วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / ถึงยุค ‘หนังสือพิมพ์มติชน’ ครบวงจร

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์  

ถึงยุค ‘หนังสือพิมพ์มติชน’ ครบวงจร

 

เพียงปีเศษ นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2521 มติชนจำนวน 8 หน้า ในราคาเท่ากับฉบับอื่นที่มีจำนวนหน้ามากกว่า จากนั้นไม่นาน มติชนเพิ่มเป็น 12 หน้าในราคา 1.50 บาท เท่ากับฉบับอื่น

ปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ต้องย้ายสำนักงานขยายให้มีพื้นที่ทำงานมากขึ้นอีกสองสามเท่าตัว มีการจัดส่งหนังสือไปยังเอเย่นต์ ร้านจำหน่าย และสายส่งเอง รวมทั้งการจำหน่ายตามสี่แยกถนน และจัดส่งสมาชิกในบางพื้นที่

เมื่อจำนวนหน้าเพิ่มขึ้น หลังจากการเลือกตั้ง พ.ศ.2522 ข่าวการเมืองบรรจุในทุกหน้า นโยบายหลักคือการนำเสนอข่าวการเมือง นักการเมือง พรรคการเมือง และประเด็นทางการเมืองไปสู่ผู้อ่าน และความคิดเห็นจากแหล่งข่าวทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นแหล่งข่าวการเมือง แหล่งข่าวเศรษฐกิจที่คลุกเข้ามากับการเมืองเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจกับการเมืองคงแยกจากกันได้ยาก เพราะนโยบายทางเศรษฐกิจย่อมมาจากนโยบายทางการเมือง และกระเส็นกระสายไปถึงข่าวคราวด้านสังคม

ดังนั้น ผู้สื่อข่าวมติชนทุกคน ไม่ว่าจะรับผิดชอบข่าวด้านใด แม้แต่ข่าวบันเทิง ข่าวดารา ข่าวกีฬา จึงต้องมีประเด็นทางการเมืองติดตัวตามไปตลอด ทุกครั้งที่มีการสัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวต้องตั้งคำถามเรื่องการเมือง เรื่องเลือกตั้ง และเรื่องความสนใจทางด้านข่าวการเมือง

ด้วย “การเมือง” คือหน้าที่ของพลเมือง อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่มีใครหลีกเลี่ยง “การเมือง” ได้

 

ไม่เพียงแต่การนำเสนอข่าวและประเด็นทางการเมือง ข้อใหญ่ใจความยังมีการวิเคราะห์เจาะลึกด้านการเมืองทั้งจากนักการเมือง พรรคการเมือง นักธุรกิจ นักเศรษฐกิจ นักวิชาการทุกแขนง หนังสือพิมพ์มติชนมีบทสัมภาษณ์ประจำวันและเฉพาะบุคคลในฉบับวันอาทิตย์จากบุคคลที่เป็นข่าวขณะนั้น ทั้งในความคิดเห็นทางการเมือง ด้านเศรษฐกิจในประเทศ ระหว่างประเทศ และความเป็นชีวิตส่วนตัวที่น่าสนใจของแต่ละคน

การมีหนังสือพิมพ์เป็นของตัวเอง ส่วนที่สำคัญคือกองบรรณาธิการ มีงานโฆษณาคือฝ่ายออกไปหารายรับ เช่นเดียวกับงานจัดจำหน่ายที่ต้องจัดส่งหนังสือไปให้เอเย่นต์ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดจำหน่าย

มีงานบัญชี คือส่วนของการดูแลรายรับจากงานโฆษณาและจากงานจัดจำหน่าย ดูแลด้านรายจ่าย คือเงินเดือนค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานทุกคน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ สารพัด อาทิ ค่ากระดาษ ค่าจ้างพิมพ์ ค่าเปอร์เซ็นต์จากโฆษณา การจัดจำหน่ายหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ

ด้วยความคิดตั้งแต่เดิมก่อนออกหนังสือพิมพ์ของขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ คือต้องมีโรงพิมพ์ของตัวเอง หรือการผลิตหนังสือพิมพ์ครบวงจร จึงร่วมกันก่อตั้งโรงพิมพ์พิฆเณศ แม้แทบจะต้องล้มเลิกหรือหยุดดำเนินการเมื่อเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 แต่ขรรค์ชัยยังไม่ละเจตนารมณ์เดิม กลับมาพลิกฟื้นโรงพิมพ์พิฆเณศขึ้นมาใหม่จากการที่ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใดๆ ที่เกิดขึ้น

เมื่อยังมีสถานที่คือโรงพิมพ์ มีเครื่องพิมพ์ ที่สำคัญคือมี “คน” และที่สำคัญที่สุด คือขวัญ กำลังใจและความเชื่อถือไว้วางใจของเพื่อนร่วมงานมีให้ซึ่งกันและกันมา รวมทั้งการ “สู้งาน” – มีเท่าไหร่กินเท่านั้น

โรงพิมพ์พิฆเณศจึงกลับฟื้นคืนมาอีกครั้ง รวมทั้งงานหนังสือพิมพ์ที่เริ่มการรับจ้างพิมพ์จากหน่วยงานและผู้รู้จักมักคุ้น

ขรรค์ชัยจัดการออกนิตยสาร “พาที” จากพรรคพวกนักเขียนที่ยังติดต่อรับไม้ส่งไม้กันอยู่ จากหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจเข็มทิศ ต่อมาปรับเปลี่ยนเป็น “ประชาชาติธุรกิจ” และในที่สุดคือ “มติชนรายวัน”

ส่วนที่ต้องจัดการให้เกิดขึ้นจนได้ คือการจัดพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ของตัวเอง

ทั้งขรรค์ชัย บุนปาน กับพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร จึงติดต่อขอซื้อเครื่องพิมพ์ “มือสอง” มาติดตั้งที่ชั้นล่างสองห้องของอาคารริมถนนเฟื่องนคร มีไพโรจน์ ปรีชา หัวหน้าฝ่ายผลิตเป็นผู้ควบคุมดูแล และหัวหน้าช่างจากโรงพิมพ์แห่งหนึ่ง “เฮีย ส.” ย่านฝั่งธนฯ ควบคุมฝ่ายช่างติดตั้ง ผมติดตามดูแลเป็นครั้งคราวเมื่อว่างเว้นจากงานกองบรรณาธิการและจัดการทั่วไป

เครื่องพิมพ์มือสองเป็นเครื่องพิมพ์ออฟเซ็ต 2 ยูนิต พิมพ์ได้ยูนิตละ 4 หน้า เมื่อพิมพ์ 12 หน้า ต้องพิมพ์สองครั้ง คือ 8 หน้า ครั้งหนึ่ง และ 4 หน้าอีกครั้งหนึ่ง นำทั้งสองส่วนมาสอดเข้าหากัน จึงต้องมี “ช่างสอด” มารับงานช่วงดึก จัดพิมพ์ชุดแรกเก็บไว้ก่อน แล้วจึงเริ่มพิมพ์ชุดหลังนำมาสอดกัน จนกว่าจะพิมพ์เสร็จ

การติดตั้งเครื่องพิมพ์ตั้งแต่เริ่มแรกไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งอะไหล่บางชิ้นยังขาดหายต้องจัดหามาเติม มีบ้าง ไม่มีบ้าง ในส่วนที่ไม่มี ช่างติดตั้งต้องจัดหามา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย บางชิ้นกว่าจะหาได้ใช้เวลาหลายวัน

เมื่อใกล้ติดตั้งเสร็จ เกือบสิ้นปี 2521 จะขึ้นสู่ปี 2522 เข้ามาทุกวัน ตั้งใจกันว่าจะให้เริ่มจัดพิมพ์ด้วยตัวเองได้ต้นปี วันที่ 9 มกราคม คงไม่ได้ ทั้งพงษ์ศักดิ์ยังมีความคิดว่า อย่ากระนั้น หากเพิ่มอีกหนึ่งยูนิต บนยูนิตหลังได้ น่าจะพิมพ์หนังสือพิมพ์ในหน้าแรกได้ 2 สี ดีกว่าพิมพ์หน้า “ขาว-ดำ” เหมือนเดิม

แต่การดำเนินงานไม่ใช่ง่ายและเร็วเท่าที่ความคิดเดินไปข้างหน้า ที่สุดจึงต้องจัดการให้การติดตั้งและซ่อมแซมกระทั่งจัดพิมพ์ได้ในต้นปี 2522

 

นับวันนับคืน จำนวนการจัดจำหน่ายยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีกเป็นจำนวนหมื่นฉบับ ยงยุทธ สฤษฏิ์วานิช ผู้จัดการจัดจำหน่ายต้องทำงานหนักขึ้น ด้วยการออกไปหาเอเย่นต์จำหน่ายหนังสือพิมพ์ทั้งเอเย่นต์ใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และเอเย่นต์ในต่างจังหวัด เพื่อหาแนวโน้มในการเพิ่มจำนวนจำหน่ายเพื่อให้มียอดเหลือกลับคืนมาไม่มากกว่าที่กำหนดและตกลงกันไว้ เพราะยิ่งหนังสือขายดี เอเย่นต์มักสั่งเพิ่มจำนวนในแต่ละวันขึ้น

เมื่อหนังสือพิมพ์เป็นที่กล่าวถึงมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งต้องเพิ่มจำนวนพนักงานออกหาโฆษณาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ณรงค์ จุนเจือศุภฤกษ์ ต้องจัดหาพนักงานหาโฆษณา ซึ่งเป็นส่วนของพนักงานที่สับเปลี่ยนเข้า-ออกมากที่สุดบ่อยครั้ง

แต่เมื่อเริ่มมีเค้าว่าปริมาณโฆษณาเพิ่มขึ้น หลายคนได้รับขยับตำแหน่งเติบโตในหน้าที่มีผู้ใต้บังคับบัญชามากขึ้น การจัดหาโฆษณาแบ่งออกเป็นส่วน เช่น โฆษณาย่อย (Classified) เพิ่มจำนวนหน้าเป็นหน้าครึ่ง สองหน้า และเริ่มมากกว่านั้น เป็นรายได้ประจำ

ทั้งบางครั้งยังมีฉบับซัพพลีเมนต์ หรือฉบับพิเศษ เนื่องในโอกาสวันสำคัญของบริษัทและหน่วยงาน

ที่สุด การติดตั้งซ่อมแซมเครื่องพิมพ์เสร็จสิ้น ทดลองการพิมพ์ได้เพียงไม่กี่วัน บริษัท มติชน จำกัด จึงจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์มติชนด้วยตัวเองครบวงจร คือมีตั้งแต่กองบรรณาธิการ มีทุกฝ่ายที่ต้องดำเนินการในรูปของบริษัทหนังสือพิมพ์ มีฝ่ายจัดจำหน่ายที่จัดส่งหนังสือพิมพ์ไปให้เอเย่นต์ทั่วประเทศขายให้กับผู้อ่าน

ขรรค์ชัย บุนปาน เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา และผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด เป็นเจ้าของ