กรองกระแส : เส้นทาง การเมือง เส้นทาง “การเลือกตั้ง” ยากยิ่ง ที่จะปฏิเสธ

แม้จะมีคำยืนยันจากทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในเรื่องโรดแม็ปว่าทุกอย่างจะเป็นไปเหมือนกับที่เคยประกาศเอาไว้

นั่นก็คือ จะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2560

แต่ในความรู้สึกของสังคม นับแต่มีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องจะมีการเลื่อนโรดแม็ปการเลือกตั้งจากปลายปี 2560 ไปเป็นปี 2561

กลับมีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

เป็นความเชื่อมั่นทั้งๆ ที่ นายวิษณุ เครืองาม และทั้ง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ตลอดจนบรรดาวิปใน สนช. ออกมาขานรับกับคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อย่างหนักแน่นและจริงจัง

พล.อ.นพดล อินทปัญญา วิป สนช. ถึงกับระบุว่า “ผู้ใหญ่สั่งมา”

คำว่า “ผู้ใหญ่” ที่ออกมาจาก พล.อ.นพดล อินทปัญญา ย่อมเป็นใครไปไม่ได้นอกจากหากมิใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ต้องเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งดำรงตำแหน่งสำคัญทั้งใน คสช. และใน ครม.

กระนั้น ความเชื่อที่ว่าโรดแม็ปจะต้องเลื่อน ความเชื่อที่ว่าการเลือกตั้งภายในปลายปี 2560 ไม่น่าจะบังเกิดขึ้น

ก็กลับกลายเป็น “กระแส” และมากด้วย “น้ำหนัก”

กระแส สร้างได้
“ตัวแปร” สร้างได้

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า นายวิษณุ เครืองาม เป็นผู้ที่เสนอคำว่า “ตัวแปร” ขึ้นมาเป็นครั้งแรกตั้งแต่การปาฐกถาครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 2559

เป็นการเสนอโดยอิงอยู่กับ “โรดแม็ป”

แม้จะอ้างตัวอย่างจากกระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐที่ทำให้กว่าการเลือกตั้งปลายปี 2559 จะสัมฤทธิผลในทางเป็นจริงก็ต้นปี 2560

แต่ก็ดำเนินไปอย่างมี “ปฏิสัมพันธ์” กับ “การเลือกตั้ง”

จากนั้น ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวจาก นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ โหรจากสำนักสุขิโต จังหวัดเชียงใหม่ อาศัยสัญญาณอันส่งมาจาก “ฤๅษีเกวาลัน” แห่งเทือกเขาหิมาลัย

ระบุว่า “การเลือกตั้ง” อาจมิใช่ปลายปี 2560

จากนั้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 และ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช. ซึ่งดำรงอยู่ในฐานะวิปด้วย ออกมาอ้างถึงสภาพอันทำให้การเลือกตั้งมิอาจเกิดขึ้นได้ในปลายปี 2560 แต่อาจจะเป็นประมาณกลางปี 2561

จากนั้น ก็ได้รับการยืนยันผ่าน “สวนดุสิตโพล” ว่า ส่วนข้างมากยังไม่ต้องการการเลือกตั้งภายในปี 2560 เพราะการปฏิรูปยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้น เลือกตั้งมาปัญหาก็จะยังคงเป็นเช่นเดิม

ถามว่า “กระแส” เหล่านี้ผลิตและสร้างขึ้นอย่างไร จากใคร และสัมพันธ์กันอย่างไร

เด่นชัดอย่างยิ่งว่า ไม่เพียงแต่จะเสนอเข้ามาในฐานะอันเป็น “ตัวแปร” อันยังเท่ากับพิสูจน์ให้เห็นด้วยว่า “ตัวแปร” มิได้ดำเนินไปตามธรรมชาติของมัน

“กระแส” และ “ตัวแปร” จึงสามารถสร้างขึ้นได้

เด่นชัด การเมือง
คสช. กับ รัฐบาล

จากการเคลื่อนไหวอันเริ่มโดย นายวิษณุ เครืองาม และตามมาโดยสมาชิก สนช. ทำให้สรุปได้ในเบื้องต้นว่าแท้จริงแล้ว คสช. และรัฐบาลต้องการอะไร

ต้องการคง “โรดแม็ป” ไว้เหมือนที่เคย “ประกาศ” หรือไม่

การออกมาเสนอ “ตัวแปร” ในประเด็นเกี่ยวกับการจัดทำและผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญอันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ

1 พรรคการเมือง 1 กกต. 1 การเลือกตั้ง ส.ส. และ 1 การได้มาซึ่ง ส.ว.

อาจเป็นเงื่อนไขที่สำคัญและมีความสัมพันธ์กับกระบวนการของ “โรดแม็ป” อย่างแนบแน่น แต่การออกมาสำทับของ “ไอ้ห้อย ไอ้โหน” ซึ่งทำหน้าที่รับใช้กระบวนการรัฐประหารตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังกระบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เป้าหมายคือ โจมตีฝ่ายการเมือง โจมตีพรรคการเมือง

ทวีความรุนแรงถึงขั้นที่เห็นว่า การออกมาทวงถามในเรื่อง “โรดแม็ป” เป็นเรื่องของการดัดจริต ก่อความปั่นป่วนและวุ่นวาย

และกวาดรวมเรียกว่าเป็น “พวกกระสันการเลือกตั้ง”

การเคลื่อนไหวเหล่านี้เมื่อประมวลและนำมาสังเคราะห์และวิเคราะห์อย่างมองเห็นลักษณะความสัมพันธ์ ยึดโยง

ก็จะได้คำตอบเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

1 เป็นความเด่นชัดว่ามีความต้องการจะยืดเวลาการอยู่ในอำนาจให้ยาวนานออกไปอีก คำมั่นอันเคยระบุว่า “จะอยู่อีกไม่นาน” จึงไม่เป็นความจริง

1 เป็นความเด่นชัดว่ายิ่งยืดเวลาเลือกตั้งออกไป ก็จะยิ่งอยู่ได้ยาวนานตามความต้องการ

จากนี้จึงสรุปได้โดยพื้นฐานว่า มีความต้องการจะเลื่อนระยะเวลาของโรดแม็ปออกไปอย่างน้อยก็จากปลายปี 2560 เป็นปี 2561

“กระแส” ต่างๆ จึงปรากฏขึ้นและนับเนื่องได้ว่าเป็น “ตัวแปร”

กระแส แน่นอน
กระแส เลือกตั้ง

ไม่ว่าจะมีความพยายามยืดและยื้อเวลาของการเลือกตั้งที่กำหนดอยู่ใน “โรดแม็ป” ออกไปด้วยวิธีการและกระบวนการอย่างไร

แต่ความเป็นจริงก็คือ ไม่ว่าปลายปี 2560 ไม่ว่ากลางปี 2561 ก็ต้อง “เลือกตั้ง”

ความเป็นจริงที่ยากจะปฏิเสธได้ก็คือ นับแต่เข้าสู่ปี 2560 เสียงทวงถามถึงสัญญาว่าด้วยโรดแม็ปว่าด้วยการเลือกตั้งก็ดังกระหึ่มขึ้น

ทำให้สังคมรับรู้ว่า ใครต้องการเลือกตั้ง ใครไม่ต้องการเลือกตั้ง

ทำให้สังคมแบ่งออกได้อย่างแจ่มชัดระหว่างเส้นทาง 2 เส้นทางของนักการเมือง 1 คือนักการเมืองที่อยู่ประเภท “นักเลือกตั้ง” อย่าง 1 คือ นักการเมืองที่อยู่ประเภท “นักลากตั้ง”

กระบวนการเลือกตั้งจะสกรีนคนเหล่านี้ออกมาในสายตาของ “ประชาชน”