คนมองหนัง | “นางสิบสอง” จาก “นิทานมรดกอุษาคเนย์” สู่ “ละครจักรๆ วงศ์ๆ”

คนมองหนัง

ได้ฤกษ์บวงสรวงเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำหรับละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องใหม่ของค่ายสามเศียร นั่นคือ “นางสิบสอง” (ฉบับปี 2562) ซึ่งจะแพร่ภาพตอนแรกในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ ถัดจาก “ขวานฟ้าหน้าดำ 2562”

ถ้าพิจารณาจากจำนวนตัวละครอันมากมายและกองทัพนักแสดงที่ยกมาเกือบหมดค่าย ก็ต้องยอมรับว่า “นางสิบสอง” นั้นมีสเกลใหญ่กว่า “ละครขัดตาทัพ” เช่น “ขวานฟ้าหน้าดำ” ชัดเจน

ผู้รับบท “ท้าวรถสิทธิ์” ใน “นางสิบสอง” เวอร์ชั่นใหม่ คือ “ณพบ ประสบลาภ” ถือเป็นการหวนกลับมาสวมบทเด่นในละครจักรๆ วงศ์ๆ ช่อง 7 อีกครั้งหนึ่งของเขา หลังจากต้องถอยไปรับบทรองๆ มาพักใหญ่ (ทั้งนี้ ไม่นับบท “ขุนแผน” ในละคร “ขุนแผนแสนสะท้าน” ช่องดาวเทียมจ๊ะทิงจา)

ส่วนเหล่า “นางสิบสอง” นั้น ประกอบด้วยนักแสดงหน้าใหม่และนักแสดงหน้าเดิม ที่หลายคนเคยผ่านบทพระธิดาใน “สังข์ทอง 2561” หรือบทบาทอื่นๆ ในละครพื้นบ้าน มาแล้ว อาทิ “นาย-ชนุชตรา สุขสันต์” “พิมพ์-อัญรส ปุณณโกศล” “เพลง-ชนารดี อุ่นทะศรี” “แก้ม-กัญจน์อมล เคล้าจิตพูลสุข” “มีน-วรัญภรณ์ พัฒน์ช่วย”

รวมถึง “ปูเป้-เกศรินทร์ น้อยผึ้ง” ที่ผันตนเองจากบท “รจนา” พระธิดาองค์เล็กของท้าวสามนต์ มาสู่ “เภา” น้องคนสุดท้องในบรรดา “นางสิบสอง”

ด้าน “นางยักษ์สันธมาลา” จะรับบทโดย “แคนดี้-ชุติมา เอเวอรี่” ซึ่งปัจจุบัน ถือเป็นหนึ่งในนักแสดงละครจักรๆ วงศ์ๆ มากประสบการณ์

ข้ามไปยังตัวเอกรุ่นลูก ผู้รับบท “พระรถเสน” ไม่ใช่ใครอื่น นอกจาก “ข้าวตู-พลพจน์ พูลนิล” ซึ่งเพิ่งเป็นพระเอกใน “ขวานฟ้าหน้าดำ” มาหมาดๆ

แต่ที่เซอร์ไพรส์คือผู้สวมบท “เมรี” ในฉบับนี้ ซึ่งพลิกโผเป็น “พิงค์-กมลวรรณ ศตรัตพะยูน” อดีตรองอันดับหนึ่ง มิสทีนไทยแลนด์ 2011 และผู้เข้าประกวดนางสาวไทย พ.ศ.2559

ที่เลื่อนชั้นมาจากบทสมทบ “โหงพราย/หงส์ฟ้า” อันกึ่งร้ายกึ่งตลก ใน “สังข์ทอง 2561”

นอกจากนี้ ตัวละครสมทบจำนวนมากใน “นางสิบสอง 2562” ยังเต็มไปด้วยนักแสดงดาวเด่นของบริษัทสามเศียร

ไม่ว่าจะเป็น “ขวัญ-ปิ่นทิพย์ อรชร” “ม่อน-สุรศักดิ์ สุวรรณวงษ์” “ปอนด์-โอภาภูมิ ชิตาพัณณ์” “บุ๊ค-พบศิลป์ โตสกุล” “รัฐ-รัฐศิลป์ นลินธนาพัฒน์” “ปลั๊ก-สวีเดน ทะสานนท์” “แมน-สุพศิน แสงรัตนทองคำ” “บีท-สุกฤษฏิ์ สงแก้ว”

ไล่ไปถึงรุ่นใหญ่อย่าง “ลูกศร-อรศศิพัชร์ มามีเกตุรัตน์” และ “ไพโรจน์ สังวริบุตร” ที่มารับบท “แม่” และ “พ่อ” ของ “นางสิบสอง”

ตลอดจนดาราอาวุโส คือ “อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา” ซึ่งจะสวมบท “ยายค่อม” (ที่ตนเองเคยแสดงเอาไว้หนหนึ่งแล้วใน “นางสิบสอง 2543”)

นับว่าคุณป้าอรสาเลือกรับงานได้เด็ดขาดทีเดียว หลังจากเมื่อช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แกก็ร่วมแสดงใน “กรงกรรม” ละครหลังข่าวกระแสดี-เรตติ้งสูงแห่งฝั่งช่อง 3

พิจารณาจากรายละเอียดข้างต้น “นางสิบสอง” จึงเป็น “ละครฟอร์มยักษ์ตัวจริง” ประจำปี 2562 ของค่ายสามเศียร (และช่อง 7)

ขณะเดียวกัน “นางสิบสอง 2562” ก็มีโอกาสจะโกยเรตติ้งหรือดึงดูดใจมหาชน (ชาวไทยและประเทศเพื่อนบ้าน) ได้สูงกว่า “ขวานฟ้าหน้าดำ”

ทั้งเพราะรสชาติเรื่องราว ที่มีทั้งพฤติกรรมความโหดเหี้ยม (ควักลูกตา-กินเด็กทารก) ระหว่างผู้หญิงด้วยกัน ผนวกด้วยบทลงเอยในแบบโศกนาฏกรรมระหว่าง “พระรถเสน” กับ “นางเมรี”

และการเป็นนิทานสำคัญหรือวัฒนธรรมร่วมของดินแดนในแถบอุษาคเนย์มาแต่เดิม

“สุจิตต์ วงษ์เทศ” อธิบายว่า “พระรถเมรี” กับ พระสุธนมโนห์รา” คือละครชาวบ้านเก่ายุคอยุธยา ซึ่งมีผู้คนนิยมชมชอบราวหลัง พ.ศ.2000 เป็นต้นมา

ละครทั้ง 2 เรื่องได้รับความนิยมแพร่หลาย เพราะมีโครงสร้างการดำเนินเรื่องแบบบ้านๆ ไม่ตายตัว สามารถปรับเปลี่ยนให้ถูกจริตชาวบ้านในยุคสมัยต่างๆ ได้ตลอดเวลา

สุจิตต์ยังเสนอว่า “พระรถเมรี-พระสุธนมโนราห์” คือ ตำนานบรรพชนลาวลุ่มน้ำโขง ซึ่งเคลื่อนย้ายตามชนกลุ่มนี้มาสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตก ตั้งแต่หลัง พ.ศ.1500 โดยฟักตัวอยู่ในรัฐสุพรรณภูมิและรัฐเพชรบุรี แล้วแพร่กระจายไปถึงนครศรีธรรมราช

(ข้อมูลจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ : พระรถ เมรี, สุธน มโนห์รา ละครชาวบ้านเก่าสุด ยุคอยุธยา https://www.matichon.co.th/columnists/news_115582)

เมื่อ พ.ศ.2560 สถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ และคณะกรรมการฝ่ายวิจัย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มใหญ่ “นางสิบสอง-พระรถเมรีศึกษา” ซึ่งรวบรวมบทความจากการประชุมวิชาการระดับชาติเรื่อง “ขับนิทานนางสิบสอง ขานทำนองพระรถเมรี : นิทานมรดกแห่งอุษาคเนย์” ออกวางจำหน่าย

“รัตนพล ชื่นค้า” อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บรรณาธิการของหนังสือ ชี้ว่านิทาน “นางสิบสอง-พระรถเมรี” เป็น “นิทานมรดกแห่งอุษาคเนย์” ซึ่งแพร่หลายทั้งในประเทศไทย, เมียนมา, ลาว และกัมพูชา

ในบทความ “นิทานเรื่องนางสิบสอง-พระรถเมรี : การถ่ายทอดเรื่องเล่าพื้นบ้านในอุษาคเนย์” เขียนโดย รัตนพล ชื่นค้า, ธันวพร เสรีชัยกุล และ จริยา สุพรรณ ระบุว่า นอกจากนิทาน “นางสิบสอง” หรือ “พระรถเมรี” จะเป็นตำนานบรรพชนกลุ่มชาวลาว ซึ่งปรากฏอยู่ในตอนต้นพงศาวดารล้านช้าง และแพร่หลายไปตามการอพยพของชาวลาว คล้ายข้อเสนอของสุจิตต์แล้ว

คณะผู้เขียนยังอ้างอิงวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิตหัวข้อ “การศึกษาเชิงเปรียบเทียบเรื่องพระรถ-เมรีฉบับต่างๆ” ของ “นันทพร พวงแก้ว” ซึ่งเสนอว่านิทานเรื่องนี้อาจมีที่มาจากนิทานอินเดียแถบเบงกอลและแคชเมียร์

โดยแพร่หลายเข้ามาผ่านทางลังกาหรือแพร่กระจายโดยตรงมาผสมผสานอยู่ในวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือของไทย

จากนี้ แฟนละครจักรๆ วงศ์ๆ จะมีโอกาสรับชมเรื่องราวของ “นางสิบสอง” และ “พระรถเมรี” กันแบบยาวๆ และอาจต่อเนื่องไปถึง “พระสุธนมโนราห์” จนครบไตรภาคเลยก็เป็นได้