วิเคราะห์ : สำรวจภัยพิบัติ “อินเดีย-สหรัฐ-ไทย” ในห้วงวิกฤตสภาพอากาศ

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

กางแผนที่โลกบนโต๊ะแล้วเอาข่าวความเปลี่ยนแปลงทางสภาวะภูมิอากาศของแต่ละประเทศมาทาบ จะเห็นความเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือความทุกข์ของชาวโลกที่เกิดจากเหตุ “โลกร้อน”

เริ่มกันที่อินเดียตอนเหนือ บริเวณแคว้นอัสสัม ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพื้นที่แห่งนี้เข้าสู่ฤดูมรสุม ชาวเมืองเผชิญกับพายุฝนถล่มอย่างหนักหน่วง

น้ำในแม่น้ำพรหมบุตรล้นทะลักไหลหลากท่วมบ้านเรือนพืชไร่ ต้องอพยพผู้คนกว่า 5.8 ล้านคนออกจากเขตอันตราย

ผลตามมา ชาวเมืองเจอน้ำปนเปื้อนไปด้วยโคลนตมและสิ่งสกปรก

ฤดูมรสุมของอินเดียเพิ่งเริ่มต้น แต่มีสัญญาณบ่งบอกถึงความรุนแรง มีผู้เสียชีวิตทั้งในแคว้นอัสสัม แคว้นพิหารแล้วกว่า 140 คน

 

กวาดสายตาลงมาที่เมืองเชนไน เมืองหลวงของแคว้นทมิฬนาฑู เมืองใหญ่อันดับ 6 ของอินเดีย มีประชากรเกือบ 10 ล้านคน

ที่นั่น เผชิญกับภัยแล้งเนื่องจากฝนทิ้งช่วงมานานนับเดือน

แหล่งน้ำสำรองของเมืองแห้งขอดจนสามารถเห็นดินแตกระแหงจากภาพถ่ายดาวเทียมเหนือท้องฟ้า

ชาวเชนไนเป็นทุกข์เพราะต้องแบกไหพลาสติกไปรอรองน้ำจากรถน้ำวันละ 4-5 ครั้ง

รัฐบาลอินเดียควักเงินราว 2 พันล้านบาท เยียวยาและสูบน้ำ 2.5 ล้านลิตรขนใส่ขบวนรถไฟมาช่วยแบ่งเบาทุกข์ชาวเชนไน

ภัยแล้งเชนไน ปลุกกระแสวิพากษ์วิจารณ์กระหึ่มไปทั่วว่าผู้บริหารเมืองไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีแผนรับมือวิกฤต

เมืองเชนไนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ศูนย์กลางผลิตรถยนต์ มีโรงงานอุตสาหกรรมผุดขึ้นมากมาย การขยายเมืองเป็นไปอย่างรวดเร็ว โรงงานจำนวนมากสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้และนายทุนบุกรุกป่าชายเลนทำเป็นที่พักอาศัย

วิกฤตแล้งของ “เชนไน” เปรียบเทียบกับวันไร้น้ำ (Day Zero) เมืองเคปทาวน์ของประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว คล้ายกันอย่างยิ่ง กล่าวคือ แหล่งน้ำในเมืองแห้งเหือดจนเกือบเป็นศูนย์

 

สํานักงานอุตุนิยมวิทยา กระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินเดียประมวลวิกฤตการณ์ที่เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน เช่น น้ำท่วม พายุไซโคลน ในช่วงตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา พบว่ามีเหยื่อสูญเสียชีวิตมากกว่า 2,400 คน

การเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยอุณหภูมิของอินเดีย ระหว่างปี 2444-2453 กับปี 2552-2561 พบว่าเพิ่มขึ้น 0.6 องศาเซลเซียส

ธนาคารโลกประเมินว่า ถ้าสถานการณ์ “โลกร้อน” ไม่เปลี่ยน อุณหภูมิของอินเดียในอนาคตข้างหน้า จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 29.1 c สูงกว่าค่าเฉลี่ยปัจจุบันถึง 4 c

สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ไม่เพียงชาวนาชาวไร่ของอินเดียได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสเท่านั้น

ในผลสำรวจขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอ ประมวลว่าคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมและภาคการก่อสร้าง เจอชะตากรรมเลวร้ายไม่น้อยหน้าชาวนาชาวไร่เพราะโรงงานลดปริมาณการผลิตเนื่องจากภัยแล้งทำให้เศรษฐกิจตกต่ำการค้าขายชะงักงัน

ภายในปี 2573 ไอแอลโอคาดว่าคนงานอินเดียที่ทำงานเต็มเวลาจะได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิร้อนจัดราว 34 ล้านตำแหน่ง

 

กวาดตาขึ้นไปที่ทวีปอเมริกา ทั้งชาวแคนาดา และชาวอเมริกันราว 200 ล้านคน ที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ ฝั่งตะวันออก อาทิ นิวยอร์ก วอชิงตัน ดี.ซี. บอสตัน และแถบมิดเวสต์ เผชิญกับวิกฤตอากาศร้อนสุดๆ อุณหภูมิทะลุ 38 c

นายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์กส่งคำเตือนผ่านทวิตเตอร์ว่า คลื่นความร้อนครั้งนี้ ชาวนิวยอร์กเกอร์อย่าประมาทเป็นอันขาด ดื่มน้ำ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ อย่าออกไปข้างนอก อยู่ในห้องแอร์เย็นๆ และช่วยกันเอาใจใส่ดูแลเพื่อนบ้านใกล้เคียงด้วย

ในนิวยอร์ก มีการติดตั้งศูนย์ความเย็น 500 จุดสำหรับดูแลสุขภาพของชาวเมือง

มาตรการนี้ มีหลายเมืองในอเมริกา อย่างเช่น ดีทรอยต์นำไปใช้ด้วย

ส่วนในแคนาดา มีคำเตือนจากหลายๆ เมือง เช่น ออนตาริโอ โนวา สโกเทีย ควิเบก ให้ระมัดระวังความร้อนมีอุณหภูมิสูงถึง 40 c

เมืองมอนทรีล แม้ปรอทวัดอุณหภูมิได้ที่ 40 c แต่จะรู้สึกร้อนถึง 45 c แถมอาจจะมีพายุกระหน่ำซ้ำ

นักวิทยาศาสตร์ชี้เลยว่า คลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุมทวีปอเมริกาเป็นเพราะผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ

อุณหภูมิมีความแปรปรวนมาก ถ้าร้อนก็จะร้อนมากขึ้น

แต่หากอุณหภูมิลดลง ความหนาวเย็นจะมากกว่าเดิม เช่นเดียวกัน หากมีพายุ จะเป็นพายุรุนแรง หรือมีฝนก็เป็นฝนที่ตกหนักหน่วง

นักวิทยาศาสตร์ให้ย้อนดูสถิติสภาพภูมิอากาศของสหรัฐปีนี้เหตุน้ำท่วมบริเวณตอนกลางของสหรัฐเกือบทั้งหมด ทำสถิติสูงกว่าเก่า เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาวัดได้ถึง 7 นิ้ว

ในฤดูหนาว เกิดปรากฏการณ์โพลาร์วอร์เท็กซ์ ความหนาวเย็นจากขั้วโลกเหนือพัดลงมาปกคลุมชั้นบรรยากาศเหนือทวีปอเมริกา ทำให้หิมะตกหนาและอุณหภูมิลดฮวบ

 

ย้อนกลับมาที่บ้านเรา ปรากฏการณ์ “เอลนิโญ” ซึ่งมาจากความแปรปรวนของสภาวะภูมิอากาศโลกทำให้เกิดปัญหาฝนทิ้งช่วง ปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติ

บางพื้นที่ เช่น พิจิตร ฝนไม่ตกมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม อีกหลายๆ จังหวัด ฝนทิ้งช่วงมานาน 2 เดือน พอตกก็มีน้ำฝนกะปริบกะปรอย

ชาวนาทำได้แค่นั่งรอดูต้นข้าวเหี่ยวเฉารอวันแห้งตาย

กรมอุตุฯ ทำนายว่า ต้นเดือนสิงหาคมฝนจะเทลงมา แต่ไม่ทันการณ์แล้ว ต้นข้าวอาจเสียหายกว่า 70 เปอร์เซ็นต์

เมื่อฝนทิ้งช่วง เขื่อนใหญ่ๆ ทั้งหลายที่เตรียมกักเก็บน้ำประสบปัญหา ไม่มีน้ำไหลลงเขื่อน อย่างเช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่งัด เขื่อนแควน้อย เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

เจ้าหน้าที่สำรวจปริมาณน้ำในเขื่อนพบว่า มีจำนวน 17 แห่ง ปริมาณน้ำน้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของความจุ

ปริมาณน้ำในเขื่อนน้อย การปล่อยน้ำลงสู่พื้นที่ด้านล่างลดลงด้วย

ส่วนแหล่งน้ำกักเก็บสำรองไว้ทำน้ำประปาในหลายพื้นที่ประสบกับวิกฤตภัยแล้ง เนื่องจากน้ำแห้งขอด

รัฐบาลต้องงัดมาตรการคุมเข้มการปล่อยน้ำจากเขื่อน เรียกร้องให้ชาวนาใช้น้ำอย่างประหยัดหรือชะลอการปลูกข้าวไว้ก่อน รวมถึงการทำฝนเทียม เตรียมรถน้ำเอาไว้แจกจ่ายผู้ประสบภัย

วิกฤตการณ์ “โลกร้อน” ทำให้ทุกข์ของชาวอินเดีย ชาวอเมริกัน แคนาดา และคนไทย มีความต่างกันไม่มากซะเท่าไหร่