ต่างประเทศอินโดจีน : หนี้ก็มีเหลื่อมล้ำ

รายงานของธนาคารโลกเผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เตือนกัมพูชาเอาไว้ว่า กำลังพึ่งพา “หนี้” เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เวิร์ลด์แบงก์บอกเอาไว้ว่า ปริมาณหนี้ทั้งหมดของกัมพูชา ทั้งที่เกิดจากการปล่อยกู้ของธนาคาร กับที่ปล่อยผ่านสถาบันระบบการเงินระดับจุลภาค หรือไมโครไฟแนนซ์ อินสติติวชั่น (เอ็มเอฟไอ) รวมกันเมื่อปีที่แล้วคิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั้งหมด แตะระดับ 100 เปอร์เซ็นต์เต็มเป็นครั้งแรก

พูดกันภาษาชาวบ้านก็คือ กัมพูชาทำมาหากินทุกอย่างรวมกันได้ภายใน 1 ปี ต้องนำไปใช้หนี้สินจนหมดสิ้น หากไม่ต้องการให้เกิดหนี้ค้างชำระ

ถ้านับเป็นเม็ดเงิน ปริมาณหนี้สินทั้งหมดของกัมพูชาที่ธนาคารโลกประเมินไว้อยู่ที่สูงกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์

ที่น่ากังวลก็คือว่า สัดส่วน 100 เปอร์เซ็นต์ที่ว่านี้ กำลังจะขยับขึ้นเป็น 110 เปอร์เซ็นต์ภายใน 2 ปี คือในปี 2021 นี้เท่านั้น

 

ข้อมูลของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (เอ็นบีซี) เอง ต่างออกไปเล็กน้อย แต่น่าห่วงพอๆ กัน เอ็นบีซีบอกว่า ปริมาณหนี้ทั้งสองอย่างนี้รวมกัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 19 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาแค่ปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียว

ถ้าพิจารณาในช่วง 12 ปี หนี้สินของชาวกัมพูชาเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 9 เท่าตัว เป็นการเพิ่มที่สูงที่สุดในบรรดาทุกชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

ธนาคารโลกแยกหนี้ของกัมพูชาที่ว่านี้ออกเป็น 2 กอง

กองแรก คิดเป็นราว 20 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการปล่อยกู้ของเอ็มเอฟไอ

แม้จะเป็นส่วนน้อย แต่หนี้กองนี้กลับโตเร็วมาก แถมลดลงยากมากอีกด้วย เพราะลูกหนี้เป็นบรรดาคนยากคนจนทั้งหลายที่เป็นส่วนฐานรากของกัมพูชา

ผลการสำรวจทางเศรษฐกิจและสังคมของสำนักงานสถิติแห่งชาติกัมพูชา ประเมินเอาไว้ว่า 38 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนทั่วประเทศเป็นหนี้

แต่ถ้าแบ่งครัวเรือนทั้งประเทศเป็น 5 ส่วนตามอัตราการบริโภค ส่วนที่ 5 คือครัวเรือนส่วนล่างสุดที่ยากจนที่สุด มีสัดส่วนเป็นหนี้มากถึง 46 เปอร์เซ็นต์ จนน้อยลงมาหน่อยคือส่วนที่ 2 รองจากสุดท้ายมีหนี้ 42 เปอร์เซ็นต์

สูงกว่าสัดส่วนหนี้สินโดยรวมของทั้งประเทศ นั่นหมายความว่า คนกัมพูชายิ่งจนยิ่งเป็นหนี้

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

 

ในช่วงปี 2004-2014 เพียง 10 ปีมูลหนี้เฉลี่ยของครัวเรือนกัมพูชาที่กู้ยืมผ่านเอ็มเอฟไอเพิ่มจาก 200 ดอลลาร์เป็น 1,000 ดอลลาร์ต่อครัวเรือน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กเคยคำนวณเอาไว้ว่า หนี้ที่ว่านี้เพิ่มขึ้นเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากรต่อหัวต่อปีถึง 2 เท่าตัว

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ชี้ให้เห็นว่านั่นเป็นเหตุหนึ่งซึ่งทำให้หนี้ครัวเรือนยากจนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา นอกเหนือจากเหตุที่ว่า เงินที่กู้มานำไปใช้ในกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่นกู้มาเพื่อเป็นทุนซื้อหาอาหารเลี้ยงชีพ, กู้มาจ่ายค่าหมอค่ายา, กู้มาเพื่อใช้จ่ายในพิธีกรรมทางวัฒนธรรมและศาสนา หรือไม่ก็เป็นการกู้ใหม่มาใช้หนี้เก่าที่ค้างชำระอยู่

ที่สำคัญก็คือ อัตราดอกเบี้ยของเงินกู้เอ็มเอฟไอในกัมพูชา อยู่ที่ระหว่าง 25 เปอร์เซ็นต์ไปจนถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เพิ่งจะมีการประกาศจำกัดเพดานไว้ที่ 18 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2017 ที่มีเลือกตั้งนี่เอง

หนี้กองที่ใหญ่กว่าคืออีก 80 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ น่าห่วงยิ่งกว่า เพราะเป็นหนี้ที่บรรดาธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งเพื่อการก่อสร้างและทั้งที่เป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

อสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเบ่งบานจนนักวิเคราะห์บางคนชี้ว่ากำลังเป่งเหมือนฟองสบู่ที่จวนเจียนจะแตกดังโพละอยู่รอมร่อ

เหมือนช่วงสุกดิบก่อนหน้าวิกฤตต้มยำกุ้งในเมืองไทยยังไงยังงั้นทีเดียว!