ผ่าคดีแพรวาชน 9 ศพ ค้างเยียวยาเหยื่อ 41 ล้าน วางโฉนด-ขายที่ชดใช้ ยธ.ขีดเส้นต้องจบ 28 ส.ค.

เข้าขั้นมหากาพย์แห่งคดีที่คนให้ความสนใจมากที่สุด

สำหรับอุบัติเหตุรถชนบนทางด่วนโทลล์เวย์เมื่อ 9 ปีก่อน จนมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้นถึง 9 ศพ

ผู้ต้องหาในคดีเป็นเพียงเด็กสาววัย 17 ปี หรือที่รู้จักกันว่า “แพรวา”

เธอขับเก๋งซีวิคของครอบครัวด้วยความเร็วสูง ชนรถตู้โดยสารที่ออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต จนตกลงจากบนทางด่วน

โดยเหยื่อทั้ง 9 คน มีทั้งนักศึกษา นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป สร้างความสูญเสียให้กับครอบครัว

ซึ่งหวังพึ่งกระบวนการยุติธรรม เพื่อเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้น

ต่อสู้กันมา 9 ปี แต่น่าเสียดายที่เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาแล้วให้จำเลยชดเชยความเสียหายให้กับครอบครัวเหยื่อ

การดำเนินการกลับล่าช้า แถมถูกประวิงจากที่ปรึกษาทางกฎหมาย

จนกลายเป็นเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากสังคม

จุดประเด็นขึ้นมาร้อนแรงอีกครั้ง

สังคมจี้แพรวารับผิดชอบ 9 ศพ

กระแสสังคมให้ความสนใจอีกครั้ง สำหรับคดีแพรวา หรือในปัจจุบันใช้ชื่อว่า น.ส.รวินภิรมย์ อรุณวงศ์ จำเลยในคดีรถตู้ 9 ศพ ที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาชดเชยเหยื่อทั้งหมดกว่า 25 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 แต่ผ่านมากว่า 2 เดือนกลับไม่มีอะไรคืบหน้า

เป็นเหตุให้เหยื่อจากเหตุการณ์ออกมาร้องขอความเป็นธรรม พร้อมระบุว่า ทางจำเลยไม่ได้เดินทางไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อติดต่อกับทนายจำเลย ก็ได้รับการบ่ายเบี่ยง กลับพูดจาทำร้ายจิตใจ อ้างว่าหากอยากได้เงินก็ให้ไปฟ้องร้องเอาเอง จนกระทั่งกระแสสังคมออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมอีกครั้ง

ส่งผลให้กระทรวงยุติธรรมโดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เข้ามากำชับเรื่องให้และมอบหมายให้นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เร่งดำเนินการ

พร้อมนัดประชุมกับทนายโจทก์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม และกำหนดกรอบเวลาของคดี ให้จำเลยและพวกร่วมกันจ่ายชดเชยให้เหยื่อประมาณ 25 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2553 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เมื่อคำนวณจนถึงปัจจุบัน ต้องชำระหนี้รวมเป็นเงินประมาณ 41 ล้านบาท

ทั้งนี้ คำบังคับคดีจะครบกำหนดในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ จากนั้นจำเลยมีเวลา 30 วัน จะครบกำหนดจ่ายชดเชย คือวันที่ 28 สิงหาคม 2562 หากผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าว ฝ่ายโจทก์จะต้องขอกำหนดตัวเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อเริ่มต้นการเข้าสู่ขั้นตอนการบังคับคดี โดยทนายโจทก์ขอศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อให้มีอำนาจสืบทรัพย์ เมื่อได้ทรัพย์แล้วจะตั้งเรื่องให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์เพื่อประกาศขายทอดตลาด

เป็นกำหนดการที่จำเลยต้องปฏิบัติตาม

พร้อมขายที่ดินจ่ายเหยื่อ

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของทางครอบครัวแพรวา หลังจากปรากฏเป็นข่าว เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.อ.รัฐชัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา พ่อของแพรวา ส่งโฉนดที่ดิน อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 21 ไร่ และโฉนดที่ดินหมู่บ้านเมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เนื้อที่ 300 ตารางวา ให้นายกรรชัย กำเนิดพลอย พิธีกรรายการโหนกระแส เป็นสื่อกลางในการติดต่อขายเพื่อนำเงินไปชดเชยเหยื่อ

โดยนางลัดดาวัลย์ อรุณวงศ์ แม่ของแพรวา ระบุว่า อยากบอกผู้สูญเสียทุกคน ทั้งครอบครัวอยากแสดงความจริงใจให้เห็นว่าเรามีทรัพย์สินอยู่ตรงนี้ พร้อมที่จะขายให้กับทุกคน เพราะเรามีเงินไม่พอ จึงต้องขอโทษว่าหาเงินไม่ทันจริงๆ ในส่วนของเงินสด ไม่อยากให้ทุกคนเสียเวลาสืบทรัพย์มันจะช้าไปอีก ทำให้ทุกคนได้รับการเยียวยาช้าไป จะไม่บิดพลิ้วใดๆ ทั้งสิ้น ไม่เคยย้ายทรัพย์หนี ฝากขายทางรายการด้วยก็ได้ โดยราคาที่ดิน 2 แปลงรวมกว่า 100 ล้านบาท ที่ อ.สามร้อยยอด ราคาประมาณ 50 ล้านบาท ถ้าไม่พอ อีกแปลงที่บ้าน มีมูลค่า 55 ล้านบาท

ส่วนที่ไม่ได้ไปขึ้นศาล เพราะต้องดูแลพ่อที่กำลังป่วยอยู่ จึงส่งทนายไปแทน โดยทนายรับปากว่าจะไปฟังมาให้ว่าค่าชดใช้เท่าไร แต่ไม่ทราบจริงๆ ว่าทนายไม่ได้ไป พอทราบก็ช็อกเหมือนกัน ทั้งโกรธและเสียใจ ต้องขอโทษญาติผู้เสียหายทุกคนจริงๆ

ยืนยันไม่ได้คิดจะดึงเรื่อง ถ้ามีเงินสดในตัว เราไม่ต้องมีการฟ้องร้องเลย เราจัดให้ทุกคน แต่เมื่อตัวเลขสูง ซึ่งมันประเมินค่าชีวิตของคนที่จากไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่เมื่อมีการอุทธรณ์ มันก็เป็นขั้นตอนของกฎหมาย

“เรื่องผ่านมา 9 ปีแล้วก็จริง แต่ครอบครัวเราเหมือนเรื่องเพิ่งเกิดเมื่อวาน เขาทุกข์เราก็ทุกข์ ทุกคนเสียใจ ทุกคนสูญเสีย เราก็เสียใจ ลูกเรายังอยู่ แต่ก็เหมือนตายทั้งเป็น ทุกวันนี้ทุกคนอยู่ได้ด้วยยานอนหลับ มันเป็นแบบนี้ ไม่เคยมีวันไหนมีความสุข บางวันเพื่อนมาเยี่ยมเราอาจจะยิ้ม แต่ข้างในเราร้องไห้ เราทุกข์ตลอด แพรวาตอนนี้ยังอยู่บ้านกับพ่อ-แม่ เคยแต่งงานครั้งหนึ่ง แต่ตอนนี้เลิกราไปแล้ว ตอนนี้เหมือนคนซึมเศร้า ต้องคอยระวังว่าลูกจะฆ่าตัวตายวันไหน” นางลัดดาวัลย์กล่าว

ส่วนการเปลี่ยนชื่อนั้นเป็นเพราะการไปเรียนหนังสือ ลูกอยากมีชีวิตปกติ แต่เมื่อเปลี่ยนชื่อแล้วคนก็ยังจำนามสกุลได้ ทุกครั้งที่ไปไหนก็ระแวงไปหมด ลูกเลยขอเปลี่ยนมาใช้นามสกุลแม่

โดยมีรายงานอีกว่ามีเศรษฐีติดต่อซื้อที่ดินแล้ว นัดเจรจาตกลงรายละเอียดในวันที่ 24 กรกฎาคม

หากขายได้เรียบร้อยก็จะเยียวยาเหยื่อได้อย่างรวดเร็ว

คดีสิ้นสุด-โทษคุกรอลงอาญา

สําหรับคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงค่ำวันที่ 27 ธันวาคม 2553 โดย “แพรวา” เยาวชนหญิงอายุ 17 ปี ขับรถเก๋งซีวิค ทะเบียน ฎว 8461 กทม. พุ่งชนรถตู้โดยสาร เหตุเกิดบนโทลล์เวย์ขาเข้า หน้าสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ติดกับโรงงานยาคูลท์ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร ส่งผลให้รถตู้โดยสารเสียหลักพุ่งชนแบริเออร์และเสาไฟฟ้าส่องสว่างตกลงมาใต้ทางด่วน

ขณะที่ผู้โดยสารหลายคนกระเด็นออกมา มีทั้งเสียชีวิตอยู่ภายในรถ และตกลงมาเสียชีวิตด้านล่าง รวมทั้งถูกแขวนห้อยต่องแต่งอยู่บนราวสะพานลอย สร้างความสยดสยองให้กับผู้พบเห็น

โดยที่ผู้โดยสารทั้งหมดมีทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด๊อกเตอร์นักวิจัยของ สวทช. สร้างความสูญเสียทรัพยากรบุคคลอย่างมหาศาล

ด้านหญิงสาวคนดังกล่าวบาดเจ็บเล็กน้อย พร้อมให้การว่ากำลังขับรถเพื่อจะแซงรถตู้ แต่รถตู้เปลี่ยนเลนกะทันหัน เป็นเหตุให้พุ่งชนจนเกิดความเสียหายดังกล่าว

คดีนี้ถูกนำขึ้นฟ้องศาลอาญา ซึ่งสิ้นสุดในชั้นศาลอุทธรณ์ เนื่องจากเมื่อปี 2558 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกา เนื่องจากเห็นว่าข้อฎีกาไม่มีสาระสำคัญจะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาเดิมของศาลอุทธรณ์

โดยเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ว่าจำเลยมีความผิดฐานขับรถประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และทำให้ทรัพย์สินเสียหาย คำให้การในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 4 ปี ให้คุมประพฤติ 3 ปี ทำเพ็ญประโยชน์ 48 ชั่วโมงต่อปี เป็นเวลา 3 ปี รวม 144 ชั่วโมง

และห้ามขับรถยนต์จนกว่าอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์

ศาลแพ่งสั่งชดเชย 25 ล้าน

ส่วนคดีแพ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจ มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ 2266-2278/2559 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 กรณีที่กลุ่มผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์ ที่กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวม 28 ราย ยื่นฟ้อง น.ส.แพรวา พ.อ.รัฐชัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา นางนิลุบล อรุณวงศ์ บิดาและมารดา นายสุพิรัฐ จ้าววัฒนา ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ซีวิค พร้อมพวก เป็นจำเลยที่ 1-7 จ่ายชดใช้ค่าเสียหาย 113,077,510.22 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้ง 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับเหยื่อทั้ง 28 ราย เป็นเงินเกือบ 28 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี จำเลยและโจทก์ส่วนหนึ่งอุทธรณ์

ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ปรับลดค่าชดเชยส่วนหนึ่ง แต่จำเลยและโจทก์ส่วนหนึ่งยื่นฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจพิจารณาข้อเท็จจริงว่า วันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงไปตามทางยกระดับอุตราภิมุข ขาเข้าจากดอนเมืองมุ่งหน้าดินแดง เมื่อใกล้ทางลงบางเขน พุ่งชนท้ายรถตู้ที่มีนางนฤมล ปิดตาทานัง เป็นคนขับ จนรถตู้โดยสารเสียหลักชนขอบกำแพงคอนกรีตแล้วตกลงมาจากทางยกระดับ

ซึ่งศาลอาญาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส ให้ลงโทษจำคุก โดยรอการลงโทษไว้ คดีอาญาถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ขณะที่ศาลอาญาไม่ได้วินิจฉัยว่าคนขับรถตู้ประมาท การยื่นฎีกาโดยอ้างว่าเป็นการประมาทร่วมจึงฟังไม่ขึ้น

โดยศาลอาญาวินิจฉัยเพียงพฤติการณ์ในการขับรถตู้ว่ามาด้วยความเร็ว เพื่ออธิบายว่าเมื่อขับอยู่ในเลนเดียวกัน แต่รถของจำเลยที่ 1 ยังวิ่งมาทัน พยายามจะแซง และชนรถตู้ เท่ากับว่าเป็นการใช้ความเร็วสูงกว่ารถโดยสารและเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

ส่วนผู้โดยสารทั้งหมดถือเป็นผู้รับเคราะห์ เมื่อฟังไม่ได้ว่านางนฤมลขับรถโดยประมาท ย่อมไม่มีเหตุให้ลดหย่อนค่าอุปการะ

และยังเห็นว่า นายสุพิรัฐ ที่เป็นจำเลยที่ 4 รู้ดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์ ไม่มีใบอนุญาตขับรถตามกฎหมาย ย่อมต้องตระหนักว่าการขับรถอาจเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ แต่จำเลยที่รู้เห็น ยังยินยอมให้นำรถยนต์ไปขับ จึงต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย

จึงให้จำเลยร่วมชดใช้ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์แต่ละรายเห็นว่าเป็นอัตราที่เหมาะสม

ส่งผลให้ฝ่ายจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายกับกลุ่มโจทก์ในชั้นฎีการวมกว่า 24,796,925 บาท พร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี