ศัลยา ประชาชาติ : เจาะวิกฤตแล้งกลางฤดูฝน พื้นที่ปลูกข้าวลดฮวบ 50% กระทบ GDP-เศรษฐกิจภาพรวม

ทั้งๆ ที่ยังเหลือระยะเวลาอีก 9 เดือนถึงจะเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งในเดือนเมษายนปี 2563 แต่สถานการณ์น้ำภายในประเทศปัจจุบันกลับตกอยู่ในภาวะวิกฤต

โดยปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของประเทศ ณ วันที่ 24 กรกฎาคม เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้เพียง 10,677 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 23 มีน้ำไหลเข้าอ่าง 55.39 ล้าน ลบ.ม./วัน แต่ต้องระบายน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำกินน้ำใช้ถึงวันละ 98.83 ล้าน ลบ.ม.

หากกรมชลประทานยังระบายน้ำออกจากเขื่อนทั่วประเทศในระดับนี้ คาดการณ์ได้เลยว่าจะมีปริมาณน้ำให้ใช้ได้ไม่เกิน 170 วัน หรือประมาณ 6 เดือนนับตั้งแต่วันนี้ไป

 

ปัญหาภัยแล้งที่เกิดกลางฤดูฝนของปี 2562 นับเป็นเหตุการณ์ที่ “ไม่ปรกติ”

ซึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนิโญ (El Nino) หรือ “ฝนน้อยน้ำน้อย” มาตั้งแต่ต้นปี 2562

โดยกรมชลประทานได้วางแผนการจัดสรรน้ำตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561(เริ่มต้นปีน้ำของปี 2562) ไปจนกระทั่งถึงวันที่ 30 เมษายน 2562

ปรากฏทุกลุ่มน้ำสำคัญของประเทศมีการใช้น้ำเกินไปกว่าแผนทั้งสิ้น โดยลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่วางแผนการจัดสรรน้ำไว้ที่ 7,772 ล้าน ลบ.ม. ปล่อยน้ำจริง 9,345 ล้าน ลบ.ม. หรือเกินไปกว่าแผนร้อยละ 20

ในขณะที่ลุ่มน้ำภาคตะวันตกวางแผนจัดสรร 3,910 ล้าน ลบ.ม. ปล่อยน้ำจริง 5,133 ล้าน ลบ.ม. เกินไปกว่าแผนร้อยละ 31, ลุ่มน้ำภาคใต้ 2,079 ล้าน ลบ.ม. ปล่อยน้ำ 2,708 ล้าน ลบ.ม. เกินไปกว่าแผนร้อยละ 30, ลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,337 ล้าน ลบ.ม. ปล่อยน้ำ 1,463 ล้าน ลบ.ม. เกินไปกว่าแผนร้อยละ 9 และลุ่มน้ำภาคตะวันออก จัดสรรน้ำ 923 ล้าน ลบ.ม. ปล่อยน้ำ 959 ล้าน ลบ.ม. หรือเกินไปกว่าแผนร้อยละ 4

การระบายน้ำ “เกินไปกว่าแผน” เข้าใจว่าเกิดจากการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝนปี 2562 ที่เริ่มต้นตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา “ผิดพลาด”

กล่าวคือ 3 เดือนแรกของต้นฝนปีนี้เอาเข้าจริงมีฝนตกน้อยกว่าที่ประมาณการไว้มากถึงร้อยละ 18 หรือจากค่าเฉลี่ยที่ประมาณการไว้ระหว่างร้อยละ 5-10

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 30 ส่งผลให้ฝนที่ตกในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ “ไม่มากอย่างที่คาดการณ์ไว้”

และฝนจะตกบริเวณแนวตะเขบชายแดนเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำในเขื่อนหลักของประเทศอย่างที่ควรจะเป็น

ประกอบกับการระบายน้ำที่ “เกินไปกว่าแผนจัดสรรน้ำมาก” ทำให้อ่างเก็บน้ำหลักๆ ของประเทศมากกว่า 18 แห่งตกอยู่ในภาวะมีปริมาตรน้ำใช้การได้จริง “ต่ำกว่า” ร้อยละ 30

โดยมีอยู่ 8 เขื่อนหลักที่มีปริมาณน้ำใช้การได้เข้าขั้นวิกฤตและวิกฤตแล้ว ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ น้ำใช้การได้ติดลบ -17 หรือคิดเป็นร้อยละ -1 กับเขื่อนจุฬาภรณ์ 6 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 4 โดยในปัจจุบันทั้ง 2 เขื่อนมีการระบายน้ำน้อยมาก หรือเฉลี่ยวันละ 0.50 ล้าน ลบ.ม. เข้าใจว่าจะเป็นน้ำ Dead Storage (ความจุของอ่างเก็บน้ำส่วนที่ต่ำกว่าระดับน้ำต่ำสุดที่กำหนดไว้) ส่งผลกระทบต่อการอุปโภค-บริโภคและพื้นที่การเกษตรเป็นวงกว้างในจังหวัดขอนแก่นและชัยภูมิ

ส่วนเขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในขั้นวิกฤตที่เหลืออีก 6 เขื่อน ได้แก่ แม่กวงอุดมธารา 29 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 12, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 28 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 10, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 39 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 4, เขื่อนทับเสลา 20 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 14, เขื่อนกระเสียว 29 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 11 และเขื่อนขุนด่านปราการชล 31 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 14

ทั้งหมดนี้แทบจะไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อน และหากยังระบายน้ำในอัตราปัจจุบันจะมีน้ำใช้การได้ให้เหลือใช้อยู่ระหว่าง 50-300 วันเท่านั้น

 

ด้านการจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำกินน้ำใช้ของกรุงเทพมหานครและเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของประเทศ ปรากฏว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วงไม่น้อยไปกว่าสถานการณ์น้ำของเขื่อนใหญ่ทั้ง 18 แห่ง โดยทั้ง 4 เขื่อนใหญ่ (ภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาตรน้ำใช้การได้เหลืออยู่แค่ 1,311 ล้าน ลบ.ม. เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีน้ำใช้การได้เหลืออยู่ถึง 13,389 ล้าน ลบ.ม. หรือเท่ากับ “น้ำน้อยกว่า” ปีที่ผ่านมาถึง 12,078 ล้าน ลบ.ม.

ด้วยปริมาตรน้ำใช้การได้คงเหลืออยู่ ณ ปัจจุบัน หากกรมชลประทานยังระบายน้ำในอัตราวันละ 47-48 ล้าน ลบ.ม. จะมีผลทำให้เหลือน้ำใช้การต่อไปได้ไม่น่าเกิน 50 วันหรือประมาณ 1 เดือนครึ่งนับจากวันนี้เป็นต้นไป ส่งผลให้ทางคณะอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเริ่มหารือกันถึงขั้นที่จะต้องนำน้ำ Dead Storage จากเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์มาใช้กรณีที่วิกฤตจริงๆ ในช่วงฤดูแล้งปี 2563

ดูเหมือนว่าความหวังเดียวที่มีอยู่ในปัจจุบันก็คือ ในช่วงปลายฤดูฝนในอีก 3 เดือนต่อจากนี้ (สิงหาคม-ตุลาคม) จะต้องมีพายุลูกใหญ่เข้ามาในประเทศ 2-3 ลูกเพื่อมาเติมน้ำในเขื่อนหลักและอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก-กลางที่กระจายอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ น้ำฝนจากพายุที่คาดการณ์ว่าจะพัดผ่านประเทศไทย “ถ้าเกิดขึ้นจริง” จะช่วยในเรื่องของน้ำกินน้ำใช้เป็นอันดับแรก

จากสถานการณ์ปัจจุบัน หลายพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือขาดแคลน “น้ำดิบ” ในการทำประปาภูมิภาคแล้ว ยังไม่นับความเสียหายจากพืชผลทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ข้าว-ข้าวโพด-มันสำปะหลัง-ยางพารา-ผัก-ผลไม้ยืนต้นตาย

จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดพบว่า พื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศขณะนี้ลดลงไปถึงร้อยละ 50 เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาลดลงร้อยละ 26 ความชื้นในดินมีน้อยมาก

สอดคล้องกับความเห็นของนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ คาดการณ์ GDP ภาคเกษตรของประเทศในปีนี้ “อาจจะต้องติดลบ” เพราะพืชไร่ทุกรายการจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหมด ข้าวนาปีน้ำฝนในภาคเหนือและภาคอีสานจะมีผลผลิตเป็นศูนย์ “จนปลายปีนี้ชาวนาอาจจะต้องถึงขั้นซื้อข้าวกิน” และปัญหาพืชผลการเกษตรจะกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงกำลังซื้อของรากหญ้าทั่วประเทศด้วย

จนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเริ่มออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลปรับแผนการบริหารจัดการน้ำใหม่หมด อย่างน้อยเพื่อ “ชะลอ” ปริมาณน้ำคงเหลือให้มีพอกินพอใช้ไปจนถึงฤดูแล้งในเดือนเมษายนข้างหน้า การระบายน้ำเพื่อการเกษตรทั้งหมดอาจจะ “ต้องงด” การจัดสรรน้ำ ถ้าในอีก 3 เดือนข้างหน้าไม่มีพายุฝนเข้ามา

แน่นอนว่าเกษตรกรที่อาศัยน้ำจากระบบชลประทาน รวมไปถึงเกษตรกรนอกระบบชลประทาน จะต้องได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนแสนสาหัส

 

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาภัยธรรมชาติของ ธ.ก.ส.ที่จะให้สินเชื่อเงินด่วน-สินเชื่อฟื้นฟูพัฒนาคุณภาพชีวิต และสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน รวมไปถึงการปรับแผนพักชำระหนี้ “อาจจะไม่เพียงพอและกลายเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรจากภาระเงินกู้ไม่สิ้นสุด”

ทางออกที่พูดกันมากขณะนี้ก็คือ การจ่าย “เงินเยียวยาพิเศษ” ให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งโดยตรง ซึ่งจะต้องให้ “มากกว่า” อัตราภัยพิบัติปัจจุบันที่กำหนดไว้ให้ ข้าว 1,113 บาท/ไร่ พืชไร่ 1,148 บาท/ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 1,690 บาท ชดเชยรายละไม่เกิน 30 ไร่

ดีกว่าจะปล่อยให้เกษตรกรล้มกันทั้งประเทศจากปัญหาภัยแล้งที่หนักสุดในรอบหลายๆ ปีที่ผ่าน