เจาะเครือข่ายทุจริตสอบนายสิบ นักศึกษาหัวกะทิเครื่องมือเฉลย พลิกกลโกงอิเล็กทรอนิกส์สู่อะนาล็อก

การทุจริตข้อสอบเพื่อบรรจุเข้ารับราชการที่ตรวจสอบพบโดยคณะกรรมการควบคุมการสอบมิใช่ครั้งแรกที่พบ เมื่อปี พ.ศ.2555 พบการทุจริตโดยการนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เข้าไปส่งสัญญาณเฉลยข้อสอบ

ครั้งนั้นตรวจพบและคุมตัวผู้กระทำผิดและผู้เกี่ยวข้องได้ 120 คน ต่อมาทางคณะกรรมการพิจารณายกเลิกการสอบ เพราะยังไม่มีการตรวจข้อสอบหรือประกาศผล

หลังพบการทุจริตครั้งนั้น จึงล้อมคอกด้วยการออกกฎข้อบังคับให้ผู้สมัครสอบแต่ละคน พับขากางเกง ถอดรองเท้า ถุงเท้า ก่อนเดินผ่านเครื่องตรวจสอบโลหะ ห้ามนำเครื่องมือสื่อสาร เครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด และเครื่องประดับ เข้าห้องสอบ มีเพียงดินสอดำเบอร์ 2บี เท่านั้นที่พกติดตัวเข้าไปได้ สำหรับยางลบทางหน่วยสอบจะเป็นผู้จัดเตรียมให้

กระทั่งล่าสุดมีการรับสมัครและคัดเลือกบุคคลภายนอกผู้มีวุฒิประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือเทียบเท่า เพื่อบรรจุเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ พ.ศ.2559 (ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560) โดยมีผู้สมัครผ่านทางเว็บไซต์ 13,000 คน

กำหนดสอบข้อเขียนที่สนามสอบมหาวิทยาลัยรามคำแหง 1 (หัวหมาก) และมหาวิทยาลัยรามคำแหง 2 (บางนา) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา

และประกาศผลสอบ วันที่ 9 ธันวาคม 2559

 

แต่ไม่นานนัก คณะกรรมการตรวจสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ พบคำตอบข้อเขียนที่สนามสอบมหาวิทยาลัยรามคำแหง 1 มีพิรุธ พ.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน ผู้กำกับการ ศูนย์ฝึกอบรม (ศฝร.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล จึงนำทีมสืบสวนที่ผ่านเทคนิคการสืบสวน เข้าตรวจข้อสอบ

โดยตั้งข้อสังเกตหลังพบข้อสอบที่ได้คะแนน 13 จากคะแนนเต็ม 150 มาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ เพราะทดสอบกามั่วๆ ยังได้มากกว่า 20 คะแนน

และมีการตรวจสอบประวัติของผู้สมัครจนพบพิรุธว่า ผู้สมัครที่ได้คะแนนต่ำมีดีกรีเป็นถึงนักศึกษาระดับชั้นปี 1-3 คณะแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยรัฐบาลชื่อดัง และเรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนชื่อดัง

และเมื่อตรวจสอบลึกลงไป พบว่ารายชื่อกลุ่มบุคคลต้องสงสัยทั้งหมดเข้าข่ายทุจริตสอบ เจ้าหน้าที่จึงออกหมายเรียกกลุ่มนักศึกษาแพทย์ 51 คนมาสอบสวน

ในชั้นสืบสวนของคณะกรรมการรับสมัคร ต่างให้การสอดคล้องกัน ว่ามี นายจิระพจน์ พลายด้วง อายุ 45 ปี พนักงานฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตปทุมวัน ว่าจ้างให้เป็นคนทำข้อสอบ (มือปืนรับจ้าง) รับค่าตอบแทนคนละ 5,000-30,000 บาท

 

ต่อมาวันที่ 6 มกราคม 2560 พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ลงนามประกาศกองบัญชาการตำรวจนครบาล เรื่องชะลอการดำเนินการรับสมัครและคัดเลือกบุคคลภายนอกผู้มีวุฒิประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือเทียบเท่า เพื่อบรรจุเป็นนักเรียนนายสิบ พ.ศ.2559 (ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2590)

โดยเนื้อหาบางส่วนระบุว่าได้ตรวจพบข้อมูลและมีเหตุอันสงสัยที่ส่อไปในทางทุจริตการสอบ ทำให้การคัดเลือกในขั้นตอนสอบข้อเขียนไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ต่อมาคณะกรรมการดำเนินการรับสมัครและคัดเลือก มีมติในที่ประชุมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในภาพรวม จึงให้ยกเลิกขั้นตอนการคัดเลือกทั้งหมดที่ดำเนินการมาแล้ว และให้ชะลอการดำเนินการจนกว่าจะมีข้อสั่งการหรืออนุมัติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

คำให้การของกลุ่มนักศึกษาแพทย์ จึงเป็นหลักฐานนำมาประกอบการแจ้งความดำเนินคดีกับ นายจิระพจน์ กับพวก ที่ สน.พหลโยธิน 3 ข้อหา ประกอบด้วย ข้อหาอั้งยี่ที่มีการรวมตัวกันกระทำผิดทางอาญา แจ้งความเท็จต่อเจ้าหน้าที่พนักงาน และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) กรอกข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าไปในคอมพิวเตอร์

 

ทั้งนี้ นักศึกษาแพทย์บางรายรับว่า ครั้งนี้ไม่ได้รับจ้างทำเป็นครั้งแรก ทุกสนามสอบของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ ที่เปิดรับสมัครใช้วุฒิการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 จะเข้าไปสอบทุกสนาม เพราะเห็นว่าเป็นรายรับที่ดี ประกอบกับความรู้ที่มีอยู่ยังใช้ทำข้อสอบได้ และปีหนึ่งที่เข้าไปไม่ใช่สนามสอบเดียวแต่เป็นอีกหลายสนามสอบจึงมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ

การจับพิรุธของกลุ่มนักศึกษาแพทย์ ครั้งนี้พบพฤติกรรมความเชื่อมโยงของกลุ่มขบวนการทุจริตการสอบนายสิบในครั้งนี้ว่ามีนายจิระพจน์ เป็นตัวการ โดยจะติดต่อกลุ่มนักเรียนที่มีผลการเรียนดีตามสถาบันกวดวิชาต่างๆ อ้างว่าให้มาติวให้กับผู้ที่ต้องการจะสอบบรรจุเข้ารับราชการ

แต่เมื่อถึงเวลากลับให้ทำหน้าที่เป็นมือปืนรับจ้าง เข้าสอบเพื่อเฉลยคำตอบ โดยกลุ่มมือปืนรับจ้างที่เข้าสอบจะเขียนเฉลยคำตอบตัวใหญ่ ไว้ที่กระดาษคำถาม เป็นการจงใจเขียนเพื่อส่งเฉลยให้กับผู้เข้าสอบที่ได้ว่าจ้างมาโดยนายจิระพจน์ เป็นผู้ดำเนินการประสาน

กระทั่งวันที่ 10 มกราคม นายจิระพจน์ เข้ามอบตัวกับ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหาถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) โดยรับว่าดำเนินการเพียงคนเดียว ทำมาประมาณ 1 ปี ได้เงินต่อรายประมาณ 300,000-400,000 บาท และที่เลือกกระทำการดังกล่าวเนื่องจากทำงานอยู่ย่านปทุมวัน เป็นย่านที่มีนักเรียนไปติวหนังสือเพื่อเข้าสอบนายสิบจำนวนมาก จึงไปทำความรู้จักและเสนอตัวด้วยตนเอง

อย่างไรก็ดี มีข้อมูลว่ามีหลายกลุ่มที่ทำในลักษณะเดียวกัน

 

พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รักษาราชการแทน รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากการตรวจสอบการสอบทุกกองบัญชาการ (บช.) ทางนิติวิทยาศาสตร์ พบว่า นอกจาก บช.น. และยังพบความผิดปกติที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 (บช.ภ.7) อีกจำนวนหนึ่ง มีผู้สมัครสอบทั้งสิ้น 4,182 คน มาสอบ 3,746 คน พบทุจริตกว่า 30 คน รับ 250 คน สอบผ่านข้อเขียน 500 คน ลักษณะคล้ายกับ บช.น. ซึ่งทาง พล.ต.ต.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น รรท.ผบช.ภ.7 กำลังประชุมเพื่อพิจารณาคดี ส่วน บช.อื่นๆ อีก 10 บช. ไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด

“เมื่อพบว่ามี บช.น. กับ บช.ภ.7 ที่เกิดการทุจริต จึงมีการเสนอให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พิจารณาในวันที่ 16 มกราคมนี้ว่าจะให้การสอบดังกล่าวเป็นโมฆะทั้งหมดหรือโมฆะบางส่วน ถอนสิทธิผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริต หรืออาจมีแนวทางอื่นๆ โดยยึดหลักพิจารณา 3 ประการ 1.ต้องรวดเร็วในการตรวจสอบข้อเท็จจริง 2.รอบคอบสามารถแยกแยะว่ามีการกระทำผิดในรูปแบบใดบ้าง และ 3.ต้องมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้สมัครสอบและสอบผ่านการสอบโดยสุจริต” รรท.รอง ผบ.ตร. ระบุ

ขณะเดียวกัน กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) และ บช.น. ต้องสืบสวนดำเนินการกับขบวนการทุจริต เพื่อถอนรากถอนโคนให้หมดสิ้น!!