ฉัตรสุมาลย์ : คำสั่งที่ต้องทบทวน ภิกษุณีต่างชาติ ไปติดต่อขอวีซ่าเข้าไทยยากมาก

คําสั่งที่ออกไป ถ้าไม่เข้าท่า เราก็สามารถวิพากษ์ตัวเอง ยกเลิกได้นะ เปลี่ยนแปลงได้ ทำให้ดีขึ้นได้ ก็เราเป็นคนสั่งเอง ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่แก้ไขไม่ได้

ถ้าเป็นคำสั่งที่ไม่เข้าท่าแต่แรก อาจจะเสียนิดหน่อย คือเสียหน้า

แต่ถ้ากลัวเสียหน้า ไม่แก้ไข คราวนี้จะเสียเยอะ เยอะขนาดตกเก้าอี้นั่นแหละ

ยกเว้น แก่ เจ็บ และตาย

นี่พระพุทธเจ้ารับสั่งเอง และเป็นของจริง เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ และเป็นธรรมในการบัญญัติพระวินัยให้สงฆ์ถือปฏิบัติตามนั้น มีการแก้ไขปรับเปลี่ยนหลายครั้ง เรียกว่า อนุบัญญัติ เพื่อให้วิถีชีวิตของพระสงฆ์เป็นไปได้

ยกตัวอย่างเช่น ห้ามไม่ให้ใส่รองเท้า ปรากฏว่าในเมืองนั้น การไม่ใส่รองเท้าเป็นเรื่องที่สังคมติติง พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุโลมให้ใส่ได้ เป็นต้น

 

ทีนี้มาเข้าเรื่องของเรา สืบเนื่องจากการอุปสมบทพระภิกษุณีสงฆ์เถรวาทในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2557 ที่ทิพยสถานธรรมภิกษุณีอาราม เกาะยอ สงขลา ในการบวชครั้งนั้น ผู้ขอบวชเป็นสิกขมานาล้วนครบ 2 ปี จำนวน 8 รูป เรียกว่าผู้ขอบวชมีคุณสมบัติครบ

ผู้ให้การอุปสมบท มีทั้งภิกษุณีสงฆ์ ทั้งหมด 12 รูป ที่นั่งในหัตถบาสก์ ปวัตตินี เป็นท่านสุมิตรา ชาวศรีลังกา พรรษา 15 กรรมวาจาจาริณี คือท่านสันตินี จากอินโดนีเซีย พรรษา 14 ท่าน ดร.หลิวฟับ จากเวียดนาม พรรษา 13 ท่านธัมมนันทาเป็นภิกษุณีไทยที่อายุพรรษาสูงสุด คือ 12 พรรษา นอกนั้น เป็นภิกษุณีไทยที่รับการอุปสมบทจากศรีลังกา

ฝ่ายภิกษุ อุปัชฌาย์คือมหานายก มหินทวังสะมหาเถโร กรรมวาจาจารย์ คือท่าน ดร.กลูปหานะ และท่านสุธัมมา ทั้งสามรูปจากศรีลังกา และ 17 รูปเป็นพระอันดับฝ่ายไทย

เรียกว่า ผู้ให้บวชมีคุณสมบัติถูกต้อง

สถานที่จัดการอุปสมบทได้รับการสมมติสีมาก่อนหน้านั้น โดยภิกษุไทย 40 รูป เรียกว่า สีมาถูกต้อง

สุดท้ายคือ การสวดขอบวชและให้การบวชเรียกว่ากรรมวาจาถูกต้อง ภิกษุณีเป็นผู้สอบถามอันตรายิกธรรม และสอนซ้อมการอุปสมบท ก่อนที่ภิกษุสงฆ์จะให้การอุปสมบทถูกต้องตามขั้นตอนการอุปสมบท เรียกว่า ครบคุณสมบัติทั้งสี่ที่ปรากฏในพระวินัย

ทุกอย่างจบลงด้วยดี

 

แต่ปรากฏว่า วันที่ 11 ธันวาคม 2557 กก.มหาเถรสมาคม ประชุมพิจารณาการอุปสมบทภิกษุณีครั้งนั้น แล้วประกาศให้เป็นโมฆะ ประกาศสำทับว่า ไม่มีการอุปสมบทภิกษุณีเถรวาทในประเทศไทย

ความจริงสิทธิของท่านตาม พ.ร.บ.สงฆ์นั้น จำกัดอยู่ที่การดูแลพระสงฆ์ไทย แต่คราวนี้ ท่านมีหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศให้ตรวจสอบพระสงฆ์ต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศไทยด้วย หากจะเข้ามาให้การอุปสมบทต้องได้รับอนุญาตจากมหาเถรสมาคมเป็นลายลักษณ์อักษร

ซึ่งในบริบทดังกล่าว เราเข้าใจได้ว่า คือไม่ได้รับอนุญาตนั่นเอง

การอนุญาตให้ผู้ใดเข้าประเทศไทยได้นี้ เป็นสิทธิทางกฎหมายเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น

ผู้เขียนเข้าใจว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศท่านน่าจะเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของท่าน

แต่ดูเหมือนว่า นับตั้งแต่คำสั่งนี้ออกมา กระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินการตามด้วย ปรากฏว่า พระทั้งภิกษุและภิกษุณีต่างชาติที่จะเข้ามาประเทศไทย หลังจากวันที่ 11 ธันวาคม 2557 ได้รับความยากลำบากในการขอวีซ่าเข้าประเทศไทย

ถ้าเป็นประเทศอาเซียนก็แล้วไปเพราะเราสามารถเข้าออกประเทศเหล่านี้ได้ภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยไม่ต้องขอวีซ่า แต่ประเทศอื่นนอกจากนั้น ต้องขอวีซ่าทั้งสิ้น

 

ครั้งแรกที่เราทราบข่าวว่ามีพระภิกษุต่างชาติขอวีซ่ายากขึ้น เป็นช่วงที่เราจัดประชุมนานาชาติชาวพุทธอาเซียนเมื่อเดือนกันยายน 2559 มีพระภิกษุบังกลาเทศจากฮ่องกงที่ส่งข่าวมาว่าท่านขอวีซ่าไม่ได้ ต้องให้เราดำเนินเรื่องในประเทศไทย ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติเสียก่อน

เราไปดำเนินเรื่องที่สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถจะช่วยเราได้ ต้องมี กก.มหาเถรสมาคม เริ่มต้นให้ กก.มหาเถรสมาคมแต่ละท่านล้วนเป็นพระผู้ใหญ่ที่เข้าพบยาก ผู้เขียนพยายามไปติดต่อที่วัดปากน้ำ เพื่อขอคำแนะนำจากสมเด็จฯ ไม่ได้พบท่านเอง จึงกลับมาใช้วิธีการออกจดหมายเชิญใหม่ โดยเป็นมูลนิธิ และมีหน้าพาสปอร์ตของผู้เชิญแนบไป ในเวลาจวนแจมาก ท้ายที่สุดทั้งสองรูปก็ได้วีซ่าเข้าประเทศไทย

ที่ศรีลังกาเราได้ภาพที่ต่างออกไป ในช่วงสองปีมานี้ พระภิกษุและภิกษุณีศรีลังกาที่เดินทางมาประเทศไทย ที่เคยขอวีซ่าสะดวกมาก เพราะเป็นชาติที่นับถือพุทธด้วยกัน ขอวันนี้ พรุ่งนี้ได้

ปรากฏว่า ภิกษุณีที่ท่านเป็นอาจารย์รูปหนึ่งท่านเล่าให้ฟังว่า ไปติดต่อขอวีซ่ายากมาก ท่านต้องเดินทางไปกลับถึง 6 เที่ยว แต่ละครั้งก็จะผลัดไป 2 วัน 3 วัน

จนในที่สุด เมื่อถึงเวลาที่ท่านใกล้จะเดินทางแล้วเพราะตั๋วก็ซื้อแล้ว ท่านถามว่ามีปัญหาอะไร กว่าจะให้วีซ่าได้ เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยให้ท่านเขียนจดหมายยืนยันว่า จะไม่เข้ามาเมืองไทยเพื่อให้การบรรพชาอุปสมบทสามเณรีหรือภิกษุณี

เราจึงทำความเข้าใจได้ชัดเจนว่า ความยากลำบากทั้งหมด มาจากคำสั่งของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศที่สืบเนื่องมาจากคำสั่งของมหาเถรสมาคมนั่นเอง

ในการมาร่วมประชุมชาวพุทธอาเซียน แทนที่จะเป็นวีซ่านักท่องเที่ยว ซึ่งราคาถูกกว่า ท่านก็ถูกบังคับให้ขอเป็นวีซ่าธุรกิจ ซึ่งต้องเสียค่าวีซ่า 10,000 รูปีต่อคน ท่านก็ว่า เงินที่เอามาใช้จ่ายนี้มาจากชาวพุทธที่มีศรัทธาบริจาคมาทั้งสิ้น

ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้จมูกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ท่านเองเมื่อลงนามในคำสั่งออกไปแล้ว ท่านอาจจะไม่ได้ไปตามดูว่า คำสั่งของท่านนั้น ได้รับการปฏิบัติตามอย่างไร

เมื่อได้ข้อมูลและเห็นภาพเช่นนี้ เป็นหน้าที่โดยตรงของท่านที่จะพิจารณาปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมและประเทศไทยเป็นที่ชื่นชมของนานาอารยประเทศ

 

ที่เป็นอยู่ เป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อชาวพุทธ โดยเฉพาะเป็นพระภิกษุ ภิกษุณีที่เป็นผู้รักษาศีล

ผู้เขียนขณะที่เขียนบทความนี้ ก็มีความรู้สึกว่า ทำตัวเป็นผู้สอดแนมแทนท่านรัฐมนตรีที่ไปตามดูว่า เจ้าหน้าที่ของท่านเข้าใจเจตนารมณ์ของคำสั่งอย่างไร นำไปปฏิบัติอย่างไร

ในที่สุดจะเป็นเรื่องมัวหมองกระทรวงการต่างประเทศมากกว่าที่จะเป็นการเชิดหน้าชูตาประเทศไทย โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศศรีลังกาและประเทศไทยนั้น มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นมาโดยตลอดโดยมีพุทธศาสนาเป็นแกนกลางในความสัมพันธ์นี้

พระผู้ใหญ่อีกรูปหนึ่งเป็นมหานายก ทางสถานทูตไทยอาจจะไม่ให้ความสำคัญ เพราะไม่เหมือนกับทางไทย แต่ตำแหน่งมหานายกเป็นตำแหน่งสูงสุด ในนิกายอมรปุระมี 22 รูป และจาก 22 รูปนี้ก็เลือกท่านที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นประมุขสงฆ์ในการประชุมมหานายกของอมรปุระ

ท่านที่ผู้เขียนได้พบคือ มหานายกมหินทวังสะ มหาเถระ ท่านเล่าให้ฟังว่าการขอวีซ่าจากสถานทูตไทยในศรีลังกาตอนนี้ลำบากมาก เนื่องจากท่านต้องเข้ามาติดต่องานในประเทศไทยติดๆ กัน

ท่านขอแบบ multiple คือเข้าออกได้หลายครั้งภายใน 6 เดือน เจ้าหน้าที่ว่าไม่ได้ ท่านก็ว่าท่านจะนั่งรออยู่ตรงนี้ ให้ติดต่อเข้ามาขออนุญาตจากประเทศไทย ในที่สุดทางสถานฑูตติดต่อมาที่ผู้ใหญ่ในประเทศไทย ได้รับคำตอบภายใน 5 นาทีให้ทำวีซ่าตามที่ท่านขอ

มหานายกองค์นี้ เป็นเจ้าอาวาสควบสองวัด คือวัดวัสกาดูเว ซึ่งเป็นวัดเดิมของพระอาจารย์สุภูติ ที่มีชื่อเสียงมากในสมัยอังกฤษปกครอง เป็นนักวิชาการที่รู้พุทธและบาลีชนิดหาตัวจับยาก ที่ชาวต่างชาติยกย่องมาก

วัดวัสกาดูเวเป็นที่ที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ออกผนวชครั้งแรก เป็นสามเณร ที่อาคารหกเหลี่ยม ปัจจุบันท่านมหานายกให้บูรณะรักษาไว้เป็นประวัติศาสตร์สำคัญของสองชาติ คือ ไทยและศรีลังกา

ท่านเป็นเจ้าอาวาสอีกวัดหนึ่งคือวัดทีปทุตตมาราม ที่ชาวศรีลังการู้จักกันดี และเรียกว่า วัดเจ้านายไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จพร้อมพระมารดา พระขนิษฐาและพระอนุชา (ต่อมาเป็น ร.9) ได้ทรงปลูกต้นไม้ไว้เป็นที่ระลึก ต่อมาทั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ก็ได้เสด็จเยี่ยมและทรงปลูกต้นไม้เป็นที่ระลึกเช่นกัน

คราวนี้ ได้มีโอกาสถามมหานายกว่า ทางคณะสงฆ์เขามีวิธีเลือกเจ้าอาวาสอย่างไร จึงได้ทราบว่า ท่านเป็นเชื้อสายรุ่นเหลนของพระอาจารย์สุภูติ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งจากมหานายกของนิกายอมรปุระให้มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดนี้

ด้วยความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับประเทศไทยในทั้งสองวัดที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส แต่การเดินทางไปมากับประเทศไทยท่านกลับได้รับความไม่สะดวกในการติดต่อขอวีซ่า จึงสมควรที่จะเป็นเรื่องที่ทางการไทยควรได้พิจารณาทบทวนคำสั่งอีกครั้ง

 

ใครๆ ก็ทำผิดได้ แต่ถ้ารู้ว่าผิดแล้วไม่แก้ไข เป็นเรื่องที่ผิดจริงๆ คำสั่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีไปถึงสถานทูตและกงสุลไทยในต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา น่าจะได้รับการพิจารณาทบทวน

จริงๆ แล้วผู้เขียนเองก็ไม่ได้เห็นคำสั่งนี้ แต่เล่าให้ฟังได้จากพระชาวศรีลังกาที่ประสบความยากลำบากในการขอวีซ่า ซึ่งก่อนหน้านั้น ไม่ได้เป็นอย่างนี้ จึงเชื่อว่า น่าจะต้องมีคำสั่งจริงๆ จึงมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันไป

ชาวต่างชาติไม่รู้จักประเทศไทย จุดแรกที่เขาสัมผัสประเทศไทยได้ก็ที่สถานทูตนั่นแหละ