นงนุช สิงหเดชะ : โหนกระแส “รัฐประหารตุรกี” ดูตาม้าตาเรือกันเสียบ้าง

นึกอยู่แล้วว่าจะต้องมีคนไทยบางกลุ่มออกมาโหนกระแส หลังจากความพยายามก่อรัฐประหารในตุรกีเมื่อวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม ของทหารกลุ่มหนึ่งล้มเหลว ซึ่งเหตุที่ล้มเหลวเป็นเพราะทหารส่วนใหญ่ไม่ได้ร่วมมือกับฝ่ายก่อการ ฝ่ายรัฐบาลที่มีกำลังเหนือกว่าจึงชนะไป ประกอบกับมีประชาชนออกมาต่อต้านรัฐประหาร

ประเด็นที่กลุ่มการเมืองไทยในไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกยึดอำนาจนำมาชูเป็นพิเศษ ก็คือการชื่นชมชาวตุรกีที่ออกมาบนท้องถนนเพื่อขัดขวางการรัฐประหาร

อีกทั้งฝ่ายค้านแม้จะไม่ถูกกับรัฐบาลแต่ก็ประณามการรัฐประหารซึ่งก็พูดทำนองคล้ายๆ กับว่าคนไทยน่าจะเอาเป็นแบบอย่าง

บางคนก็จับโยงเข้าไปสู่เรื่องการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม นี้ว่ารัฐบาลเผด็จการ (ในไทย) ต้องดูตุรกีไว้ให้ดีและระวังตัวไว้ให้ดี (ทำนองว่าประชาชนจะสั่งสอนด้วยการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ)

การเมือง และนิสัยนักการเมืองเป็นแบบนี้กันทั่วโลก น้ำเน่าไม่เปลี่ยนแปลง คือฉวยโอกาสทุกอย่างที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง ซึ่งก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยในหลายประเทศล้มเหลวไม่น่าศรัทธา

ส่วนคนไทยโลกสวยบางคนก็ว่า การที่ชาวตุรกีออกมาต่อต้านรัฐประหารไม่ใช่เป็นเพราะรักประธานาธิบดี แม้ประธานาธิบดีจะมีชื่อเสียงเรื่องลิดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน คุกคามเสรีภาพสื่ออย่างรุนแรง (พูดให้ตรงก็คือไม่มีประชาธิปไตย) แต่ชาวตุรกีก็ออกมาต่อต้านรัฐประหาร เพื่อรักษาประชาธิปไตย รักษาหลักการ ว่าเข้านั่น

ก็ถูกต้องที่ว่าชาวตุรกีบางส่วนคัดค้านรัฐประหาร ปกป้องรัฐบาลแม้จะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็อย่าลืมว่าคนที่ออกมาบนท้องถนนส่วนใหญ่เป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลของประธานาธิบดีแอร์ดวนอยู่ก่อนแล้ว ส่วนพลังเงียบไม่แสดงตัวก็น่าจะยังมีอีกมาก

สำหรับในสายตาของหลายคน การที่ชาวตุรกีออกมาปกป้องรัฐบาลที่พวกเขาไม่ชอบ โดยหวังว่าเมื่อหมดวาระรัฐบาลนี้ก็จะไม่ได้รับเลือกกลับมาบริหารประเทศอีก เป็นเรื่องน่ายกย่องชื่นชม

แต่ประเด็นที่น่าห่วง (จากการวิเคราะห์ของสื่อต่างประเทศ) ก็คือเกรงว่าผลจากการพยายามรัฐประหารครั้งนี้ซึ่งมีประชาชนออกมาสนับสนุนประธานาธิบดีแอร์ดวนมากจะยิ่งทำให้แอร์ดวนคุกคามเสรีภาพประชาชนและเป็นเผด็จการมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ การที่แอร์ดวนกวาดล้างฝ่าย (ที่คิดหรือเหมาเอาว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม) อย่างหนักและกว้างขวาง โดยล่าสุดไล่ออก จับคนไปมโหฬาร มีทั้งตำรวจ-ทหาร-ผู้ว่าราชการจังหวัด-ผู้พิพากษา และย้ายผู้พิพากษากว่า 2,700 คน พักงานตำรวจกว่า 8,000 คน ย่อมหมายความว่าเขาจะรวบอำนาจเอาไว้ในมือทั้งหมด โดยนำคนที่สั่งการได้หรือเป็นพวกเดียวกัน โดยเฉพาะผู้พิพากษา อัยการมาดำรงตำแหน่ง

แถมยังบ้าเลือดสั่งย้ายสั่งปลดบุคลากรตามสถาบันการศึกษา 15,000 คน ไล่ออกอธิการบดี 1,577 คน และอื่นๆ รวม 45,000 คน ยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดตรงไหน

และเห็นได้ว่าการกวาดล้างไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับรัฐประหารโดยตรง แต่เหวี่ยงแหจับและไล่ออกทุกคนที่เห็นต่างจากรัฐบาล

สภาพเช่นนี้หมายความว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปพรรคของเขามีมือไม้และกลไกที่จะทำให้ตัวเองชนะการเลือกตั้ง เพราะไม่มีใครกล้าตรวจสอบแล้ว ต่อให้ชาวตุรกีจำนวนมากพอสมควรจะไม่เลือกเขาเพราะไม่ชอบที่เป็นเผด็จการ แต่มีแนวโน้มว่าพรรครัฐบาลปัจจุบันมีโอกาสจะชนะสูงจากการโกงเลือกตั้งนั่นเอง

ดังนั้น ชาวตุรกีที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร แม้จะไม่ชอบแอร์ดวน เพราะอยากรักษาประชาธิปไตย และคิดว่ารอบหน้าจะไม่เลือกพรรคของแอร์ดวน ก็คงต้องทนอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งต่อไป อาจจะอีกหลายปี ซึ่งนานพอจะทำให้ประเทศเสียหายหนักกว่าเดิม เหมือนปล่อยให้ประเทศเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ตายสถานเดียว

มันจึงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันในตัวเองพอสมควรที่บอกว่าต้องการรักษาประชาธิปไตยจึงต้องโอบอุ้มผู้นำที่เป็นเผด็จการไปอย่างไม่สิ้นสุด

เพราะในเมื่อผู้มีหน้าที่ใช้หรือปฏิบัติ “หลักการประชาธิปไตย” ไม่ปฏิบัติตามหลักการที่ว่า แล้วหลักการนั้นจะยังเรียกว่าประชาธิปไตยได้อย่างไร และคงรักษาไว้ได้แค่ตัวหนังสือ ไม่ใช่ในชีวิตจริงหรือในทางปฏิบัติ

สุดท้ายแล้วชาวตุรกีอาจต้อง “จ่ายราคาแพง” ให้กับค่ารักษาประชาธิปไตยที่ต้องโอบอุ้มสนับสนุนผู้นำที่เป็นเผด็จการ

เพราะดูจากการกวาดล้างแบบเหวี่ยงแหบ้าอำนาจแล้ว ยากที่ตุรกีจะสงบ ยากที่ประเทศนี้จะมีอนาคตสดใส

การกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างมโหฬารหลังรัฐประหาร ได้สร้างความกังวลใจให้ตะวันตก โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (อียู) ที่ขอให้ตุรกีเคารพสิทธิมนุษยชนและอยู่ในกรอบกฎหมาย พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลตุรกีจัดเตรียมรายชื่อผู้ที่จะถูกจับกุมไว้ล่วงหน้าก่อนจะมีความพยายามรัฐประหารเสียอีก

รัฐบาลตุรกีภายใต้ประธานาธิบดีแอร์ดวน ขึ้นชื่อกระฉ่อนเรื่องคุกคามเสรีภาพสื่อและปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน อันเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้จนป่านนี้อียู ไม่ยอมรับตุรกีเป็นสมาชิก เพราะตุรกีไม่ยอมทำตามเงื่อนไขอียูที่ต้องการให้ตุรกีแก้ไขกฎหมายต่อต้านก่อการร้ายที่รัฐบาลตุรกีใช้เป็นเครื่องมือในการกดหัวและจำคุกสื่อและผู้เห็นต่าง

รัฐบาลตุรกี (ที่มาจากการเลือกตั้ง) คุกคามสื่อแบบไม่แคร์สายตาชาวโลก ชนิดที่เรียกว่า คสช. ของเราชิดซ้าย

ยกตัวอย่าง เช่น ต้นเดือนมีนาคมปีนี้ รัฐบาลส่งตำรวจน่าจะเป็นกองร้อยไปสำนักงานใหญ่ของหนังสือพิมพ์ ซามาน ซึ่งมียอดขายสูงสุดในตุรกี แล้วเข้ายึดกิจการโดยหาว่าเป็นพวกก่อการร้ายเพราะสนับสนุน อิหม่ามเฟตุลเลาะห์ กุยเลน อดีตพันธมิตรของแอร์ดวน ที่ตอนนี้ลี้ภัยในสหรัฐเพราะถูกแอร์ดวนยัดข้อหาโค่นล้มรัฐบาล และหลังรัฐประหารครั้งนี้แอร์ดวนชี้นิ้วไปที่กุยเลนว่าอยู่เบื้องหลัง

รัฐบาลนี้จำคุกนักข่าวไปแล้ว 18 คนฐานกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกก่อการร้าย

ลองมาดูอันดับเสรีภาพสื่อของตุรกี (รัฐบาลประชาธิปไตยแต่ในนาม) ว่าเป็นอย่างไรตามการจัดอันดับของกลุ่มนักข่าวไร้พรมแดน ปรากฏว่าอยู่อันดับ 149 จาก 180 ประเทศ แย่กว่าประเทศไทยในยุครัฐบาล คสช. ซึ่งปีนี้อยู่อันดับ 136 จาก 180 ประเทศ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลประชาธิปไตยอย่างตุรกีก็ไม่ได้รับการ welcome จากประชาคมโลกมากเท่าไหร่นักไม่ได้ดีไปกว่ารัฐบาลเผด็จการโต้งๆ

ดังนั้น ใครจะห้อยจะโหนรัฐบาลตุรกีหลังรัฐประหารครั้งนี้ก็ต้องดูตาม้าตาเรือและทำการบ้านให้ครบด้วย