เทศมองไทย : จาก “ไมก์ ปอมเปโอ” ถึง “ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

“สกายลาร์ ลินด์เซย์” แห่งเว็บไซต์ “อาเซียนทูเดย์” เขียนถึงสภาพการณ์ทางการเมืองในไทย เชื่อมโยงกับการกำลังจะเดินทางมาเยือนของไมก์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม เรื่อยไปจนถึงวันที่ 3 สิงหาคมนี้เอาไว้

เริ่มต้นด้วยการเล่าสภาวะปัจจุบันของการเมืองไทยในยามนี้เพื่อสะท้อนนัยให้เห็นถึงข้อกังขาที่ว่า จะเรียกขานว่านี่เป็นการหวนคืนมาของประชาธิปไตยได้หรือไม่

เพื่อสร้างเงื่อนไปผูกต่อกับคำถามถัดไปที่ว่า แล้วการมาถึงของตัวแทนจากชาติ “พี่เบิ้ม” ในระดับโลกอย่างปอมเปโอนั้น จะส่งสัญญาณประการหนึ่งประการใดออกมาหรือไม่?

ลินด์เซย์ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยุบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการปกครองของทหารในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้ากำหนดการเยือนของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ช้าไม่นาน

บอกไว้ด้วยว่า บรรดาฝ่ายค้านและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยทั้งหลายยังคงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา

และตั้งคำถามเอาไว้ว่า รัฐบาลชุดใหม่ของไทยในเวลานี้สามารถเรียกให้ถูกต้องตรงความได้หรือไม่ว่าเป็นประชาธิปไตย

 

รัฐมนตรีไมก์ ปอมเปโอ มีกำหนดจะเยือนไทยอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 5 วัน เพื่อเข้าร่วมในการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ซึ่งไทยเราเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในฐานะประธานของอาเซียนตามวาระ

ลินด์เซย์บอกว่า การมาครั้งนี้เป็นการหยิบยื่น “โอกาส” ให้กับไทย ในการ “ฟื้นฟูความสัมพันธ์” ระหว่างกันให้กลับคืนสู่ “สภาพปกติ” อีกครั้ง และแสวงหาการ “สนับสนุนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย” ของประเทศ

แต่ก็ตั้งข้อสังเกตไว้โดยพลันเช่นกันว่า

“ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้วิธีการที่อ่อนนุ่มกว่ามากในการให้การสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศไทย เมื่อเทียบกับที่ประธานาธิบดีคนก่อนหน้าอย่างบารัค โอบามา เคยดำเนินการ ในท่ามกลางการถกเถียงทางการเมืองและการช่วงชิงยังคงยุ่งเหยิงอยู่ในเวลานี้ ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่บรรดาฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์จะได้รับไมตรีจิตจากปอมเปโอและสหรัฐอเมริกา”

เขาชี้ไว้ด้วยว่า ไทยกำลังต้องการช่องทางในการปรับปรุงรูปแบบโมหน้าของความสัมพันธ์ ทั้งด้านการทูต การค้า และการทหารเสียใหม่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน เพื่อลบล้างความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ปกครองด้วยรัฐบาลทหาร

การมาเยือนของปอมเปโอในฐานะ “นักการทูตสูงสุด” ของสหรัฐอเมริกา จึงถือว่า “ประจวบเหมาะ” กับความต้องการในประเด็นที่ว่านี้พอดิบพอดี

“หลงเหลือช่องว่างเอาไว้ให้น้อยมากสำหรับการถกเถียงทางการเมืองหรือข้อเรียกร้องจากฝ่ายค้านในการปฏิรูปประชาธิปไตยใหม่หมาดนี้” ลินด์เซย์เชื่ออย่างนั้น

ผู้เขียนหยิบยกถ้อยแถลงถึงเรื่องนี้ก่อนเดินทางของปอมเปโอมาไว้ให้พิจารณาด้วย ความว่า “เราสนับสนุนความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในทั่วทั้งโลก และจะยังคงทำงานร่วมกันกับประชาชนไทยและรัฐบาลไทยในอันที่จะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางดังกล่าวนี้”

 

ลินด์เซย์ชี้เอาไว้ด้วยว่า “สหรัฐอเมริกายังมีเหตุผลในเชิงการทูตในการดำเนินความพยายามเพื่อสานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยให้ได้โดยเร็ว ในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี (the Free and Open Indo-Pacific strategy) ซึ่งใช้เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับความคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน”

เขาตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2017 ทรัมป์เคยเชื้อเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ไปเยือนทำเนียบขาว แล้วได้หารือกันถึงการดำเนินความพยายามเพื่อลดการได้เปรียบดุลการค้าของไทยลง

หากครั้งนี้การเยือนของปอมเปโอประสบความสำเร็จด้วยดี อาจกลายเป็นการปูพื้นฐานสำคัญสำหรับการเดินทางเยือนกรุงเทพฯ ของโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อเข้าร่วมในการประชุมสุดยอดอีสต์ เอเชีย ซัมมิต ที่จัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนพฤศจิกายน

แต่ถ้าปอมเปโอขยับความสัมพันธ์ให้รุดหน้าไป โดยไม่ใส่ใจต่อการแก้ไขปัญหาการเมืองภายในของไทย “ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐก็จะสร้างอยู่บนพื้นฐานของละครชวนหัวไปในทันที”

แล้วก็จะส่งสัญญาณ “เป็นเยี่ยงอย่าง” ให้กับประดาผู้นำทั้งหลายในอาเซียน ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีฮุน เซน แห่งกัมพูชา ไปจนถึงโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีแห่งฟิลิปปินส์

ส่วนในไทย ปอมเปโอก็จะเสี่ยงต่อการปกป้องโครงสร้างอำนาจของรัฐบาลทหารแต่เดิมต่อไป

ไม่เปิดกว้างและเสรีเหมือนยุทธศาสตร์ที่ว่านั้นแน่นอน