โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญอายุวัฒนมงคล 90 ปี หลวงพ่อสว่าง อุตตโร พระเกจิชื่อดังกำแพงเพชร

หลวงพ่อสว่าง อุตตโร

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญอายุวัฒนมงคล 90 ปี

หลวงพ่อสว่าง อุตตโร

พระเกจิชื่อดังกำแพงเพชร

“หลวงพ่อสว่าง อุตตโร” หรือ “พระวิบูลวชิรธรรม” วัดท่าพุทรา ต.ท่าพุทรา อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากชาวเมืองกำแพงเพชรอย่างยิ่ง

เมื่อปี พ.ศ.2515 หลวงพ่อสว่างมีอายุวัฒนมงคล 90 ปี จัดสร้างเหรียญฉลองอายุครบ 90 ปีขึ้นเป็นที่ระลึก

ลักษณะของเหรียญ เป็นเหรียญรูปไข่ ไม่มีหูห่วง เนื้อทองเหลืองกะไหล่ทอง

ด้านหน้ามีขอบรอบเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปนูนหลวงพ่อสว่างนั่งขัดสมาธิเต็มองค์ รอบเหรียญมีตัวหนังสือ เขียนว่า “เหรียญ ๙๐ ปี หลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรม (สว่าง อุตฺตโร)”

ด้านหลังเหรียญ มีขอบรอบเช่นกัน ตรงกลางเหรียญเป็นยันต์น้ำเต้า หรือยันต์องค์พระ มีอักขระภายใน มะ อะ อุ อะ ระ หะ ที่ยอดยันต์องค์พระมียันต์นะซ่อนหัว ล้อมรอบด้วยอักขระ ทุ สะ ปุ ติ และมียันต์เฑาะว์ หรือยันต์ปลอดภัย กำกับ ซ้าย-ขวา ด้านบนของเหรียญมีตัวหนังสือ “วัดคฤหบดีสงฆ์ (ท่าพุทรา)” ด้านล่างยันต์ มีตัวหนังสือและเลขไทยว่า “พ.ศ.๒๕๑๕”

เหรียญ 90 ปี พระวิบูลวชิรธรรม ปลุกเสกเดี่ยวตลอดไตรมาส ก่อนจะเปิดให้คณะศิษย์และประชาชนทั่วไปได้เช่าบูชา เหรียญรุ่นดังกล่าวมีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้าน ผู้ที่มีไว้ติดตัว ล้วนมีประสบการณ์

ปัจจุบัน เป็นเหรียญที่หายาก แวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่อง ต่างออกปากว่ารุ่นนี้ราคาเช่าบูชาติดลมบนไปแล้ว

จัดเป็นเหรียญยอดนิยมในพื้นที่อีกเหรียญของเมืองกำแพงเพชร

เหรียญ 90 ปี หลวงพ่อสว่าง

 

อัตโนประวัติ มีนามเดิมว่า สว่าง เจริญศรี เกิดที่บ้านน้ำหัก ต.ท่างิ้ว อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน 2426

เมื่อเกิดได้เพียง 5 วัน มารดาก็เสียชีวิต ย่างเข้าสู่วัยเยาว์ เมื่อมีอายุพอสมควรที่จะเล่าเรียนศึกษาได้ ก็เริ่มศึกษาเล่าเรียนอักขระสมัย และหนังสืออักขระขอมเบื้องต้นจากขุนเจริญสวัสดิ์ ผู้เป็นบิดา

อายุ 13 ขวบ บิดาเสียชีวิตลง

เนื่องจากบิดาเป็นผู้มีความสามารถเฉลียวฉลาด มีคนเคารพนับถือทั้งในหมู่บ้านและภูมิลำเนาใกล้เคียง ต่อมา ญาติสนิทได้นำไปฝากกับหลวงพ่อเผือก (พระครูบรรพโตปมญาณ) วัดหัวดงเหนือ ต.หัวดง อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์

ในสมัยนั้น วัดหัวดงเหนือ เป็นสำนักเรียนอักขระสมัยมูลกัจจายน์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังสำนักหนึ่ง ศึกษาเล่าเรียนมูลกัจจายน์ และหนังสืออักขระขอมอยู่ที่วัดหัวดงเหนือ เป็นเวลานาน 7 ปี มีพระอาจารย์สด (ต่อมาได้เลื่อนฐานะเป็นพระครูสวรรค์วิถี) เป็นครูสอน

ครั้นอายุ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันพุธที่ 3 ธันวาคม 2445 ที่พัทธสีมาวัดขุนญาณ ต.คลองเมือง อ.กรุงเก่า จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพระญาณไตรโลก (สะอาด) วัดศาลาปูน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์, พระวินัยธรศรี วัดศาลาปูน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดแพ วัดศาลาปูน เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับนามฉายาว่า อุตตโร

 

ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมอยู่ที่สำนักเรียนวัดศาลาปูนเป็นเวลา 2 ปี และได้กลับมาอยู่กับหลวงพ่อเผือก ที่วัดหัวดงเหนือ จ.นครสวรรค์ ตามเดิม โดยศึกษาจากพระอาจารย์สด (พระครูสวรรค์วิถี) ก่อนย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดท่างิ้ว จ.นครสวรรค์ เป็นเวลา 2 พรรษา

ต่อมา พระอาจารย์ปั้น เจ้าอาวาสวัดท่างิ้วมรณภาพลง จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดท่างิ้ว

ในช่วงนั้น ได้จัดข้อระเบียบปฏิบัติสำหรับพระภิกษุสามเณรภายในวัด จัดการบูรณะซ่อมแซมกุฏิ ศาลาการเปรียญ อุโบสถให้เรียบร้อย ได้ตั้งศาสนศึกษาขึ้นที่วัดท่างิ้ว โดยรับหน้าที่เป็นครูสอน

ต่อมาในปี พ.ศ.2468 ได้รับแต่งตั้งให้เจ้าคณะอำเภอขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร พ.ศ.2468 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2470 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่ พระครูวิบูลวชิรธรรม

ในปี พ.ศ.2500 คณะสงฆ์อำเภอคลองขลุง และชาวตำบลท่าพุทรา ได้อาราธนาให้ย้ายมาอยู่จำพรรษาที่วัดคฤหบดีสงฆ์ ต.ท่าพุทรา อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร สร้างความเจริญให้กับวัดแห่งนี้จวบจนวาระสุดท้าย

พ.ศ.2501 ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระวิบูลวชิรธรรม

 

จากความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ทำให้หลวงพ่อสง่ามีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันจะมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรมและประพรมน้ำพุทธมนต์ และรับวัตถุมงคลอย่างล้นหลาม

หลวงพ่อสว่าง จัดสร้างเหรียญปลอดภัย และเหรียญที่ระลึกรูปเหมือนขนาดต่างๆ นอกจากเหรียญวัตถุมงคล ยังมีผ้ายันต์ ธงทิว และยันต์หนังเสือ เป็นต้น

ที่ได้รับความนิยมคือ พระผงว่าน 108 ชนิด ผสมผงมหาราช เป็นรูปพระพุทธแบบสามเหลี่ยม และเม็ดน้อยหน่า หลวงพ่อสว่าง จัดสร้างในปี พ.ศ.2480-2483 เมื่อครั้งอยู่จำพรรษาที่วัดท่างิ้ว

รุ่นนี้เคยมอบให้ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น นำไปแจกทหารที่ไปรบในสงครามอินโดจีน ท่านสร้างครั้งเดียวแล้วไม่ได้สร้างอีก สร้างสมัยท่านอยู่วัดท่างิ้ว นับว่าเป็นพระผงที่ควรหาไว้ใช้เป็นอย่างยิ่ง

ช่วงปัจฉิมวัยหลวงพ่อสว่าง อาพาธบ่อยครั้ง สุดท้ายถึงแก่มรณภาพอย่างสงบ วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ 2520 เวลา 14.30 น.

สิริอายุ 94 ปี พรรษา 74