อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : อะไรต่อไปสำหรับฮ่องกง?

“…ไม่ว่าพวกเขาจะปกครองฮ่องกงหรือไม่ ผู้ประท้วงในฮ่องกงกำลังท้าทายระบอบอำนาจของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง…”

The Economist 29 June 2019 : 28

 

นี่เป็นข้อความจั๋วหัวซึ่งอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ท่ามกลางการประท้วงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ต่อการออกกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน (extradiction) การชุมนุมที่ผ่านมามีตำรวจปราบจลาจล การใช้แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย ไม้กระบอกและโล่กำบัง ฉีดน้ำใส่ ส่วนผู้ประท้วงต่อต้านก็ใช้ร่ม ก้อนหิน ไม้ ผลักดันเจ้าหน้าที่

นางแคร์รี่ แลม (Carrie Lam) ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีนออกมาแถลงและแสดงความเสียใจอย่างจริงใจในความผิดพลาดของเธอที่ผลักดันกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเข้าสู่สภานิติบัญญัติฮ่องกงจนถึงวาระที่ 2 และเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อความขัดแย้งและความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ฝ่ายที่เห็นด้วยกับรัฐบาลฮ่องกง

 

มีฝ่ายผู้เห็นด้วยกับรัฐบาลฮ่องกงที่ดำเนินการและผ่านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนอยู่ไม่น้อย

พวกเขาเห็นว่า ผู้รณรงค์เพื่ออิสรภาพแบบตะวันตกในฮ่องกงเสแสร้งว่า พวกเขาไม่ต้องการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่พวกเขาคิดว่าเป้าหมายของผู้รณรงค์เพื่ออิสรภาพและผู้นำในปักกิ่งควรจะร่วมมือกัน ทั้งสองฝ่ายควรแสวงหาความมั่งคั่งต่อไปสำหรับฮ่องกง หลังจากพ้นจากการเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรครบ 22 ปีแล้ว และฮ่องกงกลายมาเป็นระบบตลาดเสรีส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้คำขวัญ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” (One Country, Two System)

การรณรงค์ที่ผ่านมาแทนที่เข้าใกล้ชิดมากขึ้นกับรัฐบาลฮ่องกง แต่การรณรงค์กลับไปเน้นการแยกตัวออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่เป็นมาตุภูมิ1

มีการวิเคราะห์ว่า เมื่อนักเคลื่อนไหวต้องการ “การเลือกตั้งอิสระ” “รัฐบาลประชาธิปไตย”

ตรรกะของพวกเขาคือ ปฏิเสธคำสั่งต่อผู้ปกครองฮ่องกงในปักกิ่ง อันตีความว่า กฎหมายฮ่องกงต้องการทดสอบความภักดีของสมาชิกสภานิติบัญญัติ

อีกการตีความหนึ่ง

ในขณะที่การตีความของคนที่ใช้นามปากกา Chaguan ในบทความชิ้นดังกล่าวในนิตยสาร The Economist เล่มนี้ได้เน้นทั้งความร่วมมือกันระหว่างฝ่ายรณรงค์ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกงกับรัฐบาลปักกิ่งเพื่อจรรโลงความมั่งคั่งของฮ่องกงและสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อไป

ซึ่งผู้เขียนท่านนั้นเชื่อว่า การเลือกตั้งเสรีและการปกครองระบอบประชาธิปไตยในฮ่องกงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับความมั่งคั่งได้

หนังสือพิมพ์ South China Morning Post ฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม 2019 ซึ่งก็เป็นวันครบรอบ 22 ปีที่ฮ่องกงเป็นอิสระจากอาณานิคมสหราชอาณาจักรกลับคืนเข้าสู่อ้อมกอดของจีนแผ่นดินใหญ่อันเป็นมาตุภูมิ หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นกลับฉายภาพที่แตกต่างออกไป

หนังสือพิมพ์เล่มนั้นรายงานว่า หนึ่งในข้อเรียกร้องที่สำคัญของผู้ประท้วงคือ การให้รัฐบาลฮ่องกงถอนกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน กฎหมายที่มีการวิจารณ์อย่างชัดเจนว่า อาจทำให้ตกอยู่ใต้ระบบกฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในการประท้วงครั้งนี้มีลักษณะน่าสนใจหลายอย่าง โดย South China Morning Post รวบรวมมา 5 อย่างที่สามารถ ถอดรหัส ข้อความที่ทิ้งเอาไว้ กล่าวคือ

1. เครื่องหมายสีดำ – ผู้ประท้วงสวมเสื้อสีดำ บุกเข้าไปในห้องประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ่นทาสีสัญลักษณ์ป้ายรัฐบาลฮ่องกง ที่ประกอบด้วยดอกไม้และดาว 5 ดวงของธงชาติจีน ซึ่งหมายถึง เขตปกครองพิเศษฮ่องกงของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อต่อต้านพฤติกรรมที่กลุ่มประชาธิปไตยกล่าวหาว่า ปักกิ่งควบคุมและข่มขู่เสรีภาพทางการเมืองอย่างเข้มงวด

2. ฉีกสำเนากฎหมายรัฐธรรมนูญ – ในห้องประชุมสภานิติบัญญัติ ผู้ประท้วง 2-3 คนฉีกสำเนากฎหมายพื้นฐานรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่เป็นรากฐานทางกฎหมายฮ่องกง

กฎหมายรัฐธรรมนูญระบุว่า ผู้อยู่อาศัยในฮ่องกง ย่อมมีเสรีภาพในการพูดและการชุมนุม นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า ในที่สุดผู้นำของเมืองจะได้รับการคัดเลือกด้วยคะแนนเสียงสากล กลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตยกล่าวว่า กฎหมายล้มเหลวในการปกป้องเสรีภาพของฮ่องกงจากการแทรกแซงของปักกิ่ง

พวกเขาเรียกกฎหมายพื้นฐานว่า เศษกระดาษ

3. ธงในยุคอาณานิคม-กลุ่มผู้ประท้วงได้ปักธงฮ่องกงยุคอาณานิคมสหราชอาณาจักรวางที่โต๊ะของสภานิติบัญญัติ โดยกลุ่มผู้ประท้วงแสดงความต้องการกลับไปเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรอีกครั้ง และยังเป็นการแสดงเอกลักษณ์ของฮ่องกงที่ไม่พอใจการปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีนหลังปี ค.ศ.1997

4. ทำลายรูปภาพเหล่าประธานสภานิติบัญญัติ – ภาพของประธานสภานิติบัญญัติในปัจจุบันและในอดีต ถูกทำลายโดยผู้ชุมนุมประท้วง ขณะที่รูปถ่ายของผู้ร่างกฎหมายสองคน ที่รับใช้ในยุคอาณานิคมสหราชอาณาจักรทิ้งให้อยู่ในสภาพเดิม สิ่งนี้มีนัยยะผู้ประท้วงเชื่อว่า สภานิติบัญญัติถูกควบคุมโดยฝ่ายนิติบัญญัติปักกิ่ง ไม่ได้สะท้อนเสียงของประชาชนฮ่องกง

5. ชื่อนักกิจกรรมที่ถูกจำคุก – “ปล่อยเอ็ดเวิร์ด เหลียง” เป็นหนึ่งในคำขวัญที่เขียนบนผนังสภานิติบัญญัติ นายเหลียงเป็นผู้นำทางการเมืองวัย 28 ปีที่ถูกจำคุกเป็นเวลา 6 ปีในเดือนมิถุนายน 2018 เนื่องจากความวุ่นวายและทำร้ายตำรวจ

การเคลื่อนไหวอย่างอิสระในฮ่องกงครั้งนี้และครั้งก่อนๆ มีผู้สนับสนุนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ (new generation) เป็นคนหนุ่มสาว เป็นกลุ่มคนที่ไม่อยากให้อนาคตของพวกเขาอยู่ภายใต้ระบบการปกครองจากปักกิ่ง ไม่ใช่มีแต่คนหนุ่มสาว ปรากฏว่า องค์กร ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า สำนักงานต่างสนับสนุนการประท้วงโดยปล่อยให้บุคลากรของหน่วยงานออกไปประท้วง ตัวผู้บริหารและเจ้าของกิจการซึ่งล้วนแต่เป็นผู้สูงวัยก็สนับสนุนการประท้วงอย่างเปิดเผย

การประท้วงในฮ่องกงครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เคยเกิด “การปฏิวัติร่ม” ในปี ค.ศ.2014 หรือเมื่อ 5 ปีที่แล้วอันสะท้อนว่า คนในฮ่องกงจำนวนมากไม่ไว้วางใจรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนและกลัวว่าจะถูกครอบงำ สิ่งที่ไม่อาจละเลยวิเคราะห์คือ คนฮ่องกงใช้โซเชียลมีเดียทุกชนิด ไม่ว่าไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ snapchat, we chat, linkedin, signal, telegram เป็นต้น ในการประท้วง

เท่าที่ผมทราบ คนหนุ่มสาวและสูงวัยทั้งหลายในฮ่องกงเขาใช้การสื่อสารข่าวสารเพื่อประท้วงครั้งนี้

โปรดติดตามต่อไป

———————————————————————————————————————–
(1) The Economist 29 June 2019 : 28.