เศรษฐกิจ / ภัยแล้งรุนแรงวัดฝีมือ รบ.ประยุทธ์ 2 หยุดความเสียหายแค่ 1.5 หมื่นล้าน? ระวังสะเทือนเก้าอี้ ครม.ป้ายแดง

เศรษฐกิจ

 

ภัยแล้งรุนแรงวัดฝีมือ รบ.ประยุทธ์ 2

หยุดความเสียหายแค่ 1.5 หมื่นล้าน?

ระวังสะเทือนเก้าอี้ ครม.ป้ายแดง

 

จากสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ และเขื่อนขนาดกลาง บางพื้นที่ของประเทศมีน้ำน้อยกว่า 30% เริ่มสร้างความกังวลให้กับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาที่ต้องลงมือปฏิบัติอย่างเร่งด่วน รวมถึงประชาชนและเกษตรกรที่เริ่มหวั่นวิตกแล้วว่าในปีนี้อาจจะขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคในที่สุด

ทั้งนี้ จากความกังวลของประชาชน ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุว่า หากต้องการให้จำนวนน้ำเพียงพอจนถึงฤดูแล้งหน้า ต้องลดปริมาณการปล่อยน้ำ

โดยขณะนี้ 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยา มีน้ำเหลือประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีการระบายน้ำปริมาณ 45 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ต้องลดการระบายน้ำให้เหลือ 20 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ขณะนี้เหลือประมาณ 42 ล้าน ลบ.ม. หากเทียบช่วงเดียวกันของปี 2561 มีปริมาณน้ำ 239 ล้าน ลบ.ม. ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนปี 2558 ที่ปริมาณน้ำแล้งหนักมาก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำ 100 ล้าน ลบ.ม.

“ต้องปรับปริมาณการระบายน้ำลงอีกทุกลุ่มน้ำ หวั่นซ้ำรอยในปีที่ไม่สามารถส่งน้ำเพื่อทำประปาในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ อย่างในปี 2558 เพราะปีนี้ปริมาณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำน้อยมากกว่าปี 2558 สัดส่วน 58% ที่มีสถานการณ์แล้งมากๆ ดังนั้น ปีนี้มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาน้ำประปาไม่เพียงพอ หากไม่มีการปรับหรือทบทวนแผนการระบายน้ำ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อน้ำประปาฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ แต่หากมีการปรับแผนบริหารจัดการน้ำใหม่จะไม่เกิดปัญหาอีก”

นายสมเกียรติกล่าว

 

นอกจากนี้ ยังพบว่าสถานการณ์ฝนตกน้อยกว่าประมาณการที่คาดไว้ประมาณ 18% ของค่าเฉลี่ย จากประมาณการที่ตั้งไว้คาดว่ามีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5-10% ภาคเหนือ อีสานตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 30% ส่งผลฝนที่จะตกในช่วงเดือนสิงหาคมจะไม่มากนัก หรือตกแนวตะเข็บประเทศโดยน้ำจะไม่ลงอ่าง จึงอาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การเพาะปลูกของเกษตรกร

จากการสำรวจพื้นที่การเกษตรพบว่ามีการปลูกข้าวจำนวน 53% ของพื้นที่เป้าหมาย 58.9 ล้านไร่ หรือประมาณ 33 ล้านไร่ แบ่งเป็นในเขตชลประทาน 5.7 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 27 ล้านไร่ ดังนั้น เมื่อปริมาณการใช้น้ำในแต่ละลุ่มน้ำในช่วงที่ผ่านมาเกินแผนการบริหารจัดการน้ำ จึงต้องทบทวนแผนการบริหารจัดการน้ำใหม่หมด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอกับความต้องการใช้

หลังกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าฝนจะตกมาในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้

 

ฟากนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ ว่า กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงเดินหน้าให้ความช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง อาทิ ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้วางมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะฝนทิ้งช่วง โดยได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ ติดตามสถานการณ์น้ำและเฝ้าระวังการบริหารจัดการน้ำเป็นพิเศษ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และผลิตน้ำประปา

เบื้องต้นพบพื้นที่ที่ยังไม่เพาะปลูกประมาณ 30% ซึ่งต้องเอาข้อเท็จจริงมาหารือกันเพื่อรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น และต้องมองยาวไปถึงแล้งหน้า ดังนั้น ตามที่นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงผลกระทบจากฝนทิ้งช่วง น้ำในเขื่อนน้อย หากเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2558 หรือ 4 ปีย้อนหลังปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยายังมีมากกว่า แต่นอกเขตชลประทาน โดยเฉพาะภาคอีสานยังน่าเป็นห่วง

ส่วนในพื้นที่การเกษตรกว่า 160,000 ไร่ ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวายจะเริ่มส่งน้ำแบบรอบเวร ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป รวมทั้งได้จัดเตรียมรถบรรทุกน้ำ รถแบ็กโฮ และเครื่องสูบน้ำ ที่สามารถสนับสนุนให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีด้วย

 

ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนรับน้องรัฐบาลใหม่ที่มาจากเลือกตั้ง ถึงขนาดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการทุกเหล่าทัพสนับสนุนอากาศยานและกำลังพลเร่งทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเป็นวาระเร่งด่วน ตามคำบอกเล่าของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ป้ายแดง ที่เทกแอ๊กชั่นเรื่องการจัดการภัยแล้งเต็มตัว

ซึ่งนอกจากมีแผนเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งแล้ว ยังมีแผนระยะยาวในการแก้ปัญหาภัยพิบัติ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทานเตรียมปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค การเกษตร และรักษาระบบนิเวศทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้เพียงพอ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมแผนการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ รองรับเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตด้วย

คาดกันว่าภัยแล้งปีนี้จะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำลากยาวไปถึงปีหน้า จากอิทธิพลเอลนีโญ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรในปีหน้าประสบปัญหาเช่นกัน หากไม่สามารถบริหารจัดการให้ดี

 

แต่เบื้องต้นความเสียหายที่เกิดขึ้นกระทบเศรษฐกิจแล้ว อาจารย์ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินเบื้องต้นว่าจะอยู่ในระดับ 5,000 ล้านบาท แต่ภาพภัยแล้งยังไม่ชัดเจน ต้องรอดูอีก 2 สัปดาห์ หากรุนแรงมากขึ้นเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคิดเป็น 10,000 ล้านบาท กระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ปรับลดลง 0.05%

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิเคราะห์ ภัยแล้งครั้งนี้สร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปีเป็นหลัก ที่ปลูกไว้ยืนต้นตายในหลายจังหวัดทางภาคอีสานแล้ว เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นราว 0.1% ของจีดีพี

แต่ความเสียหายไม่ได้จบแค่นี้ เพราะหากอิทธิพลจากภัยแล้งส่งผลกระทบถึงปีหน้าจริง ไม่เพียงเกษตรกรเท่านั้นที่ต้องเผชิญความยากลำบากต่อไป แต่จะยิ่งซ้ำเติมกำลังซื้อครัวเรือนภาคเกษตร กระทบชิ่งถึงภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ด้วย

ไม่แน่ว่าภัยแล้งที่เกิดขึ้น ไม่เพียงลามกระทบเศรษฐกิจประเทศเท่านั้น แต่อาจจะลามถึงเสถียรภาพของรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ตามผลโพลของซูเปอร์โพลเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในหัวข้อ “สุข ทุกข์ คนไทย” เสียงส่วนใหญ่ให้โอกาส รัฐบาลประยุทธ์ 2 อยู่ยาวเกิน 2 ปี ถ้าสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องเงินในกระเป๋าของประชาชนได้

   คงต้องตามดูกันต่อว่ารัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่ขยันทำงานตั้งแต่วันแรกหลังเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ จะสามารถทำงานฝ่าภัยแล้งเพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชนได้หรือไม่