เพราะโดยพื้นฐานแล้วคือเรื่องของการเผชิญกับโลกสมัยใหม่และทุนนิยมทั้งสิ้น พูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็นประเพณีทางปัญญาของ “ผู้ดี” โดยแท้ ชาวบ้านไม่เกี่ยว เพราะชาวบ้านไม่เคยมีโอกาสเสนอความคิดของตนว่าเราควรเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

จะโดยเจตนาหรือไม่ผมก็ไม่แน่ใจ แต่ทักษิณท้าทายคติพัฒนาของไทย ซึ่งถือเป็นเสาหลักอันหนึ่งของชาตินับตั้งแต่สมัยสฤษดิ์เป็นต้นมา

พัฒนาของผู้ดีไทยนั้นหมายถึง การที่ผู้นำทำความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุให้แก่ประเทศ จนผู้คนไม่ว่าผู้ดีหรือไพร่ต่างมั่งมีศรีสุขมากขึ้น โดยเรายังรักษา “ความเป็นไทย” ไว้ได้อย่างเดิมทุกประการ คนรุ่นผมยังจำได้ว่า เมื่อสฤษดิ์เริ่มดำเนินนโยบายพัฒนาไปได้ไม่ทันไร ปัญญาชนไทยสมัยนั้นต่างก็ออกมาเรียกร้องให้ต้องรักษาวัฒนธรรมไทยและศีลธรรมไทยไว้พร้อมกันไปกับการพัฒนาวัตถุ

ตรงกันข้ามนะครับ ทักษิณย้ำเสมอว่า หากเราจะฟื้นเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งขึ้นหลังวิกฤต เราต้องกล้าเสี่ยง กล้าบุกเบิกทางธุรกิจ (entrepreneurial) แทนที่จะเรียกร้องให้เราประหยัดมัธยัสถ์, ขยันหมั่นเพียร และมีความสามัคคี อะไรทำนองนั้น นี่เป็นการเรียกร้องที่ “ไม่ไทย” เอาเสียเลย

ขนาดเรียกร้องให้คนไม่ว่ารวยหรือจนต้องรู้จักแปลงทรัพย์สินเป็นทุน ทั้งๆ ที่ทรัพย์สินน้อยนิดของคนจนอาจเป็นหลักประกันท้องได้มากกว่าทุนก็ตาม

ผมไม่ได้หมายความว่าผู้ดีไทยไม่ entrepreneurial เสียเลย เขาจะรักษาและขยายทรัพย์สมบัติของเขามาได้อย่างไร หากไม่รู้จักเสี่ยงในทางธุรกิจ แต่เขาไม่พูดหรอกครับ อย่างน้อยต้องไม่ยกย่องการแข่งขันและการฉวยโอกาสว่ามีความสำคัญในการมีชีวิตอยู่ท่ามกลางระบบทุนนิยม ผู้ดีไทยพร่ำพูดแต่ศีลธรรมและความสัมพันธ์ที่มีสูงมีต่ำซึ่งสืบทอดมาแต่ยุคก่อนทุนนิยม

Entrepreneurship หรือความกล้าเสี่ยงกล้าลงทุนทางธุรกิจเป็นสิ่งที่ไม่น่ายกย่องในหมู่ผู้ดีไทย ก็เพราะมันอาจนำไปสู่การพลิกผันทางสังคมที่รวดเร็ว ผู้ดีจะเดินตรอก ขี้ครอกจะเดินถนน

AFP PHOTO / Jewel SAMAD
AFP PHOTO / Jewel SAMAD

“เถ้าแก่น้อย” อาจทำให้ทักษิณได้คะแนนเสียงจากคนเล็กๆ ข้างล่าง แต่ทำความตระหนกให้แก่คนใหญ่ๆ ข้างบนอย่างมาก

แม้แต่ชาตินิยมซึ่งเป็นหลักการสำคัญของผู้ดีไทยมานาน ทักษิณก็ให้ความสำคัญเหมือนกัน แต่ชาตินิยมของทักษิณไม่เหมือนชาตินิยมของผู้ดี ซึ่งใช้มันเป็นเครื่องมือในการรักษาสังคมช่วงชั้นของไทยให้อยู่คงทนถาวรเท่านั้น ทักษิณเห็นว่าชาตินิยมคือเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทุนนิยมครับ สำนึกชาตินิยมอย่างรุนแรงนำไปสู่การขยายตัวและความเข้มแข็งของทุนนิยม ทักษิณเรียกชาตินิยมของเขาว่าชาตินิยมใหม่

ทักษิณไม่ได้คิดเองหรอกครับ แต่เอามาจากนักวิชาการฝรั่งชื่อ Liah Greenfield ทักษิณนั้นเหมาะจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมากกว่าเป็นนักการเมือง เพราะเอาของเขามาแล้วยังอุตส่าห์ลงฟุตโน้ตไว้ด้วย แทนที่จะผลักดันชาตินิยมใหม่โดยไม่ต้องบอกว่าผลักดันทำไม ทำให้ อาจารย์ผาสุก พงศ์ไพจิตร และ อาจารย์คริส เบเคอร์ ตามไปอ่านได้สะดวก (ดู Pasuk Phongpaichit & Chris Baker, Thaksin, the Business of Politics in Thailand) นอกจากจะพบว่าทักษิณอ้างผิดแล้ว ยังทำให้ผู้ดีมองเห็นด้วยว่าอ้าวชาตินิยมของมึงไม่เหมือนของกูนี่หว่า

เช่นเดียวกับนโยบายการทูตของทักษิณ ซึ่งเปลี่ยนทูตจากที่เป็นตัวแทนแห่งเกียรติยศของชาติมาเป็นทูตซีอีโอ หรือตัวแทนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติ อาจารย์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เล่าว่า สร้างความรังเกียจให้เหล่า “ผู้ดี” ของกระทรวงการต่างประเทศอย่างยิ่ง (Reinventing Thailand, Thaksin and His Foreign Policy)

14369364411436936478l
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

ในแง่วัฒนธรรมทางการเมือง ทักษิณชอบอ้างทฤษฎีสัญญาประชาคมของรุสโซเสมอ แต่สัญญาประชาคมของทักษิณนั้นห่างไกลจากของรุสโซจนเป็นคนละเรื่องไปเลย เพราะทักษิณย้ำว่าเมื่อประชาชนได้ตัดสินใจเลือกเขาเป็นผู้นำแล้ว ก็เป็นสัญญาประชาคมที่ต้องปล่อยให้เขา “นำ” อย่างไรก็ได้ หากไม่พอใจเลือกตั้งเมื่อไร ก็อย่าเซ็นสัญญาประชาคมใหม่กับเขาสิ

อันที่จริงการเลือกตั้งเคยเป็นเงื่อนไขความชอบธรรมของระบอบกษัตริย์ไทยเหมือนกัน ปรากฏทั้งในอัคคัญสูตรและหลักอเนกนิกรสโมสรสมมติ แต่พระสมมติราชในอัคคัญสูตรนั้นไม่ใช่ลูกเจ๊กฮักกา หากเป็นพระโพธิสัตว์ ส่วนอเนกนิกรที่จะมาสมมติใครขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ ก็ไม่ใช่ใครหน้าไหนก็ได้ หากต้องเป็น “ผู้ดี” ด้วยกันเท่านั้น

แม้ว่าผู้ดีไทยไม่เคยมีประชาธิปไตยแบบรุสโซในสายตา แต่การตีความสัญญาประชาคมแบบทักษิณ ก็เท่ากับปฏิเสธหลัก “ธรรมราชา” นั่นเอง ขอให้มีการเลือกตั้งเสียอย่างเดียว จะเอาโจรใจทมิฬหินชาติคนไหนมาเป็นผู้นำก็ได้

เป็นเหตุให้ผู้ดีและสมุนพากันก่นประณามการเลือกตั้งในภายหลัง รวมทั้งทำให้เชื่อว่าทักษิณลบหลู่พระบรมเดชานุภาพและไม่ยอมรับ “พระราชอำนาจ” บอกเรื่องปฏิญญาฟินแลนด์ก็เชื่อ เรื่องใช้พระอุโบสถวัดพระแก้วทำพิธีอย่างไม่สมควรก็เชื่อ ก็คนที่ปฏิเสธหลัก “ธรรมราชา” จะทำอะไรได้ นอกจากอย่างนี้แหละ

AFP / Jewel SAMAD
AFP / Jewel SAMAD

ความคิดสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ทักษิณท้าทาย โดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม คือ “ความเป็นไทย” ไม่ใช่ทักษิณไม่เคยใช้เรื่องนี้ในการโฆษณาหาเสียงหรือผลักดันนโยบายของตนนะครับ ทำบ่อยไม่ต่างจากผู้นำทางการเมืองไทยทั่วไป แต่ “ความเป็นไทย” ของทักษิณนั้นแปร่งๆ พอสมควร เพราะมันไม่เป็นทั้งก้อน เขาเลือกเป็นอย่างๆ ที่สอดรับกับเป้าหมายทางการเมืองของเขา

ยิ่งไปกว่านั้นเขายังวิพากษ์บางเรื่องที่สำคัญของความเป็นไทยด้วยคำพูดหรือการกระทำด้วย ผมขอยกตัวอย่างจากสองเรื่อง

ทักษิณดูถูกเหยียดหยามสิ่งที่เขาเรียกว่า “ระบบอุปถัมภ์” ศัตรูของเขามักกล่าวว่าประชานิยมของเขาคือระบบอุปถัมภ์อย่างหนึ่ง แต่ผมอยากชี้ให้เห็นความต่างระดับพื้นฐานเลย แน่นอนระบบอุปถัมภ์คือการแลกเปลี่ยนอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนในตลาด หากเป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่เกิดขึ้นทันที ทั้งไม่อาจกำหนดสิ่งที่จะแลกเปลี่ยนกันได้อย่างชัดเจนแน่นอน เป็นเรื่องของการสร้างบุญคุณ ที่อีกฝ่ายจะต้องตอบแทนในโอกาสอันควร ตรงกันข้ามนะครับ ประชานิยมของทักษิณนั้นชัดเจนมาแต่ต้นเลยว่า กองทุนหมู่บ้านก็ตาม, ธนาคารคนจนก็ตาม, สามสิบบาทก็ตาม ต้องแลกด้วยคะแนนเสียง และเสียงสนับสนุน (เขาเคยเผลอหลุดคำพูดออกมาว่า คนใต้ที่ไม่ลงคะแนนให้พรรคของเขาจะไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ)

เขาเปลี่ยนการแลกเปลี่ยนในระบบอุปถัมภ์มาเป็นการแลกเปลี่ยนในระบบตลาด ซึ่งผู้ดีไทยเห็นว่า “หยาบคาย” มาก

AFP / Jewel SAMAD
AFP / Jewel SAMAD

ทักษิณชอบอ้างความคิดฝรั่ง เรื่องนี้ก็ไม่แปลกนะครับ ปัญญาชนไทยอ้างความคิดฝรั่งมาเป็นร้อยปีแล้ว แต่เพื่อไม่ให้ความคิดฝรั่งมาทำลายความนับถือตนเองของไทย ปัญญาชนไทยจึงมักจับความคิดฝรั่งบวชเสียก่อน

สังเกตปาฐกถาของท่านอาจารย์ประเวศ วะสี สิครับ (หรือในแง่นี้ควรรวม คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ด้วย) อ้างความคิดฝรั่งเต็มไปหมด แต่ท่านก็มักจะชี้ว่ามันตรงกับคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างไร ความเข้มแข็งของชุมชนจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอปริหานิยธรรม “ปราชญ์ชาวบ้าน” จำนวนมากเจริญภาวนาอยู่อย่างสม่ำเสมอ ฯลฯ ปัญญาชนที่เหนือกว่านั้น เช่น คุณคึกฤทธิ์ ปราโมช ไม่ต้องอ้างฝรั่งเลย แต่ทำให้ความคิดแบบไทยๆ สามารถยืดหยุ่นแปรผันรับกับความเปลี่ยนแปลงที่ฝรั่งเพิ่งค้นพบได้เสมอ

ความเป็นไทยของปัญญาชนไทยทั่วไป เป็นหลักประกันว่าสังคมไทยจะดำรงอยู่โดยแก่นแท้ดั้งเดิมของมันไปได้ตลอด หากไม่ได้ก็ยินดีที่ทหารยึดอำนาจ

ทักษิณอ้างความคิดฝรั่งลุ่นๆ อยากให้ไทยเป็นทุนนิยมเต็มขั้น โดยไม่แสดงความอาลัยอาวรณ์กับความเป็นไทยเอาเสียเลย จึงน่ารังเกียจแก่ผู้ดีอย่างมาก

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL
AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

จะเห็นเรื่องนี้ได้ดีเมื่อเอาคุณทักษิณไปเปรียบกับคุณชวน (หลีกภัย) ครับ

คุณชวนคงไม่อาจอ้างตนว่าอยู่ในกลุ่ม “ผู้ดี” ได้ แต่คุณชวนเป็นคนน่ารักแก่ผู้ดีไทย เพราะท่านเป็นคน “เรียบร้อย” คือไม่คิดจะนำความเปลี่ยนแปลงอะไรมาให้แก่สังคมไทย ที่สำคัญไม่เคยคิดจะทำอะไรที่กระทบกระเทือนโครงสร้างเกียรติยศ, เงินตรา, อำนาจของผู้ดีไทยเลย จึงไม่จำเป็นต้องอ้างฝรั่งสักครั้งเดียว ใครพูดเรื่องความขัดแย้งในเชิงชนชั้น คุณชวนจะรีบปรามทันที เกรงว่าจะเกิดความแตกแยกในสังคม หรือกระทบโครงสร้างอย่างว่าแหละครับ

ทั้งคุณชวนและคุณทักษิณก็เป็นเจ๊กด้วยกันทั้งคู่ ซ้ำยังเป็นเจ๊กต่าง “ถิ่น” กันด้วย แต่ผมเข้าใจว่า ความเป็นอริของคนทั้งสองไม่ได้มาจากความเป็นอริระหว่างฮกเกี้ยนและแคะ เพราะทั้งสองท่านคงไม่เคยสำนึกด้วยซ้ำว่าตัวเป็นฮกเกี้ยนและแคะ แม้ต่างก็รู้ตัวดีว่าตนมีเชื้อสายจีน (หรือเป็นเจ๊กในภาษาของผม) ต่างก็กำลังเดินไปบนหนทางที่จะกลายเป็นผู้ดีไทยในอนาคตอันใกล้ และขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ดีไทยแล้วก็ต้องมีเชื้อจีนหรือเป็นเจ๊กทั้งนั้น

อันที่จริงเจ๊กประกอบกันขึ้นเป็นผู้ดีของสังคมอุษาคเนย์หลายสังคมด้วยกันนอกจากไทย ในโลกมลายูสมัยหนึ่งก็ใช่ เพราะ “กะปิตันจีน” ยกลูกสาวให้เป็นเมียคนชั้นสูงอยู่บ่อยๆ กษัตริย์มัชปาหิตองค์สุดท้ายได้รับพระราชทานเจ้าหญิงจากจีน โอรสจากการเสกสมรสครั้งนี้ได้เป็นเจ้าแผ่นดินชวา เชื้อสายเจ้าหญิงจีนนี้ไปเป็นโอรสของสุลต่านแห่งปาเลมบังด้วย Anthony Reid บอกว่า ชาวจีนในรัฐต่างๆ ของอุษาคเนย์นิยมกลืนตัวเองไปกับชนชั้นสูงของสังคม และในที่สุดก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นสูงไปด้วย (“Chinese as a Southeast Asian “Other”” ใน Imperial Alchemy)

ฟิลิปปินส์นั้นเหมือนเมืองไทยเลย ขึ้นชื่อว่าเป็นชนชั้นนำของฟิลิปปินส์ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ล้วนเป็นเจ๊กทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม สำนึกความเป็นเจ๊กในหมู่ผู้ดีอุษาคเนย์ไม่ได้เป็นอัตลักษณ์สำคัญ ในหลายสังคมรวมทั้งสังคมไทย ไม่นิยมเปิดเผยนักด้วยซ้ำ ยกเว้นแต่สถานะความเป็นผู้ดีได้รับการยืนยันอย่างยากจะปฏิเสธได้แล้ว ในแง่นี้ทักษิณจึงแตกต่างจากวัฒนธรรมผู้ดีไทยอีกนั่นแหละ ดูเหมือนเขาจะเป็นนายกฯ คนเดียวที่เล่าประวัติของตระกูลอย่างเปิดเผยว่าบรรพบุรุษเพียงเมื่อสองชั่วอายุคนก่อน เป็นจีนอพยพ